Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วันละโรค
•
ติดตาม
7 พ.ค. 2020 เวลา 11:16 • สุขภาพ
มาแล้วววววว ตอนที่ 2.3 ยาแก้ปวดค่ะ ใครกินอยู่รีบมาอ่านกันเลยนะคะ
ความเจ็บปวด หรือ Pain (อ่านว่า เพน) ทางการแพทย์ว่ากันว่า มันคือประสบการณ์ที่ไม่สบาย ทั้งด้านความรู้สึกและอารมณ์ ซึ่งเกิดร่วมกับการทำลาย หรือสิ่งที่อาจจะทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะปวดหัว ปวดตัว หรือปวดใจ ก็ส่งผลให้เกิดสิ่งที่เราทุกคนเรียกว่า ความเจ็บปวด
(ได้แต่ยินยอมรับความเจ็บปวด~ และฉันจะอดทน แม้แทบขาดใจ ไม่อาจจะวิ่งหนีความจริงที่มันโหดร้าย~)
แต่
ปวดใจมันรักษายากอยู่นะคะ นอกจากต้องยอมรับมัน//อินเสิร์ท เสียงพี่มี่
เพราะฉะนั้นเราจะมาพูดถึงเรื่องปวดกายกันค่ะ
วิธีการแบ่งความปวดง่ายที่สุด คือแบ่งตามระยะเวลาค่ะ “โดยตัดกันที่ 3 เดือน” จะได้เป็น
1. ปวดน้อยกว่า 3 เดือน เรียกว่า “ปวดฉับพลัน” (Acute pain : คำว่า Acute (อะ-คิ้ว) เป็นคำที่ได้ยินบ่อยมากทางการแพทย์ แปลว่า ฉับพลัน เร่งด่วน ฉุกเฉิน หรือจะแปลทำนองว่าเพิ่งเป็นมาไม่นานก็ได้ค่ะ แล้วแต่บริบทว่าใช้บรรยายอะไร) จริง ๆ แล้วหลายคนอาจจะคิดในใจว่า เห้ย ! ปวดมาตั้งนานตั้ง 3 เดือนยังจะหาว่าปวดแปบเดียวอีกเหรอ คำตอบคือใช่ค่า เพราะว่ามันมีอาการปวดที่นานกว่า 3 เดือนด้วย ซึ่งแนวทางรักษาก็จะต่างกัน (ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโรคต้นเหตุด้วยนะคะ)
2. ปวดมากกว่า 3 เดือน เรียกว่า “ปวดเรื้อรัง” (Chronic pain : คำว่า Chronic (โคร-นิก) ก็มาเป็นคู่กับ Acute (อะ-คิ้ว) นั่นแหละค่า พบได้บ่อยมาก ๆ เหมือนกัน แปลว่าเรื้อรัง เป็นมานาน ๆ ไม่หายสักที ทำนองนี้ค่ะ)
3. และอย่างที่ 3 นะคะ ไม่ได้แบ่งตามเวลา แต่เป็นการปวดแบบพิเศ้ษ~ พิเศษ เรียกว่า “ปวดมะเร็ง” ค่ะ (Cancer pain : Cancer(แคน-เซ่อ) แปลว่า มะเร็งค่ะ) เป็นการปวดที่ทรมานที่สุด ปวดแบบที่ไม่สามารถบรรยายด้วยคำ หรืออาการใด ๆ ได้เลย ก็เลยแยกประเภทออกมาค่ะ
ถึงตอนนี้ทุกคนคงสงสัยว่าทำไมต้องแบ่งที่ 3 เดือน ใช้ 3 อาทิตย์ 3 วันไม่ได้หรอ
คำตอบก็คือ 3 เดือนเป็นระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาอาการบาดเจ็บค่ะ ปกติถ้าสมมติไปวิ่งมาปวดขา ขาก็จะหายปวดสนิทประมาณ 1-2 สัปดาห์ใช่ไหมคะ เช่นเดียวกันระยะเวลา 3 เดือนคือระยะเวลาที่มากที่สุดที่แผลหรือบริเวณที่ปวดควรจะหาย และเลิกปวดได้แล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าเกิน 3 เดินแล้วยังปวดอยู่แสดงว่ามันต้องผิดปกติสักอย่างแน่ ๆ
แต่ความเจ็บปวดไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไปค่ะ
ปวดฉับพลัน : เป็นปวดที่คอยเตือนร่างกายว่า ร่างกายส่วนนี้อวัยวะส่วนนี้มีบางอย่างผิดปกตินะ เป็นหนึ่งในกลไกป้องกันของร่างกาย ลองจินตนาการดูซิค่ะ ถ้าเป็นคนที่ไม่ปวดไส้ติ่งตอนไส้ติ่งอักเสบเลย ก็คงไม่มาโรงพยาบาล ทีนี้ไส้ติ่งก็จะแตก รู้ตัวอีกทีคืออาการหนักละค่ะ อันตรายมาก ๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอาการปวดฉับพลันเป็นสัญญาณเตือนว่ามีบางอย่างผิดปกติ ส่วนใหญ่พอมาโรงพยาบาลหมอก็จะหาสาเหตุที่ทำให้ปวด แล้วรักษา ไม่ได้เน้นให้ยาแก้ปวดเพื่อรักษา (การให้ยาแก้ปวดให้เพื่อบรรเทาอาการ ไม่ให้ทรมานมากเท่านั้น)
และข่าวดีค่ะ ปวดฉับพลัน เป็นปวดที่จะหายไป (หายแบบสนิทเลย) ถ้ารักษาสาเหตุให้หายได้แล้ว
เช่น ปวดไส้ติ่ง ไปผ่าออกรอแผลหายก็ไม่ปวดอีกแล้วค่ะ
แต่สำหรับปวดแบบเรื้อรัง มันไม่หายไปนี่สิคะ การปวดนาน ๆ ขนาดนี้มักเป็นโรคข้ออักเสบ ข้อเข่าเสื่อม ปวด ๆ หายๆ แต่ไม่หายสนิทสักที โรคกลุ่มนี้จะใช้ยาแก้ปวดมาช่วยบรรเทาอาการค่ะ (ย้ำ! ยาแก้ปวดแค่บรรเทาอาการไม่ได้รักษาโรคให้หายสนิทนะคะ)
ส่วนปวดมะเร็ง คือที่สุดของความปวด ยาแก้ปวดธรรมดาเอาไม่อยู่ ยังไงก็ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ
รู้จักความเจ็บปวดกันมาพอสมควรแล้ว (ฟังดูเศร้าจัง) คราวนี้เรามารู้จัก “ยาแก้ปวด” แต่ละตัวกันนะคะ
ต้องขออธิบายก่อนว่าเวลาเลือกกินยาแก้ปวด เราจะใช้เป็นลำดับขั้นไปเรื่อยๆ ไม่ควรข้ามเด็ดขาดยกเว้นแพทย์สั่งนะคะ เพราะว่ายาที่มีประสิทธิภาพในการระงับความเจ็บปวดที่มากขึ้นก็มาคู่กับผลข้างเคียงที่เยอะและน่ากลัวมากขึ้นด้วยเช่นกันค่ะ !! (เหมือนที่เค้าบอกว่าคนน่ารักมักใจร้ายรึเปล่าคะ 55)
ยาตัวแรกนะคะ ทุกคนรู้จักกันมาหลายครั้งแล้ว นั่นก็คือ ตัวยาพาราเซตามอล ค่ะ เป็นยาที่อาจจะมีความแรงน้อยที่สุดแต่ว่าปลอดภัยมากที่สุดเช่นกัน เรียกว่าเป็นพระเอกของวงการที่แท้จริง ความเป็นพิษของยาชนิดนี้ขึ้นกับขนาดยาค่ะ ถ้าเราไม่กินยาเกินกว่าขนาดที่เหมาะสม ก็ปลอดภัยหายห่วงค่ะ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ก็ใช้พาราเซตามอลกันก่อนนะคะทุกคน! (ถ้าใครที่กินแล้วมีอาการข้างเคียงแปลกๆล่ะก็ ต้องไปลองพบแพทย์นะคะ)
ขนาดและวิธีการใช้ที่เหมาะสม เราพูดกันไปแล้วในตอนเก่านะคะ ใครพลาดไปสามารถติดตามได้ที่ลิ้งนี้เลยค่า
https://www.facebook.com/onelarok/photos/a.126594935658700/127585245559669/?type=3
ยาตัวถัดมาที่จะใช้เมื่อพระเอก(พาราเซตามอล)ของเราเอาไม่อยู่นะคะ ก็คือ NSAIDs ค่ะ ได้ยินกันมาซ้ำๆหลายครั้งอีกแล้วเข่นกัน ยากลุ่มนี้ถึงแม้จะมีประสิทธิภาพในการแก้ปวดมากกว่า แต่ว่าผลข้างเคียงก็เยอะและน่ากลัวมากกว่า(มากกว่ามากด้วยค่ะ)เช่นกัน ที่สำคัญก็คือ หลายๆคนมักจะมองข้ามพาราเซตามอลไปตั้งแต่แรก เพราะคิดว่าคงเอาไม่อยู่ ก็เลยข้ามาใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs เลย ผิดนะคะ ผิด ผิด ผิด ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยากลุ่มนี้นะคะ ผลข้างเคียงเยอะมากจนนับไม่ไหว เลือดออกในกระเพาะอาหาร เส้นเลือดในสมองอุดตัน ความดันขึ้น โอ๊ยย เตือนแล้วน้าาา!
สำหรับใครที่อยากศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่จะไปปรึกษาเภสัชกร/แพทย์ สามารถลองอ่านได้ที่เว็บนี้ค่า
http://mutualselfcare.org/medicine/medicative/NSAIDs.aspx?M=k&G=p
(เว็บไซต์ดีมากเลยค่ะ มีข้อมูลเกี่ยวกับยาชนิดแบ่งไว้ให้ตามประเภทเรียบร้อยเลย)
ยากลุ่มสุดท้ายร้ายที่สุด ก็คือ ยากลุ่ม opioid(อ่านว่า โอ-ปิ-ออย) เป็นยาที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางโดยตรง ส่งผลหลายอย่าง จึงเอามาใช้หลากหลาย เช่น เอาไปผสมเป็นยาแก้ไอเนื่องจากยาไปกดศูนย์ควบคุมการไอ หรือเอามาใช้ระงับอาการปวดเช่นมอร์ฟีน ซึ่งการกดระบบประสาทก็ทำให้มีผลข้างเคียงตามมาหลายอย่าง ที่อันตรายที่สุดก็คือการติดยา ยากลุ่มนี้จึงต้องสั่งโดยแพทย์เท่านั้นและมักไม่ใช่ยาตัวแรกที่คุณหมอจะเลือกใช้ด้วยค่ะ (ก็พระเอกชื่อพาราเซตามอลนี่คะเรื่องนี้) ยากลุ่มนี้มักจะเก็บไว้ใช้กับความปวดที่รุนแรงมากๆเช่นความเจ็บปวดจากมะเร็งค่ะ
เอาล่ะค่ะ รู้จักกันไปหลายตัวเลย เรามาสรุปสั้นๆให้ได้ใจความกันดีกว่าว่า ปวดมากคิดอะไรไม่ออก กินพาราเซตามอลเป็นตัวแรกนะคะ ถ้าเอาไม่อยู่ก็ไปพบเภสัชกรหรือแพทย์เลยจะปลอดภัยที่สุดค่า
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย