1 พ.ค. 2020 เวลา 03:38 • การศึกษา
ว่าด้วยเรื่อง จ้ะ จ๊ะ จ๋า ค่ะ คะ ขา
“สวัสดีจ้ะ น้อง ไปไหนมาจ๊ะ” หลายคนคงคุ้นชินกับคำทักทายเช่นนี้ บ่อยครั้งเมื่อพบเจอกับผู้ที่อาวุโสสูงกว่า ด้วยธรรมเนียมนิยมของคนไทยการทักทายดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคน นอกจากรอยยิ้มพิมพ์ใจที่ทักทายผ่านใบหน้าเมื่อเจอกันแล้ว คำทักทายที่มักได้ยินบ่อยครั้ง นั่นคือ การถามว่าไปไหน ซึ่งโดยปกติผู้ที่ทักทายมักไม่ได้ต้องการคำตอบอย่างจริงจัง เพียงแต่เป็นการทักทายเพื่อแสดงน้ำใจ แสดงความห่วงใยต่อกันเพียงเท่านั้น
หากลองสังเกตประโยคในภาษาไทยจะพบว่า คนไทยทุกเพศทุกวัยมักจะลงท้ายประโยคด้วยคำที่แสดงความอ่อนหวาน เช่น จ๊ะ จ๋า คะ ขา โดยเฉพาะในเพศหญิง หากเป็นในเพศชายที่พบบ่อย คือ คำว่า “ครับ” หากต้องการความสุภาพมากจะใช้ว่า “ขอรับ” คำเหล่านี้ในภาษาไทย เรียกว่า “คำขานรับ”
การใช้ จ้ะ จ๊ะ จ๋า ให้ถูกต้อง มีหลักเกณฑ์การจำง่ายๆ ดังนี้
“จ้ะ” รูปวรรณยุกต์โท เสียงวรรณยุกต์โท ใช้ลงท้ายประโยคบอกเล่า เช่น ใช่จ้ะ ไม่ใช่จ้ะ ดีมากจ้ะ ดีแล้วจ้ะ ไปจ้ะ ไม่ไปจ้ะ ฯลฯ
“จ๊ะ” รูปวรรณยุกต์ตรี เสียงวรรณยุกต์ตรี ใช้เป็นคำลงท้ายประโยคคำสั่ง หรือพูดเน้นให้หนักแน่น เช่น ทำอย่างนี้ไม่ดีนะจ๊ะ ไปด้วยกันเถิดนะจ๊ะ ต้องทำให้ได้นะจ๊ะ ฯลฯ
“จ๋า” รูปวรรณยุกต์จัตวา เสียงวรรณยุกต์จัตวา ใช้ประกอบท้ายประโยคตอบรับหรือที่เรียกว่า “คำขานรับ” เช่น พ่อจ๋า แม่จ๋า พี่จ๋า หนูจ๋า ลูกจ๋า ฯลฯ
1
การใช้ จ้ะ จ๊ะ จ๋า ใช้เมื่อใดจึงจะเหมาะสม โดยปกติจะใช้คำหมวดนี้กับผู้ที่สนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นอย่างมาก เช่น เครือญาติ พ่อแม่กับลูก ลูกหลานใช้กับปู่ย่าตายาย เช่น “ยายจ๋า หนูอยากกินน้ำพริกกะปิ ยายตำให้หนูกินหน่อยนะจ๊ะ” หรืออาจใช้ในหมู่เพื่อนฝูงที่สนิทสนมกลมเกลียวกันเป็นอย่างดี และใช้ในกรณีที่ไม่ต้องการความเป็นทางการ เช่น “นิดหน่อยจ๋า เธอไปห้องสมุดเป็นเพื่อนเราหน่อยนะจ๊ะ” หรือหากไม่ใช่เครือญาติ อาจใช้ในกรณีที่ผู้ที่มีอาวุโสพูดกับผู้เยาว์ทั่วไปด้วยความรักใคร่เอ็นดู เช่น หนูจ๋า เป็นเด็กดีแบบนี้ดีมากเลยจ้ะ”
นอกจากเรื่อง จ้ะ จ๊ะ จ๋า ที่มักใช้สับสนกันแล้ว การใช้ ค่ะ คะ ขา ก็ดูจะใช้ผิดกันอยู่มาก หลายคนคงเคยเห็นประโยคเหล่านี้ตามโซเชียลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “สวัสดีคะ”(ค่ะ) “ไปเที่ยวด้วยกันไหมค่ะ”(คะ) “ดีใจที่ได้เจอกันนะค่ะ”(คะ) หากมองเพียงผิวเผินอาจรู้สึกว่าไม่เสียความหมายแต่อย่างใด แต่หากลองออกเสียงแล้วจึงจะรู้ว่าคำเหล่านี้สะกดผิด เห็นแล้วช่างขัดหูขัดตายิ่งนัก ใครที่ใช้ผิดบ่อยๆ ควรทำความเข้าใจและใช้ให้ถูกต้องกันนะคะ หลักเกณฑ์การใช้ ค่ะ และ คะ ที่ควรรู้มีดังนี้
“คะ” ไม่มีรูปวรรณยุกต์ เสียงวรรณยุกต์ตรี เนื่องจากเป็นอักษรต่ำ คำตาย เราจะใช้คำนี้ใน 3 กรณี
1) ใช้กับคำ วลีหรือประโยคที่ต้องการเสียงสูง เช่น ในประโยคคำถาม “จริงหรือคะ” “ได้หรือคะ” “ไปด้วยกันไหมคะ” หรือใช้เมื่อต้องการเรียกเพื่อแสดงความเคารพ เช่น “อาจารย์คะ” “พี่คะ” “แม่คะ”
2) ใช้ตามหลังคำว่า “นะ” เช่น “ไปด้วยกันนะคะ” “เชิญตามมาทางนี้นะคะ”
3) ใช้กับคำว่า “สิ” เช่น “ดื่มน้ำแก้กระหายหน่อยสิคะ” “พักบ้างสิคะ เหนื่อยมาทั้งวันแล้ว”
“ค่ะ” รูปวรรณยุกต์เอก เสียงวรรณยุกต์โท ใช้ใน 2 กรณีต่อไปนี้
1) ใช้กับคำ วลีหรือประโยคที่ต้องการเสียงต่ำที่ปรากฏในประโยคบอกเล่า เช่น การให้ข้อมูลต่างๆ
“สวัสดีค่ะ ฉันเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีค่ะ” “ขนมถาดนี้ฝีมือของฉันและเพื่อนๆ ค่ะ” “ฉันชื่อ รสริน ค่ะ”
2) ใช้กับคำ วลีหรือประโยคที่ต้องการเสียงต่ำที่ปรากฏในการตอบรับ เช่น “ค่ะ” “เข้าใจแล้วค่ะ”
“เชิญด้านในก่อนค่ะ” “ทราบแล้วค่ะ”
ส่วนคำว่า “ขา” ใช้เป็นคำขานรับที่ปรากฏในเพศหญิงเท่านั้น เช่น เมื่อมีผู้เรียกชื่อเรา ผู้ถูกเรียกก็จะขานรับด้วยเสียงอ่อนหวานว่า “ขา” ดังตัวอย่าง “ลูกนิด อยู่ในบ้านไหมลูก” “ขาแม่ หนูอยู่นี่ค่ะ”
เทคนิคการจำง่ายๆ สำหรับผู้ที่ใช้ คะ ค่ะ ผิดบ่อยๆ หากเป็นการให้ข้อมูลต่างๆ เราสามารถใช้ “ค่ะ” ไปได้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะขึ้นประโยคคำถาม จึงจะใช้คำว่า “คะ” ดังตัวอย่าง “พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวค่ะ เปิดให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้านในเก็บรวบรวมความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยไว้มากมายเลยค่ะ คุณและลูกๆ สนใจจะเข้าไปชมด้านในไหมคะ”
เมื่อต้องการใช้ในการตอบรับ เช่น เมื่ออาจารย์สั่งงาน เมื่อพ่อแม่ให้ช่วยงานบ้าน เราจะตอบรับว่า “ค่ะ” เมื่อต้องการใช้เป็นคำขานรับในผู้หญิง จะใช้ว่า “ขา”
การสะกดคำให้ถูกต้องเป็นหน้าที่ของคนไทยผู้ใช้ภาษาควรตระหนักรู้ การใช้ผิดบ่อยครั้งนอกจากจะแสดงถึงความไม่เอาใจใส่ในการใช้ภาษาแล้วยังส่งผลให้การสื่อความหมายผิดเพี้ยนไปด้วย รู้รักษ์ภาษาไทย รู้ใช้ให้ถูกต้อง ต่อจากนี้หากผู้อ่านต้องการใช้คำว่า จ้ะ จ๊ะ จ๋า ค่ะ คะ ขา ท้ายประโยคเพื่อแสดงความสุภาพและอ่อนหวานในภาษาไทยก็คงจะใช้ได้อย่างถูกต้องและไม่ผิดอีกต่อไป
เราจะไม่ใช่ “นะค่ะ” อีกต่อไปแล้วนะคะ
เรียบเรียงโดย: Rodsarin
โฆษณา