Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Absinthe
•
ติดตาม
4 พ.ค. 2020 เวลา 10:09 • ความคิดเห็น
“กลาย” : จะเป็นอย่างไรหากเรา’กลาย’เป็นอื่นและตัดขาดจากสังคม?
(รีวิวเรื่องสั้น The Metamorphosis by Franz Kafka)
1
กลาย หรือ Metamorphosis คือเรื่องสั้นความยาวประมาณ 65 หน้ากระดาษ ซึ่งเขียนโดยFranz Kafka นักเขียนชาวเช็คที่มีความน่าสนใจทั้งในด้านงานเขียนและชีวิตส่วนตัว
ในขณะที่ Kafka มีชีวิต เขามักจะไม่ยอมให้ใครเข้าถึงงานของเขา นอกจากจะเขียนงานค้างไว้เป็นจำนวนมากแล้ว เขายังชอบเผางานที่ตนเองเขียนทิ้ง และยังกำชับกับคนรอบตัวว่าห้ามนำงานเขียนมาเผยแพร่
แต่หลังจากที่เขาเสียชีวิตลง เพื่อนสนิทของเขาซึ่งเป็นนักเขียนเหมือนกันได้นำงานที่หลงเหลือมาตีพิมพ์ ทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้และงานเขียนอื่นๆของเขามีชื่อเสียงไปทั้วโลก และมีอิทธิพลต่อการศึกษาวรรณกรรมตะวันตกเป็นอย่างมาก
ที่มา:
https://th.m.wikipedia.org/wiki/ฟรันทซ์_คัฟคา
ในเรื่องสั้น Metamorphosis นั้น มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายคนหนึ่ง(เกรกอร์)ซึ่งพบว่าตนเองได้กลายเป็นแมลงโดยไม่ทราบสาเหตุหลังจากตื่นนอนตอนเช้า
หลังจากนั้น การกลายเป็นแมลงของเขาส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคนในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเขาไม่สามารถสื่อสารให้มนุษย์เข้าใจได้ แต่ตัวเขาเองก็ยังเข้าใจในสิ่งที่มนุษย์สื่อสารกัน และสภาพจิตใจของเขายังมีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่
ยิ่งไปกว่านั้น ชายคนนี้ยังเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ทำงานหาเงินให้พ่อ แม่ น้องสาว และสาวใช้อีกสองคนในบ้าน การที่เขากลายเป็นแมลงนั้นได้ทำให้ครอบครัวนี้เกิดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายตามมาอีกด้วย
สุดท้ายแล้ว พ่อ แม่ และน้องสาวก็ไม่อาจจะมองเขาเป็น’คนในครอบครัว’ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป เรื่องราวได้จบลงที่ชายในร่างแมลงคนนี้ได้เสียชีวิตลงท่ามกลางความโล่งใจและยินดีของคนในครอบครัวที่เขารัก
หากไม่เคยอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้มาก่อนแล้วได้อ่านเรื่องย่อด้านบน อาจจะมองว่าMetamorphosis เป็นเรื่องสั้นที่มีโทนในการเขียนค่อนข้างเศร้า และมีการตัดพ้อพรรณนาถึงอารมณ์ความรู้สึกแฝงอยู่ในงานมากพอสมควร
แต่กลับกัน ผู้เขียนไม่ให้พื้นที่กับอารมณ์ความรู้สึกมากนัก แต่ให้น้ำหนักไปที่การบรรยายสภาพแวดล้อม การระลึกถึงอดีต รวมถึงการแสดงสีหน้าท่าทางที่จริงใจตรงไปตรงมาของตัวละคร ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสารและกระอักกระอ่วนพอสมควร ซึ่งการเสียดสีในลักษณะนี้ถือเป็นลายเซ็นของ Kafka ด้วยเช่นกัน
ที่มาของภาพ : https://writerswrite.co.za/literary-birthday-3-july-franz-kafka/
นอกจากนี้แล้ว การกระทำต่างๆของตัวละครยังทำให้ผู้อ่านสามารถตีความเชิงสัญลักษณ์ได้ ซึ่งเมื่อแอดมินหาข้อมูลเพิ่มเติม สัญลักษณ์ที่แฝงไว้เหล่านี้เชื่อมโยงกับสภาพสังคมและยังเชื่อมโยงตัวตนของ Kafka อีกด้วย
สำหรับความเชื่อมโยงนั้น แอดมินอยากกล่าวถึงอยู่สองเรื่องคือ เรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัวและเรื่องความเป็นมนุษย์
(ซึ่งหลังจากบรรทัดนี่ จะเป็นopinionของแอดมินจนจบบทความ)
เริ่มจากในด้านความเป็นมนุษย์นั้น เรามองว่า Kafka ตั้งใจกล่าวถึงคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว การหาเงินให้ครอบครัวได้ถือเป็นความคาดหวัง เป็นความรับผิดชอบที่ทำให้ตนเองมีคุณค่า มีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์เบบ
แต่เมื่อคนคนหนึ่งไร้ความสามารถในการทำงานไปจนถึงไร้ความสามารถทางการสื่อสาร(กลายเป็นแมลง) ทำให้ตัวเขาเองและคนรอบตัวประเมินคุณค่าความเป็นมนุษย์ลดลง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสภาพจิตใจของคนคนนี้ยังเป็นมนุษย์อยู่เช่นเดิม และการไร้ความสามารถในการทำงานหรือสื่อสารไม่ได้ทำให้ความเป็นมนุษย์ของใครลดลงไปได้เลย
