7 พ.ค. 2020 เวลา 15:13 • บันเทิง
(รีวิวหนัง) Brokeback Mountain เมื่อคาวบอยตกยุค
<<โดย ยัติภังค์ >>
(เขียนรีวิวครั้งแรกในเว็บ Popcornmag ปี 2548) ขอใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เก็บผลงานนะครับ เนื่องจากหลายแห่งเว็บได้ปิดตัวไปแล้ว
ในฤดูร้อนปี 1963 แจ๊ค ทวิสต์(เจค กินเลนฮาล) และ เอนนิส เดลมาร์(ฮีธ เล็ดเจอร์) สองคาวบอยหนุ่มมาที่ไวโอมิ่ง หน้าที่ทำงานเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์เพื่อของานทำ ราวกับเป็นชะตากรรมให้ทั้งคู่มาพบกัน และทำงานต้อนแกะบนเทือกเขาโบรคแบ็คเพียง 2 คน
กว่าที่ทั้งคู่จะเปิดเผยเรื่องราวของกันและกันก็นานพอสมควร แจ๊คเป็นนักควบวัวที่นิสัยช่างพูด และเปิดเผยกว่า เขากล้าบ่นเรื่องงานที่ทำ อาหารการกิน หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในฐานะที่เคยทำงานที่นี่มาครั้งหนึ่งแล้ว หลังจากเอนนิสเกิดอุบัติเหตุเขาจึงกล้าเปิดเผยเรื่องราวแต่หนหลัง ซึ่งแทบไม่มีอะไรรื่นรมย์ในชีวิต ไม่แปลก…ที่เขาจะเก็บงำมันอย่างเงียบๆ จนถึงกับเอ่ยว่าที่เล่าให้ฟังนี้ก็เป็นการพูดมากที่สุดของตนแล้วด้วยซ้ำ
สิ่งที่เหมือนกันในความต่างของทั้งคู่ นอกจากภาพลักษณ์ความเป็นหนุ่มคาวบอย เห็นได้ชัดว่าพวกเขาไม่ได้มีความสุขกับครอบครัวเท่าไหร่นัก แจ๊คพยายามหนีให้ไกลจากพ่อ ขณะที่เอนนิสแย่กว่านั้นเพราะเขาโตมาอย่างแร้นแค้น ปัจจุบันก็แทบจะไม่มีที่ให้กลับเสียด้วยซ้ำ
ในคืนอันหนาวเหน็บ ระหว่างรอไปตรวจดูแกะในยามรุ่งเช้า ทั้งคู่ก็มีความสัมพันธ์ทางเพศกัน มันเป็นไปอย่างไม่ทันตั้งตัว แม้ผู้กำกับอังลี่จะปูความใกล้ชิดของทั้งคู่อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เหตุการณ์ที่เกิดในคืนนั้นก็เกิดขึ้นราวกับชะตากรรม ทันทีที่เอนนิสตื่นมา เขาควบม้าออกไปพบกับซากแกะที่ตายอย่างน่าสยดสยองราวกับเป็นคำเตือนว่าเขายืน อยู่ในจุดที่หมิ่นเหม่เพียงใด
ทั้งแจ๊คและเอนนิสพยายามให้มันเป็นแค่ “รักคืนเดียว” ถึงกระนั้น แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไร ในป่าอันแสนงดงามราวกับโลกอุดมคติ มีเพียงฝูงสัตว์ และงานซ้ำๆ ในที่สุดมันก็เกิดขึ้นอีกจนได้…หลังลงจากหุบเขา เอนนิสเลือกที่จะไม่กลับมาที่นี่อีก เขารีบแต่งงานกับอัลมา(มิเชล วิลเลี่ยมส์) ส่วนแจ๊คนั้น หลังจากที่วนเวียนกลับมาเพื่อพบกับความผิดหวัง เขาก็เหมือนตกถังข้าวสารพบรักกับสาวสวยมาดคาวบอย ลูรีน นิวซัม(แอนน์ แฮททาเวย์) ลูกของเศรษฐีขายเครื่องมือการเกษตร
แต่เหตุการณ์ในหุบเขาครั้งนั้นราวกับเป็นคำสาปที่วนเวียนในใจพวกเขาให้เปลี่ยนไปตลอดกาล 4 ปีผ่านไป ทั้งคู่ก็นัดเจอกันอีกครั้ง และสานต่อความสัมพันธ์เป็นคู่รักอย่างลับๆ เป็นเวลากว่า 20 ปี
เรื่องราวของแจ๊ค และเอนนิส จะมองไปทางใดนั้นก็คงหนีไม่พ้นโศกนาฏกรรม แต่แม้จะรู้อย่างนั้น Brokeback Mountain ก็ยังเป็นหนังที่เศร้าเหลือเกิน ทั้งๆ ที่อังลี่ยังคงเลือกวิธีการกำกับโดยไม่ได้บีบคั้นอารมณ์ หรือปล่อยฉากฟูมฟายเกินเลยมาสักฉาก หากเพราะสะท้อนชะตากรรมที่คนอีกมากมายร่วมรู้สึกไปกับพวกเขาได้ไม่ต่างกัน
เช่นเดียวกับที่อังลี่สำรวจตัวละครเอกซึ่งตกในความลุ่มหลงด้านมืด และภาพที่เปลี่ยนแปลงของจอมยุทธ์ บนหนังกำลังภายใน Crouching Tiger, Hidden Dragon ใน Brokeback Mountain เขาก็ไม่ได้มองไปที่ประเด็นเกย์ และความรักแบบโศกนาฏกรรมเท่านั้น หากกำลังสะท้อนชะตากรรมของวิถีชีวิตคาวบอย ที่ล่มสลายไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของอเมริกา
ความเจริญทางด้านวัตถุ และค่านิยมยกย่องผู้มีฐานะ ได้เข้ามาอย่างรวดเร็วไม่เว้นแม้แต่เมืองห่างไกลอย่างเท็กซัส หรือ ไวโอมิ่ง แจ๊คกลายเป็นเซลส์ขายรถแทร็กเตอร์ในธุรกิจครอบครัวของลูรีนแทนการควบวัว ด้านเอนนิส แม้จะถูกอัลม่ารบเร้าให้ไปทำงานโรงงาน เขาก็กลับยกเอาความซุ่มซ่ามของตนเองมาอ้างเพื่อปฏิเสธ รวมถึงอีกหลายต่อหลายครั้งที่เขาไม่แสดงความรับผิดชอบต่อครอบครัวแม้แต่น้อย
ถัดจากการสร้างฐานะตามมาด้วยการสร้างครอบครัว แต่มันช่างขัดกับภาพลักษณ์และวิถีชีวิตคาวบอย สุภาพบุรุษผู้รักเสรี การผจญภัยในแดนเถื่อนไร้กฎใดควบคุม ใจกล้า อยู่กับท้องทุ่ง และรักสันโดษ ที่ติดฝังในตัวเอนนิส นั่นนำมาซึ่งการหย่าร้างของทั้งสอง และเอนนิสต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่อเดือนของครอบครัวตามตัวบทกฎหมายที่เขา ไม่เคยสนใจ ช่างน่าเศร้าระคนเย้ยหยันเมื่อภรรยาของเขาแต่งงานใหม่กับผู้จัดการร้าน ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เธอทำงาน พร้อมเทคโนโลยีอย่างโทรทัศน์ และเครื่องไม้เครื่องมือที่มาทดแทนสิ่งเก่าๆ ราวกับเป็นการบอกเส้นทางที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเลือกเข้ามาทดแทน…ไม่มีใครชื่น ชมยกย่องคาวบอยอีกต่อไป พวกเขาถูกมองอย่างเย้ยหยัน บ้างก็เป็นการมองอย่างหมิ่นแคลนในความจน หรือความอดทน
ขณะที่ความหมายของเกย์ไม่ได้เป็นเพียงการบอกพฤติกรรมทางเพศ แต่มักถูกใช้แสดงถึงความเป็นคนนอกกรอบของสังคม ซึ่งทั้งแจ๊ค และเอนนิสก็ได้กลายเป็นตัวแทนของคนนอกจากการยึดติดกับชีวิตแบบคาวบอยบนเทือก เขาแห่งนั้น บางถ้อยคำในหนังถึงกับเชื่อว่าเหตุการณ์ในหุบเขาโบรคแบ็คของทั้งคู่ อาจเป็นเรื่องแต่ง เป็นเพียงความฝัน เป็นเพียงอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริงเสียด้วยซ้ำ
ยังมีหลายต่อหลายครั้งทีเดียวที่บอกถึงภาพของคาวบอยที่กลายเป็นคนที่สังคมไม่ต้องการ เช่น เมื่อแจ๊คเข้าไปชื่นชมตัวตลกคอยวิ่งหนีมัว แต่กลับได้รับผลตอบรับที่ตรงกันข้าม และกับฉากที่สามีของเพื่อนลูรีนนั่งคุยกับแจ๊คได้อย่างเปิดอกนั้น หนังถึงขั้นทำให้เผลอคิดไปว่าคนในชุดคาวบอยคือภาพลักษณ์ของเกย์เลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ตามคนที่เจ็บปวดที่สุดย่อมไม่พ้นเอนนิส เพราะเขาเลือกปิดซ่อนความรู้สึกและปรารถนามากกว่าแจ๊ค หนังบอกให้เรารู้ว่าเขาเชื่อในการปิดบังความสัมพันธ์แบบนี้ไปจนวันตาย แม้จะรู้ว่าเป็นรักที่มีแต่ทำลายตนเอง เพราะความกลัวที่ติดตาแต่ครั้งยังเด็ก และมันก็ซ้อนทับในหัวของเขาถึง 2 ครั้งราวกับภาพฝันร้าย เอนนิสจึงกลายเป็นผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงท่ามกลางความเจริญ ความมาเร็วไปเร็วแบบยุคสมัย เขายังคงเป็นคาวบอยคนเดิม ที่ทนแบกรับความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่ได้รับจากการถาโถมของคนในสังคม
ขณะเดียวกันยุคสมัยของหนังเรื่องนี้ ยังถือเป็นการคาบเกี่ยวกับยุคมืดของหนังคาวบอยในอเมริกา ปลายยุค 60s หนังประเภทนี้นำเสนอภาพลักษณ์ที่ดิบเถื่อน ชะตากรรมที่สมจริงของคนคาวบอยอย่างชัดเจนมากขึ้น ทดแทนภาพลักษณ์คาวบอยในแบบอุดมคติเมื่อสมัยอดีต หนังคาวบอยในแนวทางดังกล่าวได้แก่ Hour of The Gun ของ จอห์น สเตอร์เจส , Wild Bunch ของ แซม แพคคินพาห์, หรือ Midnight Cowboy ของ จอห์น สเลซิงเจอร์ และหลังจากต้นยุค 70s เป็นต้นมา หนังคาวบอยก็ไม่ได้รัความนิยมเช่นเมื่อก่อนอีกเลย ฉากต่อสู้และบุคลิกต่างๆ ถูกทดแทนด้วยหนังตำรวจ รวมถึงหนังแฟนตาซี/แอ๊คชั่น/ไซไฟแบบ High-Concept แม้ต้นยุค 90s มีหนังอย่าง Dances With Wolves, City Slickers และ The Unforgiven จะทำเงินมหาศาล มันก็เป็นเพียงความสำเร็จที่ไม่ได้ยั่งยืนอะไร เป็นเพียงความตื่นตาตื่นใจ ที่มาถึงและหายไปอีกครั้ง
แม้ Brokeback Mountain สามารถจะจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับหนังคาวบอยยุคมืดได้ แต่เหนือกว่านั้น และมากกว่านิยามว่าหนังคาวบอย-เกย์ นี่เป็นการนำเสนอมุมมองใหม่ที่สมจริงยิ่งกว่าของคนคาวบอย เสมือนการไว้อาลัยต่อวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นรากฐานสร้างประเทศของอเมริกา ที่ได้เลือนหายไปจากชีวิตผู้คนเกือบทั้งหมดแล้ว…
โฆษณา