6 พ.ค. 2020 เวลา 08:57 • บันเทิง
บทวิเคราะห์: ทำไมเกมเถ้าแก่น้อยถึงถูกลืม ? (Part2/2)
เกมเถ้าแก่น้อยประสบความสำเร็จในช่วงปี 2004-2010 ซึ่งส่งผลทำให้เกมนี้เป็นที่รู้จักในหมู่เด็กๆรุ่นเก่าเป็นจำนวนมากมาย แต่ทว่าพอมาถึงยุคบูมของสมาร์ทโฟนนับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2013 ถือได้ว่าเป็นปีที่สมาร์ทโฟนบูมถึงขีดสุด สามารถขายได้ทะลุ 1พันล้านเครื่องเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ถึงกระนั้นทางค่ายเกมกลับไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อยุคสมัยได้ เนื่องจากการเข้ามา Disruption ของสมาร์ทโฟน มันได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กยุคใหม่จากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อรวมกับปัญหาจากภายในที่สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนานนับตั้งแต่ยุคก่อนสมาร์ทโฟนบูม ทำให้สุดท้ายใน 3 ปีให้หลังทางค่ายเกม วิสต้า บิสซิเนส ก็ต้องยุติบทบาทลง ดังนั้นนับจากนี้เป็นต้นไปทุกท่านจะได้พบกับเรื่องราวปัญหาข้างต้นว่ามันส่งผลกระทบอย่างไรต่อเกมเถ้าแก่น้อยที่ครั้งหนึ่งเคยโด่งดังในหมู่เด็กๆ แต่ทำไมถึงถูกลืมเลือนหายไป จนสุดท้ายต้องยุติบทบาทลงในที่สุด
(สำหรับรายละเอียดว่าเกมเถ้าแก่น้อยประสบความสำเร็จได้อย่างไสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก Part 1 ตาม Link ด้านล่าง)
)
การบูมของสมาร์ทโฟนนั้นได้ Disruption พฤติกรรมของผู้บริโภคขนานใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เด็ก ๆเนื่องมาจากการเข้าถึงอุปกรณ์ที่มีความสามารถเหมือนคอมพิวเตอร์พกพาและสามารถเชื่อมต่อโลกอินเตอร์เน็ตได้อีกด้วย ทำให้การเล่นเกมของเด็กยุคใหม่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในเครื่องเล่นเกมคอนโซลหรือเครื่องเล่นเกมพกพาราคาแพงกับคอมพิวเตอร์อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากสมาร์ทโฟนถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในสายตาของบรรดาผู้ใหญ่ โดยสมาร์ทโฟนสามารถใช้ติดต่อสื่อสารกับเด็กๆได้ หรือ ใช้ประกอบการศึกษาผ่านAppได้ ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่ผู้ปกครองจะยอมควักเงินซื้อให้ หากเมื่อเทียบกับเครื่องเกมพกพาที่มีราคาพอๆกับสมาร์ทโฟนในรุ่นราคากลางๆประมาณ 7,000-8,000 บาท
ยิ่งไปกว่านั้นตลาดเกมมือถือเองก็บูมอยู่ก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว โดยนับตั้งแต่ปี 2009 (พ.ศ.2552) เป็นต้นมา หลังจากเกม Angry Bird ได้ถูกปล่อยให้เล่นในระบบ iOS มันก็ได้สร้างปรากฏการณ์เกมบนสมาร์ทโฟนขึ้นเนื่องจากระบบการเล่นที่มีความแปลกใหม่, มีความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบการเล่น และในขณะเดียวกันเกมก็สามารถเล่นได้โดยง่ายแม้แต่เด็กๆก็สามารถเข้าใจและเล่นได้ และในขณะเดียวกันเกมก็มีความลุ่มลึกและมีความท้าท้ายที่ยากจะเล่นให้เทพได้ภายในครั้งเดียว ซึ่งตัวระบบการเล่นของเกมนี้จะให้ผู้เล่นควบคุมนกโดยใช้หนังสติ๊กยิงพวกมันให้ลอยไปตกกระแทกทำลายสิ่งกีดขวางต่างๆเพื่อให้สิ่งของเหล่านั้นได้พังทลายลงมากำจัดหมูทุกตัวที่อยู่ในด่านเมื่อกำจัดหมูได้หมดทุกตัวก็ถือว่าเป็นอันจบด่าน ซึ่งความสนุกของเกมนี้อยู่ที่พลังความสามารถที่แตกต่างของนกในแต่ละตัวที่มีความเหมาะสมในการทำลายสิ่งกีดขวางที่แตกต่างในแต่ละสถานการณ์ เช่นนกสีฟ้ามีความสามารถในการแยกร่าง 3 ร่าง ทำให้มันเหมาะกับการเจาะทำลายป้อมปราการที่ทำมาจากแก้วได้เป็นอย่างดี และในขณะเดียวกันก็มีความท้าทายตรงที่เราจะต้องใช้นกให้น้อยที่สุดเพื่อกำจัดหมูทุกตัวซึ่งยิ่งน้อยเท่าไหร่ยิ่งได้คะแนนสูงมากเท่านั้น ส่งผลให้เกมนี้เป็นที่นิยมและเป็นที่น่าหลงใหลเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เด็กๆรุ่นใหม่จำนวนมากเนื่องจากคาแรคเตอร์ความน่ารักและความเท่ของเหล่านกขี้โมโหพวกนี้ จนทำให้พวกมันได้ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดออกมาเป็นสินค้า Merchandise จำนวนมากมายและถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์Animation ฉายทางโทรทัศน์ถึง 6 ซีรี่ย์และฉายโรงหนัง จำนวน 2 ภาค นับได้ว่าเกมนี้ได้เป็นผู้เปิดประตูโลกของเกมในสมาร์ทโฟนอย่างแท้จริง เพราะนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาได้มีเกมมือถือที่มีระบบการเล่นที่มีความแปลกใหม่ที่สนุกสนานและเข้าใจง่ายแถมยังมีความท้าท้ายอีกด้วย ซึ่งเกมเหล่านั้นได้เข้ามาบุกตลาดเป็นจำนวนมากได้แก่เกม Minecraft ,Candy crush ,Temple run , Subway Surfers , Cookie run และ Line Let’s get rich เป็นต้น
(ซ้ายสุด) Minecraft , (ซ้ายบน) Candy crush , (ซ้ายล่าง) Temple run , (ขวาบน) Subway Surfers , (ขวาล่าง) Cookie run และ (ขวาล่างสุด) Line Let’s get rich
ในขณะที่ตลาดเกมมือถือกำลังบูมถึงขีดสุดในช่วงปี2013 ทางค่ายเกมเถ้าแก่น้อยกลับทำตัวสวนกระแสตลาด โดยทางค่ายเกมทำเกมเถ้าแก่น้อยลงในคอมพิวเตอร์ถึง 10 ตอน ในขณะที่ลงในมือถือเพียงแค่4ตอนเท่านั้น แถมมันก็ยังเป็นแค่เพียงการนำเอาของเก่ามาขายใหม่อย่าง ตอนซูซิบอย ,พิซซ่าบอย,ไอศกรีมแสนอร่อย,และเจ้าของร้านเบเกอรี่ ยิ่งไปกว่านั้นทางค่ายเกมก็ยังมั่นใจในการตลาดแบบเก่าๆอยู่ การตลาดที่เน้นขายเกมในช่องทางออฟไลน์ อย่าง ร้านหนังสือชื่อดัง กับ 7 Eleven ถึงแม้จะมีช่องทางการขายเกมบนร้านค้าออนไลน์ที่กำลังมาแรง ณ ขณะนั้นอย่าง Steam ทางค่ายก็ไม่สนใจที่จะขยายไปยังช่องทางใหม่เลย
ถึงแม้ทางค่ายเกมเถ้าแก่น้อยจะมีการตลาดที่โบราณ ทางค่ายเกมก็ยังมีช่องทางบนโลกออนไลน์ อย่าง Facebook กับ YouTube ที่ใช้ติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภคและทำ Content ต่าง ๆ ลงอีกด้วย ถึงกระนั้นทางค่ายเกมเถ้าแก่น้อยกลับใช้งานไม่เป็นและไม่ใส่ใจหรือสนใจมันเท่าที่ควร
2
โดยในช่องทาง Facebook ทางค่ายเกมใช้มันทำหน้าที่เป็นสถานที่แจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆกับโปรโมชั่นเป็นหลัก ส่วน Content ที่สร้างความ Hype หรือสร้างกระแสความน่าสนใจให้กับตัวเกม เช่นทำไมเกมนี้ถึงน่าเล่น เป็นต้น ทางค่ายก็ไม่เคยทำเลย ถึงกระนั้นทางค่ายก็ยังมีการสร้าง Engagement contentที่ไม่เน้นขายของอยู่บ้างอย่างเช่น โพสต์โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับตัวเลข และโพสต์คำถามว่าคุณประทับใจเกมเถ้าแก่น้อยภาคไหนที่สุด เป็นต้น ถึงแม้ว่าช่องทางนี้จะมีคนใช้จำนวนมากสักแค่ไหนและต่อให้ทางค่ายเกมเถ้าแก่น้อยจะสร้าง Engagement content ที่ดีสักเพียงใด มันก็ยังไร้ประโยชน์อยู่ดี เนื่องจากทางค่ายเกมกลับไม่ได้ทำการตลาดเชิงรุกอย่างการยิง Ads เพื่อสร้างการรับรู้หรือความสนใจเป็นวงกว้างเลยแม้แต่น้อยเลยโดยทางค่ายเกมเน้นรอให้แฟนเพจมากดไลค์หรือตอบคำถามเพียงเท่านั้น สำหรับยุคที่เต็มไปด้วยข่าวสารและข้อมูลมากมายเช่นนี้ถือว่าทางค่ายเกมเหมือนกำลังเดินหลงทาง
ส่วน YouTube ทางค่ายก็ลงแค่วิดีโอ Intro เปิดตัวเกมเท่านั้น ไม่ได้มีการสร้าง Content ที่น่าสนใจใดๆทั้งสิ้นอาทิเช่น โชว์ระบบการเล่นเกมเพื่อสร้างความ Hype และ บอกเล่าStory เบื้องหลังการสร้างเกม เป็นต้น
จากการกระทำของค่ายเกมเถ้าแก่น้อยทั้งหมดล้วนแสดงให้เห็นถึงการทำการตลาดของค่ายเกมนี้ที่ไม่เน้นการทำการตลาดในเชิงรุกเลยแม้แต่น้อย โดยทางค่ายจะเน้นการตลาดในเชิงรับแบบค่อยๆเจริญเติบโตทีละช้าๆแบบปากต่อปากในหมู่เด็กๆมากกว่า แต่ทว่าเด็กรุ่นใหม่มีพฤติกรรมที่แตกต่างจากเด็กรุ่นเก่าตรงที่พวกเขามีสมาธิหรือความสนใจจดจ่ออยู่เกมใดหนึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นกว่าหรือไม่สนใจเกมที่พวกเขาไม่รู้จักเลยแม้แต่น้อย เนื่องมาจากปริมาณที่มากมหาศาลของเกมที่ออกใหม่ในแต่ละวัน ทำให้มันเป็นเรื่องยากที่จะให้พวกเขาโฟกัสที่เกมใดเกมหนึ่งเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อพวกเขาเบื่อก็จะเลิกเล่นเกมเก่าแล้วก็หันไปเล่นเกมใหม่ในทันที หากเมื่อเทียบกับเด็กรุ่นเก่าที่การเข้าถึงเกมยังคงถูกจำกัดไว้อยู่ ทำให้พวกเขาจำต้องเล่นเกมที่พวกเขามีอยู่เท่านั้น ส่งผลให้การตลาดตกยุคแบบนี้มันไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว จึงทำให้มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับแบรนด์เกมเถ้าแก่น้อยถ้าทางค่ายสนใจการทำการตลาดเชิงในรุกให้มากกว่านี้ อย่างเช่น การยิงโฆษณาทาง Facebook , การให้เหล่า Influencer ชื่อดังมาสร้าง Content ให้อย่างเช่นวิดีโอรีวิวหรือการแคสเกมเถ้าแก่น้อยเล่นบน YouTube และการต่อยอดแบรนด์เกมเถ้าแก่น้อยให้มันเป็นมากกว่าแค่เกม อย่างเช่นการออกสินค้า Merchandise ,การร่วมมือกับแบรนด์ขนมชื่อดังหรือแม้แต่การร่วมมือกับแบรนด์สาหร่ายทอดเถ้าแก่น้อยก็ตาม และการนำเกมเถ้าแก่น้อยไปสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนฉายบนทีวี เป็นต้น มันก็อาจทำให้เกมนี้โด่งดังและเป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจหมู่เด็กๆรุ่นใหม่ในวงกว้าง
ผลจากการที่ทางค่ายเกมเถ้าแก่น้อยทำเกมสวนกระแสตลาดรวมถึงการทำการตลาดแบบตกยุคนี้ ทำให้เกมเถ้าแก่น้อยในปี 2013 ไม่ประสบความสำเร็จตามที่บริษัทลงทุนและคาดหวังไว้ ทำให้อีก 1 ปีต่อมาบริษัทได้ออกเกมเถ้าแก่น้อยภาคสุดท้ายอย่าง ตอน Animal Resort โดยภาคนี้ถือได้ว่าเป็นภาคหลักสุดท้ายอย่างแท้จริงของเกมแฟรนไชส์นี้ หลังจากนั้นเป็นต้นมาทางบริษัทก็ไม่กล้าลงทุนสร้างเกมเถ้าแก่น้อยอีกเลย ถึงกระนั้นทางค่ายเกมก็ยังคงสร้างเกมอยู่ โดยมันเป็นเพียงแค่เกมสอนเด็กดาดๆทั่วไปที่แปะชื่อเถ้าแก่น้อยเพียงไม่กี่เกม ถึงแม้เกมเหล่านี้จะลงในสมาร์ทโฟนก็ตาม มันก็มิอาจสู้คู่แข่งที่มีความเข้มแข็งและมีความน่าสนใจมากกว่าได้ จนสุดท้ายทำให้ทางค่ายเกมเถ้าแก่น้อยจำต้องเลิกผลิตเกม แล้วหันไปทำโปรโมชั่นขายเกมเก่าๆบน Facebookไปวันๆ
จากปัญหาคู่แข่งที่มีความเข้มแข็งและจำนวนมากมาย จนไปถึงการทำตลาดที่ตกยุคของค่ายเกมเถ้าแก่น้อยนี้ มันได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาภายในซึ่งเป็นจุดอ่อนอันใหญ่หลวงของค่ายที่สะสมมานาน อย่างเรื่องการบริหารและตัวเกมเถ้าแก่น้อย
ในเรื่องการบริหารและจัดการของค่ายเกมเถ้าแก่น้อย ถือได้ว่าทางค่ายเกมนี้มีการบริหารที่ไม่ค่อยดีนักตั้งแต่แรกแล้ว โดยทางค่ายเกมเถ้าแก่น้อยมีทิศทางการบริหารที่เน้นการสร้างเกมที่มีความหลากหลากแนวเพื่อเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กให้ครบทุกกลุ่มตามความชอบของเด็กในแต่ละแนวเกม ซึ่งเกมเถ้าแก่น้อยก็เป็นหนึ่งในเกมที่ค่ายนี้สร้างออกมา โดยเกมนี้จะเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กที่มีความฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งปริมาณเกมที่ทางค่ายเกมนี้สร้างออกมามีมากมายซึ่งนี่ยังไม่รวมถึงจำนวนตอนของเกมเถ้าแก่น้อยที่ออกมาประมาณ7-10ตอนในช่วงยุคทองอีกด้วย อย่างเช่นในปี2006 ทางค่ายสร้างเกมเถ้าแก่น้อยถึง 13 ตอนในปีเดียวกัน ทำให้ในหนึ่งปีทางค่ายเกมผลิตเกมออกมาไม่ต่ำกว่า10-15เกมเป็นแน่ ซึ่งสำหรับค่ายเกมเล็กๆแล้ว นี่ถือได้ว่าเป็นปริมาณที่มากมาย เพราะปกติมีเพียงค่ายเกมยักษ์ใหญ่อย่าง SQURE-ENIX ,Ubisoft และ EA เป็นต้นที่จะทำได้ ส่งผลให้ทางค่ายเกมนี้ที่ปกติเป็นค่ายเล็กๆอยู่แล้ว ไม่มีเงินทุนมากพอที่จะนำมาใช้ในส่วนทำการตลาดมากนัก ถึงกระนั้นในโลกก่อนที่สมาร์ทโฟนจะบูม พลังของการตลาดเชิงรุกสำหรับตลาดเกมในประเทศไทยก็ยังคงไม่มีความจำเป็นมากนัก เพราะการเข้าถึงเกมก็ยังคงถูกจำกัดไว้อยู่ ทำให้เกมเถ้าแก่น้อยที่ได้รับแรงสนับสนุนจากกระแสจาก คุณ ต๊อบ เจ้าของแบรนด์สาหร่ายทอดเถ้าแก่น้อยก็ยังคงสามารถขายเกมได้อยู่ แต่ทว่าพอมาถึงยุคสมาร์ทโฟนบูม การบริหารแบบนี้ก็ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว เห็นได้จากการที่ในปี2013 ทางค่ายเกมเถ้าแก่น้อยก็ยังคงเน้นสร้างเกมลงบนคอมถึง10ตอน ในขณะที่สร้างลงบนมือถือเพียง4ตอนเท่านั้น ทำให้ในปีนั้นทางค่ายออกเกมเถ้าแก่น้อยมาถึง14 ตอนในทีเดียว ด้วยการที่ทางค่ายเกมก็ยังคงเน้นการสร้างเกมที่ปริมาณ โดยไม่โฟกัสไปที่คุณภาพสักเท่าไหร่ และไม่สนใจในการทำการตลาดในเชิงรุกอีกด้วย เพื่อต่อกรกับคู่แข่งที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆและมีทรัพยากรที่เหนือกว่า ผลที่ได้ก็คือทางค่ายเกมก็ต้องขาดทุนไปในที่สุด ทำให้อีก1ปีต่อมาทางค่ายเกมผลิตเกมเถ้าแก่น้อยภาคสุดท้ายออกมา1เกม ก่อนที่จะหันไปสร้างเกมสอนเด็กดาดๆทั่วไปในมือถือ และก็ทำโปรโมชั่นขายเกมเก่าๆไปวันๆ เพราะไม่มีเงินทุนมากพอที่จะผลิตเกมดีๆออกมาอีกแล้ว ซึ่งนี่ก็คือผลจากการบริหารที่ไร้ทิศทางและไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย
1
เกมจากค่าย Kairosoft
ภาพตัวอย่างจากเกม Game Dev story
สืบเนื่องมาจากการที่ทางค่ายเกมเถ้าแก่น้อยบริหารไม่ดี โดยทางค่ายเน้นสร้างเกมที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ เพราะทางค่ายต้องการขายเกมให้กับกลุ่มเด็ก ดังนั้นทำให้ทางค่ายจำต้องสร้างเกมที่มีระบบและรูปแบบการเล่นที่เด็กๆสามารถเข้าใจและเล่นได้ง่าย และสิ่งสำคัญที่สุดต้นทุนในการสร้างเกมจะต้องถูกที่สุดเพื่อให้เด็กสามารถจับต้องซื้อได้ ทำให้ค่ายเกมนี้สร้างทุกเกมโดยอินพื้นฐานมาจากโปรแกรม Flash ซึ่งมีขั้นตอนในการสร้างเกมที่ยุ่งยากน้อยกว่าและต้นทุนถูกกว่าการใช้ Game Engine (โปรแกรมสร้างเกม) ชื่อดังระดับโลก อย่างเช่น Unreal engine และ Unity เป็นต้น ส่งผลให้ทางค่ายเกมนี้สามารถใช้เวลาในการสร้างเกมน้อย,สามารถสร้างเกมออกมาได้ปริมาณมากแถมประหยัดต้นทุนอีกด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่ายนี้สามารถสร้างเกมออกมาได้หลากหลายแนวเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเด็กทุกกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตามถึงแม้เกมเถ้าแก่น้อยจะมีจำนวนตอนออกมามากมายแต่ทว่าระบบพื้นฐานของเกม ไม่จะเป็นกราฟิก และ รูปแบบการเล่น ทางค่ายกลับไม่ได้มีการพัฒนาให้มันดียิ่งขึ้นจนก้าวกระโดดเหมือน 4 ตอนที่ดีสุดอีกเลย โดยทุกภาคที่ตามหลังจาก 4 ตอนที่ดีที่สุดเป็นต้นมา ทางค่ายเกมก็แค่เปลี่ยนรูปแบบการเล่นให้สอดคล้องในแต่ละอาชีพเท่านั้น ส่วนเป้าหมายหลักของเกมกับระบบอัพเกรดและซื้อทรัพย์สินด้วยเงินก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้มีการพัฒนาต่อยอดให้มีความลุ่มลึกขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นทางค่ายเกมไม่เคยพัฒนาตอนเก่าๆที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นโดยการปล่อยภาคต่อออกมา แต่ในทางกลับกันทางค่ายเกมเถ้าแก่น้อยกลับสร้างเกมใหม่ที่เปลี่ยน Theme ไปเรื่อยๆ หรือทำเกม Spin off ที่หลุดจาก concept ความเป็นเกมสวมบทบาทเป็นเจ้าของธุรกิจแทน อย่างเช่น ตอนแข่งรถ ,ตอนอโยธยา, และ ตอน Magic Kingdom เป็นต้น ส่งผลให้เกมเถ้าแก่น้อยไม่สามารถสู้เกมแนวเดียวกันจากค่ายเกมต่างชาติได้เลย อย่างเช่นเกมค่าย Kairosoft ที่มีแนวทางการสร้างเกมที่เหมือนเกมเถ้าแก่น้อย โดยค่ายเกมนี้เน้นสร้างเกมแนวสวมบทบาทเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีระบบการเล่นที่มีความเรียบง่ายและไม่เน้นกราฟิกเหมือนทางค่ายเกมที่ผลิตเกมเถ้าแก่น้อย แต่สิ่งที่ค่ายเกม Kairosoft ทำได้เหนือกว่าค่ายเกมเถ้าแก่น้อยก็คือในเรื่องของความลุ่มลึกในแต่ละเกมซึ่งทางค่ายนี้ทำออกมาไว้ดีมาก โดยรูปแบบการเล่นของเกมค่าย Kairosoft มันจะไม่ตายตัวและเล่นง่ายไปเหมือนเกมเถ้าแก่น้อยที่แค่ขายของสะสมเงินไปเรื่อยๆก็สามารถอัพเกรดร้านได้และได้เงินมหาศาลแล้ว โดยที่ผู้เล่นไม่ต้องแบกรับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนที่ตายตัวอย่างการจ้างพนักงานหรือการฝึกฝนพนักงานให้เก่งขึ้น ต้นทุนแปรผันในการสร้างสิ่งของต่างๆ ต้นทุนในการทำการตลาดอย่างการโฆษณา จนไปถึงการลงทุนวิจัยพัฒนาสิ่งใหม่ๆเพื่อให้ร้านมีรายได้มากขึ้นจาก Productใหม่ๆ นี่ยังไม่รวมระบบอื่นๆที่สามารถสร้างสีสันและความสนุก ท้าทายให้กับเกมได้อีก อย่างระบบการได้รับรางวัลประจำปีของบริษัทจึงส่งผลให้บริษัทได้รับเงินรางวัลและชื่อเสียงมากขึ้นซึ่งทำให้สามารถขายของได้ดียิ่งขึ้น และ ระบบการจ้างตัวละครลับ ซึ่งตัวละครลับพวกนี้มี Skill ที่สูงกว่าตัวละครทั่วไปๆในเกม ทำให้เวลาผู้เล่นได้ตัวละครเหล่านี้มาแล้ว ก็จะทำให้ผู้เล่นสามารถเล่นเกมได้ง่ายขึ้น แต่ทว่าการได้ตัวละครเหล่านี้กลับมีเงื่อนไขในการปลดล็อคที่มีความท้าทาย อย่างเช่นผู้เล่นจำเป็นต้องได้รับรางวัลบริษัทยอดเยี่ยมเสียก่อนถึงจะปลดล็อคให้จ้างทำงานได้ นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ถึงแม้เกมเถ้าน้อยจะมีระบบการเล่นที่เคยเจ๋งและโดนใจเด็กในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ทว่าพอมาเจอคู่แข่งที่มีมากมายและมีระบบการเล่นที่เจ๋งกว่า ทำให้ไม่สามารถสู้ได้ จนสุดท้ายทำให้เกมเถ้าแก่น้อยต้องเจ๊งไม่เป็นท่าจนถูกเด็กยุคใหม่ที่ได้สัมผัสเกมที่เจ๋งกว่าลืมเลือนไปในที่สุด
1
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพโดย
เกมเถ้าแก่น้อย ตอนร้านค้ามหาสนุก
เกมเถ้าแก่น้อย ตอนซูซิบอย ,
เกมเถ้าแก่น้อย ตอน ไอศกรีมแสนอร่อย
โฆษณา