Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
บ้าหาสาระ
•
ติดตาม
30 เม.ย. 2020 เวลา 23:04 • ประวัติศาสตร์
จากวันที่อเมริกาไม่อยากให้จดจำสู่วันแรงงานโลก
วันแรงงานโลกซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีจัดได้ว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลก ที่เป็นสิ่งที่ทุกคนถูกปลูกฝังให้จดจำมาโดยตลอด แต่ทว่าจะมีใครรู้บ้างไหมว่าวันนี้มีที่มาจากเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของอเมริกา และมันเป็นประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลไม่อยากให้ผู้คนจดจำมันซะเท่าไร ซึ่งมันคือเหตุการณ์อะไรกันแน่ แล้วทำไมรัฐบาลไม่อยากให้ผู้คนจดจำมันเสียล่ะ และมันนำพาไปสู่การกำเนิดวันแรงงานโลกได้อย่างไร ? ทุกข้อสงสัยสามารถไขได้จากเรื่องเล่าที่ทุกท่านกำลังจะอ่านดังต่อไปนี้
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งปวงเกิดมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงกลางศตวรรษที่18 (ประมาณค.ศ.1760เป็นต้นมา) ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเกิดการเปลี่ยนขนานใหญ่จากสังคมภาคแรงงานเกษตรไปสู่สังคมเมืองภาคอุตสาหกรรมในโรงงานที่ถูกผู้ขาดโดยชนชั้นนายทุน ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรทุกสิ่งไม่เว้นแม้แต่มนุษย์ที่เป็นแรงงานด้วยก็ตาม ซึ่งแรงงานถูกมองเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆที่ทำให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่ในฐานะมนุษย์ผู้มีเลือดเนื้อและมีชีวิตจิตใจ ส่งผลให้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างยากลำบากและถูกเอารัดเอาเปรียบจากชนชั้นนายทุนอย่างมากสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการถูกบังคับให้ทำงานหนัก โดยแรงงานจะถูกบังคับให้ทำงานวันละ10-16ซม.และมีวันหยุดแค่วันเดียวในสัปดาห์เท่านั้น แต่ถ้าแรงงานทำงานไม่ครบตามข้อกำหนดก็จะถูกหักค่าจ้างลง ซึ่งปกติก็น้อยมากอยู่แล้ว และแรงงานต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายสุดๆ แรงงานต้องสูดดมควันพิษจากถ่านหินที่ใช้เป็นแหล่งพลังงานความร้อนที่ทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นไออยู่ทุกวัน ส่งผลให้ในแต่ละปีจะมีข่าวแรงงานเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าชีวิตของแรงงานนั้นสิ้นหวังสุดๆ เนื่องจากพวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบสารพัดในแบบที่พวกเขาไม่มีวันสามารถลืมตาอ้าปากได้ขึ้นมาเทียบเคียงชนชั้นนายทุนที่ผูกขาดทรัพยากรไว้แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นในเมื่อแรงงานเล็กๆคนเดียวไม่สามารถต่อกรกับชนชั้นนายทุนที่มีกำลังและอำนาจมากกว่าได้ ทำให้พวกแรงงานจำนวนมากได้มารวมตัวกันก่อตั้งเป็นสหภาพแรงงานขึ้นมาเพื่อต่อกรกับชนชั้นนายทุน และในขณะเดียวกันแนวความคิดเรื่องสังคมนิยมก็เป็นที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมในหมู่สหภาพแรงงานอีกด้วย เนื่องจากแนวคิดสังคมนิยมนั้นต่อต้านแนวคิดทุนนิยมที่คนกลุ่มเล็กๆเป็นเจ้าของทรัพยากรทั้งหมด โดยในแนวคิดสังคมนิยม คนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรทั้งหมดก็คือประชาชนทุกคน ดังนั้นประชาชนมีสิทธิที่จะเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ซึ่งต่อมาแนวความคิดสังคมนิยมนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นในทิศทางที่ผิดที่เกิดจากความบิดเบี้ยวและความรุนแรงจนกลายมาเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เน้นให้รัฐบาลเป็นเจ้าของทุกสิ่งและเน้นให้ชนชั้นแรงงานลุกขึ้นต่อสู้โค่นล้มเหล่านายทุนกลุ่มน้อย จากการอุ้มชูลัทธิสังคมนิยมนี้เองก่อให้เกิดสงครามการต่อสู้ระหว่างชนชั้นแรงงานกับชนชั้นนายทุนที่ครอบงำรัฐบาลอยู่ ผ่านการเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิความถูกต้องไปทั่วโลก โดยประเทศสหรัฐอเมริกาจัดเป็นหนึ่งในเวทีสำคัญของการต่อสู้ระหว่างสองแนวความคิดนี้
สมาพันธ์อัศวินแห่งแรงงาน (Knight of Labor)
เทอเรนซ์ วี. พาวเดอร์ลี (Terence V. Powderly)
จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ระหว่าง ทุนนิยมกับสังคมนิยมในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เกิดขึ้นมาในช่วงเศรษฐกิจถดถอยยาวนาน (Long Depression) ในช่วงปี 1873-1879 ทำให้แรงงานเริ่มรวมตัวเป็นกลุ่มสมาพันธ์แรงงานต่างๆในประเทศเพื่อต่อกรกับนายทุนที่มักเอารัดเอาเปรียบผู้คนในช่วงเวลาตกยาก ต่อมาอิทธิพลของสมาพันธ์แรงงานก็เริ่มขยายตัวออกไปมากขึ้นในช่วง1880 เป็นต้นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาพันธ์อัศวินแห่งแรงงาน (Knight of Labor) ภายใต้การนำของ เทอเรนซ์ วี. พาวเดอร์ลี (Terence V. Powderly) ซึ่งสามารถนำกองทัพแรงงานประท้วงต่อต้าน เจย์ โกลด์ (Jay Gould) เจ้าของเส้นทางสายรถไฟแว็บแบต (Wabash Railroad) และได้รับชัยชนะที่สุดในปี1885 (พ.ศ.2426) ส่งผลให้สมาพันธ์แรงงานนี้ได้กลายมาเป็นองค์กรแรงงานที่ประสบความสำเร็จและทรงอิทธิพลมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา ณ ขณะนั้นและต่อมาในปี1886 ได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 700,000 คนเลยทีเดียว
สมาพันธ์องค์การค้าและสภาพแรงงาน (Federation of Organized Trades and Labor unions or FOTLU)
เมื่อเวลาผ่านไปสมาพันธ์อัศวินแห่งแรงงาน ได้ร่วมจับมือกับสมาพันธ์องค์การค้าและสภาพแรงงาน (Federation of Organized Trades and Labor unions or FOTLU) ซึ่งถึงแม้ทั้ง 2 สมาพันธ์นี้จะมีแนวคิดที่แตกต่างกันโดยสมาพันธ์ FOTLU เป็นพวกสังคมนิยม ในขณะที่สมาพันธ์อัศวินแห่งแรงงาน เป็นพวก ลัทธิจอร์จ (Georgism) – แนวความคิดที่ให้คนเสียภาษีเรื่องที่ดินเพียงอย่างเดียวซึ่งมันเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ยังคงต้องเสียภาษีในส่วนนี้ก็เป็นเพราะมนุษย์ไม่สมควรได้รับประโยชน์จากสิ่งที่พวกเขาไม่ได้สร้างขึ้น แต่ทั้ง 2 สมาพันธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นก็คือ ความต้องการให้ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานดีขึ้น จึงได้จัดการชุมนุมใหญ่ขึ้นทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 1886 (พ.ศ.2427) เพื่อเรียกร้องการทำงานวันละ 8 ชั่วโมงขึ้นมา ตามที่สมาพันธ์ FOTLU เคยลั่นวาจาไว้เมื่อเดือนตุลาคม 1884 (2425) ว่า “การทำงานวันละ 8 ชั่วโมงจะต้องกลายมาเป็นมาตรฐานนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมปี 1886 เป็นต้นไป” แต่อย่างที่ทราบกันว่ารัฐบาลที่มีกลุ่มนายทุนเอื้อผลประโยชน์อยู่ข้างหลังก็ไม่มีทีท่าที่จะสนใจฟังในสิ่งที่ชนชั้นแรงงานเรียกร้องแต่อย่างใด ทำให้สมาพันธ์ FOTLU ที่ได้ผนึกกำลังกับสมาพันธ์อัศวิน สามารถระดมพลเรียกแรงงานประมาณ 300,000 คนที่อยู่ทั่วประเทศมาร่วมชุมนุม โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองชิคาโก (Chicago) ซึ่งมีผู้มาชุนนุมกว่า 40,000 คน
บริษัทเครื่องเก็บเกี่ยวแมคคอร์มิก (McCormick Harvesting Machine company)
นาย ออกัสต์ สปายส์ (August Spies) หนึ่งในแกนนำผู้ประท้วง
การชุมนุมในช่วง 2 วันแรกเต็มไปด้วยความสงบและสันติวิธี ผู้ประท้วงใช้วิธีการคว่ำบาตรนายทุนด้วยการหยุดทำงานมาเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกเขาคืนมา ซึ่งมันแทบไม่มีเค้าลางการเกิดความรุนแรงขึ้นใดๆ จนกระทั่งในวันที่ 3 นาย ออกัสต์ สปายส์ (August Spies) หนึ่งในแกนนำผู้ประท้วงได้นำพาแรงงานบางส่วนมาเดินขบวนประท้วงบริเวณใกล้ๆกับบริษัทเครื่องเก็บเกี่ยวแมคคอร์มิก (McCormick Harvesting Machine company) ซึ่งตรงจุดนี้ความตึงเครียดก็ได้เกิดขึ้นระหว่าง แรงงานผู้ประท้วงกับกลุ่ม Strikebreaker (กลุ่มคนที่ยังคงทำงานอยู่โดยไม่สนว่าจะมีการประท้วงหรือไม่) เนื่องจากกลุ่มผู้ประท้วงมองว่าคนกลุ่มนี้คือผู้ทรยศ เห็นแก่เศษเงินจากนายทุนมากกว่าการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ความถูกต้อง จึงทำให้เกิดการปะทะคารมขึ้น อย่างไรก็ตามโชคยังดีที่ในช่วงเช้าแรงงานเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองจากตำรวจกว่า 400 นาย ทำให้ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆเกิดขึ้น จนกระทั่งจุดเปลี่ยนมาอยู่ที่ช่วงเย็น หลังเสียงกิ่งเลิกงานดังขึ้นกลุ่มผู้ประท้วงได้กรุเข้ามาเผชิญหน้ากับกลุ่ม Strikebreakerที่กำลังเดินออกจากโรงงาน ถึงแม้สปายส์จะพยายามห้ามปรามแล้วก็ตามแต่มันก็ไม่เกิดผลแต่อย่างใดเพราะด้วยเพียงแค่เสียงเล็กๆจากเขาคนเดียวมิอาจหยุดยั้งเหล่าผู้ประท้วงที่เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดและความเกลียดชังได้ ตำรวจที่เห็นท่าไม่ดีจึงไม่รีรอที่จะยิงปืนไปยังฝูงชนโดยทันที ส่งผลให้พนักงานบริษัทกับผู้ประท้วงเสียชีวิตเป็นจำนวน 6 คน จากการกระทำในครั้งนี้ของตำรวจได้แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของเหล่าผู้มีอำนาจที่ไม่ต้องการให้ข้อเรียกร้องของเหล่าผู้ประท้วงสัมฤทธิ์ผลใดๆทั้งสิ้น และพร้อมที่จะหยุดยั้งการประท้วงได้ทุกเมื่อหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นมา
ภาพระเบิดที่จัตุรัสเฮย์เฮย์มาร์เก็ต
ซามูเอล ฟิลเดน (Samuel Fielden) แกนนำที่อยู่ในเหตุการณ์ระเบิดพอดี
สารวัตรตำรวจ จอห์น บอนฟิลด์ (Inspector John Bonield)
หลังจากการเหนี่ยวไกลครั้งนั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งผลให้การประท้วงในวันถัดมามีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น ถึงกระนั้นการชุมนุมประท้วงก็ยังคงเต็มไปด้วยความสงบ มีผู้ประท้วงจำนวน600-3000 คนมาฟังอภิปรายของเหล่าแก่นนำที่ขึ้นพูดบนเวทีที่จัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต (Haymaeket squre)ในช่วงเวลาเย็นประมาณ 1 ทุ่มครึ่ง ท่ามกลางการจับตามองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเนื้อหาอภิปรายส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการกล่าวโจมตีการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเหล่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กราดยิงฝูงชนเมื่อวานนี้อีกทั้งยังกล่าวปลุกใจแรงงานให้ไม่ยอมแพ้และลุกขึ้นต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมนี้ การอภิปรายนี้ยิงยาวไปจนถึง 4ทุ่มครึ่ง จนกระทั่งซามูเอล ฟิลเดน (Samuel Fielden) แกนนำคนสุดท้ายได้อภิปรายเสร็จ สารวัตรตำรวจ จอห์น บอนฟิลด์ (Inspector John Bonield)ได้เดินเข้ามาสั่งให้ฟิลเดนสลายการชุมนุม แต่ทว่าไม่ทันที่ฟิลเดนจะตอบคำถามใดๆ ได้มีบุคคลนิรนามได้ปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังเดินตามหลังสารวัตรตำรวจมา ผลที่ตามมาก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งนายได้จบชีวิตลงส่วนอีก 6 คนได้รับบาดเจ็บสาหัสจากสะเก็ดระเบิด จากความรุนแรงที่ได้เกิดขึ้นนั้นทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้กำลังเข้ามาสลายการชุมนุมแต่คราวนี้ไม่ได้จบลงอย่างเช่นเคย เนื่องจากมีผู้ประท้วงบางส่วนได้เตรียมอาวุธป้องกันตัวมาด้วยจึงก่อให้เกิดการยิงปืนโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและล้มตายลงไปพอสมควรในขณะที่บางส่วนก็วิ่งหนีกระเจิดกระเจิงเหมือนผึ้งแตกรัง จึงทำให้เหตุการณ์นั้นเต็มไปด้วยความโกลาหลและความเลวร้ายมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
8 แกนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกอนาธิปไตย (Anarchists )
บทสรุปเหตุการณ์นองเลือดในครั้งนี้มีแรงงานจำนวน 4 คนล้มตาย บาดเจ็บถึง 200คน และถูกจับมากกว่า 100คน ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจล้มตาย 8 นาย และบาดเจ็บ 60 นาย ส่วนแกนนำ 8 คน ถูกจับและถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต 7 คน ส่วนอีกคนถูกลงโทษจำคุก 15 ปี ด้วยโทษฐานเป็นต้นเหตุให้เกิดการสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นพวกอนาธิปไตย (Anarchists ) – กลุ่มคนที่สนับสนุนสังคมที่ปราศจากชนชั้น ไม่มีรัฐบาลปกครอง และอยู่ร่วมตัวกันด้วยความสมัครใจ โดยปราศจากหลักฐานที่ชัดเจน ทำให้การตัดสินในครั้งนี้ไม่ได้มีความยุติธรรมอยู่เลย เนื่องจากคำตัดสินนั้นถูกแรงกดดันทางการเมืองและกลุ่มนายทุนเข้ามาแทรกแซง ซึ่งแต่เดิมกลุ่มผู้มีอำนาจเหล่านี้มีความคิดที่อยากจะกำจัดกลุ่มแรงงานที่มีความคิดทางการเมืองตรงกันข้ามและนับวันยิ่งความทวีเข้มแข็งขึ้นมาเรื่อยๆอยู่แล้วแต่ทว่ามิอาจหาข้ออ้างกับโอกาสได้ ซึ่งพอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจึงได้ถือโอกาสเช็ดบิลไปในตัว ทำให้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสมาพันธ์แรงงานในสหรัฐอเมริกาก็อ่อนกำลังลง เพราะแรงงานเกรงกลัวที่จะได้รับบทลงโทษเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในจัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต ส่งผลให้เหตุการณ์นี้ถูกจดจำในชื่อ การจลาจลที่เฮย์มาร์เก็ต (Haymarket affair ) และในฐานะสัญลักษณ์แห่งความพ่ายแพ้ของชนชั้นแรงงาน
กลุ่มพันธมิตรพรรคแรงงานและสังคมนิยม (International Second)
ถึงแม้การประท้วงในครั้งนี้จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้อันยับเยินของผู้ประท้วง โดยไม่ได้รับในสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องเลยแต่อย่างใด และหนำซ้ำยังถูกยัดเยียดข้อกล่าวหาร้ายแรงโดยที่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ด้วยความไม่ยุติธรรมนี้ส่งผลให้มันได้สร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างมากต่อกลุ่มพันธมิตรพรรคแรงงานและสังคมนิยม (International Second) ที่เพิ่งก่อตั้งมาได้ไม่นานในยุโรป ทำให้พวกเขาตัดสินใจยกย่องเหตุการณ์การจลาจลที่เฮย์มาร์เก็ตเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อเรียกร้องอิสรภาพและความถูกต้อง ซึ่งทุกประเทศควรยึดเป็นแบบอย่าง ดังนั้นพวกเขาจึงประกาศให้วันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรกของการชุมนุมของเหตุการณ์การจลาจลที่เฮย์มาร์เก็ตของทุกปีเป็นวันแรงงานของโลกเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของนักสู้เหล่านั้นนับตั้งแต่ปี 1889 (พ.ศ.2432) เป็นต้นมา
ภาพการประท้วงเรียกร้องทำงาน 8 ชั่วโมงที่เมืองซุนด์สวอลล์ ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 1890
อย่างไรก็ตามวันแรงงานโลกในช่วงแรกนั้นเป็นที่ยอมรับในหมู่พรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมเพียงเท่านั้น ซึ่งต่อมาพรรคเหล่านั้นก็ได้มีการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิต่างๆให้แรงงาน โดยยึดสันติวิธีตามรอยผู้ประท้วงในเหตุการณ์การจลาจลที่เฮย์มาร์เก็ต ส่งผลให้ชีวิตของแรงงานทั่วโลกค่อยๆมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างช้าๆ โดยทุกคนจะได้ทำงานวันละ 8ชั่วโมงเป็นมาตรฐาน และไม่ต้องถูกบังคับให้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายอีกต่อไปแล้ว และในที่สุดวันแรงงานโลกก็ได้รับการยอมรับไปเกือบทั่วทุกมุมโลก เว้นแต่บางประเทศเท่านั้น ซึ่งประเทศอเมริกาก็เป็นหนึ่งในนั้น ถึงแม้ประเทศอเมริกาจะเป็นประเทศที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นแต่ทว่าทางรัฐบาลกลับพยายามทำให้ผู้คนลืมโดยการไม่ให้ค่าหรือความสำคัญใดๆ เนื่องจากมันเป็นหนึ่งในจุดด่างพร้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแห่งอิสรภาพ ประเทศซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการต่อสู้เพื่ออิสรภาพและความถูกต้อง แต่กลับไม่สนับสนุนการต่อสู้เพื่อความถูกต้องในครั้งนั้น ซ้ำร้ายยังใส่ความผู้ต้องหาที่เป็นผู้ชุมนุมในครั้งนั้นอย่างไม่ยุติธรรมอีกด้วย ส่งผลให้มันกลายมาเป็นจุดอ่อนที่พวกสังคมนิยมกับคอมมิวนิสต์สามารถมาใช้เล่นงานได้ จึงทำให้สหรัฐอเมริกาจัดวันแรงงานในวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนขึ้นแทน เพื่อเป็นการหลีกหนีแรงเสียดทานในแง่ลบที่จะทำให้พวกสังคมนิยมกับคอมมิวนิสต์เข้มแข็งขึ้นได้ ถึงกระนั้นมันก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเหตุการณ์นั้นมันได้เกิดขึ้นจริงไปแล้ว ดังนั้นในเมื่อปฏิเสธความจริงไม่ได้ ก็เปลี่ยนให้มันเป็นวันสำคัญอย่างอื่นเพื่อให้คนจดจำไปซะเลย ทำให้รัฐบาลอเมริกาเปลี่ยนวันที่ 1 พฤษภาคมที่เป็นวันแรงงานโลกให้เป็นวันแห่งความจงรักภักดี ในปี 1947 แทนและต่อมาได้นำวันแห่งกฎหมายเข้ารวมกันเป็นวันเดียวในปี 1961 เพื่อเป็นการส่งเสริมแนวคิดความเป็นประชาธิปไตยกับความเป็นชาตินิยมของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านกระแสลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆนับตั้งแต่จบสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพโดย
https://peoplepill.com/people/frederick-stanley-mockford/
https://www.history.com/topics/holidays/history-of-may-day
https://www.rd.com/culture/what-is-may-day/
https://www.history.com/topics/holidays/history-of-may-day
https://archive.iww.org/history/library/misc/origins_of_mayday/
https://www.history.com/topics/19th-century/haymarket-riot
https://www.rd.com/culture/international-workers-day/
https://www.dol.gov/general/laborday/history
https://www.youtube.com/watch?v=FJamea576YY
https://www.history.com/news/socialism-communism-differences
https://time.com/3836834/may-day-labor-history/
https://en.wikipedia.org/wiki/Pullman_Strike
https://www.history.com/news/labor-day-pullman-railway-strike-origins
http://povertythinkagain.com/controversies/a-word-from-the-sponsor-of-the-film-the-end-of-poverty-georgism-capitalism-and-socialism/
http://ciml.250x.com/archive/events/english/1886/chicago_1886.html
https://www.britannica.com/topic/May-Day-international-observance
https://en.wikipedia.org/wiki/Haymarket_affair
7 บันทึก
51
12
13
7
51
12
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย