30 เม.ย. 2020 เวลา 13:06
ซีรีย์ "บันทึกการเดินทางในพม่า"
สายลับ...สับปะรด (1)
ในแวดวงคนทำงานประเด็นพม่าต่างคุ้นหูกับเรื่องราวของ "สายลับพม่า" กันเป็นอย่างดี เพราะหน่วยข่าวกรองมีบทบาทสำคัญในการปกป้องประเทศจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร หรือเป็นกองทัพสำหรับทำสงครามด้านข้อมูลข่าวสาร จนนักวิชาการด้านพม่าเคยบอกว่า ประเทศพม่ามีสี่เหล่าทัพ คือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองทัพข่าวกรอง
ตลอดเวลาเกือบสิบปีที่ทำงานข่าวประเด็นพม่าตั้งแต่ปี 2545 จนถึง 2554 ฉันต้องเดินทางเข้าออกประเทศพม่าหลายครั้งทั้งแบบเปิดเผยและแบบไม่เปิดเผย ประสบการณ์จากการผจญภัยในรัฐฉานครั้งแรกทำให้ฉันต้องระมัดระวังพวก “สายลับ” อย่างรอบด้าน ระดับความเสี่ยงของการเข้าพม่าแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับบุคคลที่ต้องการพบหรือสถานที่ปลายทางที่ไป การประเมินความเสี่ยงก่อนการเดินทางจะทำให้สามารถวางแผนการทำงานอย่างรอบคอบและเตรียมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที
 
ถ้าจะลองแบ่งประเภทหน่วยสืบราชการลับพม่าจากประสบการณ์ที่เคยพบพอจะแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ สันติบาล กับ สายลับ (สายข่าว) ประเภทแรกเป็นเจ้าหน้าที่ราชการกินเงินเดือนประจำ ได้รับมอบหมายให้ติดตาม นักเคลื่อนไหวการเมือง หรือ บุคคลที่มีพฤติกรรมต้องสงสัย สันติบาลมักแต่งกายแบบชาวบ้าน คือ ใส่เสื้อเชิ้ต นุ่งโสร่ง บางครั้งการทำงานของเหล่าสันติบาลสามารถสังเกตได้ไม่ยาก ราวกับพวกเขา จงใจให้ “เหยื่อ” รู้ว่ากำลังถูกติดตาม เหมือนเป็นการสร้างความกดดัน อาทิ การเดินตามในรัศมีที่มองเห็นหรือสัมผัสได้ว่ามีใครบางคน (บางทีก็หลายคน) ติดตามอยู่ การยืนจับกลุ่มกันจ้องมองมาทางเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน หรือการนั่งจับกลุ่มกันเงียบ ๆ ในรัศมีใกล้ชิดกับผู้ถูกติดตามเพื่อแอบฟังบทสนทนา เป็นต้น
ส่วนประเภทที่สอง คือ สายลับหรือสายข่าว มักเป็นคนทั่วไปที่เก็บข้อมูล “ผู้มีพฤติกรรมน่าสงสัย” แจ้งให้หน่วยข่าวกรองมาตรวจสอบ ซึ่งถ้าหากข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์ก็จะได้รับค่าน้ำชาเล็กน้อยเป็นสินตอบแทน สายลับประเภทนี้มีอยู่ทั่วทุกแห่งที่เราไป ตั้งแต่คนขับรถแท็กซี่ พนักงานเสิร์ฟอาหาร เจ้าของการอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงพนักงานโรงแรม สายลับไม่ได้ทำงานในเขตประเทศพม่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่ง "สาย" ข้ามฝั่งมาทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่า เพื่อเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาลทหาร
ตลอดการทำงานเกือบสิบปีที่ผ่านมา ฉันเคยพบทั้งสันติบาลและสายลับหลายครั้ง แต่เอาตัวรอดมาได้ทุกครั้ง เพราะได้รับความช่วยเหลือและคำแนะนำจากผู้ที่ไปพบ ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เดินทางไปเมืองเมาะละแหม่ง (เมาะลำไย) ทางภาคใต้ของพม่าเมื่อปี 2548 แม้ว่าเมืองนี้จะเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ช่วงที่ฉันไปไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยว เวลาไปไหนก็จะสังเกตเห็นได้ง่าย นอกจากนี้ คณะของพวกเราทั้งห้าคนยังเป็นพวกแบกเป้เดินทาง แตกต่างจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งรายชื่อนักท่องเที่ยวจะถูกส่งให้รัฐบาลและเส้นทางก็ถูกบังคับไว้ในโปรแกรมจึงไม่ต้องกลัวสันติบาลติดตาม แต่หากเป็นพวกแบกแป้ รัฐบาลจะไม่รู้แผนการเดินทางทั้งสถานที่และผู้คนที่พบเจอ ดังนั้น นักท่องเที่ยวประเภทนี้จะมีโอกาสถูกติดตามจากสันติบาลในกรณีที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย
เมืองเมาะละแหม่งเป็นเมืองปากแม่น้ำสาละวิน บรรยากาศของเมืองนี้จึงมีทั้งแม่น้ำสาละวินอันกว้างใหญ่และปากอ่าวสู่ทะเลมองไปสุดลูกหูลูกตา บรรยากาศตลาดของเมืองนี้ค่อนข้างอลังการไปด้วยพันธุ์ปลาขนาดใหญ่นานาชนิดพวกเราเลือกเข้าพักในโรงแรมสไตล์ย้อนยุค ตัวอาคารทำด้วยไม้ หลังจากเช็กอิน พวกเรานั่งรอพนักงานทำความสะอาดห้องอยู่บริเวณล็อบบี้ ไม่นานนักชายพม่าสามคนแต่งกายด้วยชุดโสร่ง ไม่มีกระเป๋าเดินทางเหมือนแขกทั่วไปก็เดินทางมาถึงโรงแรม พวกนั้นยืนคุยกับพนักงานที่ล็อบบี้ราวกับถามข้อมูลของพวกเราว่าเป็นใครมาจากไหน หลังจากนั้นทั้งสามก็หันมาจ้องพวกเราพร้อมกัน คนหนึ่งยืนตัวตรง คนที่สองเอียงถัดลงมา และคนที่สามเอียงต่ำลงมาทางเดียวกันจนดูคล้ายคลี่พัดหรือไพ่เรียงกัน ฉันและเพื่อนหันไปเห็นพอดีก็แอบหันมายิ้มให้กันเป็นอันรู้ว่า “สันติบาลมาแล้ว”
หลังจากเข้าไปในห้องพัก พวกเราปรึกษากันว่า จะใช้ “รหัสลับ” ในการเรียกพวกสันติบาลเหล่านี้อย่างไรเพื่อเตือนพวกเรากันเองให้ระมัดระวังตัว โดยจะต้องไม่ทับศัพท์ภาษาอังกฤษเพราะพวกสันติบาลจะฟังรู้เรื่องอย่างเช่นคำว่า “Spy” หรือ “Police” เป็นต้น และไม่ควรจะใช้คำภาษาไทยที่มีความหมายตรงตัวด้วยเหมือนกัน เพราะจากประสบการณ์ในรัฐฉานสอนให้ฉันรู้ว่า สันติบาลมีความรู้ในภาษาท้องถิ่นปฏิบัติงานด้วยเช่นกัน ดังนั้น ถ้าเป็นเมืองที่ใกล้ชายแดนไทย สันติบาลก็จะรู้ภาษาไทย เพื่อความปลอดภัยในทุกด้าน เราจึงพยายามหลีกเลี่ยงใช้คำที่เข้าใจง่าย โดยเลือกใช้ "รหัสลับ" แทน เช่น ใช้คำว่า "สับปะรด" แทน "สันติบาล" ใช้คำว่า "พ่อหลวง" แทน "รัฐบาลทหารพม่า" ใช้คำว่า “คุณป้า” เวลาพูดถึงอองซาน ซูจี และใช้คำว่า “เอ็นจอย” แทน “พรรคเอ็นแอลดี” เป็นต้น
 
รุ่งเช้า พวกเราลงมารับประทานอาหารเช้าที่ห้องอาหารของโรงแรม พวก “สับปะรด” ก็ตามเข้ามานั่งชิดโต๊ะของเราชนิดหลังชนหลังกันเลยทีเดียว ในห้องอาหารไม่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น พวกเราส่งรหัสลับให้กันเพื่อระมัดระวังการพูดคุยกลางโต๊ะอาหาร สิ่งที่ผิดปกติของชายกลุ่มนี้ ซึ่งทำให้พวกเราสงสัยว่าเป็นสันติบาลก็คือ พวกเขานั่งกันอยู่เงียบ ๆ แค่จิบน้ำชา แล้วก็ไม่คุยอะไรกันเลย ทุกคนทำเหมือนกับรอฟังสิ่งที่เราพูดมากกว่า พวกเราตกลงกันว่า เสร็จจากร้านอาหารแล้วควรจะไปสถานที่ที่นักท่องเที่ยวเขาไปกันสักหน่อย โดยควรจะเลือกสถานที่แบบชุลมุนวุ่นวายอย่างเช่นตลาดสด แล้วแยกย้ายกันเดิน พวกสันติบาลจะได้กระจายกำลังไม่ถูก แล้วก็เลิกสงสัยซักที
 
อันที่จริง การเดินทางไปเมาะละแหม่งครั้งนี้พวกเราต้องการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปากแม่น้ำสาละวินซึ่งจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนสาละวินซึ่งมีหลายเขื่อนตั้งแต่ต้นน้ำในรัฐฉานลงมาถึงชายแดนไทย เข้าไปในรัฐกะเหรี่ยง การสร้างเขื่อนตลอดลำน้ำจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตท้ายน้ำ อย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น เป้าหมายหลักของการมาที่นี่คือการเก็บข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำสายนี้ก่อนสร้างเขื่อน
หลังจากพวกเราเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองมะละแหม่งจนสันติบาลหายสงสัย พอกลับมาที่โรงแรมอีกครั้งก็ไม่มีใครมาคอยดักซุ่มดูพวกเราอีก นั่นหมายความว่า พวกสันติบาลไม่ได้ติดใจสงสัยพวกเราแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเราจะเลิกระมัดระวังตัว เพราะตราบใดที่การเดินทางในพม่าของเรายังไม่สิ้นสุด เราก็ต้องระวังตัวทุกฝีก้าวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา
 
นอกจากการถูกสันติบาลติดตามที่โรงแรมในเมืองมะละแหม่งแล้ว ในทริปเดียวกันนี้ คณะของเรายังแวะพักที่เมืองพะอัน รัฐกะเหรี่ยง ที่นี่ทำให้เราได้รู้ถึงระบบของหน่วยข่าวกรองในการตรวจสอบนักท่องเที่ยวว่า โรงแรมแต่ละแห่งที่มีนักท่องเที่ยวเข้าพักจะต้องถ่ายสำเนาหลักฐานการเข้าพักเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวทั้งหมด 13 ชุดส่งให้กับฝ่ายต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเดินทางของนักท่องเที่ยวประเภทแบกเป้เหล่านี้ สาเหตุที่พวกเราทราบเรื่องนี้ก็เพราะว่าเพื่อนร่วมเดินทางของเราคนหนึ่งเขียนข้อมูลสลับกันในเอกสารของโรงแรมซึ่งผ่านการถ่ายเอกสารแล้ว 13 ชุด พนักงานจึงต้องนำเอกสารทั้งหมดมาให้แก้ไข พวกเราจึงสอบถามว่าทำไมต้องทำก้อปปี้มากมายขนาดนี้
อ่านมาถึงตรงนี้ คนที่เคยเดินทางไปเที่ยวพม่าตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังต่าง ๆ อย่างเจดีย์ชเวดากอง หรือพระธาตุอินทร์แขวนอาจบอกว่า ไม่เห็นเคยเจอสายลับติดตามเลย ฉันอาจเป็นพวก “วิตกจริต” ไปเองหรือเปล่า อันที่จริง ถ้าใครเดินทางไปเที่ยวตามปกติก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากต้องการเดินทางไปเก็บข้อมูลในฐานะ "นักข่าว" การเพิ่มความระมัดระวังในการเก็บข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจากประสบการณ์ในรัฐฉานครั้งแรกสอนให้ฉันรู้ว่า ฉันไม่ควรประมาทแม้นาทีเดียวหากต้องการเป็นพิราบขาวข้ามพรมแดนในประเทศที่ชื่อว่า “พม่า”
แม้ว่าข่าวที่ออกมาหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจะทำให้พม่า “ดูเหมือน” จะมีเสรีภาพมากขึ้น แต่ฉันเชื่อว่า บทเรียนต่าง ๆ ที่ฉันเคยได้รับจากการทำงานในพม่าตลอดเก้าปีจะช่วยให้คนที่อยากเข้าเดินทางไปพม่าไม่ตกอยู่ในความประมาท เพราะสถานการณ์การเมืองพม่าเป็นไปตามคติธรรมที่ว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” !
(ปล. บทความนี้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2554 )
โฆษณา