6 พ.ค. 2020 เวลา 15:35 • สุขภาพ
ร้อน vs เย็น สองจิตสองใจจะเลือกใครดี?
นักกายภาพบำบัดมีคำตอบค่ะ
นี่เป็นความรู้หนึ่งในหลายๆเรื่องที่มิวมองว่าเป็นพื้นฐานที่นักกีฬาควรทราบ โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพและนักกีฬาสมัครเล่นที่เริ่มจริงจังในด้านกีฬาที่มิวเคยได้สัมผัสมา
ทำไมต้องเกริ่นถึงนักกีฬา?
เนื่องจากนักกีฬาเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด หากจะให้พูดถึงข้อจำกัดและการบาดเจ็บที่จะนำไปสู่ปัญหาทางด้านอื่นๆตามมา
แล้วคนทั่วไปล่ะ?
หากทุกท่านที่ผ่านเข้ามาอ่านไม่ใช่นักกีฬา อยากให้ทุกท่านเปิดใจอ่านต่อ เพราะการบาดเจ็บเกิดขึ้นได้กับทุกคน และนี่คือแนวทางสรุปอย่างง่ายที่จะช่วยให้ทุกคนดูแลตัวเองได้เบื้องต้น ก่อนที่จะเข้าพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดค่ะ
ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการดูแลตัวเองเมื่อมีการบาดเจ็บจึงมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งความรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้ความร้อนและเย็นเป็นหนึ่งในนั้น
มิวจะขออนุญาตหยิบยกบทความที่ตัวมิวเองเคยสรุปเพื่อทำความเข้าใจกับนักกีฬาที่ดูแล รวมถึงผู้ปกครองของนักกีฬา มาทำความเข้าใจกับทุกคนพร้อมกันค่ะ
น้องๆนักกีฬาและผู้ปกครองหลายคนมีความสับสนในการเลือกใช้ความเย็นหรือความร้อนในการรักษาอาการต่างๆ โดยเราจะอธิบายง่ายๆคือ
1. ความร้อน (Hot)
- เราใช้ความร้อนในการรักษาอาการเจ็บปวดในกรณีของอาการปวดตึงที่ไม่ใช่เกิดจากการอักเสบหรือไม่ได้เป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นใหม่
อธิบายเพิ่มเติม
- ใช้ความร้อนประคบบริเวณส่วนที่เจ็บเพื่อให้ความร้อนทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่ตึง เกร็งหรือหดรั้งสามารถยืดได้ง่ายขึ้น ช่วยลดอาการเจ็บตึง
- ความร้อนจะเพิ่มการไหลเวียนเลือดและทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยายตัว ซึ่งช่วยให้ของเสียที่คั่งค้างเป็นสาเหตุหนึ่งของความเจ็บปวดถูกนำออกไป รวมถึงช่วยนำสารอาหารและออกซิเจนเข้าไปช่วยซ่อมสร้างเซลล์
2. ความเย็น (Cold)
- ใช้ในกรณีที่เป็นการอักเสบ หรือการบาดเจ็บใหม่คือมีอาการเจ็บเกิดภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก
อธิบายเพิ่มเติม
- อาการที่บ่งบอกถึงการอักเสบ ได้แก่ อาการปวด บวม แดงและร้อน
- ควรเลือกใช้ความเย็นในการรักษาจนกว่าการอักเสบจะลดหายหรือใช้ต่อเนื่องอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 48 ชั่วโมง ภายหลังการบาดเจ็บ
- ความเย็นจะช่วยลดอาการเจ็บและทำให้การไหลเวียนเลือดลดลงในบริเวณที่ประคบซึ่งทำให้ไม่บวมเพิ่มขึ้น
* การรักษาอื่นๆที่นักกีฬาและผู้ปกครองนิยมคือ การใช้ยาต้านการอักเสบ (anti inflammatory drugs) เช่น Ibuprofen,diclofenac สามารถช่วยลดอาการปวด ทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น แต่ขอไม่แนะนำให้ใช้ยาต้านอักเสบเป็นเวลานานเนื่องจากมีงานวิจัยหลายงานบ่งชี้แล้วว่ายาเหล่านี้จะลดความสามารถในการซ่อมแชมกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
* วิธีการที่ดีที่สุดที่แนะนำ และสามารถทำได้ด้วยตัวเองหากได้รับการบาดเจ็บหลังจากแข่งขัน คือ การใช้หลักการ POLICE (ซึ่งจะนำมาเล่าให้ฟังต่อไป)
* หากมีอาการที่รุนแรงหรือไม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อทำการตรวจร่างกาย วินิจฉัยอย่างละเอียดและแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ
ปิดท้ายด้วยการสรุปรวบยอด 📌
เป็นไงบ้างคะเพื่อนๆพี่ๆน้องๆชาว BD ทุกคน
หวังว่าทุกคนจะได้อะไรเพิ่มเติมจากบทความนี้ไม่มากก็น้อยนะคะ
สำหรับใครที่มีข้อสงสัย หรือ
อยากให้มิวนำเรื่องอะไรมารีวิว หรือ
อยากปรึกษาเกี่ยวกับการบาดเจ็บและการออกกำลังกาย
สามารถแจ้งมาได้เลยนะคะ มิวยินดี
🙏🏽🙏🏽🙏🏽🙏🏽🙏🏽🙏🏽🙏🏽🙏🏽
โฆษณา