Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สมุนไพรไทย TEPTONG
•
ติดตาม
5 พ.ค. 2020 เวลา 01:21 • สุขภาพ
โหระพา
โหระพา เป็นผักและสมุนไพรที่หลาย ๆ คนชื่นชอบเป็นพิเศษ เพราะความหอมเฉพาะตัวที่พอมาอยู่ในอาหารก็ยิ่งเพิ่มอรรถรสให้มีกลิ่นหอมหวนชวนน้ำลายสอมาก ๆ แต่นอกจากความหอมเป็นพิเศษแล้ว โหระพายังมีสรรพคุณทางยาและดีต่อสุขภาพตามนี้เลยค่ะ
โหระพา กลิ่นหอมนักหนา รสชาติก็ดี
โหระพามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum basillicum L. เป็นพืชในวงศ์ Labiatae สำหรับชื่อภาษาอังกฤษของโหระพาเรียกกว่า Sweet Basil ส่วนบ้านเราก็เรียกโหระพากันเป็นส่วนใหญ่ โหระพามีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียและแอฟริกา โดยเป็นพืชพื้นเมืองของอินเดีย แต่กลับไปแพร่หลายในประเทศฝั่งตะวันตกและเอเชีย
โหระพาเป็นพืชตระกูลเดียวกับกะเพราและแมงลัก แต่มีกลิ่นและรสที่ต่างกัน โดยโหระพาถือว่าเป็นสมุนไพรที่มีความเก่าแก่ เพราะรากศัพท์ของโหระพาในภาษาอังกฤษมาจากคำว่า basileus ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า ราชา หรือผู้นำของปวงชน อีกทั้งชื่ออื่น ๆ ของโหระพาในแถบยุโรปยังมีรากศัพท์มาจากคำว่าราชาแทบจะทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า โหระพาเป็นส่วนประกอบของสมุนไพรที่ราชวงศ์ยุโรปโบราณใส่ในน้ำอาบอีกด้วยค่ะ
โหระพา
โหระพา ลักษณะทางพฤษศาสตร์ที่คล้ายกับสมุนไพรหลายตัว
โหระพาเป็นไม้ล้มลุก ความสูงของลำต้นประมาณ 0.5-1 เมตร ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม กิ่งอ่อนสีม่วงอมแดง ใบโหระพาเป็นใบเดี่ยว ทรงรูปรีหรือรูปไข่ ใบกว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 4-6 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนมน ขอบจักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ บนใบมีขนปกคลุมลามไปถึงลำต้น ใบโหระพามีน้ำมันหอมระเหยจึงทำให้มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
ดอกโหระพามีสีขาวหรือชมพูอ่อน ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 7-12 เซนติเมตร บริเวณดอกมีใบประดับสีเขียวอมม่วง กลีบดอกมีโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนผลโหระพาเป็นผลขนาดเล็ก เมล็ดเล็กเท่าเมล็ดงา ออกสีน้ำตาลเข้ม
โหระพา ประโยชน์และสรรพคุณทางยาที่น่าสนใจ
นอกจากโหระพาจะมีกลิ่นหอม ช่วยทำให้อาหารน่ากินแล้ว สรรพคุณของโหระพายังมีตามนี้เลยค่ะ
1. แก้ปวดฟัน
โหระพา
น้ำมันหอมระเหยจากใบโหระพามีส่วนช่วยลดอาการปวดและแก้อักเสบ โดยให้คั้นน้ำจากใบแล้วเอาสำลีก้อนเล็ก ๆ ชุบน้ำคั้นจากใบแล้วอุดโพรงฟันที่ปวด แก้ปวดฟัน
2. ช่วยให้เจริญอาหาร
กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยที่มีอยู่ในใบโหระพามีสรรพคุณช่วยขับลม ทำให้เจริญอาหาร
3. แก้ปวดหัว แก้หวัด
โหระพา
น้ำมันหอมระเหยจากใบโหระพายังแก้อาการปวดหัว และแก้หวัดได้ด้วยนะคะ โดยใช้ยอดอ่อนต้มกับน้ำดื่มเป็นชา หรือกินเป็นผักสด
4. แก้ไอ
คั้นน้ำจากใบโหระพาประมาณ 2-4 กรัม แล้วนำน้ำโหระพามาผสมน้ำผึ้งเล็กน้อย จิบแก้ไอและหลอดลมอักเสบได้ หรือจะใช้ใบโหระพาร่วมกับขิงก็ได้เช่นกันค่ะ
5. ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืด-ท้องเฟ้อ
โหระพา
ใบโหระพาช่วยขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้คลื่นไส้ อาเจียน โดยนำใบโหระพาล้างสะอาด 20 ใบ ชงน้ำร้อนแล้วจิบเป็นชา
6. แก้บิด ช่วยระบาย
เมล็ดของโหระพามีเมือกที่ช่วยหล่อลื่นลำไส้ ช่วยเพิ่มปริมาณกากใยอาหารทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น โดยใช้เมล็ดโหระพาแช่น้ำ กินแก้ปวดท้องบิด ช่วยระบาย
7. ช่วยให้ความรู้สึกสงบ
น้ำมันโหระพามีกลิ่นหอมหวาน มีคุณสมบัติช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบเมื่อสูดดม ช่วยให้มีสมาธิ และลดอาการซึมเศร้า
8. โหระพา ไล่ยุงได้อยู่หมัด
โหระพา
ยุงจัดเป็นพาหะนำโรคติดต่ออันตรายอย่างโรคไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง และยังทำให้เกิดอาการคันเมื่อโดนยุงกัดอีกด้วยนะคะ แต่หากใครอยากไล่ยุง กลิ่นและน้ำมันที่อยู่ในโหระพาจะช่วยไล่ยุงได้ อีกทั้งหากเก็บใบโหระพามาต้มในน้ำเปล่า 110 มิลลิลิตร ประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วเติมวอดก้าขนาด 110 มิลลิลิตร ผสมลงไป จากนั้นเทใส่ขวดสเปรย์ ก็จะได้สเปรย์ไล่ยุงจากโหระพาที่สามารถใช้ฉีดตามตัว (ยกเว้นบริเวณใบหน้า ตา จมูก และปาก) เพื่อป้องกันยุงเมื่อออกข้างนอกได้ด้วย
9. ฆ่าเชื้อสิว
ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่า สารสกัดเอทานอลของใบโหระพามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิวได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับพืชตระกูลโหระพาอื่น ๆ เช่น กะเพรา เป็นต้น
โหระพา อันตรายก็มี
มีข้อควรระวังในการใช้น้ำมันหอมระเหยจากโหระพาในการทำสปาด้วยนะคะ โดยน้ำมันหอมระเหยจากโหระพาอาจทำให้เกิดอาการแพ้ง่าย ดังนั้นสตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงในการใช้น้ำมันหอมระเหยจากโหระพาด้วยนะคะ
โหระพา
โหระพากับแมงลัก ต่างกันนะ
หลายคนสับสนระหว่างใบโหระพา ใบกะเพรา และใบแมงลัก เนื่องจากลักษณะใบจะมีความคล้ายคลึงกัน และแม้โหระพาจะเป็นพืชตระกูลเดียวกับกะเพราและแมงลัก แต่ก็มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลิ่นของสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด จะมีความหอมที่แตกต่างกันชัดเจน เพราะมีน้ำมันหอมระเหยคนละชนิดกันนั่นเอง
บันทึก
1
2
1
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย