6 พ.ค. 2020 เวลา 03:00 • ข่าว
เหตุการณ์ West Cappella มาเลเซีย : บททดสอบยุทธศาสตร์และพันธสัญญาของสหรัฐต่อทะเลจีนใต้ที่ล้มเหลว
เรากำลังติดตามข่าวคิมจองอึนแห่งเกาหลีเหนือ เรากำลังติดตามข่าว #โควิด19 จากหลายพื้นที่ในโลก เรากำลังติดตามข่าวการใช้งบประมาณจัดซื้ออาวุธ และการเยียวยาประชาชน จนเราอาจไม่ทันได้รู้ว่า ในทะเลจีนใต้ใกล้ๆเรา ช่วงนี้มันร้อนแรงเหลือเกิน
เหตุการณ์ในทะเลจีนใต้ท่ามกลางโรคไวรัสโควิด ไม่ได้เบาลงเลยครับมีทั้งการที่จีนเดินเรือเข้าไปในเขต EEZ ของเวียดนาม การเอาเรือชนเรือประมงเวียดนาม และการสถาปนาเขตปกครองจังหวัดอำเภอขึ้นใน หมู่เกาะพาราเซล และแสปรตลีย์ แต่ล่าสุด หวยของสถานการณ์ทะเลจีนใต้ไปออกที่มาเลเซีย
เหตุการณ์เกิดขึ้น เมื่อ เรือสำรวจของจีนที่ชื่อ Haiyang Dizhi 8 พร้อมด้วยกองเรือคุ้มกันจากกองกำลังยามฝั่ง และเรือประมงจีนจำนวนหนึ่งที่คาดการณ์กันว่าเป็นกองเรือทหารประจำถิ่น ได้เดินทางเข้าไปใกล้กับเรือขุดเจาะน้ำมันของรัฐวิสาหกิจ Petronas ของมาเลเซียที่ปฏิบัติภารกิจสำรวจอยู่ใกล้ๆกับเขต 200 ไมล์ทะเล หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ทางฝั่งรัฐซาราวัก
เหตุการณ์ทำท่าจะไม่มีอะไร แต่เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น หมู่เรือโจมตียกพลขึ้นบกที่นำโดย เรือ USS America (LHA-6) พร้อมด้วยเรือคุ้มกันอีกสองลำ ได้แก่ USS Bunker Hill (CG-52) และ USS Barry(DDG-52) ก็โผล่เข้ามาในพื้นที่ที่เรือของจีน กำลังข่มและรบกวนการทำงานของเรือขุดเจาะมาเลเซียอยู่ พร้อมกันนั้นเพื่อประสิทธิภาพในการกลุ้มรุม เรือจีนให้เห็นขีดความสามารถ ยังมีเรือจากพันธมิตรอย่างออสเตรเลีย HMAS Parramatta เข้ามาร่วมการฝึกกับเรืออเมริกัน ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเรือ West Cappella ของมาเลเซีย ทำให้ความตึงเครียดเพิ่มขึ้น…
.แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นเลยว่า งานในทะเลจีนใต้เป็นงานที่"เหนื่อย" สำหรับกองทัพเรือสหรัฐ
--- ขีดความสามารถกับภารกิจที่ใหญ่เกินไป ----
กรณีของเรือ West Cappella ได้มีนักวิชาการวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจในประเด็นต่อ การรับรู้หรือ Perception ของมาเลเซีย และขีดความสามารถของกองทัพเรือสหรัฐในปัญหาทะเลจีนใต้ Euan Graham นักวิชาการอาวุโสสาขา Asian Pacific ของสถาบัน IISS ที่สิงคโปร์ได้วิพากษ์ไว้ในบทความชื่อ Lessons From the Malaysian-American-Chinese-Australian-Vietnamese Naval Standoff ลงใน Foreign Policy เขาได้เสนอข้อโต้แย้งไว้ 2 ประเด็น หลักๆ
ประเด็นแรก ณ ปัจจุบันขีดความสามารถของกองเรือที่ 7 ได้สูญเสียไปบางส่วน จากการที่เรือ USS Theodore Roosvelt ไม่สามารถปฏิบัติงานได้จากกรณีโควิด 19 ต้องจอดอยู่ที่ Guam การที่ สหรัฐ นำเรือ USS America มาแสดงกำลังนั้นแสดงความแข็งแกร่งได้ก็จริง แต่ด้วยกำลังของหมู่เรือนี้ ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะต่อกรกับยุทธศาสตร์การจ่อคอหอยทำให้อึดอัดของจีน ที่มุ่งมายังผู้อ้างสิทธิทั้งหลายในทะเลจีนใต้ได้โดยตรง และการต้องคอยย้ายเรือไปมา อย่าง เรือ USS Barry จากไต้หวันแล้วมาลาดตระเวนที่หมู่เกาะพาราเซลอีกแสดงให้เห็นว่า นี้เป็นงาน "ยาก" ของกองเรือที่ 7
อีกทั้ง ณ ปัจจุบันขนาดของกองทัพเรือสหรัฐก็ถูก จีนแซงหน้าในเรื่องของจำนวนเรือไปเป็นที่เรียบร้อย ด้วยจำนวนเรือของสหรัฐยังไม่ถึง 300 ลำด้วยซ้ำไป ฐานทัพเรือสหรัฐที่อยู่ใกล้ทะเลจีนใต้ที่สุดคือ Guam และญี่ปุ่น เสริมด้วยศูนย์การส่งกำลังบำรุงและท่าเทียบเรือ Littoral Combat Ship ที่สิงคโปร์ นอกนั้นเป็นฐานทัพเรือเก่าที่ถูกปิดไปแล้วอย่างที่ฟิลิปปินส์ที่ถูกลืมไปแล้ว หรือที่คัมรานห์ ในขณะที่จีนกำลังเร่งพัฒนาฐานทัพในสแปรตลีย์ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการจู่โจมของทั้งกำลังทางเรือ และกำลังกึ่งทหารได้ไปสุดเส้นใต้สุดของทะเลจีนใต้ เหตุผลเหล่านี้ นำไปสู่ประเด็นที่ 2 ที่ Graham เสนอข้อโต้แย้งไว้คือ "พันธะสัญญา" ต่อภูมิภาคของสหรัฐอเมริกา
--- ภารกิจการป้องปรามจีน ที่ล้มเหลว และ จะหวังพึ่งอเมริกาได้จริงหรือ ---
เหตุการณ์เรือ West Cappella ที่สหรัฐอเมริกาส่งกองเรือเข้ามายันจีนไว้นี้ ไม่ได้สร้างความพอใจให้กับมาเลเซียเท่าไหร่นัก โดย รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียได้กล่าวว่า "มาเลเซียมีพันธะสัญญาต่อการรักษาผลประโยชน์และสิทธิในทะเลจีนใต้" ...." แต่แนวโน้มของการเพิ่มความตึงเครียด อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค"
หางเสียงมาเลเซียก็ไม่ได้เห็นด้วยกับกองเรือสหรัฐที่เข้ามามากนัก ด้วยสิ่งที่เห็นคือ หมู่เรือของสหรัฐนั้น มาแสดงกำลังได้ไม่นานก็ขยับออกไปพร้อมๆ กับเรือของจีน โดยมีเรือ LCS จากสิงคโปร์มาลาดตระเวนแทนแต่ก็อยู่ไม่ได้ตลอด การโผล่เข้ามาของหมู่เรือสหรัฐ แบบไม่ประกาศให้รู้ และมาเลเซียก็ไม่ได้เชิญหรือร้องขอให้เข้ามานั้น มันเป็นการไปเชื้อเชิญให้จีน ส่งกำลังทางเรือมาเพิ่มและเพิ่มระดับของสถานการณ์ให้มากขึ้นเกินกว่าที่มาเลเซียจะสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าคนในรัฐบาลมาเลเซียหลายคนจะไม่พอใจการรุกล้ำของจีนและอยากให้มาเลเซียกับอเมริกามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากกว่านี้
การถอนตัวออกอย่างรวดเร็วของหมู่เรือสหรัฐ สะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐไม่สามารถที่จะธำรงกำลังไว้ได้นาน เมื่อเป็นเช่นนี้ การป้องปรามจีน จึงถือได้ว่า "ล้มเหลว" เพราะเกมส์ในทะเลจีนใต้เป็นเกมส์อึด สำหรับพันธมิตรในทะเลจีนใต้ของสหรัฐ คือชาติที่มีข้อพิพาทกับจีนทั้งหลาย ต้องการการ"ปรากฏตัว" หรือ "ดำรงอยู่" ของสหรัฐในภูมิภาค มากกว่าการ"โผล่เป็นครั้งคราว" รวมถึงต้องการมากกว่า "อำนาจการยิง" เสียด้วยซ้ำ ยิ่งความช่วยเหลือจากออสเตรเลียก็ดูจะเชิงสัญลักษณ์ซะมากกว่า ยิ่งฐานทัพเรือที่ออสเตรเลียอยู่ไกลจากทะเลจีนใต้มากกว่าญี่ปุ่นเสียอีก
Grahamเสนอในบทสรุปของเขาไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าชาติในASEAN ที่มีข้อพิพาทกับจีนทั้งหลาย และอยู่ในระยะยิงของจีน และต้องการให้กองทัพเรือสหรัฐอยู่ในทะเลจีนใต้ในแบบที่ยั่งยืนหรือได้ผลกว่าการแก้ปัญหาระยะสั้น แบบที่เคยเป็นมา จะต้องละทิ้งความต่าง แล้วหาจุดร่วมมือกันและหมุนเวียนกันรับภาระเป็นเจ้าภาพ (เป็นฐานทัพเรือนั่นแหละ) เหมือนกับที่สิงคโปร์ทำ ในฐานะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงในปัญหาทะเลจีนใต้นี้
---สรุป---
กรณีที่เกิดขึ้นและจบลงไปแล้วนี้ อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆไม่ใหญ่โตอะไร แต่สะท้อนภาพในแง่ยุทธศาสตร์ในทะเลจีนใต้ได้พอสมควร หลายๆท่านเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้อาจจะคิดว่า ข้อจำกัดหรือสิ่งที่สหรัฐอเมริกาแสดงตอนนี้ "อาจจะยังไม่เอาจริง" แต่ต้องไม่ลืมว่า ถ้าสหรัฐต้องการพันธมิตร ในการป้องปราม สกัดกั้นจีน สหรัฐจะต้องแสดงพันธะสัญญา แสดงการเตรียมการ ให้เห็นว่า เค้า"ใจถึงพึ่งได้" จริงๆ เพราะอิทธิพลจีนกำลังเพิ่มขึ้น หลังโรคระบาด อาจจะเพิ่มขึ้นอีก แม้แต่เหตุการณ์West Cappella นี้จบไปแล้ว แต่มาเลเองกำลังจะเซ็นข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานนอกชายฝั่งกับ "จีน" ด้วยซ้ำไป มิเช่นนั้นแล้ว บทพิสูจน์ครั้งนี้ในทะเลจีนใต้ แม้จะเล็กน้อย แต่มันก็ยังไม่"สำเร็จ"อยู่ดี
----
เอวัง
----
ที่มา
Lessons From the Malaysian-American-Chinese-Australian-Vietnamese Naval Standof, Euan Graham
https://amti.csis.org/chinese-survey-ship-escalates-three-way-standoff/ แหล่งข้อมูลนี้น่าสนใจมากครับ มีภาพถ่ายและคำอธิบายชัดเจนดี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา