4 พ.ค. 2020 เวลา 02:56 • กีฬา
การปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกแห่งโลกลูกหนังสิ้นสุดลงแล้วงั้นหรือ (Part1/2)
ทุกๆสิ่งบนโลกล้วนมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาเสมอ และฟุตบอลเองก็เช่นกัน ในช่วงยุคบุกเบิก ฟุตบอลในตอนนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากฟุตบอลที่เรารู้จักกันในปัจจุบันอย่างมาก จนกระทั่งเกิดการคิดค้นนวัตกรรมแทคติกต่างๆขึ้นมาอย่างมากมายซึ่งมันได้ส่งผลกระทบต่อเกมลูกหนังอย่างมากจนก่อให้เกิดเป็นเกมลูกหนังที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
การปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกครั้งที่1 Combination game เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1870 ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากฟุตบอลสก๊อตแลนด์ โดยสไตล์นี้ได้เข้ามาเปลี่ยนเกมลูกหนังในเวลานั้นที่รู้จักแต่แค่การเลี้ยงบอลด้วยทักษะทางร่างกายเพียงอย่างเดียวให้รู้จักกับการผสมผสานระหว่างการจ่ายบอลกับการเลี้ยงบอลเข้าด้วยกัน ซึ่งทีมมหาอำนาจแห่งฟุตบอลอังกฤษทีมแรกอย่างแอสตันวิลล่าก็ได้ใช้สไตล์การเล่นนี้ครองความยิ่งใหญ่ในยุคบุกเบิกของฟุตบอลอังกฤษแห่งยุคสมัยวิกตอเรียอีกด้วย
แอสตันวิลล่า มหาอำนาจแห่งยุคบุกเบิกของฟุตบอลอังกฤษ
(สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอสตันวิลล่า มหาอำนาจแห่งฟุตบอลอังกฤษยุคบุกเบิกได้ในซีรี่ย์สั้นสามตอนจบ
การปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกครั้งที่2 แผนการเล่น 2-3-5 หรือ พีระมิดเกิดขึ้นในปี 1878 ถูกคิดค้นโดย เร็กซ์แฮม สโมสรฟุตบอลจากเวลส์ ซึ่งเป็นแผนการเล่นยอดนิยมในยุคที่กฎกติกาและเบสิคของการเล่นฟุตบอลนั้นเข้าที่เข้าทางจนหมดแล้วเหมือนกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยกเว้นเพียงอย่างเดียวคือกฎการล้ำหน้าที่แตกต่างจากในปัจจุบันเล็กน้อย แผนการเล่นนี้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อรับมือผลกระทบจากสไตล์ Combination game ที่ทำให้ทีมส่วนใหญ่หันมาจ่ายบอลกันมากขึ้นโดยระบบ 2-3-5 นั้นจะทำให้ทุกคนในสนามมีพื้นที่ในการเล่นได้อย่างไหลลื่นมากกว่าแผนการเล่นก่อนอย่าง 1-1-8, 1-2-7 และ 2-2-6 ซึ่งเป็นแผนการเล่นที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกครั้งที่1 เสียอีก แต่แผนการเล่นเหล่านั้นไม่ได้สร้างผลกระทบต่อวงการลูกหนังแต่อย่างใด
แผนการเล่น 2-3-5 หรือ พีระมิด
(สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับจุดกำเนิดของ Combination game และ แผนการเล่นยอดนิยมแรก พีระมิดได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5e8403033beb580c9e4f8858/# )
การปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกครั้งที่3 แผนการเล่น 3-2-2-3 หรือ WM เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ1920 ถูกคิดค้นโดย เฮอร์เบิร์ต แชปแมน ยอดกุนซือชาวอังกฤษ ซึ่งแผนการเล่นนี้เป็นแผนการเล่นยอดนิยมใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อรับมือผลกระทบจากกฎล้ำหน้าที่ถูกเปลี่ยนอีกครั้งซึ่งเป็นกฎเดียวกันกับกฎในปัจจุบันอีกทั้งยังถูกสร้างขึ้นเพื่อโค่นล้มแผนการเล่นยอดนิยมก่อนอย่างพีระมิดลงอีกด้วย แผนการเล่น WM เป็นแผนที่ให้ความสำคัญกับเกมรับมากกว่าพีระมิดรวมถึงช่วยสร้างสมดุลระหว่างเกมรุกและรับมากขึ้นอีกด้วย และไฮไลท์สำคัญของแผนนี้คือการถือกำเนิดของการเล่น Counter Attack ขึ้นซึ่งมันได้เปลี่ยนเกมจากแต่ก่อนที่ใครครองบอลมากกว่ากันก็มักจะเป็นฝ่ายชนะไปเป็นมีการเพิ่มเติมการโต้กลับด้วยความเร็วสูงเข้ามาด้วย
แผนการเล่น 3-2-2-3 หรือ WM
เฮอร์เบิร์ต แชปแมน ผู้คิดค้นแผนการเล่น WM
(สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการเล่น WM ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5e9285de1526330ca0aa1d9c/# )
การปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกครั้งที่4 Long Ball ซึ่งเป็นสไตล์การเล่นที่เน้นโยนบอลยาวไปให้กองหน้า Target Man เพื่อพักบอลเริ่มเกมบุกบริเวณใกล้กรอบเขตโทษทันทีหรืออีกทางหนึ่งคือการส่งบอลไปให้ปีกเพื่อขึ้นเกมด้วยความเร็วสูง ฟุตบอลสไตล์นี้ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1950 ในประเทศอังกฤษ ซึ่งถูกคิดค้นโดย ชาร์ล รีป นักวิเคราะห์สถิติชาวอังกฤษ ที่ได้ศึกษาและคำนวนสถิติตัวเลขในเกมจนได้ข้อสรุปว่า การทำประตูส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการจ่ายบอลไม่เกินสามครั้ง ซึ่งมันเป็นสไตล์การเล่นที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับบรรดาเหล่าทีมเล็กที่ไม่มีผู้เล่นจอมเทคนิคพรสรรค์สูง สไตล์การเล่นนี้ได้ถูกนำมาใช้จริงครั้งแรกในสนามในลีกดิวิชั่นสองของอังกฤษฤดูกาล 1950-51โดย เบรนต์ฟอร์ด สโมสรฟุตบอลจากอังกฤษซึ่งเป็นทีมที่เขาทำงานอยู่ด้วยในขณะนั้น ผลที่ตามมานั่นก็คือสถิติการทำประตูเฉลี่ยต่อเกมของเบรนด์ฟอร์ดสูงขึ้นจาก 1.5 ประตูเป็น 3 ประตู หลังจากนั้นมาหลายต่อหลายทีมในอังกฤษก็ได้หันมาเล่นสไตล์นี้กันอย่างมากมายจนทำให้ฟุตบอลสไตล์นี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของฟุตบอลอังกฤษมาจนถึงทุกวันนี้และยิ่งไปกว่านั้นสไตล์นี้จะกลายเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการเล่นของแทคติกอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อจากนั้น
รูปแบบการเล่นของสไตล์ Long Ball
ชาร์ล รีป ผู้คิดค้นทฤษฎี Long Ball
(สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับจุดกำเนิดของฟุตบอลสไตล์ Long Ball ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5e96d65be0ddc1115dcbf03f/# )
การปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกครั้งที่5 บทบาทกองหน้าตัวหลอก (False 9) บทบาทนี้จริงๆแล้วได้ถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกโดยทีมชาติออสเตรีย ตั้งแต่ศึกฟุตบอลโลกครั้งที่2 ในปี 1934 แต่ทว่าบทบาทนี้ได้เริ่มเข้ามาปฏิวัติวงการฟุตบอลโดยทีมชาติฮังการีแชมป์โอลิมปิกในปี1952 ซึ่งทีมชุดนั้นถือว่าเป็นทีมที่แข็งแกร่งอย่างมากถึงแม้จะเป็นได้เพียงราชาไร้มงกุฏผู้พ่ายแพ้ในนัดชิงชนะเลิศแห่งศึกฟุตบอลโลกครั้งที่5 ในปี1954 ก็ตาม ความแข็งแกร่งของพวกเขานั้นจุดเด่นที่สุดอยู่ที่ นันดอร์ ฮิแดคูตี (Nandor Hidegkuti) ผู้เล่นทีมชาติฮังการีที่เป็นเหมือนต้นแบบของบทบาท False 9 คนแรกที่มีความสามารถจนเป็นที่ยอมรับในเวลานั้นอย่างมาก การกำเนิดของ False9 ส่งผลให้แผนการเล่นยอดนิยมในขณะนั้นอย่าง WM ได้แปรสภาพจนวิวัฒนาการกลายเป็นแผนการเล่นใหม่อย่าง 3-2-3-2 หรือ WW ซึ่งต่อมาแผนการเล่น WW ก็ได้วิวัฒนาการกลายเป็นแผนการเล่น 4-2-4 ที่มีชื่อเสียงโด่งดังกับทีมชาติบราซิลในยุคเปเล่รวมถึงทีมอื่นๆตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1950 จนถึงทศวรรษ 1960 เลยทีเดียว และหลังจากนั้นมาแผนการเล่น 4-2-4 ก็ได้วิวัฒนาการออกไปจนกลายเป็นแผนการเล่นใหม่แห่งอนาคตต่อจากนั้นมากมาย
นันดอร์ ฮิแดคูตี ผู้ปฏิวัติบทบาท False 9
แผนการเล่น WW จุดเริ่มต้นของการวิวัฒนาการมาสู่แผนการเล่นอื่นในอนาคต
(สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกครั้งที่5 ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5e9bb5f06794280cb29f3306/# )
การปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกครั้งที่6 ปรัชญา Catenaccio ซึ่งเป็นปรัชญาที่เน้นเกมรับสูงมากโดยแผงหลังจะถอยลงไปตั้งรับลึกในแดนของตัวเองเพื่อรอโอกาสในการสวนกลับเร็วอีกทั้งยังเน้นพึ่งพาผู้เล่นเพลย์เมกเกอร์เบอร์10 ที่มีเทคนิคพรสวรรค์ชั้นเลิศในการสร้างสรรค์เกมซึ่งเปรียบดั่งหัวใจสำคัญของทีม ปรัชญานี้ได้เข้ามาเฉิดฉายในวงการฟุตบอลในช่วงทศวรรษ 1960 ถึงแม้จริงๆแล้วจะถูกคิดค้นขึ้นโดย คาร์ล ลาปปาน กุนซือชาวออสเตรีย ตั้งแต่ปี 1932 กับสโมสรในสวิตเซอร์แลนด์และภายหลังได้นำมาใช้กับทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ในศึกฟุตบอลโลกครั้งที่3 ในปี 1938 แต่อย่างไรก็ตามก็ถูกขัดเกลาจนสุกงอมในยุคของ เอเลนิโอ เอร์เรรา ยอดกุนซือของ อินเตอร์ มิลาน สโมสรฟุตบอลจากอิตาลี ซึ่งเขาได้ใช้ปรัชญานี้ในการกวาดแชมป์ยุโรปมาถึง 2 สมัยติดต่อกันในฤดูกาล 1963-64 และ 1964-65 แถมเข้าชิงได้อีกครั้งในปี 1966-67 และไฮไลท์สำคัญที่มาพร้อมกับปรัชญานี้คือแผนการเล่นที่มีรูปทรงยืดหยุ่นโดยเป็นได้ทั้ง 5-3-2, 3-5-2, 5-2-3 และ 3-4-3 โดยเพิ่มบทบาทกองหลัง Libero ซึ่งเป็นกองหลังตัวพิเศษที่มีเทคนิคและการจ่ายบอลที่ดีเยี่ยมที่จะคอยยืนอยู่หลังแผงกองหลัง 4 คนอีกทีหนึ่งเพื่อคอยซ้อนตัวประกบ และอีกหนึ่งไฮไลท์คือ Man Marking ซึ่งเป็นการประกบชิดผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามแบบตัวต่อตัว ด้วยอิทธิพลของปรัชญานี้ส่งผลให้โลกฟุตบอลในขณะนั้นเกมรับถือเป็นสิ่งแรกที่สำคัญที่สุด
แผนการเล่นของอินเตอร์ มิลาน (ปรัชญา Catenaccio)
เอเลนิโอ เอร์เรรา ปรมาจารย์แห่งปรัชญา Catenaccio
(สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับจุดกำเนิดของปรัชญา Catenaccio ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5ea02499b8fbd952566f271e/# )
การปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกครั้งที่7 ปรัชญา Total Football ซึ่งเป็นปรัชญาที่เน้นเกมบุกสูงมากโดยจะคอยหมุนเวียนผู้เล่นอย่างอิสระและมีการยืนตำแหน่งที่ไม่ตายตัวบวกกับการค่อยๆต่อบอลสร้างสรรค์เกมเข้าไปทำประตูอย่างสวยงามราวกับศิลปะจนกลายเป็นฟุตบอลเน้นการครอบครองบอลแบบฉบับต้นตำรับ ปรัชญานี้ได้เข้ามาเฉิดฉายในวงการฟุตบอลในช่วงทศวรรษ 1970 ถึงแม้จริงๆแล้วจะถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1910 โดย แจ็ค เรย์โนลด์ส กุนซือชาวอังกฤษของอาแจกซ์ อัมสเตอร์ดัม สโมสรฟุตบอลจากฮอลแลนด์ แต่อย่างไรก็ตามก็ถูกขัดเกลาให้สมบูรณ์ในช่วงทศวรรษ 1970 โดย ไรนุส มิเชลส์ ยอดกุนซือของอาแจกซ์รวมถึงเป็นทั้งอดีตผู้เล่นและลูกศิษย์ของ เรย์โนลด์ส มิเชลส์สามารถพาทีมอาแจกซ์คว้าแชมป์ยุโรปได้ 1 สมัยก่อนจะย้ายไปปลูกฝังรากฐานใหม่ที่บาร์เซโลน่า สโมสรฟุตบอลจากสเปน แต่ด้วยขุมกำลังที่ดีเยี่ยมอยู่แล้วของอาแจกซ์บวกกับกุนซือใหม่ที่เข้ามาคุมได้เลือกที่ใช้ปรัชญาของมิเชลส์ต่อไปจึงทำให้สามารถกวาดแชมป์ยุโรปต่อไปถึงสามสมัยติดต่อกันตั้งแต่ฤดูกาล 1970-71 ถึง 1972-73 และไฮไลท์สำคัญที่มาพร้อมกับปรัชญานี้คือแผนการเล่น 4-3-3 ซึ่งได้ถูกใช้เป็นรากฐานในสไตล์การเล่นนี้ แต่ 4-3-3ในครั้งนั้นต่างจากปัจจุบันตรงที่มีการใช้ Libero ด้วย และอีกหนึ่งไฮไลท์คือการเพรซซิ่งเพื่อแย่งลูกกันเป็นทีมก็ถูกใช้เป็นครั้งแรกและถือเป็นหัวใจสำคัญของสไตล์การเล่นนี้ ด้วยอิทธิพลของปรัชญานี้ส่งผลให้โลกฟุตบอลในขณะนั้นเปลี่ยนจากการเน้นเกมรับมาเล่นฟุตบอลเกมบุกที่เน้นให้ผู้เล่นสร้างสรรค์เกมร่วมกันมากขึ้น
แผนการเล่นของอาแจกซ์ (ปรัชญา Total Football)
ไรนุส มิเชลส์ ปรมาจารย์แห่งปรัชญา Total Football
(สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับจุดกำเนิดของปรัชญา Total Football ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5ea250ff450ced16113c3f98/# )
การปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกครั้งที่8 ปรัชญา Shadow Play ซึ่งเป็นปรัชญาที่เน้นการพึ่งพาความสามัคคีกันในทีมเป็นหลักเพราะผู้เล่นทุกคนจะต้องช่วยกันเล่นทั้งการทำเกมบุกอันรวดเร็วที่เต็มไปด้วยความดุดันและการเพรซซิ่งไล่บอลอย่างหนักหน่วงที่ไม่รู้จักหยุดหย่อนในเกมรับ ดังนั้นจึงทำให้ผู้เล่นจะต้องมีพลังความอึดที่สูงมากในการวิ่งตลอดทั้งเกม ปรัชญานี้ถูกคิดค้นขึ้นและได้เข้ามาเฉิดฉายในทันทีในช่วงปลายทศวรรษ 1980 โดย อาร์ริโก้ ซาคคี่ ยอดกุนซือของเอซี มิลาน สโมสรฟุตบอลจากอิตาลี เขาพาทีมเอซี มิลานกวาดแชมป์ยุโรปไปถึงสองสมัยติดต่อกันในฤดูกาล 1988-89 และ 1989-90 ก่อนจะนำปรัชญานี้ไปใช้ในศึกฟุตบอลโลกครั้งที่15 กับทีมชาติอิตาลีในปี 1994 ซึ่งอิตาลีทำผลงานได้ดีอย่างมากโดยสามารถทะลุเข้าไปถึงนัดชิงชนะเลิศกับบราซิลถึงแม้อิตาลีจะพ่ายแพ้ไปในการดวลจุดโทษก็ตาม และไฮไลท์สำคัญที่มาพร้อมกับปรัชญานี้คือการนำแทคติกมากมายที่เคยถูกคิดค้นมาผสมผสานกันได้แก่แผนการเล่น 4-4-2 ที่ฉีกทุกปรัชญาก่อนหน้านี้ออกไปเกือบทั้งหมดโดยยกเลิกตำแหน่ง Libero ออกไปเปลี่ยนเป็นกองหลัง 4 คนยืนระนาบเป็นเส้นตรง ,ยกเลิกการตั้งรับแบบ Man Marking เป็น Zonal Marking แทนและการนำการเพรซซิ่งสูงมาพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นจนกลายเป็นฉบับของตนเอง และอีกหนึ่งไฮไลท์ซึ่งเป็นแทคติกต้นตำรับที่ซาคคี่คิดค้นขึ้นเองนั่นก็คือการดันไลน์กองหลังขึ้นสูงเพื่อใช้กับดักล้ำหน้าเล่นงานกองหน้าฝ่ายตรงข้ามและการใช้เกมบุกแบบ Vertical Passing ซึ่งเป็นการต่อบอลสั้นเข้าไปทำประตูด้วยความรวดเร็วเป็นเส้นตรง
แผนการเล่นของเอซี มิลาน (ปรัชญา Shadow Play)
อาร์ริโก้ ซาคคี่ ปรมาจารย์ผู้คิดค้นปรัชญา Shadow Play
นอกจากนี้การปฏิวัติครั้งนี้ถือเป็นแทคติกที่ทรงอิทธิพลต่อโลกฟุตบอลอย่างมาก ซึ่งทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมาทีมส่วนใหญ่ก็หันมาเล่นแผนการเล่น 4-4-2 กันเรื่อยมา ถึงแม้ทีมส่วนใหญ่จะใช้ 4-4-2 ในสไตล์การเล่นที่แตกต่างจากซาคคี่ก็ตาม แต่ทว่าในช่วงทศวรรษ 2010 แผนการเล่นที่เป็นถึงแผนการเล่นยอดนิยมที่มีระยะเวลายาวนานถึงสองทศวรรษ (1990-2000) ก็ได้ถูกละทิ้งลงด้วยการมาถึงของแผนการเล่นยอดนิยมในยุคนั้นอย่าง 4-3-3, 4-2-3-1, 3-4-3 และ 3-5-2 แต่ก็ยังมีทีมชั้นนำที่ใช้ 4-4-2 อยู่ในปัจจุบันอาทิเช่น แอด มาดริด ของดีเอโก้ ซิเมโอเน่
และอีกหนึ่งอิทธิพลที่ส่งผลกระทบนั่นก็คือการทำให้โลกฟุตบอลตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 หันมานิยมใช้สไตล์การเล่นที่เน้นสมดุลมากขึ้น(Balanced tactic)จนกลายเป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้ทีมส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้ปรัชญา Shadow Play ของซาคคี่ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของพละกำลังมากจนเกินไปแต่กลับใช้วิธีอื่นโดยการผสมผสานระหว่างการนำผู้เล่นแนวรุกจอมเทคนิคพรสวรรค์สูงสักสามถึงสี่คนที่มีการสร้างสรรค์เกมที่ดีมารับผิดชอบในการทำเกมรุกร่วมกันและการใช้ผู้เล่นแนวรับที่เชี่ยวชาญในการเล่นเกมรับเฉพาะทางมารับผิดชอบในการเล่นเกมรับซึ่งถือเป็นการผสมผสานที่ลงตัวเลยทีเดียว อย่างไรก็ดีเพื่อจะทำให้แทคติกนี้สมบูรณ์จนถึงขั้นสุดก็จำเป็นจะต้องมีผู้เล่นที่มีความสามารถเชิงสมดุลที่สามารถเล่นได้ดีทั้งรุกและรับ อาทิเช่นฟูลแบ๊คที่มีความสามารถเหมือนปีกแท้ๆอย่างคาฟูและโรแบร์โต้ คาร์รอส
คาฟู ตำนานแบ๊คขวา ชาวบราซิล
โรแบร์โต้ คาร์รอส ตำนานแบ๊คซ้าย ชาวบราซิล
และกองกลางพลังไดนาโม(Box to Box) ที่มีเป็นความเลิศทั้งรุกและรับอีกทั้งยังมีพลังความอึดมหาศาลเพื่อที่จะวิ่งไปทั่วสนามเพื่อสนับสนุนผู้เล่นแนวรุกและแนวรับอย่าง สตีเว่น เจอร์ราร์ด, แฟรงค์ แลมพาร์ด และ พอล สโคลส์
สตีเว่น เจอร์ราร์ด ตำนานกองกลางชาวอังกฤษของลิเวอร์พูล
แฟรงค์ แลมพาร์ด ตำนานกองกลางชาวอังกฤษของเชลซี
พอล สโคลส์ ตำนานกองกลางชาวอังกฤษของแมน ยูไนเต็ด
แต่ทว่าก็มีเพียงไม่กี่ทีมที่จะเพอร์เฟ็คได้ขนาดนั้น ซึ่งทีมที่เป็นเลิศทั้งการทำเกมบุกด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่สวยงามและการตั้งเกมรับที่เหนียวแน่นเป็นระบบในคราวเดียวกันนั้นมีดังต่อไปนี้
ทีมชาติฝรั่งเศสชุดแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 1998 ภายใต้การคุมทีมของไอมี่ แจกเก้ ที่มีผู้เล่นเน้นสมดุลอย่าง ลิลิยอง ตูรามและบิเซนเต้ ลิซาราซู ฟูลแบ็คจอมบุกสองข้าง ที่คอยสนับสนุนผู้เล่นในแนวรุกที่นำโดย ซีเนดีน ซีดาน และยูริ จอร์เกฟฟ์ และผู้เล่นในแนวรับที่นำโดย ดิดิเยร์ เดสชองส์ และมาร์กเซล เดอไซญี่
บิเซนเต้ ลิซาราซู(ซ้าย)และลิลิยอง ตูราม(ขวา) ฟันเฟืองชิ้นสำคัญของทีมชาติฝรั่งเศส
ยูริ จอร์เกฟฟ์(ซ้าย)และซีเนดีน ซีดาน(ขวา) แนวรุกตัวหลักของทีมชาติฝรั่งเศส
มาร์กเซล เดอไซญี่(ซ้าย)และดิดิเยร์ เดสชองส์(ขวา) แนวรับตัวหลักของทีมชาติฝรั่งเศส
แผนการเล่น 4-3-2-1 ของทีมชาติฝรั่งเศส (Balanced tactic)
ทีมชาติบราซิลชุดแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2002 ภายใต้การคุมทีมของหลุยส์ เฟลิเป้ สโคลารี่ที่มีผู้เล่นเน้นสมดุลอย่าง โรแบร์โต้ คาร์รอส และ คาฟู ฟูลแบ็คจอมบุกสองข้าง ที่คอยสนับสนุนผู้เล่นในแนวรุกที่นำโดย โรนัลโด้, ริวัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ และผู้เล่นในแนวรับที่นำโดย ลูซิโอ่ และจิลแบร์โต้ ซิลวา
โรแบร์โต้ คาร์รอส(ซ้าย)และคาฟู(ขวา) ฟันเฟืองชิ้นสำคัญของทีมชาติบราซิล
โรนัลดินโญ่,โรนัลโด้ และริวัลโด้(เรียงจากซ้ายไปขวา) แนวรุกตัวหลักของทีมชาติบราซิล
ลูซิโอ่ และจิลแบร์โต้ ซิลวา แนวรับตัวหลักของทีมชาติบราซิล
แผนการเล่น 3-4-2-1 ของทีมชาติบราซิล (Balanced tactic)
ยูเวนตุส สโมสรจากอิตาลีชุดแชมป์ยุโรปในฤดูกาล 1995–96 แถมยังเข้าชิงได้อีกถึงสองครั้งในฤดูกาล 1996–97 และ 1997–98 ภายใต้การคุมทีมของมาร์เชลโล ลิปปี้ที่มีผู้เล่นเน้นสมดุลอย่าง อันโตนิโอ คอนเต้ และเอ็ดการ์ ดาวิดส์ สองกองกลางไดนาโม และจานลูก้า เปสซ็อตโต้ ฟูลแบ็คจอมบุก ที่คอยสนับสนุนผู้เล่นในแนวรุกที่นำโดย อเลสซานโดร เดล ปิเอโร่, จานลูก้า วิอัลลี่ และซีเนดีน ซีดาน และผู้เล่นในแนวรับที่นำโดย ดิดิเยร์ เดสชองส์ และชิโร่ แฟร์ราร่า
อันโตนิโอ คอนเต้,เอ็ดการ์ ดาวิดส์และจานลูก้า เปสซ็อตโต้(เรียงจากซ้ายไปขวา) ฟันเฟืองชิ้นสำคัญของยูเวนตุส
จานลูก้า วิอัลลี่, อเลสซานโดร เดล ปิเอโร่, และซีเนดีน ซีดาน(เรียงจากซ้ายไปขวา) แนวรุกตัวหลักของยูเวนตุส
ดิดิเยร์ เดสชองส์(ซ้าย)และชิโร่ แฟร์ราร่า(ขวา) แนวรับตัวหลักของยูเวนตุส
แผนการเล่นที่แตกต่างในสามฤดูกาลที่เข้าชิงของยูเวนตุส (Balanced tactic)
เรอัล มาดริด สโมสรจากสเปนชุดครองยุโรป 3 สมัยในฤดูกาล 1997-98, 1999-00 และ 2001-02 ภายใต้การคุมทีมของจุปป์ ไฮย์เกส (1997-98)และบิเซนเต้ เดล บอสเก้ (1999-00,2001-02) ที่มีผู้เล่นเน้นสมดุลอย่าง คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ กองกลางไดนาโม และโรแบร์โต้ คาร์รอส และมิเชล ซัลกาโด้ ฟูลแบ็คจอมบุกสองข้าง ที่คอยสนับสนุนผู้เล่นในแนวรุกที่นำโดย ราอูล กอนซาเลซ, เฟอร์นันโด มอริเอนเตส และซีเนดีน ซีดาน และผู้เล่นในแนวรับที่นำโดย เฟอร์นันโด เฮียร์โร่ และโคลด มาเกเลเล่ ซึ่งเรอัล มาดริดชุดนั้นถือเป็นสโมสรที่สามารถครองยุโรปด้วย Balanced tactic ได้เป็นทีมแรกและได้กลายเป็นมหาอำนาจแห่งฟุตบอลยุโรปในช่วงปลายทศวรรษ1990 จนถึงช่วงต้นทศวรรษ 2000
