8 พ.ค. 2020 เวลา 02:00 • การศึกษา
การอ่านสร้างปัญญา
ทำไมต้องอ่าน ไม่ใช่แค่ดูหรือฟัง
เคยมีคำถามว่าการฟังกับการอ่านต่างกันอย่างไร ใช้การดูสื่อวีดีโอหรือฟังpodcast แทนการอ่านหนังสือไม่ได้หรือ เพราะต่างก็เป็นที่มาของข้อมูลความรู้เหมือนกัน คำตอบคือ อาจจะพอแทนกันได้ แต่ไม่สมบูรณ์
เราลองสังเกตดูอย่างนี้ ถ้าเราไปดูภาพยนตร์แล้วนำมาเล่าให้เพื่อนฟัง เราแทบไม่ต้องคิดอะไรมาก ดูมาอย่างไรได้ยินได้ฟังมาอย่างไรก็เอามาเล่าต่อ อาจจะใช้เวลา 20 นาที หรือ 30 นาที ก็แล้วแต่ว่าเรื่องนั้นความยาวหรือมีความละเอียดซับซ้อนแค่ไหน
แต่ถ้าหากให้เราเขียนไปเล่าให้เพื่อนที่อยู่ต่างถิ่นอ่านเรื่องเดียวกัน เราอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน ๆ เลยทีเดียว ดังที่บางคนบอกว่าเขียนยาวแค่ 3 หน้า บางทีใช้เวลา 3 วันยังเขียนไม่เสร็จ เพราะในการเขียนเราต้องใช้เวลาเรียบเรียง ถ้าเป็นการพูดก็พูดได้ทันที คิดอะไรได้ก็พูดไป วกหน้าวนหลังบ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่พอเป็นการเขียน จะต้องมีการลำดับความคิด มีการกลั่นกรองคัดเลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม เพราะเรามีเวลาหยุดคิดมากกว่า เพื่อถ่ายทอดให้ตรงกับที่เราต้องการสื่อออกไปให้มากที่สุด เขียนเสร็จก็ตรวจทานได้อีกว่า ประเด็นครบหรือไม่ ตกหล่นอะไรไหม
การเขียนจึงใช้เวลามากกว่าการพูด
โดยสรุปคือ ข้อมูลที่ถูกถ่ายทอดเป็นตัวอักษร จะผ่านการกลั่นกรองพินิจพิจารณามาอย่างละเอียดรอบคอบมากกว่าข้อมูลจากการพูด นี้คือข้อสังเกตประการแรก
ประการต่อมาก็คือ ขอให้เราลองเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการรับสารจากการดูหรือการฟังเทียบกับการอ่านหนังสือ เราจะพบว่าแม้ข่าวสารนั้นจะมีเนื้อความคล้ายกัน แต่ในการดูหรือการฟัง ความละเมียดละไมในการไตร่ตรองพินิจพิจารณาของเราจะหย่อน เพราะเราเป็นผู้รับข้อมูล โดยกึ่งเหมือนถูกบังคับ ลองคิดดู เวลาเราดูสื่อเราย่อมไม่สามารถบอกเขาให้พูดช้าๆ หน่อย ให้แสดงช้าๆ หน่อยเพราะเราตามไม่ทัน ขอเวลาหยุดคิดก่อน ทำได้ไหม คำตอบคือ ทำไม่ได้ เราถูกบังคับให้รับข้อมูลเร็วช้าตามแต่เขาจะป้อนให้
แต่ถ้าเป็นการอ่านหนังสือนอกเหนือจากผู้ให้ข่าวสารแก่เรา เขาจะได้ไตร่ตรองพินิจพิจารณาเรียบเรียงข้อมูลอย่างดีแล้ว เราเองยังมีสิทธิหยุดคิดได้ จะอ่านเร็วก็ได้ จะอ่านซ้ำก็ได้ อ่านไปแล้วเกิดข้อคิดอะไรขึ้นมา เราก็สามารถหยุดอ่านชั่วคราว นั่งคิดตรึกตรองซัก 10 นาทีก็ทำได้ อยู่ที่เรา เราเป็นผู้กำหนดเองดังนั้นข้อมูลที่เราได้รับจะถูกย่อยอย่างดี และเป็นประโยชน์กับตัวเรามาก แม้หนังสือที่เป็นเรื่องแต่ง หากเขียนได้ดีก็มีแง่คิดที่น่าสนใจเป็นประโยชน์
ยิ่งหนังสือที่ออกเป็นเชิงวิชาการ ผู้เขียนเขาต้องเค้นความสามารถและสติปัญญาที่มีอยู่ทั้งหมดออกมาอย่างเต็มที่ กว่าจะได้หนังสือเล่มหนึ่งบางครั้งหมดเวลาไปหลายๆ ปีเลยที่เดียว ต้องค้นคว้าหาข้อมูล ขบคิดพิจารณามากมาย กว่าจะกลั่นผลึกความคิด ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรเป็นเล่ม
Cr : a day
ยิ่งหนังสือดี ๆ ที่ได้รับความนิยม ผู้เขียนมีสติปัญญามาก มีความสามารถมาก หนังสือเล่มนั้นย่อมเสมือนกลั่นเอาความคิดสติปัญญาระดับโลกมารวมบรรจุไว้ ถ้าเราได้อ่านและได้ไตร่ตรองอย่างดี ก็จะเป็นการย่นเวลาให้ตัวเองอย่างมหาศาลเลยทีเดียว แทนที่เราจะต้องมานั่งคิดทุกอย่างด้วยตัวเอง เราจะทำหน้าที่เป็นผู้รับข้อมูล กลั่นกรองพิจารณาแล้วก็เลือกรับนำมาใช้ในสิ่งที่ถูกต้อง เราจะได้ประสบการณ์อย่างดีเยี่ยมจากการอ่านหนังสือเหล่านี้
เราอ่านไปสิบเล่ม ก็เท่ากับเราไปคว้าสิ่งที่เป็นแก่นความคิดของผู้มีสติปัญญาสิบคน อ่านไปร้อยเล่มก็เท่ากับไปรับสติปัญญาของคนเป็นร้อยคน ยิ่งหากเราสามารถวิเคราะห์ไตร่ตรอง จนกระทั่งความรู้เหล่านั้นถูกหลอมรวมเข้ากับฐานข้อมูลเดิมในใจของเรา ตกผลึกเป็นข้อมูลหรือแนวทางให้เราใช้ในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ต่อไปได้ นับเป็นประโยชน์แก่เราอย่างยิ่ง
การอ่านจึงเป็นสิ่งที่ให้คุณค่ามหาศาล นิสัยรักการอ่านเมื่อเพาะขึ้นแล้ว ทำให้เรามีข้อมูลมากมาย ทั้งลึกซึ้งและกว้างขวาง ทั้งยังได้สั่งสมประสบการณ์ สั่งสมทัศนะในการวิเคราะห์ ไตร่ตรอง ขบคิดเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ทั้งแก่ตัวเราเองด้วยและแก่ลูกหลานของเราด้วย
เจริญพร
โฆษณา