Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Mommy of Two
•
ติดตาม
4 พ.ค. 2020 เวลา 17:49 • การศึกษา
หมูปิ้งกับวัฒนธรรมการย่าง
4
เมื่อเช้ากินข้าวเหนียวหมูปิ้งเลยอยากรู้ว่ามนุษย์เราเริ่มกินของพวกปิ้งย่างตั้งแต่เมื่อไหร่น้อ ว่าแล้วก็ไปหาข้อมูลมาเล่าให้ฟังค่ะ
มนุษย์เริ่มใช้ไฟตั้งแต่เมื่อไหร่
ถึงแม้ว่่าจะมีการค้นพบว่ามนุษย์ดึกดำบรรพ์รู้จักใช้ไฟราวๆ 750,000 - 1.5 ล้านปีมาแล้ว แต่การศึกษายังคงมีต่อไปเรื่อยๆ ด้วยคำถามที่ว่า 1)มนุษย์เกิดก่อนไฟหรือไฟมีก่อนมนุษย์เกิดขึ้นบนโลก และ 2)มนุษย์ในสมัยนั้นใช้ไฟทำอะไรบ้าง
ดูมีความโกลาหลกันหน่อยๆ ค่ะ Credit: K45.Kn3.net
หลักฐานว่ามีไฟบนโลกมนุษย์มาจากการศึกษาและพบชาร์โคล (ถ่าน) ในชั้นหิน และไฟที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในปัจจุบันอยู่ในยุคไซลูเรียล มีอายุราว 420 ล้านปี (ซึ่งเราอาจจะเจอหลักฐานของไฟที่เก่าแก่กว่านี้ในอนาคต) การใช้ไฟของมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ไม่ได้ใช้เพียงเพื่อให้แสงสว่างหรือความอุ่นเท่านั้น แต่ยังใช้ไล่สัตว์หรือรมควันเพื่อไล่แมลงอีกด้วย แต่มนุษย์ใช้ประโยชน์และสามารถควบคุมไฟสำหรับกิจกรรมต่างๆ เช่นใช้เพื่อเคลียร์พื้นที่ทำการเกษตรหรือทำสงครามเมื่อ 7,000 ปีที่แล้วเท่านั้นเอง
1
ฟอสซิลชาร์โคล เจอที่โอไฮโอ สหรัฐอเมริกาค่ะ
แล้วมนุษย์เริ่มทำอาหารเมื่อไหร่
นักวานรวิทยา (Primatologist) หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูงสุดซึ่งก็คือคนและลิง (ยอมรับว่าเพิ่งเคยได้ยินครั้งแรกว่ามีนักวานรวิทยาด้วย) สันนิษฐานไว้ว่าการทำอาหารมาพร้อมกับการเริ่มใช้ไฟ มีการใช้หินเหล็กไฟสำหรับจุดไฟตั้งแต่ 400,000 ปี
ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Todo Sobre ek Asado ของ Netflix กล่าวว่าเศษซากการย่างเนื้อครั้งแรกในประวัติศาสต์ถูกค้นพบที่ถ้ำในประเทศจีน แถมเป็นเนื้อมนุษย์อีกต่างหากเพราะไฟและการกินพวกเดียวกันเกิดขึ้นพร้อมกัน
Credit: National History Museum/Alamy
มีเรื่องเล่่าในหนังสือดรุณศึกษาชั้น ป.3 (จริงไม่จริงอันนี้ไม่แน่ใจ) เกี่ยวกับการเริ่มกินหมูสุกในเมืองจีนว่า สมัยก่อนโน้นคนจีนยังกินหมูดิบและเชื่อว่าการกินหมูที่สุกแล้วจะทำให้ตัวเองผิดผี อยู่มาวันหนึ่งมีกระทาชายนายหนึ่งชื่อบ่อฮุ้นเกิดเผลอเรอทำบ้านตัวเองไฟไหม้ ตัวเองหนีมาได้แต่ตัว ทั้งบ้านทั้งเล้าหมูไฟไหม้ไปหมด หลังจากไฟมอด บ่อฮุ้นก็นั่งเสียใจและคิดว่าตัวเองจะทำยังไงดี พอมองไปรอบๆ ก็รู้สึกสงสารหมูที่ไฟไหม้ (แต่ก็เริ่มได้กลิ่นอะไรหอมๆ) จึงเอามือไปจับตัวหมูเพื่อจะเอามากอด พอจับโดนหนังหมูที่ยังไม่หายร้อนก็ตกใจพาลเอานิ้วมือเข้าปาก อุ้ยอร่อย บ่อฮุ้นจากที่นั่งเสียใจเรื่องไฟไหม้บ้านกลับกลายเป็นนั่งกินหมูต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งฮ่าวตี๋ผู้เป็นพ่อกลับมาเห็นบ้านไฟไหม้ก็โกรธมาก จะคว้าไม้ไล่ตีลูก บ่อฮุ้นจึงให้พ่อลองชิมหมูย่าง รสชาติอันโอชะของหมูย่างทำให้สองพ่อลูกนั่งกินหมูไปเรื่อยๆ จนหมด
สองพ่อลูกกลัวว่าถ้าชาวบ้านคนอื่นรู้ว่าตนเองกินหมูย่างจะต้องถูกลงโทษแน่ๆ ทั้งสองจึงเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ แต่หลังจากนั้นกลายเป็นว่าบ้านของสองพ่อลูกกลับไฟไหม้บ่อยมากจนชาวบ้านสงสัยจึงมาแอบดู ก็เห็นว่าที่แท้สองพ่อลูกเผาบ้านกินหมูนั่นเอง
ยังจำกันได้มั้ยคะ หลังปกของหนังสือดรุณศึกษา ป.3
ชาวบ้านจึงนำความไปฟ้องศาล เจ้าหน้าที่ศาลก็นำหมูย่างของกลางไปด้วย ขณะตัดสินมือลูกขุนก็บังเอิญโดนหมูที่ยังร้อนอยู่จึงเอามืออมเข้าปากก็รู้สึกอร่อยอย่างที่สองพ่อลูกบอกจริงๆ ศาลจึงยกฟ้องทั้งสองพ่อลูก นับตั้งแต่นั้นมาหมู่บ้านนี้ก็มีไฟไหม้อยู่เนืองๆ เพราะทุกคนเผาบ้านกินหมูกันเสียแล้ว
เนื่องจากไฟไหม้ในหมู่บ้านบ่อยจนเป็นที่ร่ำลือไปทั่ว วันหนึ่งนักปราชญ์จึงเดินทางมาที่หมู่บ้านและรู้สาเหตุของไฟไหม้ จึงบอกชาวบ้านว่าไม่ต้องจุดไฟเผาบ้านก็ได้และสอนให้ชาวบ้านใช้ไฟ หลังจากนั้นชาวบ้านก็เลิกเผาบ้านกินหมูนับแต่นั้นเป็นต้นมา
วัฒนธรรมการปิ้งเริ่มตั้งแต่เมื่ิอไหร่น้อ
เท่าที่มีการเจอหลักฐาน ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 17 ชาวเผ่าอาราวักที่อาศัยแถบทะเลแคริบเบียนและอเมริกาใต้มีการวางไม้บนกองไฟและเอาเนื้อสัตว์วางบนไม้ และเรียกการทำอาหารแบบนี้ว่า บาร์บาเคา (Barbacoa) หลังจากนั้นชาวสเปนผู้เป็นเจ้าของอาณานิคมได้นำวิธีการทำย่างไปปรับใช้ และมีการเผยแพร่ต่อไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกาในศตวรรษที่ 18 ชาวอเมริกันนิยมย่างหมูแบบทั้งตัวประมาณ 14 ชั่วโมง โดยมีการดัดแปลงใช้ไม้และซอสชนิดต่างๆเพื่อให้เกิดรสชาติที่แตกต่างกันไป
1
การย่างบาร์บีคิวในยุคแรกๆ credit:amazing ribs.com
"ปิ้ง" กับ "ย่าง" ต่างกันยังไง
เราใช้คำว่าปิ้งและย่างในชีวิตประจำวันจนชินชา หารู้มั้ยว่าคำทั้งสองมีความแตกต่างกันในกรรมวิธีการทำ พจนากรุมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า
1
ปิ้ง คือการทำให้สุกด้วยการวางไว้เหนือไฟ มักใช้แก่ของแห้ง โดยปรกติใช้เวลาน้อยกว่าย่าง เช่น ปิ้งข้าวเกรียบ ปิ้งเนื้อเค็ม ปิ้งปลาแห้ง.
ข้าวจี่ร้อนๆ จ้า credit:menu.net
ย่าง คือการทำให้สุกด้วยการวางไว้เหนือไฟ เพื่อให้สุกระอุทั่วกันหรือให้ มักใช้แก่ของสด ถึงแม้ว่าจะเนื้อนั้นจะสุกแล้วก็ตามเนื้อด้านในยังคงนิ่ม ฉ่ำน้ำเล็กน้อย ปรกติใช้เวลานานกว่าปิ้ง เช่น ย่างไก่ ย่างหมู.
หมูปิ้งแบบนี้รู้สึกจะหากินยากแล้ว credit:foodpanda
สรุปก็คือ'ปิ้ง'ใช้กับของแห้งหรือสิ่งที่กินได้อยู่แล้ว อย่างเช่น กล้วย ไข่ ลูกชิ้น ข้าวเหนียว ส่วน'ย่าง'ใช้กับของสดที่ประทานแบบดิบๆ ไม่ได้ และต้องใช้เวลานานในการทำให้สุกถึงเนื้อใน สุกให้ทั่วถึงทุกอณู แต่ปัจจุบันเราใช้คำ 2 คำนี้สลับกันเพราะความเคยชินเช่น หมูปิ้ง เหล้ายาปลาปิ้ง เป็นต้น
แถมด้วย 8 รูปแบบอาหารย่างจากทั่วมุมโลกมาฝากกันค่ะ
credit: Asian Pantry
1. ยากินิคุ (yakiniku) จากญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประวัติการย่างอาหารมานานกว่าร้อยปี ในภาษาญี่ปุ่น คือ “เนื้อย่าง” เนื้อที่ว่ารวมถึงเนื้อสัตว์ทุกชนิดไม่ใช่แค่เนื้อวัว ซึ่งคือความหมายเดียวกับคำว่า “บาร์บีคิว” ในอาหารตะวันตก ยากินิคุเน้นไปที่การดึงเอารสชาติตามธรรมชาติของเนื้อ ดังนั้นเนื้อจะไม่ได้หมักหรือปรุงรสมาก่อน และการกินให้อร่อยจะต้องมีลำดับการกินเนื้อที่ถูกต้อง หลังจากเนื้อสุกจึงค่อยนำมาจิ้มกับเครื่องจิ้มอย่างเกลือ มะนาวหรือน้ำจิ้ม
สะเต๊ะแบบอินโด credit: burpple. com/Jody
2. สะเต๊ะ (satae) ของไทยและอินโดนีเซีย สะเต๊ะทำจากเนื้อที่หั่นบางๆ หรือเป็นก้อน ซึ่งอาจใช้เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อแพะ เนื้อปลา ฯลฯ เสียบด้วยไม้เสียบที่ทำจากไม้ไผ่ แล้วนำไปย่างบนเตาฟืนหรือเตาถ่าน เสิร์ฟพร้อมเครื่องปรุงรส ที่มีรสจัดแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ สะเต๊ะมีจุดกำเนิดมาจากเกาะชวาหรือเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็ยังได้รับความนิยมในประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศไทย
ปิ้งย่างเกาหลีที่เราคุ้นเคย credit:topbestbrand.com
3. บาร์บีคิวของเกาหลี จุดเด่นของการย่างเนื้อแบบเกาหลีคือเครื่องเคียงที่หลากหลายทั้งผักสด กิมจิ และไชเท้าดองแบบต่างๆ แล้วแต่สูตรของแต่ละร้าน การกินบาร์บีคิวประเทศเกาหลีจะเสิร์ฟเนื้อหมูมาเป็นชิ้นใหญ่ๆ (โดยเฉพาะหมูสามชั้น)และจะมีพนักงานมาคอยปิ้งหมูทั้งชิ้นเพื่อให้หมูสุกถึงระดับหนึ่งแล้วจึงค่อยใช้กรรไกรตัดเพื่อคงความชุ่มช่ำของเนื้อหมูด้านในและรสชาติความอร่อยเอาไว้ได้อย่างเต็มที่ หลังจากหมูสุกก็ห่อด้วยใบผักและเครื่องเคียงต่างๆ จากนั้นก็จัดการได้เลย
อาซาโดของอาร์เจนตินา credit:lololali.com
4. อาซาโด (Asado) และพาริลลาดา (Parrillada) ในอาร์เจนตินาและอุรุกวัย อาซาโดประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักคือ เนื้อ ตะแกรง และถ่าน อาซาโดคือการย่างเนื้อสัตว์ทั้งตัว (ส่วนใหญ่เป็นวัว) ชาวอาร์เจนตินามักจะทำอาซาโดทานกันกับคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน หรืิอเพื่อนร่วมงานในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือในโอกาสพิเศษ อาซาโดจะใช้เวลานานในการย่าง และมือย่างแต่ละคนจะมีสูตรของตนเอง ดังนั้นอาซาโดไม่ใช่แค่การกินเนื้อย่างร่วมกัน แต่มันหมายความรวมถึงครอบครัวใช้เวลาอยู่ร่วมกัน และมือย่างจะได้รับเสียงปรบมือหลังจากการจัดการมื้ออาหารอันโอชะเรียบร้อยแล้ว
เชอร์ราสโกน่าทานมากๆ credit:alphacoders.com
5. เชอร์ราสโก (Churrasco) จากอเมริกากลางและใต้ (แถบๆ บราซิล อุรุกวัย และอาร์เจนตินา) เชอร์ราสโกเป็นคำภาษาสเปนและโปรตุเกสที่หมายถึงการนำเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ชนิดต่างๆ เช่นเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว หรือแม้แต่ไส้กรอกมาหมักกับเครื่องปรุงอย่างง่าย ๆ เนื้อสัตว์ทั้งหมดจะถูกนำมาวางบนเตาถ่านโดยจัดเรียงเป็นชั้น ๆ ชั้นบนจะเป็นชิ้นเนื้อติดมัน เพื่อให้น้ำมันหยดลงบนชั้นอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มรสชาติความอร่อย จุดเด่นของร้านอาหารเชอร์ราสโก้คือจะมีพนักงานเดินถือไม้ของย่างประเภทต่าง ๆ วนมาที่โต๊ะ โดยที่ลูกค้าสามารถทานเยอะเท่าไหนก็ได้เลยค่ะ
โลโม อัล ทราโปหรือเนื้อในผ้าขนหนู credit: seriouseat.com
6. โลโม อัล ทราโป (Lomo al Trapo) แบบโคลัมเบีย หากจะแปลตรงตามตัวอักษรหมายความว่า “เนื้อในผ้าขนหนู” โดยจะใช้เนื้อเฉพาะส่วนสันในไปหมักกับเครื่องเทศ หลังจากนั้นนำเนื้อที่หมักไว้มาห่อด้วยผ้าขนหนูและหุ้มด้วยเกลือและออริกาโน มัดเชือกให้แน่นและนำเนื้อไปย่างบนเตาถ่าน ใช้เวลาประมาณ 40 นาที หลังจากนั้นจะลอกผ้าขนหนูที่ห่อเนื้อออกซึ่งเนื้อที่ได้จะมีลักษณะชุ่มฉ่ำ นุ่มลิ้น พร้อมกลิ่นหอมของเครื่องเทศ
ภาพแรกคือเตาทันดูร์และวิธีการย่างไก่ในเตา ภาพที่ 2 คือไก่ทันดูรีที่ย่างเรียบร้อยแล้ว credit: TripAdvisor and Pinterest
7. แทนดอรีจากอินเดีย อินเดียเป็นประเทศที่มีเมนูการย่างหลากหลาย ในที่นี้จะขอยกเมนูตัวอย่างที่เรียกว่า ไก่ทันดูรี วิธีทำคือการเอาเนื้อหมักใส่ในเตาอบดินเหนียวที่เรียกว่าทันดูร์ (Tandoor) ถึงแม้จะเรียกว่าเตาดินในความเป็นจริงคือหม้อขนาดใหญ่พอจะใส่ทั้งถ่านและอาหารลงไปในนั้น คนอินเดียมักจะฝังเตาทันดอร์หรือสร้างไว้ในตู้เพื่อป้องกันอันตรายและทำให้ความร้อนสามารถระบายออกได้เพียงด้านบนเท่านั้น ซึ่งภายในเตามีอุณหภูมิสูงถึง 500 องศาเลยทีเดียว
ส่วนการหมักแบบทันดูรีคือการหมักด้วยเครื่องเทศมัสซาลาที่มีสีแดงมากๆกับโยเกิร์ตไว้หลายชั่วโมง อาจจะฟังดูแปลกสักหน่อยที่ใช้โยเกิร์ตในการหมัก แต่โยเกิร์ตจะช่วยให้เกิดกรดตามธรรมชาติและความหนืดของโยเกิร์ตจะช่วยให้เครื่องเทศสามารถเกาะพื้นผิวเนื้อสัตว์ได้ดี อีกทั้งโยเกิร์ตมีรสอ่อนมากจนเราไม่รู้รสชาติ หลังจากหมักได้ที่เราก็จะใส่เนื้อสัตว์ในเตาทันดอร์ตอนที่เตาร้อนที่สุดและปิดฝาให้นานที่สุดเพื่อให้ความร้อนระอุอยู่ด้านใน เนื้อไก่ที่สุกแล้วจะออกเป็นสีแดงและมีรสชาติเปรี้ยวเผ็ดร้อนตามแบบฉบับเครื่องเทศอินเดีย
บรายของแอฟริกาใต้ credit: dreamtimes.com/Anky Van Wyk
8. บราย (Braai)จากแอฟริกาใต้ นามิเบีย ซิมบับเวและ แซมเบีย บรายเปรียบได้กับบาร์บีคิวของชาวอเมริกัน แต่แตกต่างกันที่บรายจะไม่ใช้เตาแก๊สเลย เน้นที่การย่างบนฟืน(ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ถ่านชาร์โคลเพื่อความสะดวก) และจะย่างในแทบจะทุกเทศกาล ทุกวันเกิด(อยากจะกิน) ทุกเวลา ส่วนเนื้อที่จะใช้ย่างก็หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอกเนื้อสับ (boerewors) เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อแกะและมีข้าวโพงย่างไว้เป็นเครื่องเคียง เนื้อย่างเหล่านี้จะกินกับแป้งข้าวโพดหุงหรือ Pap สลัด และสลัด
ผู้ชายจะทำหน้าที่ในการย่างและคอยดูแลฟืนเพียง 1 คนเท่านั้น ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่เตรียมสลัดและเครื่องเคียงต่างๆ บรายไม่ได้มีความสำคัญแค่เป็นอาหาร แต่หมายความถึงการใช้เวลาร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูง จนมีคำเรียกว่า bring&braai คือการที่ทุกคนนำเอาอาหารมาทานร่วมกัน หลังจากย่างเนื้อสัตว์เรียบร้อยแล้วก็จะยังคงปล่อยกองฟืนให้ติดทิ้งไว้อย่างนั้น และทุกคนจะนั่งล้อมรอบกองไฟพูดคุยสัพเพเหระกันค่ะ
กินไปเมาท์ไปค่ะ credit: CNN.com
สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการปิ้งย่างในรูปแบบไหนก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุด 4 ประการที่มีอยู่ในรูปแบบการปิ้งของทุกชนชาติคือ ไฟ ความร้อน เนื้อ และเวลา
คิดถึงปิ้งย่างที่ร้านแล้วค่ะ
จากหมูปิ้งไม้เดียวและคำถามในใจว่า คนเราเริ่มกินปิ้งย่างตั้งแต่เมื่อไหร่น้อ จนมาสู่การหาคำตอบจนกลายเป็นบทความนี้ค่ะ
บทความนี้ใช้เวลาเขียน 3 วันกับการค้นหาข้อมูลที่ซึ่งค้นไปก็หิวไปค่ะ
ฝากกดติดตามเป็นกำลังใจด้วยนะคะ🙏
ที่มา
1.
https://time.com/5295907/discover-fire/
2.
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10157427660688291&id=141108613290
3.
https://www.foodnetwork.com/recipes/articles/a-brief-history-of-grilling
4.
https://food.mthai.com/easy-menu/120735.html
5.
https://www.gqthailand.com/culture/article/gq-knowsit-grill
6.
https://www.bar-s.com/food-for-thought/the-history-of-the-grill-and-barbecuing
7.
https://www.mangozero.com/yakiniku-osaka-style/
8.
https://thagoonmanee.com
9.
https://th.m.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%8A%E0%B8%B0
10.
https://www.creatrip.com/th/blog/3003
11. Todo Sobre ek Asado, Netflix, 2020
11.
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Churrasco
13.
http://www.maamjourney.com/2019/churrasco-thai-barbq-party-house-one-siamsiam/
14.
https://www.bangkokbiznews.com/pr/detail/35873
15.
https://th.hiloved.com/tandoori-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/
16.
https://www.foodrepublic.com/2012/05/07/10-grilling-traditions-around-the-world/
17.
https://theculturetrip.com/africa/south-africa/articles/10-reasons-why-south-african-braais-are-better-than-bbqs/
18.
http://www.braai.co.za/blog/what-is-a-braai/
19.
http://www.royin.go.th/dictionary/
3 บันทึก
19
6
6
3
19
6
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย