7 พ.ค. 2020 เวลา 15:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โรคจุดขาว
1
พิษร้ายของคนเลี้ยงปลา
อากาศเปลี่ยนทำให้ปลาอ่อนแอลง เชื้อโรคก็เล่นงานปลาที่เราเลี้ยงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โรคจุดขาวเกิดจากเชื้อโรคที่มีชื่อว่า “Ichthyophthirius Multifiliis (Ich หรือ อิ๊ค)” ซึ่งอาการของโรคนี้จะสังเกตุได้ง่าย ๆ โดยปลาที่เป็นโรคนี้จะมีจุดสีขาว ๆ ซึ่งมีขนาดประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่บริเวณตามครีบและลำตัว
โดยจุดบางจุดอาจจะขึ้นติดกันจนมีลักษณะเป็นแถบสีขาวขนาดใหญ่ ปลาที่เป็นโรคจุดขาวหรืออิ๊คในช่วงเริ่มแรกจะสามารถสังเกตุได้จากการที่ปลามีอาการซึมลงและแถวบริเวณครีบและหางจะหุบอยู่ตลอดเวลา ลักษณะการว่ายจะแกว่งลำตัวไปมาและพยายามจะถูลำตัวกับพื้นตู้ ก้อนหินหรือต้นไม้น้ำ เพื่อให้จุดขาวเหล่านี้หลุดออกไป
ต่อมาปลาจะเริ่มไม่ยอมกินอาหาร ปลาบางชนิดจะลอยคอขึ้นมาอยู่บนผิวน้ำหรือบางตัวจะซุกตัวอยู่ตามมุมตู้หรือมุมบ่ออยู่นิ่ง ๆ ในกรณีปลาบางตัวอาการหนักมากจะส่งผลให้ปลามีอาการหายใจแรงและบางตัวอาจหยุดกินอาหารไปเลย
เชื้อโรคชนิดนี้มีวงจรชีวิตแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน
1. ช่วงติดเชื้อหรือเริ่มติดเชื้อ
2. ช่วงเชื้อโตเต็มวัยหรือช่วงแตกตัว (Trophozoite)
3. ช่วงตั้งไข่ (Cyst)
4. ช่วงตัวอ่อน (Tomite)
โดยเริ่มแรกเชื้อจะติดเข้ามากับน้ำที่สกปรก หรือปลาที่เรานำมาเลี้ยงเพิ่มใหม่ เมื่อเชื้อโรคโตเต็มวัยจะแทรกซึมอยู่ตามผิวหนังของปลาและไปรบกวนระบบอวัยวะต่าง ๆ บนตัวปลา นอกจากนั้นแผลที่เกิดจากการแทรกซึมของเชื้อชนิดนี้ เป็นจุดที่ทำให้เกิดการติดเชื้ออื่น ๆ เพิ่มเข้ามาอีกด้วย
2
หลังจากโตเต็มวัยก็จะทำการแตกตัวออกมาเป็นช่วงที่เรียกว่า Trophozoite และพัฒนาเป็นช่วงต่อไปซึ่งเรียกว่า Cyst ช่วงนี้เองเชื้อโรคจะทำการปล่อย Tomite ออกมา โดย Cyst แต่ละอันนั้นจะปล่อย Tomite ออกมาได้มากถึง 300 ตัวทีเดียว ซึ่งช่วง Tomite
นี้แหละครับเป็นช่วงเดียวที่เราสามารถจัดการกับเชื้อโรคชนิดนี้ได้ โดยวงจรชีวิตของ Tomite นั้นมีประมาณ 12-16 วัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 4 ช่วงเท่า ๆ กัน เท่ากับว่าเรามีเวลาในการกำจัดเชื้อโรคตัวนี้เพียง 3-4 วัน และเว้นไปอีก 3-4 วันถึงจะทำการรักษาได้อีกครั้ง ต้องให้ยาเว้นช่วงไปแบบนี้ถึง 4 ครั้งหรือ 12-16 วัน เราถึงจะแน่ใจได้ว่าเราได้กำจัดเชื้ออิ๊คออกไปจากตู้หมดแล้ว
วิธีการรักษา
1. ทำการเปลี่ยนน้ำประมาณ 50% โดยพยายามดูดเอาเศษอาหารและตะกอนต่าง ๆ ออกมาให้มากที่สุด ถ้ามีระบบกรองใต้ชั้นกรวดควรจะดึงสายอ๊อกซิเจนออกจากท่อส่งน้ำและนำสายอ๊อกซิเจนมาต่อกับหัวทรายโดยตรง นอกจากนั้นถ้าระบบกรองมีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบ ควรนำคาร์บอนออกมาจากตู้ปลาก่อน สาเหตุที่ต้องทำความสะอาดเช่นนี้เพราะว่าสิ่งสกปรกและตัวคาร์บอนจะเป็นตัวดูดซับเอายาที่เราใส่ลงไปในตู้หรือบ่อปลาออกจนหมด
(เคล็ดลับ : ช่วงที่ให้ยาควรใช้แต่ลมจากปั๊มหรือหัวทรายเท่านั้น)
2. ยาที่ใช้ได้ผลกับโรคชนิดนี้มักจะมีส่วนผสมของ “มาลาไคท์ กรีน(Malachite Green) และฟอร์มาลีน” ไม่ก็อย่างใดอย่างหนึ่งล้วน ๆ ไปเลย เวลาเลือกซื้อตัวยาควรระมัดระวัง มาลาไคท์ กรีนเกรดไม่ดีหรือเกรดต่ำ (ซึ่งมีส่วนผสมของสารสังกะสี Zinc หรือ Zine Cloride) จะเป็นพิษต่อตัวปลาได้โดยตรง ระวังอย่าให้มาลาไคท์กรีนโดนมือด้วยนะครับ เพราะพวกนี้เป็นสารก่อมะเร็ง
4
ความเข้มข้นของตัวยาแต่ละยี่ห้อจะไม่เท่ากัน ดังนั้นก่อนใช้ยาควรอ่านฉลากให้ชัดเจนก่อน การใส่ยาก็ใส่ไปในปริมาณตามที่ฉลากกำหนดเลยครับ แต่อย่าไปหลงเชื่อฉลากเรื่องที่ให้ใช้ติดต่อกันเป็นเวลาเพียงแปปเดียวนะครับ
(เคล็ดลับ : การรักษาโรคจุดขาวที่ถูกต้องควรให้ยาเป็นเวลาติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน และเว้น 3-4 วัน รวมแล้วเป็นเวลาประมาณ 12-16 วัน ไม่เช่นนั้นเชื้อโรคก็จะกลับมาได้อีก)
3. นอกจากใส่ยาแล้วการเพิ่มอุณหภูมิน้ำให้อยู่ที่ประมาณ 30-32 องศาเซลเซียส ในช่วงที่รักษาโรคปลาอยู่ก็จะเป็นการเร่งอัตราเติบโตของเชื้อโรคโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิด Tomite เยอะขึ้น โดยเชื้อโรคพวกนี้เมื่อไม่มีปลาให้เกาะ(Host) มันก็จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ทำให้เราสามารถกำจัดได้รวดเร็วยิ่งขึ้นครับ
(เคล็ดลับ : ควรปล่อยตู้ปลาหรือบ่อปลาให้โล่ง ไม่ให้มีปลาสักตัวเพื่อที่จะให้เชื้อโรคได้ตายหมด 100%)
4. ใส่เกลือประมาณ 2-3 ช้อนชา/น้ำ 5 ลิตร โดยเกลือที่ใช้นั้นต้องเป็นเกลือทะเลที่สะอาด ไม่ควรใช้เกลือปรุงอาหาร ซึ่งจะมีการเติมสารไอโอดีนและสารขจัดความชื้น จะไม่เป็นผลดีต่อตัวปลา การใส่เกลือนั้นควรค่อย ๆ ใส่จนครบตามสัดส่วนหรือละลายกับน้ำข้างนอกก่อนแล้วค่อยเทลงไปที่ตู้ปลาหรือบ่อปลา การใส่เกลือลงไปคราวเดียวเป็นกระจุกอาจทำให้ปลาช๊อคได้ซึ่งเกิดจากความเค็มมากเกินไป การใส่เกลือจะส่งผลทำให้ระบบหมุนเวียนของเหลวในร่างกายปลาทำงานได้ดีขึ้นและทำให้น้ำกระด้างขึ้นเป็นผลให้เชื้อโรคอ่อนแอลง
1
(เคล็ดลับ : การใส่เกลือยังทำให้ปลาขับเมือกออกมาเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น ส่งผลทำให้เชื้อที่จะมาเกาะติดกับตัวปลาจะเกาะได้ยากมากกว่าเดิม)
5. ในกรณีร้ายแรงที่สุด ซึ่งมีจำนวนเชื้อโรคที่มากจนจัดการในขั้นเบื้อต้นไม่ได้แล้ว ก่อนการให้ยาควรทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำทั้งหมดออก(เปลี่ยนถ่ายน้ำ 100%) และทำการขัดตู้หรือบ่อปลาเพื่อให้เชื้อโรคได้หลุดออกไปให้หมด แล้วถึงค่อยเริ่มการรันน้ำและใส่ยาลงไปเพื่อทำการขจัดเชื้อโรคนี้ให้สิ้น
1
(เคล็ดลับ : ในช่วงนี้ให้ย้ายปลาไปลงตู้ใหม่ที่ได้ทำความสะอาดทิ้งไว้แล้ว เพื่อเป็นการตัดตอนวงจรชีวิตของเชื้อนี้ ส่งผลให้ปลาหายเร็วมากยิ่งขึ้น)
6. เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดต่อที่ปลาค่อนข้างจะติดกันได้ง่ายมาก อุปกรณ์ที่ใช้กับตู้ปลาที่เป็นโรคนี้ควรทำความสะอาดทั้งหมดให้ดี และไม่ควรนำไปใช้รวมกับตู้อื่น
(เคล็ดลับ : อุปกรณ์ของตู้ที่ติดเชื้อควรเอาไว้ใช้เฉพาะตู้นั้นตู้เดียว ไม่ควรย้ายไปย้ายมากับตู้อื่น)
7. ในเรื่องอดอาหารระหว่างการรักษา ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของตัวปลาเองด้วย ถ้าปลาอาการหนักไม่ยอมกินอาหาร เราก็ไม่ควรให้อาหารเลย เพราะเศษอาหารจะทำให้น้ำเน่าได้ง่าย ส่งผลให้การรักษาก็จะยากมากกว่าเดิม แต่ในกรณีที่ปลายังสามารถทานอาหารได้อยู่ก็ควรให้ในปริมาณที่น้อยกว่าเดิมที่เคยให้ เพื่อให้ปลาได้มีพละกำลังและมีร่างกายที่แข็งแรงได้เร็วมากยิ่งขึ้นระหว่างการรักษาตัว
แหล่งอ้างอิง 1 : kritsadajaipadcha.wordpress.com
แหล่งอ้างอิง 2 : sites.google.com/site/teenateephonsuk
แหล่งอ้างอิง 3 : baanjomyut.com
แหล่งอ้างอิง 4 : fisheries.go.th
แหล่งอ้างอิง 5 : nicaonline.com
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำออนไลน์
fishway
Website : ...coming soon...
Youtube : ...coming soon...
Tiktok : ...coming soon...
Line VOOM : ...coming soon...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา