2 พ.ค. 2020 เวลา 03:46
สวัสดีค่า กลับมาอีกครั้งในตอนที่ 2 ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาแก้แพ้ ยา%$฿%’¥: มันคือยาเดียวกันหรือเปล่าเนี่ยยยยย ?
สำหรับตอนแรกของเรา จะมาพูดถึง “ยาลดไข้” ค่ะ
ช่วงนี้แน่นอนว่าเรื่องไข้เป็นเรื่องที่เป็นประเด็นอย่างมาก เพราะไข้เป็นอาการหนึ่งที่ตรวจพบได้ง่ายของ COVID-19 (วัดไข้กันทุกที่เลย ใช่ไหมละคะ) แต่! เป็นไข้ก็ใช่ว่าจะพบได้แต่ในคนเป็นโควิด ไม่ว่าจะเป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส แผลติดเชื้อ ข้ออักเสบ ก็เป็นไข้ได้ทั้งนั้น ฉะนั้นวันนี้เราจะมาทำความรู้จักเรื่องไข้และยาลดไข้กันค่ะ
เอาล่ะค่ะ ก่อนที่เราจะพูดถึงยาลดไข้ เราก็ต้องมาทำความรู้จักกับ “ไข้” กันก่อนเนอะ ซึ่งประเด็นคำถามที่เราจะมาพูดกันก็คือ ไข้คืออะไร เราเป็นไข้ได้ยังไง แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเราเป็นไข้จริงๆ เนื่องจากทุกคนเคยเป็นไข้กันมาก่อน ตอนอ่านก็ลองนึกตามดูได้นะคะว่าตอนเราเป็นไข้ เราเป็นแบบนี้เหมือนกันรึเปล่าน้า
ไข้(fever) คือ ภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของเราจำเป็นต้องปรับอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ไม่เปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายนอกร่างกาย เพื่อให้ร่างกายของเราสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติค่ะ (ขาดเธออะไม่เป็นไร แต่เป็นไข้เราคงอยู่ไม่ได้~)
ถ้าการเป็นไข้บ่งบอกถึงความผิดปกติ อย่างงั้นเรามาเรียนรู้เพิ่มซักนิดดีมั้ยคะ ว่าโดยปกติแล้วร่างกายของเราเนี่ยปรับให้อุณหภูมิร่างกายอยู่ในช่วงที่เหมาะสมได้ยังไง
ร่างกายของเราจะมีศูนย์ควบคุมอุณหภูมิกายอยู่ที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส(hypothalamus) โดยสมองส่วนนี้จะมีเป้าหมายอุณหภูมิปกติที่ตั้งไว้ ถ้าเกิดว่าร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงหรือต่ำกว่าปกติ สมองส่วนนี้ก็จะสั่งให้ร่างกายของเรามีการตอบสนองต่างๆเพื่อให้อุณหภูมิกายกลับมาสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ค่ะ มุ่งมั่นเหลือเกิน
แล้วสรุปเราเป็นไข้ได้ยังไงนะ ก็มีไฮโปทาลามัสอยู่แล้วนี่นา
เราเป็นไข้เพราะว่าสารก่อไข้(pyrogen)ค่ะ ซึ่งสารก่อไข้นี้เราอาจจะได้รับมาจากภายนอก เช่นเวลาเราติดเชื้อ หรือว่าเป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นเองเวลาเราบาดเจ็บและมีการอักเสบก็ได้ค่ะ สาเหตุเยอะแบบนี้ไข้ก็เลยเป็นปัญหาที่เราพบบ่อยแทบไม่เว้นวันเลยล่ะค่ะ โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดก็คือการติดเชื้อนั่นเองค่า มงลงไปเลย ต่อมาค่ะ สารก่อไข้ก็จะไปกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองและหลั่งสารมากมายเลย ในบรรดาสารเหล่านั้น พระเอกของการเป็นไข้ก็คือ พรอสตาแกลนดิน อี2(prostaglandin E2) หรือเรียกสั้นๆว่าPGE2ก็ได้ค่ะ สารตัวนี้จะไปรบกวนสมองส่วนไฮโปทาลามัสที่กล่าวถึงไปแล้วด้านบนให้มีเป้าหมายอุณหภูมิกายที่สูงขึ้น พูดง่ายๆก็คือจากเดิมสมองเราตั้งไว้ว่าเราต้องมีอุณหภูมิกายอยู่ที่37องศาเซลเซียสนะ เวลาเป็นไข้สมองก็จะเข้าใจว่าอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสเนี่ยต่ำไป เพราะอุณหภูมิเป้าหมายเราสูงกว่านั้นนั่นเองค่ะ (ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจสามารถคอมเมนท์หรือทักมาถามได้เลยนะคะ)
เมื่ออุณหภูมิเป้าหมายเปลี่ยนร่างกายก็จะต้องตอบสนองใช่มั้ยคะ ทั้งพยายามสร้างความร้อนและป้องกันไม่ให้สูญเสียความร้อน อันนี้แหละค่ะที่เราจะเรียกว่า เป็นไข้ โดยเราจะแบ่งการเป็นไข้ออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ ได้แก่
1. ไข้ขึ้น : ช่วงนี้ร่างกายจะตอบสนองเพื่อให้อุณหภูมิพุ่งไปถึงเป้าหมายใหม่ค่ะ ตามสโลแกน เป้าหมายมีไว้พุ่งชน~ โดยเราก็จะรู้สึกหนาว ตัวสั่นเพื่อเพิ่มการสร้างความร้อน อยากห่มผ้าเพื่อเก็บความร้อนไว้ข้างใน ประหนึ่งอยากเก็บเธอไว้ในใจคนเดียวค่ะ
2. ไข้ทรง : ช่วงนี้อุณหภูมิกายเราก็มาถึงอุณหภูมิเป้าหมายใหม่แล้ว ก็จะต้องรักษาอุณภูมิกายสูง(ที่สมองดันนึกว่าปกติ) โดยร่างกายก็จะมีการเผาผลาญสูงขึ้นเพื่อสร้างพลังงานความร้อนตลอด เวลาเป็นไข้เราก็เลยมักจะน้ำหนักลดไงล่ะคะ
3. ไข้สร่าง : ช่วงนี้เป้าหมายอุณหภูมิกายของเราจะลดลงกลับมาปกติแล้ว สมองอยากเสนอ ร่างกายก็เลยต้องตอบสนองสิคะ โดยจะสังเกตได้ว่าเราจะมีเหงื่อออก ตัวแดงจากการที่หลอดเลือดขยายเพื่อระบายความร้อนออกไปค่ะ สบายใจหายห่วง
จริงๆแล้วมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่ออุณหภูมิในร่างกายของเรา ซึ่งทางเราก็ได้รวบรวมมาให้แล้วดังนี้ค่ะ
1. กิจกรรมทางกายและอารมณ์ : สังเกตได้ใช่มั้ยคะ เวลาเราโกรธหรือว่าไปออกกำลังกายเนี่ย เราก็จะตัวร้อนและเหงื่อออกเยอะ
2. เวลา : ปกติแล้วร่างกายของเราไม่ได้มีอุณหภูมิคงที่ตลอดทั้งวันนะคะ โดยช่วงเช้าเนี่ยจะมีอุณหภูมิกายต่ำกว่าช่วงอื่นๆของวันค่ะ ดังนั้นเกณฑ์อุณหภูมิเวลาวัดไข้ของช่วงเช้าและช่วงอื่นๆของวันก็จะไม่เหมือนกันนะคะ
3. รอบเดือนของสาวๆ : ตั้งแต่ช่วงไข่ตกไปจนถึงวันที่ประจำเดือนมาเนี่ย อุณหภูมิร่างกายของผู้หญิงก็จะสูงขึ้นได้ประมาณ 0.5 องศาเซลเซียสค่ะ
4. อายุ : น้องเด็กตัวเล็กๆเนี่ยร่างกายเค้าจะยังพัฒนาไม่เต็มที่ ยังตอบสนองไม่ค่อยเก่ง อุณหภูมิร่างกายก็จะทั้งสูงขึ้นง่ายแล้วก็ต่ำลงไ้ด้ง่ายค่ะ ส่วนผู้สูงอายุก็เป็นแบบนี้เหมือนกันค่ะ เพราะว่าร่างกายเริ่มเสื่อมลงแล้ว
แล้วเราจะรู้ได้ยังไงล่ะคะว่าเราเป็นไข้แล้ว เอะอะก็ร้อนๆหนาวๆอย่างนี้ แอร์เย็นไปรึเปล่า เป็นไข้ หรือแค่เพราะอยู่ใกล้เธอกันแน่ คำตอบทุกคนก็คงรู้อยู่แล้ว อยากรู้ว่าเป็นไข้มั้ย ก็ต้องวัดไข้ใช่มั้ยคะ แล้ววัดยังไง วัดตอนไหน แล้วอุณหภูมิเท่าไหร่ถึงเรียกว่าเป็นไข้นะ
การวัดไข้เราจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เทอร์โมมิเตอร์ ค่ะ ซึ่งเราสามารถเลือกวัดไข้ได้จากหลายจุดตามความสะดวกและความเหมาะสม โดยอุณหภูมิที่เราสนใจจริงๆจะเป็นอุณหภูมิของแกนร่างกายซึ่งเป็นส่วนที่ร่างกายพยายามควบคุมให้เป็นปกตินะคะ (สังเกตมั้ยคะพวกอุณหภูมิปลายมือปลายเท้านี่ ไปทำอะไรนิดหน่อย ตากแอร์ ล้างจาน ออกกำลังก็เปลี่ยนแปลงแล้วค่ะ) จุดฮอตฮิตที่นิยมวัดอุณหภูมิกายก็รวบรวมมาให้ตามนี้เลยค่า
1. การวัดอุณหภูมิทางปาก : เป็นวิธีที่ง่าย สอดคล้องกับอุณหภูมิของแกนร่างกาย แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้างคือต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ถูกวัดไข้ด้วย ในเด็กเล็กหรือผู้ป่วยที่ใส่ท่อ ไม่รู้สึกตัวก็จะยากหน่อยนะคะ
2. การวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก : เป็นวิธีที่แม่นยำ แต่คนถูกวัดก็คงเขินน่าดู วิธีนี้นิยมเฉพาะในเด็กเล็กค่ะ
3. การวัดอุณหภูมิทางแก้วหู : วิธีนี้ง่าย สะดวก แม่นยำ เป็นที่นิยมมากในปัจจุบันค่ะ สิบ สิบสิบไปเลยค่ะ แต่เครื่องวัดก็มีราคานิดนึงนะคะ
4. การวัดอุณหภูมิทางรักแร้ : วิธีนี้ง่ายมากถึงมากที่สุด แต่ไม่ค่อยมีความแม่นยำค่ะเพราะเป็นบริเวณที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงง่าย นิดๆก็เหงื่อออก หรือเวลาไปอาบน้ำมาก็เย็นเชียว ไม่สัมพันธ์กับอุณหภูมิของแกนร่างกายเท่าไหร่ค่ะ
ทั้งนี้ เกณฑ์ที่เหมาะสมที่บอกว่าเป็นไข้ก็คือ อุณหภูมิกาย 37.2 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า เมื่อวัดในตอนเช้าตรู่ และ 37.8 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า เมื่อวัดในช่วงเวลาใดๆของวันค่ะ
ยาวเหยียดเลย แต่ก็ถือว่าได้รับความรู้กันไปเต็มๆนะคะสำหรับเรื่องของ “ไข้” มาถึงตรงนี้แล้วก็อยากให้ผู้อ่านลองคิดตามนะคะว่าเราตอบคำถามได้รึยังว่า ไข้คืออะไร เราเป็นไข้ได้ยังไง แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นไข้
ก่อนอื่นต้องย้ำว่า ไข้เป็นอาการที่พบได้ในหลายโรค ฉะนั้นยาลดไข้ ก็คือยารักษา”อาการ” ค่ะ เป็นยาช่วยลดอาการ “ไม่ใช่ยารักษาโรคจำเพาะ” ดังนั้นเมื่อกินยาลดไข้ ไข้ก็จะลด แต่ถ้าสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ยังไม่หาย พอยาลดไข้หมดฤทธิ์ไข้ก็จะกลับมาใหม่ค่ะ (เช่น ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ถ้าไวรัสยังไม่ถูกกำจัดออกไป ไข้ก็ยังจะกลับมาเมื่อยาหมดฤทธิ์ค่ะ) จึงมักพบว่าเวลาหมอสั่งยาลดไข้ จะบอกให้กิน”ตอนที่มีไข้ค่ะ” หรือกินหลังจากยาหมดฤทธิ์ไปเรื่อย ๆ ค่ะ
ซึ่งยาลดไข้เด่นๆ เลยมี 2 ตัว คือ
1. พาราเซตามอล
2. NSAIDs (นิยมอ่านกันว่า เอ็น-เสด ค่ะ) มาจากชื่อย่อภาษาอังกฤษ คือ NonSteroidal Anti-Inflammatory Drugs หรือแปลตรงตัวเป็นภาษาไทยว่ากลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (สเตียรอยด์ หรือ Steroids เป็นยาแก้อักเสบชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กัน จะกล่าวถึงรายละเอียดในตอน 2.2 ยาแก้อักเสบ ค่ะ อดใจรอนะคะ)
ทีนี้มาทำความรู้จักยาแต่ละตัวกันค่ะ
ขอเกริ่นก่อนว่าปกติยาแต่ละตัวจะมี 2 ชื่อคือ ชื่อตัวยา (Generic name) กับชื่อยี่ห้อยา(Trade name) อย่าสับสนนะคะ : ติดตามรายละเอียดได้ในตอนที่ 1 https://www.facebook.com/111306537187540/posts/126594945658699/
และยาแต่ละตัวจะมีการออกฤทธิ์ต่าง ๆ กันไป มีช่วงเวลากว่าจะออกฤทธิ์ ช่วงที่ออกฤทธิ์และก็หมดฤทธิ์ค่ะ นอกจากนี้รูปแบบของยา เช่น ยากินแบบเม็ด ยากินแบบแคปซูล ยาทา ยาฉีด ยาเหน็บ สำคัญต่อการออกฤทธิ์ของยามาก จะใช้ปน ๆ กันไม่ได้ ถ้ายังไงว่าง ๆ จะมาเล่าให้ฟังอีกทีค่ะ
กลับมาที่ยาลดไข้ของเรากัน
พาราเซตามอล หรือ Paracetamol
เป็นยาที่นิยมมากที่สุดในการลดอาการไข้ค่ะ เพราะมีความปลอดภัยสูงสามารถใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสมนะคะ แถมยังใช้ในผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกได้ด้วยค่ะ
การออกฤทธิ์ : เชื่อกันว่าพาราเซตามอลช่วยปรับเป้า(set point) อุณหภูมิที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส (สมองที่ควบคุมการปรับอุณหภูมิของร่างกาย)
ให้กลับมาปกติ และสามารถแก้อาการปวดเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ด้วย “แต่ไม่แก้อักเสบค่ะ” (ติดตามเรื่องยาแก้อักเสบในตอนหน้านะคะ)
กินอย่างไร : ส่วนมากพาราจะมาเป็นรูปแบบเม็ดค่ะ แต่ถ้าของเด็กเล็ก ๆ แบบเป็นยาน้ำก็มี ในผู้ใหญ่ง่าย ๆ คือ ถ้าน้ำหนักตัวเกิน 67 กิโลกรัม ทาน 2 เม็ดค่ะ แต่ถ้าน้ำหนักตัวน้อยกว่าหรือประมาณ 67 กิโลกรัมให้ทาน 1 เม็ดก็เพียงพอ (หากจะคำนวณเป๊ะๆ ก็นำน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมคูณด้วย 10-15 มิลลิกรัมจะได้ขนาดของยาพาราเซตามอลที่เหมาะสมค่ะ) ทานเมื่อมีอาการ หรือทานทุก ๆ 4-6 ชั่วโมงค่ะ ก็ประมาณช่วงที่ยาเกือบ ๆ จะหมดฤทธิ์พอดี และเด็กไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 5 วัน ผู้ใหญ่ไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 10 วัน ผู้ที่เป็นไข้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 3 วัน
และการกินยาเยอะ ๆ ไม่ได้ช่วยให้ไข้ลดเร็วขึ้นนะคะ กินยา 4 เม็ด กับกินยา 2 เม็ดผลของการลดไข้ก็เท่า ๆ เดิม แต่การกิน 4 เม็ดยาที่เกินมาจะกลายเป็นพิษต่อร่างกายแทนค่ะ ก็เรียกกันว่า การได้รับยาเกินขนาด (overdose) ง่ายๆ คือห้ามกินเกิน 8 เม็ดต่อวันค่ะ (4 กรัม) หากกินในปริมาณมาก หรือกินติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเกิดพิษต่อตับได้ อันตรายมาก ๆ ค่ะ และยิ่งได้รับยาเกินขนาดมากเท่าไหร่ ผลเสียก็จะมากขึ้นเท่านั้น
เพิ่มเติมนิดหน่อย คือ ผู้ป่วยโรคตับอาจจะต้องลดขนาด (dose) ของพาราเซตามอลนะคะ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ
หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม แนะนำลิงก์นี้ค่ะ https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/knowledge_general_population/paracetamol
อาจารย์เขียนได้เข้าใจง่ายมากๆ
ยาลดไข้อีกตัวที่เราจะมาทำความรู้จักกันก็คือ ibuprofen ค่ะ ibuprofen เป็นตัวยาในกลุ่ม NSAIDs หรือที่ทุกคนรู้จักกันในนาม ยาแก้อักเสบหรือยาแก้ปวด นั่นเองค่ะ ซึ่งเราจะพูดถึงรายละเอียดในการแก้อักเสบและแก้ปวดของยากลุ่มนี้ในคราวถัดไปนะคะ คำถามก็คือ ibuprofen สามารถลดไข้ได้อย่างไร ซึ่งคำตอบก็คือ ibuprofen จะไปยับยั้งกระบวนการสร้างสาร PGE2 ที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ค่ะ เมื่อมีสารPGE2ลดลง อุณหภูมิเป้าหมายที่สมองส่วนไฮโปทาลามัสก็จะลดลงมาสู่ค่าปกติค่ะ
วิเศษไปเลยใช่มั้ยคะ แต่ แต่ แต่!! ยากลุ่มนี้นะคะ มีข้อควรระวังในการใช้และผลข้างเคียงค่อนข้างมากเลยค่ะ เช่นเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดรวมไปถึงโรคหลอดเลือดสมองด้วยค่ะ ดังนั้นเราจึงไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้โดยไม่จำเป็นนะคะ
สำหรับวิธีใช้ยา ibuprofen ในการลดไข้มีดังนี้ค่ะ
• เด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี ใช้ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ทุก ๆ 6-8 ชั่วโมง ไม่เกินครั้งละ 40 มิลลิกรัม (ไม่ควรใช้หากแพทย์ไม่ได้สั่งนะคะ)
• เด็กอายุ 2 -11 ปี ใช้ 5-10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก ๆ 6-8 ชั่วโมง ไม่เกินวันละ 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน หรือ 4 ครั้งต่อวัน
• ผู้ใหญ่ 200-400 มิลลิกรัม ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง ไม่เกินวันละ 1,200 มิลลิกรัม
ที่สำคัญก็คือ “ควรรับประทานหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามมากๆ” นะคะ
และสรุปส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ ถ้าอยากจะกินยาลดไข้ล่ะก็เลือกตัวยาพาราเซตามอลเถอะค่ะ ถือว่าหมอขอนะคะ
และที่สำคัญเป็นไข้ กินยาแล้วก็ต้องเช็ดตัวด้วยนะคะ
วิธีการเช็ดตัวลดไข้ที่ถูกต้องค่ะ >>> http://www.childrenhospital.go.th/html/2014/sites/default/files/qsnich-pamphlet-cc.pdf
โฆษณา