1 พ.ค. 2020 เวลา 05:14 • ธุรกิจ
บริหารพอร์ตเกษียณต้องทำยังไงน้า....
ให้มีเงินใช้ตลอดอายุขัยพร้อมเหลือให้ลูกหลาน
ช่วงนี้ไม่รู้เป็นไร คนรอบตัวค่อย ๆ เริ่มทยอยเกษียณกันคนแล้วคนเล่า เลยหันมาถามตัวเองว่า นี่เราคบแต่คนรอบตัวที่อาวุโสกว่า หรือ เราคบคนรุ่นราวคราวเดียวกันกับเราแน่ เลยต้องหันไปดูกระจก พร้อมนับอายุงานที่เหลือก่อนเกษียณ เลยถึงบางอ้อว่า เรามีเพื่อนรุ่นพี่เยอะนั่นเอง ค่อยสบายใจหน่อย เพราะถ้าให้เราเกษียณตอนนี้ ช่วงที่พอร์ตการลงทุน ทั้ง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund หรือ PVD) และ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Fund หรือ LTF) แดงเทือกขนาดนี้ คงต้องรีบกัดลิ้นให้ตายภายในไม่กี่ปี ไม่งั้นชีวิตจะรันทดหนักเพราะไม่มีเงินพอใช้หลังเกษียณอ่ะคร้าบ
สำหรับพี่ ๆ ที่อยู่รอบตัวที่ใกล้เกษียณ แล้วหันมาถามเราว่า จะเอาเงินก้อนที่ได้ตอนเกษียณจากทั้ง ประกันสังคม PVD และ RMF ไปบริหารยังไงดี เราก็เลยไม่รอช้ารีบไปศึกษาหาความรู้จนได้ข้อสรุปแนวทางการจัดพอร์ตสำหรับเกษียณ บนสมมติฐานที่ผู้อ่านรู้อยู่แล้วว่าต้องมีเงินกองทุนสำหรับเกษียณจำนวนเท่าไหร่ และ จะใช้เงินหลังเกษียณเดือนละเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถศึกษา และ คำนวณได้จาก https://www.set.or.th/proje…/caltools/…/html/retirement.html
เราขอแนะนำ ทฤษฎี ถังเงินเกษียณ 3 ถัง ซึ่งเป็นการแบ่งเงินเกษียณเป็น 3 ส่วน ใส่ไว้ในถัง 3 ถัง ซึ่งต่อไปนี้ขอเรียกว่า
1. ถังสภาพคล่อง
2. ถังปกป้องเงินเฟ้อ
3. ถังเพิ่มพูนมูลค่า
ซึ่งวัตถุประสงค์ จำนวนเงิน และสินทรัพย์ ในแต่ละถัง สามารถสรุปโดยย่อได้ดังนี้
ถังสภาพคล่อง
• เพื่อเก็บเงินที่ต้องเบิกใช้ในระยะเวลาอันสั้นไม่เกิน 2 ปี ซึ่งประกอบไปด้วยเงินรายเดือนที่ต้องการจะใช้หลังเกษียณและเงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เช่น ค่าซ่อมบ้าน ซ่อมรถ
• ให้ความสำคัญกับสภาพคล่องของสินทรัพย์และการคุ้มครองเงินต้นมากกว่าผลตอบแทน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้เงินในระยะสั้นอย่างน้อยเท่ากับ 2 ปี ของเงินรายเดือนที่ต้องการใช้หลังเกษียณ เช่น หากต้องการใช้เงินหลังเกษียณ 30,000 บาทต่อเดือน เงินที่อยู่ในถังนี้ควรมีมูลค่าอย่างน้อย 720,000 บาท
• สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝากธนาคาร กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล หรือ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น
รูป "ถังสภาพคล่อง"
ถังปกป้องเงินเฟ้อ
• เพิ่มผลตอบแทนให้กับเงินลงทุน เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อในระยะยาว เท่ากับเงินที่ต้องใช้รายเดือนหลังเกษียณ ตั้งแต่ปีที่ 3 ถึง ปีที่ 10 จากตัวอย่างด้านบน จำนวนเงินสำหรับถังปกป้องเงินเฟ้อควรมีอย่างน้อย 2.88 ล้านบาท
• สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหลักทรัพย์ปกป้องเงินเฟ้อ (Inflation-protected securities) กองทุนรวมผสม
รูป "ถังปกป้องเงินเฟ้อ"
ถังเพิ่มพูนมูลค่า
• สร้างผลตอบแทนให้พอร์ตการลงทุนในระยะยาว เพื่อตอบสนองความต้องการเพิ่มเติมหลังเกษียณ เช่น การท่องเที่ยว และ เพื่อนำเงินไปเติมในถังสภาพคล่อง และ ถังปกป้องเงินเฟ้อ ให้เต็มอยู่เสมอหากมีอายุยืนยาวกว่าที่คาดไว้
• เงินกองทุนเกษียณที่เหลือหลังจากแบ่งใส่ ถังสภาพคล่อง และ ถังปกป้องเงินเฟ้อแล้ว
• สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาว เช่น กองทุนตราสารทุน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนทอง กองทุนตราสารทางเลือก
รูป "ถังเพิ่มพูนมูลค่า"
อย่าลืมนะครับ ถังทั้ง 3 ถัง ทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน และ ตอบโจทย์ความต้องการหลังเกษียณที่ต่างกัน ดังนั้น พี่ ๆ ที่กำลังจะเกษียณ หรือ เกษียณแล้ว อย่าลืมเติมเงินให้เต็มทั้ง 3 ถังนะครับ
บทความหน้า เราจะมาแนะนำวิธีบริหารเงินและเติมเงินในแต่ละถังเมื่อเวลาผ่านไปในแต่ละปีนะครับ
ติดตามความรู้และรับคำปรึกษาด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล ได้ที่
โฆษณา