8 พ.ค. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา โมเดลธุรกิจของ Xiaomi ที่ทำให้มีสินค้าเยอะและเร็ว
Xiaomi ก่อตั้งบริษัทมาเพียง 10 ปี
แต่ขายสินค้าเทคโนโลยีตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ
สินค้าเหล่านี้ก็ยังมีเอกลักษณ์ร่วมกันก็คือ ดีไซน์เรียบง่าย คุณภาพดี ราคาถูก
แต่รู้หรือไม่ว่าสินค้าเหล่านี้ Xiaomi ไม่ได้เป็นผู้คิดค้น และผลิตเองทั้งหมด
แล้วเคล็บลับการเป็นเจ้าของสินค้า
ครอบจักรวาลของ Xiaomi คืออะไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
สินค้าภายใต้แบรนด์ Xiaomi แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ก็คือ
1. สินค้าที่ Xiaomi เป็นคนผลิตเอง เช่น สมาร์ตโฟน แล็ปท็อป สายรัดข้อมืออัจฉริยะ
2. สินค้าที่ Xiaomi ไม่ได้ผลิตเอง แต่มีคนอื่นผลิตให้
1
ซึ่งสินค้าประเภทหลังนี้
ถูกผลิตโดย Xiaomi Ecological Chain Companies
หรือ กลุ่มบริษัทในระบบนิเวศของ Xiaomi
แล้วกลุ่มบริษัทนี้ คือใคร?
จริงๆ แล้ว กลุ่มบริษัทเหล่านี้ก็คือ พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ
ที่ Xiaomi จะเข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทตั้งแต่ยังเป็นสตาร์ตอัป
เพื่อให้เงินทุนบริษัทเหล่านี้ไปวิจัยและพัฒนานวัตกรรม
เงื่อนไขก็คือ สินค้าที่อยากเข้าร่วมเป็นหนึ่งในแบรนด์ Xiaomi
จะต้องผ่านมาตรฐานของ Xiaomi Model ทั้งด้านการดีไซน์ คุณภาพ
และรองรับการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันของ Xiaomi
1
หลังจากนั้น Xiaomi ก็จะดูแลเรื่องระบบการขนส่งสินค้าทั้งหมด
ตั้งแต่หน้าร้านที่ Mi Store แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Xiaomi Youpin
รวมไปถึงบริการหลังการขาย
เรามาดูตัวอย่างบริษัทที่ Xiaomi เข้าไปลงทุน และสัดส่วนการลงทุน
Huami ผู้ผลิตนาฬิกาอัจฉริยะ Xiaomi เข้าไปถือหุ้น 40%
Yunmi ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า Xiaomi เข้าไปถือหุ้น 40%
Roborock ผู้ผลิตหุ่นยนต์ทำความสะอาด Xiaomi เข้าไปถือหุ้น 32%
จากตรงนี้ สะท้อนให้เห็นได้ว่า Xiaomi มีกลยุทธ์ที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท
มากกว่าการรับจ้างผลิต (OEM)
ข้อดีของการทำแบบนี้ก็คือ
บริษัทสามารถมี Synergy ระหว่างกัน
แลกเปลี่ยนข้อมูลทางนวัตกรรมได้ตลอดเวลา
นั่นเท่ากับว่า ยิ่ง Xiaomi มีพาร์ตเนอร์ในระบบนิเวศมากเท่าไร
ความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรมสินค้าของ Xiaomi ก็จะยิ่งมากเท่านั้น
ซึ่งนอกจากเรื่องของนวัตกรรมแล้ว
การที่ Xiaomi เข้าไปลงทุนตั้งแต่บริษัทยังอยู่ในขั้นสตาร์ตอัป
ยังมีอีกหนึ่งข้อดีนั่นก็คือ หากบริษัทที่เข้าไปร่วมลงทุน
สามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้
มูลค่าทรัพย์สินที่ Xiaomi เข้าไปลงทุนก็มีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน
รู้หรือไม่ว่า จนถึงตอนนี้ Xiaomi ได้ร่วมลงทุนในบริษัทเหล่านี้ไปร่วม 100 บริษัทแล้ว..
แล้ว Xiaomi ไปหาบริษัทเหล่านี้มาจากไหนได้บ้าง?
นอกจากช่องทางการระดมทุนปกติแล้ว Xiaomi ยังมีแพลตฟอร์ม
ระดมทุน Crowdfunding บนอีคอมเมิร์ซ Xiaomi Youpin ของตัวเอง
แพลตฟอร์มดังกล่าวเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยบริษัทสตาร์ตอัปที่มีไอเดีย
แต่ยังอยู่ในระหว่างการทำวิจัย พัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยี
สามารถนำเสนอไอเดีย และเปิดพรีออเดอร์สินค้าเพื่อระดมทุนได้ล่วงหน้า
ยกตัวอย่างสินค้าจาก Xiaomi ระดมทุน เช่น
ตู้ปลาอัจฉริยะป้อนอาหารปลา AI
Cr. China secret shopping deals and coupons
โคมไฟอัจฉริยะฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสี UVC
รถยนต์ SUV อัจฉริยะระบบ AI
Cr. CarNewsChina
จากตรงนี้ ก็ไม่แปลกใจแล้วว่าทำไม
สินค้าภายใต้แบรนด์ Xiaomi แต่ละชิ้น
นอกจากจะมีดีไซน์การออกแบบที่ใกล้เคียงกันแล้ว
ยังมีความล้ำในตัวมันเองชนิดที่หาแบรนด์อื่นมาเปรียบเทียบได้ยาก
เคล็ดลับก็คือ Xiaomi เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มระดมทุน
ซึ่งมีหลายคนมาแข่งกันเสนอไอเดียบนระบบของ Xiaomi
สิ่งที่ตามมาก็คือ Xiaomi สามารถประเมินได้ว่าสินค้าไหนจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูง
และผู้ผลิตสินค้านั้นก็อาจกลายไปเป็นหนึ่งในระบบนิเวศของ Xiaomi ได้ในอนาคต
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้
เราจะเห็นโมเดลของ Xiaomi ที่ทำให้ Xiaomi กลายมาเป็นเจ้าของสินค้านวัตกรรมระดับโลกมากมายในระยะเวลาเพียง 10 ปี โดยที่บริษัทไม่ได้ผลิตสินค้าด้วยตัวเองทั้งหมด
เรียกได้ว่า สิ่งที่เหนือกว่า นวัตกรรมสินค้าทั้งหมดของ Xiaomi
ก็คือ โมเดลธุรกิจของ Xiaomi เอง..
โฆษณา