7 พ.ค. 2020 เวลา 10:13
การแพทย์แผนไทยสมัยกรุงศรีฯ
ประวัติการแพทย์แผนไทย
การศึกษาเพื่อให้เห็นภาพการแพทย์ของคนไทยในสมัยโบราณนั้นอาจศึกษาได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการแพทย์ของราชสำนักหลักฐานเหล่านี้สะท้อนภาพรวมของการแพทย์ในแต่ละสมัยได้เป็นอย่างดี
สมัยอยุธยา
ช่วงก่อนสมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนต้นคือตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๑๗๙๒ ถึงราวพ.ศ. ๑๙๙๘ ไม่มีจารึก ตำรา หรือเอกสารโบราณเหลือตกทอดมาให้ได้ศึกษาเรียนรู้การแพทย์แผนไทยในสมัยนั้น อย่างไรก็ดีมีหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพในบางแง่มุมของการแพทย์ในราชสำนักสมัยอยุธยาตอนต้นคือทำเนียบศักดินา ใน “กฎหมายตราสามดวง” ที่ตราขึ้นใน พ.ศ. ๑๙๙๘ มีการระบุศักดินาของข้าราชการพลเรือนที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับโดยแบ่งเป็นกรมต่าง ๆ หลายกรม เช่น กรมแพทยา กรมหมอยา กรมหมอกุมาร กรมหมอนวด กรมหมอยาตา กรมหมอวรรณโรค โรงพระโอสถ แต่ละกรมมีเจ้ากรม และตำแหน่งข้าราชการระดับอื่น ๆ ที่มีศักดินาลดหลั่นกันไปดังปรากฏอยู่ในข้อความนี้
“…ออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดี อะไภยพิรียบรากรมพาหุ จางวางแพทยาโรงพระโอสถ นา ๒๐๐๐ พระศรีมโหสถ ราชแพทยาธิบดีศรีองครักษ เจ้ากรมแพทยาหน้า นา ๑๖๐๐ เจ้ากรมหมอนวด ซ้าย ขวา หลวงราชรักษา หลวงราโช นาคล ๑๖๐๐ ออกพระสิทธิสาร เจ้ากรมหมอยาซ้าย นา ๑๔๐๐…”
 
ทั้งนี้ตำแหน่ง “ออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดี อะไภยพิรียบรากรมพาหุ จางวางแพทยาโรงพระโอสถ” ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลโรงพระโอสถเป็นผู้ที่ถือศักดินาสูงสุดในบรรดาข้าราชการฝ่ายหมอหลวงแสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของแพทย์ปรุงยาซึ่งทำหน้าที่ทั้งเสาะหา รวบรวม และดูแลรักษาเครื่องยาสมุนไพรต่าง ๆ รวมทั้งการปรุงยาหลวงและประสานงานกับหมอในกรมอื่น ๆ นอกจากนี้กรมหมอนวดก็เป็นกรมที่มีความสำคัญด้วยเนื่องจาก “การนวด” เป็นการบำบัดโรคพื้นฐานในสมัยนั้น ในเรื่องนี้เดอ ลาลูแบร์ (de la Loube`re) ราชทูตชาวฝรั่งเศสซึ่งเดินทางมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในสมัยอยุธยาได้บันทึกไว้ว่า
“…ในกรุงสยามนั้นถ้าใครป่วยไข้ลงก็จะเริ่มทำให้เส้นสายยืด โดยให้ผู้ชำนาญการในทางนี้ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้และใช้เท้าเหยียบทๆ…”
ในสมัยอยุธยาตอนปลายมีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นภูมิปัญญาทางด้านการแพทย์ของบรรพบุรุษไทยคือ “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ตำรานี้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้อย่างเกือบสมบูรณ์จะมีคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ในการคัดลอกชื่อสมุนไพรหรือคำราชาศัพท์บางคำผิดเพี้ยนไปบ้างเท่านั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระวินิจฉัยว่าตำรานี้น่าจะรวบ รวมขึ้นในราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระหรืออย่างช้าก็ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโดยสรุปหลักวิชาการแพทย์แผนไทยในยุคนั้นไว้อย่างสั้น ๆ แต่ได้ใจความยิ่ง ภาษาที่ใช้ก็ไพเราะสละสลวยใช้การอุปมาอุปไมยอันทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่ายดังข้อความที่คัดมาดังนี้
“….อยํ กาโย อันว่ากายเราท่านทั้งหลายนี้เหตุธาตุทั้ง ๔ เป็นที่ตั้งแห่งกายแลอายุถ้าธาตุทั้ง ๔ มิได้บริบูรณ์เมื่อใด สมุฏฐานก็จะแปรไปให้กำเนิดแก่โรคเมื่อนั้นเวชโชอันว่าแพทย์ผู้พยาบาลไข้สืบไปเมื่อน่าจงพิจารณาให้แจ้งไปในปฐมธาตุทั้งหลายอันจะแปรปรวนพิการกำเริบตามฤดูเดือนวันเวลาอายุที่อยู่ที่เกิดก่อนจึงจะรู้กำเนิดไข้แล้วให้รู้สรรพคุณยาเเลรศยา ทั้ง ๙ ประการก่อนจึงประกอบยา วางยา ถ้าวางยาชอบโรค ๆ นั้นกลัวยาดุจกาเห็นธนู ถ้ามิดังนั้นดุจดังหมู่เนื้อเห็นพระยาไกรสรสีหราชก็จะปลาศหนีไปโดยเร็ว ถ้าดูโรคมิถูกวางยาผิดดังอสรพิศม์อันบุคคลเอาไม้ไปรันลงที่ขนดหาง โรคคือโทโสจะกำเริบขึ้นกลมทั่วสรรพางค์กาย มรณํ อันว่าความตาย ภวิสสติ ก็จะมี ทุวํ แท้จริงถ้าไข้ในคิมหันต์ โลหิตมีกำลังวสันต์ วาโยมีกำลังเหมันต์ เสมหะมีกำลัง กล่าวไว้ดังนี้พอประมาณวิตถารแจ้งอยู่ในฤดู ๖ คัมภีร์มหาโชติรัตแลโรคนิทานนั้นแล้ว”
จากตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้เองทำให้เรารู้ว่ามีคัมภีร์อย่างน้อย ๒ เล่ม คือ คัมภีร์มหาโชติรัต (ตำราเกี่ยวกับโรคสตรี) และคัมภีร์โรคนิทาน (ตำราเกี่ยวกับเรื่องราวของโรค) มีใช้กันอยู่แล้วอย่างน้อยก็ในสมัยอยุธยาตอนปลายและคัมภีร์ทั้ง ๒ เล่มนี้ ยังคงเป็นตำราการแพทย์แผนไทยโบราณที่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยใช้ศึกษากันในปัจจุบัน
กฎหมายตราสามดวง
ทำเนียบศักดินาของกรมหมอนวดใน “กฎหมายตราสามดวง”
ตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้แบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วนคือ ส่วนที่ ๑ ว่าด้วยความผิดปกติของธาตุทั้ง ๔ และยาแก้ ส่วนที่ ๒ ว่าด้วยตำรับยาที่มีชื่อเรียก และส่วนที่ ๓ ว่าด้วยตำรับยาน้ำมันและยาขี้ผึ้ง มีตำรับยาบันทึกไว้ทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๘๑ ตำรับ บางตำรับระบุชื่อแพทย์ผู้ประกอบยาตลอดจนวันเดือนปีที่ปรุงยาถวายซึ่งทั้งหมดเป็นยาที่ปรุงถวายในช่วงปีที่ ๓ ถึงปีที่ ๕ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๒๐๒ – ๒๒๐๔) ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือมีการระบุชื่อแพทย์ที่ประกอบยาถวาย ๙ คน ในจำนวนนี้เป็นหมอชาวต่างชาติ ๔ คน คือ หมอจีน ๑ คน (ขุนประสิทธิโอสถจีน) หมอแขก ๑ คน (ออกประสิทธิสารพราหมณ์เทศ) และหมอฝรั่ง ๒ คน (พระแพทย์โอสถฝรั่ง และเมสีหมอฝรั่ง) แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลวัฒนธรรมทางการแพทย์ของต่างประเทศที่เข้ามามีบทบาทและผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยมีการใช้เครื่องยาเทศในยาเกือบทุกตำรับที่บันทึกไว้ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ เช่น โกฐต่าง ๆ เทียนต่าง ๆ โหราต่าง ๆ ชะมดเชียง โกฐสอเทศ น้ำดอกไม้เทศ ยิงสม (โสม) อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่รู้จักเลือกใช้เครื่องยาดีของต่างประเทศประยุกต์เข้ากับของพื้นบ้านที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น เช่น ยาขนานที่ ๔๓ ชื่อ “ยาทิพกาศ” เป็นยาเจริญอาหาร บำรุงธาตุ แก้ตกเลือดตกหนอง ตำราบันทึกยาขนานนี้ไว้ดังนี้
เครื่องยาของ “ยาทิพกาศ” ซึ่งเป็นยาช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ แก้ตกเลือดตกหนอง
“….ยาทิพกาศ ให้เอายาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร ๔ ส่วน ฝิ่น ๘ ส่วน ใบกัญชา ๑๖ ส่วน สุราเป็นกระสาย บดทำแท่ง น้ำกระสายใช้ให้ชอบโรคร้อนแลเย็น กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสายกินเข้ามิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแลฯ….”
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ยาทิพกาศขนานนี้เข้าเครื่องยา ๙ สิ่ง เป็นของพื้นบ้านไทย ๕ สิ่ง ได้แก่ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน ฝิ่น และใบกัญชา เข้าตัวยาเทศ ๔ สิ่ง ได้แก่ ยาดำ เทียนดำ การบูร และพิมเสน ตัวยาเทศทั้ง ๔ สิ่งนี้เป็นของต่างชาติที่แพทย์ไทยโบราณนำมาผสมผสานในตำรับยาไทย ยาดำ (aloe) ได้มาจากทวีปแอฟริกา เทียนดำ (black cumin) มาจากอินเดียและเปอร์เซีย การบูร (camphor) มาจากญี่ปุ่นและแถบชายฝั่งตะวันออกของจีน และพิมเสน (Borneo camphor) ได้มาจากรัฐตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย
เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์อีกทั้งตำราสรรพวิชาถูกทำลายหรือไม่ก็สูญหายไปมาก ผู้ทรงความรู้จำนวนมากหากไม่ล้มหายตายจากไปก็หนีภัยสงครามหรือถูกจับเป็นเชลยศึก แม้ภายหลังการกอบกู้เอกราชและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. ๒๓๑๐ – ๒๓๒๕) หรือกระทั่งในช่วงต้นของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีก็ยังไม่สามารถฟื้นฟูการแพทย์แผนไทยขึ้นมาใหม่ให้รุ่งเรืองเทียบเท่าครั้งกรุงศรีอยุธยาได้
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โฆษณา