2 พ.ค. 2020 เวลา 04:14
บันทึกเบื้องหลังการเขียนสารคดีเรื่อง "แค่เพียงกะพริบตา : หัวใจไม่ยอมแพ้ของวิสุวิส ชูดวง" เผยแพร่ที่เว็บไซต์ The Momentum.co
นับตั้งแต่ทำงานเขียนสารคดีมาตลอด 20 กว่าปี การเขียนเรื่องน้องเปรม - วิสุวิส ชูดวงเป็นเรื่องแรกที่เราทำงานท่ามกลางความรู้สึกที่ยากจะบรรยายมากที่สุด รวมทั้งเป็นการสัมภาษณ์ที่ยากที่สุด เพราะเราตั้งคำถามผ่านคำพูด แต่คนตอบ "พูดไม่ได้" ทำได้แค่ "กะพริบตา" และ "พิมพ์ตอบโดยไม่ต้องใช้มือ" !
โพสต์นี้จึงอยากเขียนบันทึกความรู้สึก "พิเศษ" เก็บไว้ให้ตนเองได้ย้อนกลับมาอ่านในอนาคต รวมทั้งอยากขอบคุณครอบครัวน้องเปรมที่ส่งมอบพลังนักสู้มาให้เราอย่างเต็มเปี่ยม หากใครเป็นพ่อแม่ที่กำลังเผชิญกับความทุกข์เรื่องลูก หรือใครกำลังสิ้นหวัง เราอยากให้อ่านสารคดีเรื่องนี้นะคะ อาจจะยาวหน่อย แต่ถ้าอ่านจนจบ เราเชื่อว่า ปัญหาต่างๆ ที่ทุกคนกำลังเผชิญจะดูเล็กลงไปเลย เราเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก เพียงแต่เราจะมองเห็นมันหรือเปล่า
เราเริ่มต้นรู้จักครอบครัวน้องเปรมจากอาจารย์หวาน (ดร.ฟองจันทร์ จิราสิต) ผ่านทางสมาคมคนตาบอดเชียงใหม่และโครงการปักจิตปักใจ หลังจากอาจารย์หวานรู้ว่าเราเป็นนักเขียนสารคดี เลยขอคำปรึกษาว่า ครอบครัวน้องเปรมอยากเขียนหนังสือเพื่อเผยแพร่เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นวิทยาทานสู่ครอบครัวอื่น
พอเรารู้ว่าน้องเปรมพูดไม่ได้ และสื่อสารผ่านการกะพริบตา เราก็นึกถึงหนังสือเล่มโปรด "ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ" และอยากไปเจอครอบครัวนี้ทันที
วันแรกที่เราได้เจอครอบครัวน้องเปรม บอกตามตรงว่า "อึ้ง" และ "น้ำตาจะไหล" เพราะพ่อแม่ไม่มีแววหม่นเศร้าหลงเหลืออยู่ในแววตาอีกต่อไป มีเพียงน้ำเสียงยิ้มแย้มแจ่มใสชวนลูกคุยผ่านการไล่เรียงตัวอักษรอย่างรวดเร็ว (ภาษาอังกฤษยังมีแค่ 26 ตัว แต่ภาษาไทยเฉพาะพยัญชนะก็ 44 ตัว ยังไม่รวมสระและวรรณยุกต์) ระหว่างการไล่เรียงตัวอักษร แม่ต้องคอยจ้องเปลือกตาลูก ถ้ากะพริบที่ตัวอักษรไหนก็จะเก็บตัวอักษรมาผสมเป็นคำ !
เรายืนมองภาพตรงหน้าด้วยความรู้สึกยากจะบรรยาย เพราะทุกคำแฝงไว้ด้วยความรักและความพยายามอย่างเต็มเปี่ยม
พอถึงเวลากินข้าว แม่ก็ "จัดเต็ม" อาหารจานโปรดที่อุดมไปด้วยสารอาหารครบทุกหมู่ใส่ลงในโถปั่นอาหาร เพราะน้องเปรมสูญเสียระบบการเคี้ยวอาหาร กลืนได้แต่อาหารเหลว ตอนเจอกันครั้งแรก แม่บอกว่า เปรมชอบกินข้าวขาหมู และเปรมไปกินอาหารนอกบ้านกับครอบครัวบ่อยมาก เราทำหน้างงสุด ๆ
แม่อมยิ้มตอบว่า "เปรมกินได้ทุกอย่างเหมือนเรานั่นแหล่ะ แล้วก็ไปกินได้ทุกร้าน เพราะเราพกเครื่องปั่นไปด้วย แค่ขอเสียบปลั๊กก็กินข้าวนอกบ้านพร้อมหน้ากันได้แล้ว"
บอกตามตรงว่าได้ยินแล้วเหมือนมีก้อนอะไรจุกอก....นี่ไงความรักของพ่อแม่ที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ความอายที่มีลูกพิการไม่มีอยู่ในความรู้สึกของพ่อแม่คู่นี้เลยสักนิด แถมยังมีความสุขที่ได้พาลูกออกไปเจอผู้คน การพาลูกพิการที่ขยับได้เพียงเปลือกตาออกจากบ้านแล้วไปนั่งตามร้านอาหารด้วยกัน...กินข้าวพร้อมหน้ากันนอกบ้าน...เป็นภาพที่ยากจะได้เห็นในสังคมไทย เราขอกราบหัวใจอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่คู่นี้ไว้ ณ ตรงนี้เลยจริงๆ
สำหรับน้องเปรมแล้ว เราไม่ได้รู้สึก "เวทนา" ในความพิการเลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม เรารู้สึก "ชื่นชม" และ "ทึ่ง" ในความพยายามและหัวใจนักสู้ที่ทำให้น้องมาถึงวันนี้ได้
พอลองนึกภาพตนเองว่า หากเรามีสติสัมปชัญญะครบทุกอย่างแต่ไม่สามารถพูดออกมาได้ดังใจจะอึดอัดมากมายเพียงใด น้องเปรมคงรู้สึกเหมือนใส่ "ชุดประดาน้ำ" อยู่ตลอดเวลาเหมือนในหนังสือ "ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ" บรรยายไว้
การสัมภาษณ์ดำเนินไปผ่านการตั้งคำถามและการกะพริบตาตอบว่าไช่หรือไม่ใช่ รวมทั้งการพิมพ์บนหน้าจอด้วยโปรแกรม camera mouse ใช้การส่ายหน้าแทนมือจับเม้าส์ คลิกเลือกอักษรด้วยการเลื่อนลูกศรค้างไว้ตำแหน่งที่ต้องการ 1 วินาที
แทบไม่น่าเชื่อว่า ผู้ป่วยติดเตียงที่ขยับได้เพียงการส่ายหน้าและกะพริบตาจะเล่นเฟสบุ๊คและท่องโลกอินเทอร์เน็ตด้วยตนเองได้อย่างคล่องแคล่ว !
เรารู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เขียนสารคดีเรื่องนี้ออกมา รวมทั้งได้รู้จักครอบครัวนี้ เพราะเป็นพลังบวกที่ย้อนกลับมาสู่ตัวเรามากมายยิ่งนัก
ภาพด้านล่างที่นำมาให้ดู เป็นภาพเบื้องหลังการทำงานชิ้นนี้ที่ไม่ได้เผยแพร่ใน The Momentum ขอนำมาแบ่งปันสู่กันเพื่อเป็นพลังดีๆ ท่ามกลางวิกฤตที่ทุกคนกำหลังเผชิญอยู่
เราขอนำย่อหน้าสุดท้ายที่เราเขียนไว้ในงานชิ้นนี้มาบอกกับทุกคนที่ได้อ่านโพสต์นี้ว่า
"ไม่ว่าจะเกิดมรสุมชีวิตรุนแรงสักปานใด ไม่ว่าวิกฤติจะพลิกผันชีวิตมากมายแค่ไหน หากครอบครัวยังพร้อมส่งความรักและกำลังใจให้กัน สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ก็จะเป็นไปได้ขึ้นมา เพื่อพิสูจน์ว่า ‘ปาฏิหาริย์มีอยู่จริง’ "
ขอบคุณน้องเปรม คุณพ่อถวิลและแม่สุรินทร รวมทั้งอาจารย์หวานที่ทำให้เราได้เขียนสารคดีเรื่องนี้ และหวังว่าจะส่งต่อพลังแห่งความหวังท่ามมกลางวิกฤตให้ทุกคนที่ได้อ่านนะคะ
ใครยังไม่ได้อ่าน...ลองคลิกตามลิงค์ดูนะคะ
โฆษณา