1 พ.ค. 2020 เวลา 16:03 • กีฬา
โวลฟ์กังแฟรงค์ อาจารย์เจอร์เก้นคล็อป
โค้ช ของ ยอดโค้ช
ถ้าเปรียบเจอร์เก้น คล็อปเป็นพระเอกหนังจีนกำลังภายใน ณ ตอนนี้ย่อมเป็นจอมยุทธ์ที่มีวรยุทธ์ระดับต้นๆของยุทธภาพอย่างไม่มีข้อสงสัย
ลูกศิษย์เก่งย่อมต้องดูที่อาจารย์ ปรมาจารย์ โวล์ฟกัง แฟรงค์ ย่อมเปรียบเสมือนยอดยุทธ์อาวุโสผู้เร้นกาย หลังจากถ่ายทอดวิชาให้ลูกศิษย์ เรื่องราวของเค้าก็เลือนหาย มีผู้ทราบความเป็นมา และผู้สนใจน้อยมาก
เพื่อให้เข้าใจบริบท ความเป็นมาเรื่องนี้ อาจจะต้องย้อนไปถึงปี1986 ชายที่ชื่อว่า ดีเอโก้ มาราโดน่า เพลย์เมคเกอร์คนหนึ่งที่เก่งที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยมีมา ถ้าไฮไลท์เลี้ยงหลบกองหลังอังกฤษ5คนเข้าไปยิงประตูคือความยอดเยี่ยมที่คนพูดถึง ที่เยี่ยมยิ่งกว่าคือเค้าสามารถเลี้ยงหลบผู้เล่นครั้งละ3-4คนเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากเลี้ยงดียังยิงประตูได้ทุกรูปแบบ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีลูกส่งที่ยอดเหมือนที่คอลัมนิสต์สตาร์ซ็อคเกอร์หลายท่านกล่าวไว้ในสมัยที่เฮียเป็นเด็กว่า “เท้าช่างทอง” คือมีลูกส่งที่แม่นยำทั้งน้ำหนักและทิศทาง
หลังจากมาราโดน่าพร้อมกับผู้เล่นอาเจนติน่าอีก 10 คนคว้าแชมป์โลก เค้าไปเล่นที่นาโปลีและการย้ายทีมเพียงของนักเตะเพียงคนเดียวเปลี่ยนทีมธรรมดาๆอย่างนาโปลีให้กลายเป็นแชมป์กัลโช่ซีรีย์เอในทันใด
ถ้านึกภาพไม่ออกให้ลองนึกว่า อยู่ๆทีมฝีเท้าธรรมดา อย่างวูลฟ์ หรือ เวสต์แฮมซื้อเพลย์เมคเกอร์มาคนเดียวแล้วนักเตะคนนั้นทั้งยิงทั้งจ่ายพาทีมคว้าแชมป์ล้มยักษ์ใหญ่ต่างๆในลีคให้มองกันตาปริบๆ
ในยุคนั้นยอดทีมต่างๆมักจะมีนักเตะ หรือ มองหานักเตะที่เป็นเพยลย์เมคเกอร์กันยกใหญ่ มาราโดน่า พลาตินี่ ซิโก้ เทรนด์เพลย์เมคเกอร์เป็นที่นิยมเด็กๆยุคนั้นอยากเล่นมิดฟิลด์ตัวรุกกันหมด แม้แต่กัปตันซึบาสะ อามามิ เอ้ย โอซาร่า ซึบาสะ ในการ์ตูนยังเปลี่ยนตำแหน่งจากศูนย์หน้า ไปเป็นมิดฟิลด์ตัวรุกพาทีมคว้าแชมป์เยาวชนโลกตอนเฮียอายุสิบกว่าๆ จนทุกวันนี้เฮียอายุ40แล้ว ซึบาสะยังเพิ่งขึ้นชุดยู23 เอง
แต่หลังจากนั้นไม่นานเทรนด์ฟุตบอลก็เปลี่ยนไปอีก ด้วยทีมชาติที่เก่งที่สุดยุคหนึ่งในเจเนอเรชั่นนั้น อัศวินสีส้ม ฮอลแลนด์ คว้าแชมป์ด้วย ฟุตบอลสมัยใหม่และนักเตะที่พีคขึ้นมาพร้อมๆกันอย่าง แวนบาสเท่น กุลลิท และ แฟรงค์ไรด์กาจ
เอซี มิลานขยับตัวก่อนใครคว้าแกนหลักขุนพลฟลายอิ้งค์ ดัทช์มิลค์ชุดนั้น ซาคคี่ ได้ค่อยๆสร้างทีมของเค้าขึ้นมาช้าๆ ไม่เพียงแต่เป็นทีมที่รวมนักเตะชั้นยอด อย่าง3ทหารเสือฮอลแลนด์ยังมีกองหลังระดับกำแพงเมืองจีนเห็นแล้วยังร้องไห้ อย่าง ฟรังโก้ บาเรซี่ เปาโลมัลดินี่ เมาโรทัตซอตติ และ คอสตาคูต้า
แต่สิ่งที่ซาคคี่ทำได้ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าการรวมทีมที่เต็มไปด้วยยอดนักเตะ เขายัง ปฏิวัตแทคติคการเล่นฟุตบอลไปตลอดการ โดยการประดิษฐ์สไตล์การเล่นขึ้นมาแบบหนึ่งที่เราเรียกว่า “เพรซซิ่งฟุตบอล”
ถ้าแฟนเพจท่านไหนที่เริ่มมีอาการหงุดหงิดง่ายเพราะวัยทองเหมือนเฮีย คงจะคุ้นภาษอิตตาเลี่ยนคำหนึ่งที่เรียกว่า “คาตาเน็คโช่” หรือตีหัวเข้าบ้าน
ใครที่เกิดทันยุคนั้นจะรู้ว่าถ้าปล่อยให้ทีมจากอิตตาลี่ทำประตูนำไปก่อนแทบจะปิดทีวีนอนได้เลย เพราะฝ่ายตามจะโดนเกมรับที่แน่นหนาและสกอร์ยอดฮิตคือ1-0
เพรซซิ่งฟุตบอลของซาคคี่จึงไม่เพียงแต่ ท้าทายขนบธรรมเนียมเดิมๆของบอลอิตตาลี่ ยังสร้างความสำเร็จให้มิลานในยุคนั้นครองความยิ่งใหญ่ยาวนาน ไปจนถึงยุคคาเปลโล่
เพลย์เมคเกอร์ ที่ไม่ว่าจะเก่งมาจากไหน จะไม่ถูกอนุญาตให้เล่นบอลแบบสบายๆอีกต่อไป จากเดิมที่แทคติคในการจัดการเพลย์เมคเกอร์มักจะให้ใครสักคนในทีมจับตายมาร์คตัวต่อต่อและเล่นหนักเล่นนอกเกมเข้าใส่ ซึ่งถ้าคนที่ทำหน้าที่ประกบความสามารถไม่ถึงเค้าจะกลายเป็นตัวตลกไปเลย ซาคคี่เปลี่ยนจากการไล่เตะ เป็นไล่บีบพื้นที่
ฟุตบอลสมัยใหม่ของซาคคี่ และ ความสำเร็จของเอซีมิลานในยุคนั้นอยู่ในสายตาของอดีตกองหน้าพเนจรร่างเล็ก ที่เคยเล่นกับทั้ง สตุทการ์ท ดอร์ทมุนท์ และ เนินแบร์ก ที่กำลังจะเริ่มต้นในอาชีพโค้ชอย่าง โวลฟ์กังแฟรงค์
ชายคนนี้เป็นคนเงียบขรึม น้ำนิ่งไหลลึก เค้าจะทำในสิ่งที่เป็นเรื่องแปลกสำหรับโค้ชยุคเค้าจะทำกัน คือ เขาจะนั่งศึกษารูปแบบการเล่นของเอซีมิลาน จากเทปวีดีโอจนดึกดื่นไม่ใช่แค่หลายคืน แต่เป็นหลายปี แฟรงค์ทำแม้กระทั้งขอเข้าไปยืนศึกษาการเล่นของมิลานถึงในสนามซ้อมด้วยซ้ำ และซาคคี่ก็อนุญาตด้วย!!!
เขาเริ่มต้นอาชีพด้วยการคุมทีเล็กๆที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ยกเว้นนักลงทุนทางผลฟุตบอลในบ้านเราจากสวิตเซอร์แลนด์ อย่าง เอฟซี กลารุส นอกจากเรื่องรูปแบบการเล่น แฟรงค์ยังใส่ใจเรื่องการพักฟื้นร่างกายและอาหารของนักเตะซึ่งยังเป็นเรื่องแปลกในสมัยนั้น
แฟรงค์พาทีมกลารุสได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม หลังจากนั้นเค้าย้ายไปคุมเอฟซี อาร์เรา แฟรงค์พาทีเข้าชิงสวิสคัพได้ตั้งแต่ปีแรก แต่แฟรงค์คุมอาร์เราได้แค่ฤดูกาลเดียวก็ย้ายไปคุมทีมอื่นๆแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใดนัก
หลังจากนั้นแฟรงค์ย้ายมาคุมทีมในเยอรมันบ้านเกิดอย่าง ร็อทไวส์ เอสเซน แต่ด้วยปัญหาภายในทีมอย่างหนักและบอร์ดบริหารทำให้เค้าไม่สามารถคุมทีมได้อย่างเต็มที่
ขณะนั้นไมนซ์ 05ทีมเล็กๆจากบุนเดสลีกา2ซึ่งกำลังอยู่ในสถานการณ์หนีตกชั้นกำลังมาหาโค้ชคนใหม่ที่จะทำให้ทีมอยู่รอดไม่มีใครกล้ารับตำแหน่งดังกล่าว ยกเว้นชายคนเดียว โวลฟ์กังแฟรงค์
ช่วงแรกๆของการรับตำแหน่งทีมก็ยังคงแพ้ต่อเนื่อง นิตยสารคิกเกอร์ซึ่งเป็นนิตยสารฟุตบอลชื่อดังในสมัยนั้นบอกว่าโอกาสที่ไมนซ์จะตกชั้นคือ 100%
อย่างไรก็ตามบรรดานักเตะเริ่มปรับตัวให้เข้ากับระบบการซ้อมที่ทุกคนยอมรับภายหลังว่าซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง
และจุดเปลี่ยนสำคัญของทีมก็มาถึง ซึ่งจุดเปลี่ยนดังกล่าวนี้จะกลายเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนแปลงของฟุตบอลเยอรมันไปตลอดกาล
แฟรงค์ต้องเดินเข้าไปหาประธานสโมสรเพื่อขออนุญาตเปลี่ยนแปลงแทคติดบางอย่าง
จริงๆการเปลี่ยนแทคติคเป็นเรื่องของโค้ชอยู่แล้ว แต่อะไรที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายขนาดต้องขออนุญาตจากประธานสโมสร
สาเหตุก็คือแฟรงค์จะยกเลิกการเล่นแบบมีสวีปเปอร์ไปเป็นแบบกองหลังสี่คน!!!
ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ แน่นอนถ้าเป็นสมัยนี้เรื่องนี้จะไม่เป็นข่าวดังเท่าป๊อกบานั่งเกาไข่ด้วยซ้ำ
แต่เรื่องนี้ในวงการฟุตบอลเยอรมันยุค80-90ถือได้ว่าเป็นเรื่อง ทำลายเอกลักษณ์ประจำชาติเลยทีเดียว คือทุกคนจะทราบว่าบรรดาทีมในบุนเดสลีกาจะเล่นในรูปแบบการเล่นคล้ายๆกันซึ่งจะส่งผลดีต่อทีมชาติด้วยเพราะจะมีนักเตะในสเป็คให้เลือกเยอะ
การยืนกองหลังแบบมี “ตัวกวาด”หรือสวีปเปอร์เป็นเหมือนสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของเยอรมันในยุคนั้นๆ นักเตะในตำนานหลายคนรับตำแหน่งตัวกวาดหรือสวีปเปอร์ซึ่งจะยืนหลังแนวกองหลังและทำการเก็บกวาดบอลหรือคนที่ทะลุผ่านแนวสุดท้ายเข้ามาด้วยความสง่างาม
นักเตะ ระดับตำนานที่เล่นตำแหน่งนี้ก็เช่น ฟรานซ์ แบคเค่นบราวเออร์ โลธ่าร์ มัทเธอุส หรือ มัททีอัส ซามเมอร์
ใครที่พยายามยกเลิกการเล่นแบบสวีปเปอร์ หรือ ลิเบอโร่มักเจอทั้งกิ่งไม้ และ ก้อนหิน จากสื่อมวลชนและผู้มีอำนาจในวงการฟุตบอลเยอรมัน “เตือนแรงๆ”เสมอๆ
ฟรานซ์แบคเคนบราว ในฐานะประธานสโมสรบาเยิร์นเคยสั่งห้าม เอริค ริบเบ็ค ไม่อณุญาตให้ซ้อมระบบนี้ด้วยซ้ำ(ข้อมูลจากหนังสือ Klopp Bring the noise) แม้แต่แบร์ตี้ โฟล์ก บุนเดสเทรนเนอร์ในยุคนั้นยังวิจารณ์ว่า การเล่นกองหลังสี่คนจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง”
นาทีนั้นไม่มีใครสักคนในสโมสรจะมั่นใจในเรื่องนี้แม้แต่ แฟรงค์ ไฮเดลประธานสโมสรยังพูดว่า “ตอนนั้นผมมั่นใจว่าเราจะเป็นตัวตลกแน่ๆ”
แฟรงค์อธิบายแนวคิดของเค้าง่ายๆว่า ถ้ากองหลังน้อยลงหนึ่งคน ก็เท่ากับเราจะมีมิดฟิลด์มากขึ้นหนึ่งคน
ไฮเดลถามกลับ “แล้วถ้ามีใครสักคนหลุดมาถึงหน้าประตูล่ะ???
แฟรงค์กล่าวอย่างมั่นใจว่า....... จะไม่มีใครหลุดมาแม้แต่คนเดียว.....
การฝึกของแฟรงค์ เน้นไปที่การวิ่ง วิ่ง วิ่ง แล้วก็วิ่ง รวมถึงการยืนตำแหน่งซึ่งบางครั้งเป็นการฝึก3-4ชั่วโมงโดยไม่แตะลูกบอลด้วยซ้ำ
บางวันที่ต้องพักร่างกายก็จะให้ทุกคนมาดูวีดีโอด้วยกัน บางทีดูซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งอดีตผู้เล่นหลายคน กลัวกันมาก ฟรังค์ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์วีดีโอมากจนได้ดึงนักศึกษาวิทยาศาสตร์การกีฬาคนหนึ่งมาช่วยงาน
เขาชื่อ ปีเตอร์ คราเวียทร์ ชายผู้ที่ในอนาคตจะกลายเป็นมือขวาของเจอร์เก้นคล็อป
อย่างไรก็ตามหลังจากเริ่มปรับตัวกับระบบใหม่ที่แฟรงค์นำมา “ติดตั้ง”ให้กับทีมได้ผลงานของทีมเริ่มดีมากขึ้น
เกมแรกของการหนีตกชั้น ไมนซ์ยิงได้ถึงหกลูก!!!
นั่นเฉพาะแค่ครึ่งแรก.....
ทีมที่เล่นแบ็คโฟร์เป็นผู้ชนะ ทุกคนในสโมสรเริ่มดีใจ อย่างไรก็ตามโวล์ฟกังแฟรงค์มองเห็นถึงอันตรายนอกสนามที่มองไม่เห็น เค้าพยายามเข้าไปขอร้องนักข่าวท้องถิ่นว่าอย่าเขียนถึงเรื่องแบ็คโฟร์ให้มากเกินไป เพราะถ้าทีมแพ้จะมีแรงเสียดทานที่ไม่จำเป็นตามมา
นาทีนี้ ไมนซ์05ตื่นแล้ว ไม่เพียงแต่หนีตกชั้นสำเร็จ ฤดูกาลต่อมาทีมยังพุ่งแรงจนมีลุ้นเลื่อนชั้นไปบุนเดสลีก้าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของทีม และ พวกเขาเป็นทีมเดียวที่เล่นแบ็คโฟร์
จริงๆแล้วทุกคนที่อ่านเรื่องนี้ในปัจจุบันคงทราบว่าแบ็คโฟร์เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ส่วนที่สำคัญคือเพรซซิ่งฟุตบอลมากกว่า
เจอร์เก้นคล็อป ในเวลานั้นบอกว่า ถ้าแม้แต่กุลลิท แวนบาสเทนยังซ้อมแบบนี้อย่าว่าแต่วิ่งเลยให้เค้าปีนต้นไม้ยังได้ถ้ามันจะช่วยให้มีแต้ม (จะเห็นได้ว่าลีลาการให้สัมภาษณ์ของบอสเราจัดจ้านในย่านไมนซ์ตั้งแต่ยุคนั้นแล้วนะครับ)
และแน่นอนชายอีกคนหนึ่งที่จดทุกอย่างจำทุกอย่างถามทุกอย่าง รวมไปถึงเถียงบางอย่าง อย่างเจอร์เก้นคล็อปก็กำลังซึมซับความรู้จากอาจารย์ของเค้าอย่างเงียบๆ เหมือนความรู้ที่ถูกถ่ายทอดและปรับมาเป็นของตัวเอง จากซาคคี่สู่โวล์ฟกังแฟรงค์ มาถึงเจอร์เก้นคล็อป