1
ถ้าลองสังเกตความคิดของชายผู้กลายเป็นแมลง(ซึ่งอาจจะสื่อถึงตัว Kafka ด้วยก็ได้) เขาก็ไม่ได้พยายามหาเหตุผลหรือที่มาที่ไปของการกลายเป็นแมลงเลย ราวกับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นอีกความน่าสนใจหนึ่งในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ที่ทำให้เราต้องการค้นหาว่าผู้เขียนต้องการอะไร
นอกจากนั้นการบรรยายในเรื่องทำให้เห็นถึงความรู้สึกว่างเปล่า หดหู่และน่าสมเพชในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขา แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เขาพยายามรับรู้ความเป็นไปในบ้าน และมความเป็นห่วง เห็นใจคนในครอบครัวอยู่เสมอ เรามองว่าเนื้อหาของเรื่องสั้นมันเต็มไปด้วยความรู้สึก ทั้งๆที่ไม่มีการพรรณนาถึงความรู้สึกใดเลย
การกลายเป็นแมลงที่ไร้ความสามารถในการทำงาน รวมถึงไม่สามารถพบปะผู้คนได้นั้น ทำให้เรานึกถึงอาการ’ฮิคิโคโมริ’ ที่พบในครอบครัวประเทศญี่ปุ่น
ที่มาของภาพ : https://www.estopolis.com/article/lifestyle/life-hack/ฮิคิโคโมริ-โรคขังตัวเองอยู่ในห้องที่มนุษย์คอนโดต้องรู้
ฮิคิโคโมริเป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ผู้มีอาการจะตัดขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวและขังตัวเองอยู่ในห้องตลอดเวลา(ซึ่งอาจจะทำงานหรือพูดคุยกับมนุษย์คนอื่นผ่านทางอินเทอร์เน็ตก็ได้) แต่ผู้มีอาการจำนวนหนึ่งมักจะไม่ทำงาน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัวและผู้ที่พักอาศัยร่วมกันตามมา
ด้านปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคมนั้น เรามองชายผู้กลายเป็นแมลงในเรื่องสั้นกับผู้มีภาวะฮิคิโคโมริ(หรือการกลายเป็นอื่นในลักษณะต่างๆ) คล้ายกัน กล่าวคือ คนในครอบครัวมักจะยอมรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น(อาจจะยอมรับได้ แต่ไม่สามารถทำความเข้าใจสภาวะนั้นได้จริงๆ)
ตัวอย่างเช่น พ่อ แม่ และน้องสาวของชายผู้กลายเป็นแมลงนั้นเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีใครถามถึงที่มาที่ไป หรือยอมเข้าไปยุ่งเกี่ยวในห้องของลูกชาย ยกเว้นน้องสาวซึ่งเคยพยายามทำความเข้าใจพี่ชาย แต่ด้วยความกดดันและการแปลความหมายของสารที่พี่ชายต้องการจะสื่อผิดพลาด ทำให้เกิดความรังเกียจพี่ชายตัวเองไปในที่สุด
ในเรื่องสั้นแสดงให้เห็นว่าครอบครัวจะให้ความสนใจเพียงในแง่ของปัจจัยด้านอาหาร แต่อาจจะละเลยการทำความเข้าใจ รวมถึงการรับสารที่แมลง(รวมถึงผู้กลายเป็นอื่นใดๆ)อาจจะต้องการสื่อ
เนื่องจากเหตุผลที่ว่าตัวแมลงเองอยู่ร่วมด้วยยากขึ้น รวมกับการที่ครอบครัวมองเห็นแต่ปัญหาของตนเอง
ซึ่งอาจจะลืมไปว่าการตัดขาดจากสังคมและการสื่อสารนั้นส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของแมลง(และผู้กลายเป็นอื่น)ด้วยเช่นกัน
เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้(ทั้งแง่ของการกลายเป็นแมลง หรือเป็นอื่นใดๆก็ตาม) ครอบครัวและคนรอบข้างมักจะลดคุณค่าของคนคนนั้นลง ทำให้เกิดปัญหาด้านการสื่อสารและสภาวะอารมณ์ตามมา
2
หากการสื่อสารถูกตัดขาด แน่นอนว่าความสัมพันธ์จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สุดท้ายแล้วครอบครัวก็อาจจะต้องการผลักไสคนกลุ่มนี้ออกไปเพราะมองว่าเป็นภาระทั้งในแง่ของสภาพจิตใจและค่าใช้จ่าย เช่นเดียวกับน้องสาวของชายผู้กลายเป็นแมลง ที่ต้องการกำจัดพี่ชายของตัวเองออกไปในช่วงท้ายของเรื่องสั้น
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายของเรื่องสั้นเรื่องนี้ ผู้เขียนได้ทำให้เราเห็นว่าทุกลมหายใจของชายผู้กลายเป็นแมลงยังมีความเป็นมนุษย์ ทั้งในแง่ความรู้สึกนึกคิด จิตสำนึก และความรักความห่วงใยที่มีให้กับคนในครอบครัว แม้ว่าร่างกายของเขาไม่ใช่มนุษย์แล้วก็ตาม
2 บันทึก
4
1
11
2
4
1
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย