1 พ.ค. 2020 เวลา 18:16 • การศึกษา
เชื่อมั้ยว่ายุงก็มีประโยชน์ต่อโลก (และมนุษย์) เหมือนกันนะ
เป็นที่รู้กันดีว่ายุงเป็นบ่อเกิดของสารพัดโรคทั้งมาลาเรีย ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา (โรคไข้ปวดข้อยุงลาย) ไวรัสซิกา ไข้สมองอักเสบ เท้าช้าง
credit: Frank Greenaway, Getty Images
ยุงจัดเป็นแมลงที่มีอันตรายต่อมนุษย์เป็นอันดับ 1
แต่ละโรคที่มียุงเป็นพาหะฟังดูแล้วไม่น่าจะให้ยุงมีชีวิตอยู่บนโลกเลย
โรคมาลาเรียที่เกิดจากยุงทำให้ทั่วโลกสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐไปกับค่ารักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์การแพทย์ต่่างๆ และยังส่งผลให้ GDP ของประเทศที่มีการระบาดลดลงประมาณ 1.3%
จากข้อมูลปี 2562 ในประเทศมีผู้ป่วยจากโรคที่มียุงลายเป็นพาหะจำนวนมาก เช่น ไข้เลือดออกมีผู้ป่วย 128,964 ราย สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ถึง 2 เท่า เสียชีวิต 133 ราย และโรคชิคุนกุนยา 11,484 ราย เพิ่มขึ้น 3 เท่าของปีที่ผ่านมา
1
ยุงอาศัยอยู่บนโลกตั้งแต่เมื่อไหร่
หากคุณคิดว่าเราเกิดก่อนยุงแล้วล่ะก็ ผิดค่ะเนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ค้นพบซากฟอสซิลยุงที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยอยู่ในยุคครีเตเชียสหรือราวๆ 200 ล้านปีกว่าๆ เท่านั้นเองค่ะ
ฟอสซิลยุงเมื่อ 48 ล้านปีที่แล้วถูกค้นพบที่ northwestern Montana (Image: © Smithsonian Institution)
ปัจจุบัน เราค้นพบว่ายุงมีมากกว่า 3,500 สายพันธุ์ทั่วโลก แต่ว่ามีเพียงไม่กี่ร้อยสายพันธุ์ที่ดูดเลือดมนุษย์ และเป็นยุงตัวเมียเท่านั้น ยุงตัวผู้จะดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้และไม่สามารถเจาะทะลุผ่านผิวหนังของมนุษย์ได้
แต่เชื่อหรือไม่ว่ายุงก็มีประโยชน์ต่อโลกนี้เช่นกัน
ยุงเป็นอาหารที่สำคัญในห่วงโซ่อาหาร
ทั้งแมลงปอ ค้างคาว ปลา นกต่างก็กินยุงและลูกน้ำเป็นอาหาร และลูกน้ำของยุงก็ยังช่วยรีไซเคิลตะไคร่น้ำขนาดจิ๋วในน้ำ ยุงเหมือนเป็นห่วงโซ่ลำดับแรกๆของระบบนิเวศ
ลูกน้ำช่วยเพิ่มไนโตรเจนในน้ำ
ลูกน้ำจะกินซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยในน้ำและแปรเปลี่ยนเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชน้ำเช่นไนโตรเจนอีกด้วย
2
credit: JOAN MORRIS | jmorris@bayareanewsgroup.com |
ยุงช่วยผสมเกสรดอกไม้
จริงๆ แล้วมีเพียงยุงตัวเมียไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่กินเลือดมนุษย์เพื่อต้องการโปรตีนใช้วางไข่ โดยส่วนมากทั้งยุงตัวผู้และตัวเมียกินเกสรดอกไม้ เมื่อเวลาที่ยุงกินเกสรก็จะช่วยผสมพันธุ์ให้กับดอกไม้โดยเฉพาะพืชน้ำ พอพืชน้ำขยายพันธุ์ก็จะสร้างร่มเงาให้สัตว์น้ำได้อาศัย
น้ำลายยุงเป็นหนึ่งในแนวทางการวิจัยการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและภาวะสโตรก นักวิทยาศาสตร์สังเกตจากการดูดเลือดของยุงและค้นพบว่าในน้ำลายของยุงที่ชนิดเป็นพาหะของมาลาเรียมีโปรตีนที่ช่วยทำให้เลือดไม่อุดตัน โปรตีนในน้ำลายของยุงมีองค์ประกอบจากโปรตีนไม่ถึง 20 ชนิดซึ่งจะทำหน้าที่ไม่ให้เกล็ดเลือดจับตัวเป็นก้อน ปัจจุบันสามารถระบุชนิดของโปรตีนของน้ำลายยุงได้ประมาณครึ่งหนึ่ง และการวิจัยนี้สามารถต่อยอดการพัฒนาคิดค้นยารักษาโรคต่อไปได้
credit: Twitter/Heart Research Institute
การกระพือปีกของยุงนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการบินของโดรน
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดตั้งคำถามว่าทำไมยุงจึงสามารถบินขึ้นได้ในแนวดิ่งโดยอาศัยเวลาไม่กี่วินาทีเมื่อเทียบกับขนาดปีกและลำตัว (ยังไม่รวมเวลากินเลือดอิ่มๆ บางตัวนี่ไวยังกับนินจา) จึงทำการวิจัยเกี่ยวกับการกระพือปีกของยุงและพบว่ายุงกระพือปีกกว่่า 800 ครั้งต่อวินาที ทำให้มีการคิดค้นออกแบบโดรนที่มีรูปร่างและปีกให้มีแรงส่งที่สามารถต้านการปะทะของลมได้
credit:pixabay/wikiImages
ถ้าอยู่มาวันนึงโลกไม่มียุง จะเป็นยังไงน้อ
นักวิทยาศาสตร์มองว่าถึงยุงจะเป็นส่วนนึงในระบบนิเวศ หากยุงสูญพันธุ์ไปก็อาจจะไม่กระทบกับห่วงโซ่อาหารมากนัก ในยีนของสัตว์ที่กินยุงและลูกน้ำอาจจะมีการกลายพันธุ์เล็กน้อย แต่สุดท้ายสัตว์ที่กินยุงหรือลูกน้ำก็จะสามารถกินแมลงหรือสัตว์ชนิดอื่นทดแทนได้ ถึงแม้ว่าจะมีผลกระทบต่อจำนวนแมลงชนิดอื่นๆ ที่สัตว์กินยุงต้องกินทดแทน แต่ก็เชื่อว่าระบบนิเวศจะเยียวยาตนเองต่อไปได้
แต่ในบางพื้นที่เช่นแถบอาร์คติก ยุงมีความสำคัญสำหรับห่วงโซ่อาหารในพื้นที่อย่างใหญ่หลวง ยุงจะวางไข่ไว้จนกระทั่งน้ำแข็งละลายในฤดูร้อน หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ก็จะมียุงจำนวนมหาศาล (ประมาณหลายล้านตัว) ซึ่งในบางครั้งสามารถมองเห็นเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่บนท้องฟ้า และยุงเหล่านี้เป็นอาหารของนกในเขตขั้วโลก การกำจัดยุงอาจจะทำให้จำนวนของนกหายไปเพราะขาดอาหาร
ภาพฝูงยุงที่อลาสกา ไม้แบตตียุงในมือสั่นไปหมดเลยค่ะ credit:Jesse Krause
ยุงกับระบบนิเวศในเขตทุนดรามีความเกี่ยวข้องกัน ยุงจะกินเลือดกวางคารีบูที่อยู่กันเป็นฝูงในแถบอาร์คติกประมาณ 300 มิลลิลิตรต่อวัน ซึ่งฝูงกวางก็พยายามที่จะเดินทางผ่านหุบเขาที่มีลมพัดผ่านเพื่อหลบเลี่ยงยุง การเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินทางเพียงนิดเดียวของฝูงกวางเหล่านี้กลับส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงของห่วงโซ่อาหาร ไม่ว่าจะเป็นจำนวนไลเคน หมาป่า พืชพรรณ หรือแม้แต่ลักษณะภูมิประเทศได้เลย
1
การอพยพของฝูงกวางคารีบูในแต่ละครั้งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารเป็นอย่างมาก credit: Max Hug Williams
💵💶💷หากมองในแง่เศรษฐกิจ รัฐบาลจะไม่ต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาโรคที่มีพาหะจากยุง WHO ประเมินว่าที่มีการระบาดของมาลาเรียก็จะมี GDP เพิ่มสูงขึ้นมากถึง 1.3% เลยทีเดียว!!!!!
บทความนี้เริ่มเขียนจากการนั่งอยู่ในห้องน้ำแล้วโดนยุงกัด เลยเริ่มตั้งคำถามว่ายุงมันมีประโยชน์อะไรต่อโลกมั้ยเนี่ยะ แล้วก็เริ่มหาข้อมูลต่อจนพบข้อมูลน่าสนใจเยอะแยะจึงอยากเอามาแบ่งปันค่ะ
เรื่องนี้ใช้เวลาเขียนนานมากเพราะอ่านสรุปงานวิจัยจากหลายที่ ยังไงฝากกดติดตามเพื่อเป็นกำลังใจด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ 🙏
โฆษณา