นาทีนั้นคล็อปยอมรับภายหลังว่าเหมือนพระเจ้าบอกความลับให้กับเค้าถึงวิธีที่ทีมเล็กๆจะชนะทีมที่ใหญ่กว่าได้อย่างไร
นอกจากความรู้เรื่องแทคติคแล้ว โวล์ฟกังแฟรงค์ยังสอนเรื่องต่างๆในชีวิตให้กับลูกทีมอีกด้วย
เค้าสอนให้นักเตะในทีมมีวิสัยทัศน์เค้าถามว่าใครอยากไปเล่นในบุนเดสลีกาบ้างนาทีนั้นไม่มีใครสักคนในทีมคิดถึงเรื่องนี้ด้วยซ้ำ
บางทีคนหัวเราะลูกทีมของเค้าเมื่อเห็นการซ้อมด้วยท่าทางที่แปลกๆ(ซึ่งในอนาคตหลังจากนั้นจะมีการนำไปใช้ในทีมชาติเยอรมัน)
แฟรงค์บอกว่า “แค่ทำในสิ่งที่ต้องทำก็พอ ไม่ต้องสนว่าคนอื่นจะคิดยังไง”
จะเห็นว่านอกจากความปราดเปรื่องแล้ว โวล์ฟกัง แฟรงค์ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “ความอินดี้”อยู่มาก ซึ่งนี่น่าจะเป็นนิสัยที่คล็อปคล้ายอาจารย์ของเค้าอยู่ไม่น้อย
แน่นอนว่าแม้คาแรคเตอร์ของคล็อป กับ แฟรงค์จะต่างกันลิบลับ คล็อปดูเป็นที่รักของทุกคน มีวาทศิลป์แบบ “ตก”แฟนคลับได้อยู่หมัด แต่ โวล์ฟกัง แฟรงค์จะดูเงียบๆเข้าถึงยากมากกว่า ลักษณะคล้ายครูดุๆที่หวังดีต่อลูกศิษย์
หากแต่ความชัดเจนและความกล้าหาญ ทั้งทางด้านฟุตบอล และ ชีวิตบอสน่าจะได้รับอิทธิพลจากอาจารย์เขามาไม่น้อย
โวล์ฟกัง แฟรงค์ ลาออกจากทีมไม่นานหลังจากนั้นอย่างกะทันหันจนทุกคนแปลกใจ
โค้ชที่มารับช่วงต่อจากเค้าไม่รู้ว่าการเล่นฟุตบอลแบบแฟรงค์ต้องทำยังไง ผู้บริหารไมนซ์ก็จนปัญญามองไปทางไหนก็ไม่เห็นใครที่ทำได้
อาจจะมีสักวันที่ผู้บริหารมองไปที่สนามซ้อมแล้วเห็นใครยิ้มมา แล้วในใจหนึ่งคิดว่า เออ ถ้าเป็นไอ้หมอนี่อาจจะทำได้ก็ได้นะ
นั่นคือจุดเริ่มของตำนานเจอร์เก้นคล็อป ชายผู้ซึ่งจะสานต่อมรดกของอาจารย์ของเขาไปสู่ความยิ่งใหญ่ต่อไป
และอย่างที่ทุกคนรู้ที่เหลือคือตำนาน....
หลายปีต่อมา เจอร์เก้น คล้อป กล่าวทั้งน้ำตาในพิธีฝังศพของ โวล์ฟกัง แฟรงค์”ว่า
“ผมบอกนักเตะมากกว่าพันคนว่าโวล์ฟกัง มีอิทธิพลกับนักฟุตบอลทั้งเจเนอเรชั่น ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น เขาคือโค้ชที่มีอิทธิพลกับชีวิตผมมากที่สุด เขาคือคนที่พิเศษ”
และสำหรับพวกเราเดอะค็อปเขาจะไม่ยอดเยี่ยมได้อย่างไร
เพราะแฟรงค์คือ โค้ชของยอดโค้ช นั่นเอง
ขอบคุณที่ติดตาม
รักนะจากเฮีย
#YNWA
โฆษณา