มิเชล ซัลกาโด้,คลาเรนซ์ เซดอร์ฟและโรแบร์โต้ คาร์รอส(เรียงจากซ้ายไปขวา) ฟันเฟืองชิ้นสำคัญของเรอัล มาดริด
ราอูล กอนซาเลซ, เฟอร์นันโด มอริเอนเตส และซีเนดีน ซีดาน(เรียงจากซ้ายไปขวา) แนวรุกตัวหลักของเรอัล มาดริด
เฟอร์นันโด เฮียร์โร่(ซ้าย)และโคลด มาเกเลเล่(ขวา) แนวรับตัวหลักของเรอัล มาดริด
แผนการเล่นที่แตกต่างในสามฤดูกาลที่เข้าชิงของเรอัล มาดริด (Balanced tactic)
เอซี มิลาน สโมสรจากอิตาลีชุดครองยุโรป 2 สมัยในฤดูกาล 2002–03 และ 2006–07 แถมเข้าชิงได้อีกหนึ่งครั้งในฤดูกาล 2004–05 ภายใต้การคุมทีมของคาร์โล อันเชล็อตติที่มีผู้เล่นเน้นสมดุลอย่าง คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ และมัสซิโม่ อัมโบรซินี่ สองกองกลางไดนาโม และคาฟู ฟูลแบ็คจอมบุก ที่คอยสนับสนุนผู้เล่นในแนวรุกที่นำโดย อังเดรีย ปีร์โล่, ริคาร์โด กาก้า และอังเดร เชฟเชนโก้ และผู้เล่นในแนวรับที่นำโดย เปาโล มัลดินี่, อเลสซานโดร เนสต้า และเจนนาโร่ กัตตูโซ่
คาฟู,คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ และมัสซิโม่ อัมโบรซินี่(เรียงจากซ้ายไปขวา) ฟันเฟืองชิ้นสำคัญของเอซีมิลาน
อังเดร เชฟเชนโก้,ริคาร์โด กาก้าและอังเดรีย ปีร์โล่(เรียงจากซ้ายไปขวา) แนวรุกตัวหลักของเอซี มิลาน
อเลสซานโดร เนสต้า,เปาโล มัลดินี่และเจนนาโร่ กัตตูโซ่(เรียงจากซ้ายไปขวา) แนวรับตัวหลักของเอซี มิลาน
แผนการเล่นที่แตกต่างในสามฤดูกาลที่เข้าชิงของเอซี มิลาน (Balanced tactic)
ถึงแม้อาจดูเหมือนว่าแทคติกนี้จะดูแข็งแกร่งไร้เทียมทานซะจนยากที่จะหาใครมาล้มได้ แต่อย่างไรก็ตาม Balanced tactic ก็ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นปรัชญาใดๆทั้งสิ้นเนื่องจากการที่ไม่มีรูปแบบตายตัวที่ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับปรัชญาที่มีสไตล์ชัดเจนอย่าง Catenaccio, Total Football และ Shadow Play
ดังนั้นด้วยอิทธิพลและความสำเร็จของทีมเหล่านี้จึงทำให้ทั้งโลกฟุตบอลที่ไม่ใช่แค่เพียงในยุโรปอีกต่อไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาได้ตกอยู่ในยุคสมัยที่ไร้ซึ่งปรัชญาใดๆทั้งสิ้นที่จะสามารถครองความยิ่งใหญ่ได้อีกเลย และนี่คือจุดจบของการปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกแล้วงั้นหรือพบกับคำตอบได้ในพาร์ทที่สอง
(สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับจุดกำเนิดของปรัชญา Shadow Play ปรัชญาที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อเกมลูกหนังในปัจจุบันได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5ea8003ff6f4a710dd262ca4/# )
ขอขอบคุณข้อมูลโดย
และรูปภาพโดย
โฆษณา