8 พ.ค. 2020 เวลา 04:47 • ประวัติศาสตร์
Artsakh ประเทศที่ไม่มีอยู่จริง
ก่อนพูดถึง Artsakh (อาร์ตซัค) ผมจะเล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ท่านฟังก่อน
4
นิทานเรื่องนี้พูดถึงชาวอาร์มีเนีย..
ชาวอาร์มีเนียตั้งถิ่นฐานอยู่แถบเทือกเขาคอเคซัส พวกเขาเป็นฝรั่งที่ถูกนับถือว่ามีหน้าตาสวยงาม จนมีการเอาคำว่า "คอเคเซียน" ไปใช้เรียกเผ่าพันธุ์ฝรั่งทั้งหมด
อาร์มีเนียเคยเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ เมื่อสองพันปีก่อนนั้นมีดินแดนกว้างขวางจนได้ชื่อว่า "เมืองสองทะเล" คือมีอาณาเขตตั้งแต่ทะเลเมดิเตอเรเนียน ไปจรดทะเลแคสเปียน นอกจากนั้นยังเป็นชาติแรกที่เชิดชูศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ
เป็นเวลานับพันปีที่ชาวคริสต์ช่วงชิงความเป็นใหญ่กับมุสลิม อาร์มีเนียซึ่งอยู่ปลายสุดของฝ่ายฝรั่งนั้นเคยเป็นหัวหอกของในการต่อสู้กับหมู่แขกอย่างกล้าหาญ
...แต่เมื่อก่อนพรมแดนระหว่างคริสต์กับอิสลามนั้นไม่เหมือนกับปัจจุบัน ...พันปีก่อนดินแดนที่เป็นประเทศตุรกีซึ่งติดกับอาร์มีเนียทุกวันนี้เคยเป็นอาณาจักรไบแซนไทน์อันยิ่งใหญ่ของชาวฝรั่ง
หลังฝรั่งรบแพ้แขกในสงครามครูเสด อาณาจักรไบแซนไทน์ก็อ่อนแอจนย่อยยับดับสูญ ถูกแทนที่โดยอาณาจักรออตโตมันของชาวเติร์ก
3
...และอาร์มีเนียก็พบว่าตัวเองถูกปล่อยเกาะแล้ว...
หลายร้อยปีหลังแพ้สงครามครูเสด อาร์มีเนียจึงถูกมวลแขกผลัดกันมารุมยำ ผู้คนล้มตาย อาณาเขตหดหาย แตกเป็นหลายเสี่ยง ตกเป็นเมืองขึ้นของแขกชาติต่างๆ
...และบั้นปลายของการรังแกนั้น พวกเติร์กออตโตมันได้ตัดสินใจว่า "ไม่อาจไว้วางใจชาวคริสต์อาร์มีเนียได้ จะฆ่าล้างชาวอาร์เมียให้หมด"
...มันฟังดูเหมือนแผนการสุดชั่วร้าย ในหนังฮีโร่...
...อนิจจา ไม่มีฮีโร่คนไหนมาช่วยอาร์มีเนีย...
ปี 1915 ฝ่ายเติร์กอาศัยช่วงความวุ่นวายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำการสังหารหมู่ชาวอาร์มีเนียไปนับล้านคนอย่างเป็นระบบ
1
อาร์เมเนียตะวันตกสิ้นชาติสูญพันธุ์ถูกผนวกเป็นดินแดนตุรกี
ปัจจุบันแม้เมืองหลวงโบราณที่เปรียบเหมือน อยุธยา-สุโขทัย ของอาร์มีเนียก็อยู่ในฝั่งเติร์ก และโบราณสถานมากมายถูกทำลายจนคล้ายไม่เคยมีชนชาตินี้อยู่
พวกที่รอดมา คืออาร์มีเนียตะวันออกที่อยู่ในดินแดนแคบๆ มีขนาดเพียงหนึ่งในสิบของอาณาจักรเดิม
...การถูกฆ่าล้างของพวกเขาไม่ใคร่มีใครจดจำ ...ไม่มีมหาอำนาจชาติไหนยื่นมือมาช่วย แม้ปัจจุบันตุรกีก็ปฏิเสธว่าไม่เคยมีสิ่งนี้เกิดขึ้น
นับแต่นั้นชาวอาร์มีเนียที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดก็กลายเป็นพวกอำมหิตดุร้าย ต่อสู้ป้องกันตนเองอย่างกล้าหาญไม่เห็นแก่ชีวิต…
ผู้นำพวกอาร์มีเนียประกาศว่า “แผ่นดินอาร์มีเนียเหมือนซุปชามใหญ่ ชาติมหาอำนาจต่างๆ ให้สัญญาว่าจะช่วยเหลือดูแลมัน แต่พวกเขาไม่เคยรักษาสัญญาเหล่านั้น ตรงกันข้ามพวกเขาล้วนใช้กระบวยเหล็กแย่งกันตักซุปไปมากที่สุด ส่วนฉันมีแต่กระบวยกระดาษ (คือกระดาษสัญญาของมหาอำนาจ) ทำให้แย่งอะไรมาไม่ได้เลย...
...ต่อไปนี้เรามีแต่ต้องพึ่งตนเอง ไม่ใช่พึ่งคำหวานของคนนอก และเราจะไม่เชื่อถือในกระดาษอีกต่อไปแล้ว
4
เราจะต้องเชื่อในเหล็ก!
มีแต่ต้องสู้ด้วยเหล็ก เราจึงจะอยู่รอด!”
ช่วงปี 1920-1921 ชาติคอเคซัสได้แก่ จอร์เจีย อาร์มีเนีย อาเซอร์ไบจานต่างถูกผนวกเข้ากับสหภาพโซเวียตพร้อมกัน
โซเวียตได้ยกดินแดนนากอร์โน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh) หรืออีกชื่อคือ “อาร์ตซัค” ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ชาวอาร์มีเนียอาศัยอยู่แห่งท้ายๆ ให้อยู่ในเขตปกครองอาเซอร์ไบจาน
ทั้งนี้โซเวียตทำตามนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง และแสดงไมตรีต่อตุรกี (ชาวอาเซอร์ไบจานเป็นชาติเติร์กเหมือนตุรกี การเอาใจอาเซอร์ไบจานจึงเป็นการเอาใจตุรกีด้วย) ในรูปทางซ้ายธงอาเซอร์ไบจานทางขวาธงตุรกี
...แน่นอนว่าพวกอาร์มีเนียประท้วงอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่เคยได้ผล...
ปี 1991 เมื่อโซเวียตล่มสลาย อาร์มีเนีย และอาร์เซอร์ไบจานต่างประกาศเอกราช แต่ปัญหาอยู่ที่ดินแดนอาร์ตซัคนี้ควรเป็นของใคร?
ตามกฎหมายสากล มันควรอยู่กับอาเซอร์ไบจาน...
สหประชาชาติตัดสินใจให้มันอยู่กับอาเซอร์ไบจาน...
นานาประเทศยอมรับว่ามันเป็นของอาเซอร์ไบจาน...
...มีแต่ชาวอาร์มีเนียในอาร์ตซัคไม่ยอมรับสิ่งนี้...
...และพวกเขาออกไปต่อสู้...
ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวของเรา ที่ผมจะได้ถ่ายทอดโดยพิสดาร...
2
Artsakh (อาร์ตซัค) เป็นชื่อของ “ประเทศ” แห่งหนึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาคอเคซัส มีขนาดประมาณจังหวัดน่าน มีประชากรราว 150,000 คน
2
ประเทศนี้มีผลิตภัณฑ์มวลรวมปี 2017 อยู่ที่ 18,737 ล้านบาท พอๆ กับผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดอำนาจเจริญ ถือว่าดำเนินเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับปัจจัยประเทศ สินค้าส่งออกสำคัญคือ วอดก้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ
การเข้าประเทศอาร์ตซัคสามารถทำได้ช่องทางเดียว คือผ่านทางอาร์มีเนีย เราสามารถทำวีซ่าอาร์มีเนียไปจากไทยก่อน จึงไปทำวีซ่า on arrival ที่อาร์ตซัคได้
การเดินทางจากเยเรวัน (เมืองหลวงอาร์มีเนีย) ไปเมืองสเตฟานาเกิร์ต (เมืองหลวงอาร์ตซัค) นั้นมีระยะทาง 326 กิโลเมตร
ระยะทางแค่นี้ แต่ขับรถไปใช้เวลา 8 ชั่วโมง เนื่องจากตลอดเส้นทางเป็นภูเขาทำความเร็วไม่ได้ อย่างไรก็ตามจะมีโบสถ์สวยงามให้จอดแวะเรื่อยๆ
อาร์มีเนียเป็นประเทศที่เคร่งศาสนา มีศิลปะคริสต์แบบโบราณเป็นของตนเอง สวยงามไม่เหมือนที่ใดในโลก
นอกจากนั้นยังเป็นประเทศแรกๆ ที่ผลิตไวน์ มีอุตสาหกรรมผลิตไวน์รุ่งเรืองจนปัจจุบัน อย่างขวดนี้ราคาเพียง 120 บาท รสชาติดีมาก
ค่ำมืดวันนั้นผมจึงเดินทางถึงอาร์ตซัค โย่! ภาพนี้คือ ต.ม.
1
ผมนอนโรงแรมชื่อ Valex Garden ซึ่งเป็นโรงแรมหรูที่สุดของอาร์ตซัค ...ไม่ใช่เพราะติดหรู แต่เพราะมันราคาแค่คืนละ 2,000 นะครับ
คุณภาพนี่เทียบเท่าพวกคืนละ 4,000 - 5,000 เมืองไทย ผู้คนยังไม่ชินนักท่องเที่ยวก็ไม่ค่อยโก่งราคา เรียกว่าเที่ยวอาร์ตซัคนี่เรากลายเป็นเศรษฐีกันเลยทีเดียว
เช้านั้นผมออกเดินเที่ยวเมืองสเตฟานาเกิร์ต ซึ่งทำได้ง่ายเพราะตัวเมืองมีขนาดเล็กมาก ตามที่บอกว่าประเทศอาร์ตซัคมีประชากร 150,000 คน อาศัยอยู่ในสเตฟานาเกิร์ต 50,000 คน ก็ถือว่าเป็นเมืองใหญ่ที่สุด
อาร์มีเนียว่าไม่ค่อยมีคนเอเชียไปเที่ยวแล้ว อาร์คซัคยิ่งไม่เคยเห็นคนเอเชียเข้าไปใหญ่ เวลาเดินไปไหนคนจะมองผมด้วยความตกใจ ดีใจ โบกมือ และยิ้มให้ ใครอยากมีประสบการณ์ดารา เดินไปไหนก็มีคนตื่นเต้น ให้มาเที่ยวอาร์ตซัคนะครับ...
เนื่องจากอาร์ตซัคยังต้องต่อสู้กับอาเซอร์ไบจานอยู่เสมอ จึงมีลัทธิชาตินิยม ทหารนิยมเด่นชัด ดูได้จากธงชาติ และรูปอาวุธที่ติดอยู่ทุกที่
ป้ายโฆษณาให้รักชาติ ยังมีเค้าลายเส้นของยุคสงครามเย็นอยู่บ้าง
สเตฟานาเกิร์ต แปลว่า "เมืองของสเตฟาน" ซึ่งคือวีรบุรุษของประเทศท่านนี้
ถนนสายชอปปิ้ง แฟร์ชันก็จะย้อนยุคหน่อยๆ
ตู้จำหน่ายขนมปังนี้มีอยู่ทั่วเมือง ขนมปังมีราคาถูกมาก คือขนมปังแผ่นใหญ่กินได้หลายคนราคาเพียงหกบาทเศษ ผมคิดว่าอาจเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ
ก๊อกน้ำสาธารณะให้ประชาชนใช้บริการฟรี
ออกจากถนนสายชอปปิ้งหลักมานิดเดียว บ้านเมืองก็จะเริ่มกรังๆ หน่อย
เมืองหลวงแห่งนี้มีจุดที่กำลังก่อสร้างมากมาย อาคารพัง และอาคารใหม่หาได้ง่าย เพราะกำลังซ่อมแซมเมืองจากสงคราม
1
สวนสาธารณะที่เต็มไปด้วยทหาร
อันนี้ห้างที่ใหญ่ที่สุดในเมือง
แป้งห่อสมุนไพรของที่นี่อร่อยมาก
2
แผนที่อาร์มีเนีย แบบรวมอาร์ตซัค แสดงความรักชาติ
1
รูปปั้น "We are our Mountains" หรือรูปศีรษะชาย-หญิงนี้เป็นสัญลักษณ์ของอาร์ตซัค ความหมายของมันสื่อว่าชาวอาร์มีเนียมีอธิปไตยในดินแดนของตนเอง และการที่รูปปั้นโผล่มาแค่หัวก็แปลว่าได้ฝังรากคือลำตัวอย่างลึกล้ำในภูเขานี้แล้ว คนท้องถิ่นเรียกรูปนี้ว่า tatik-papik แปลว่ารูปคุณตาคุณยาย
3
มีเกร็ดเกี่ยวกับอาร์มีเนีย และอาร์ตซัคมาแชร์เล็กน้อย คือธงชาติอาร์มีเนียนั้นมีสามสี คือแดง น้ำเงิน ส้ม
สีแดง หมายถึงการดิ้นรนต่อสู้ของชาวอาร์มีเนีย เพื่อรักษาชีวิต อัตลักษณ์ และศรัทธาในศาสนาคริสต์ จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
สีน้ำเงิน หมายถึงความปรารถนาของชาวอาร์มีเนียที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ภายใต้ฟ้ากว้าง
สีส้ม หมายถึงพลังความสร้างสรรค์ของชาวอาร์มีเนีย
ส่วนธงชาติอาร์ตซัค เหมือนธงอาร์มีเนียทุกประการ แต่มีแถบสีขาวคาด การถูกแบ่งด้วยแถบขาวหมายถึงการพลัดพรากจากประเทศแม่ และความประสงค์ที่จะกลับมารวมกันเป็นหนึ่งอีกครั้ง นอกจากนั้นแถบขาวยังคล้ายลายผ้าที่ชาวอาร์มีเนียนิยมใช้
คนถามว่าทำไมอาร์มีเนียไม่ผนวกอาร์ตซัคไปเลย? คำตอบคือทำอย่างนั้นถ้ามองจากภายนอกแล้วมันคือการยึดครองประเทศคนอื่น
จะทำให้เจรจาขอความเห็นใจจากชาติอื่นยาก สู้เปลี่ยนให้เป็นชาวอาร์ตซัคต่อสู้เพื่ออิสระภาพจากการถูกกดขี่เองจะดูดีกว่า
ช่วงสายผมได้เดินทางออกจากเมืองสเตฟานาเกิร์ตไปยังเมืองชูชิ
เมืองนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เพราะอยู่บนเขาสูงกว่าสเตฟานาเกิร์ต สามารถตั้งฐานปืนใหญ่ยิงมาถล่มเมืองหลวงได้
...มันจึงเป็นที่ๆ สู้ชิงกันหนัก ...เต็มไปด้วยซากปรักหักพังจากสงคราม
ปี 1992 หลังอาร์มีเนีย กับอาเซอร์ไบจานประกาศเอกราช พวกเขาก็เริ่มทำสงครามชิงอาร์ตซัคอย่างดุเดือด
อาเซอร์ไบจานแม้ได้เปรียบเพราะเป็นชาติส่งออกน้ำมันร่ำรวย มีรี้พลเยอะกว่า อาวุธดีกว่า และมีฐานทัพในอาร์ตซัคอยู่ก่อน
แต่เสียเปรียบที่ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ตกเป็นเมืองขึ้นโซเวียตนั้น โซเวียตหวาดกลัวอิทธิพลเติร์กก็แกล้งไม่เอาทหารอาเซอร์ไปจานไปใช้ต่อสู้จริง
ชอบให้อยู่แต่ในหน่วยก่อสร้าง หรือหน่วยเสบียง ทำให้ทหารอาเซอร์ไบจานขาดความสามารถในการสู้รบ (ติ่งของอาเซอร์ไบจานชื่อนัคชีวันที่เห็นทางซ้ายมือนั้น จริงๆ ก็เป็นแดนอาร์มีเนียมาก่อน แต่คนอาร์มีเนียถูกไล่ เอาคนเติร์กมาอยู่แทน ทำให้กู้กลับมาไม่ได้)
ตรงกันข้ามโซเวียตกลับชอบใช้ทหารอาร์มีเนียที่ทรหดดุดัน โดยเฉพาะเอาไปถมในศึกอัฟกานิสถาน เพราะเป็นชาติคริสต์สามารถใช้ปราบศัตรูมุสลิมโดยสะดวกใจ ทำให้เมื่อจบสงครามแล้วทหารอาร์มีเนียมีความกล้าหาญชาญสมรกว่าอาเซอร์ไบจานมาก
ทั้งสองฝ่ายมีจุดอ่อนจุดแข็ง สู้ผลัดกันแพ้ชนะ จนมาถึงศึกแตกหักในการชิงเมืองสเตฟานาเกิร์ต อาเซอร์ไบจานใช้เมืองชูชิเป็นฐานทัพใหญ่ ยิงปืนใหญ่ทำลายสเตฟานาเกิร์ตจนแทบแพ้พ่าย (ภาพแนบ โบสถ์เมืองชูชิที่ถูกใช้เป็นคลังอาวุธ)
แม่ทัพคนหนึ่งของอาเซอร์ไบจันในศึกนี้คือ ชามิล บาซาเยฟ ผู้กล้าชาวเชเชนที่รบชนะรัสเซียในสงครามเชเชนครั้งที่ 1 มาช่วยด้วย
บัดนั้นบาซาเยฟทำการป้องกันเมืองชูชิอย่างแข็งขัน ทั้งทหารอาเซอไบจันนั้นมี 2,500 คน ขณะที่อาร์เมเนียมีเพียง 1,000 คน แทบไม่มีทางหักเมืองชูชิได้เลย
...แม่ทัพอาร์มีเนียทราบว่าหากยึดชูชิไม่ได้ก็จะต้องเสียสเตฟานาเกิร์ต และเสียอาร์ตซัคทั้งหมด ศึกนี้จึงเป็น "การยุทธเพื่อชี้ขาดสงครามทั้งหมด" ซึ่งบีบให้เขาตัดสินใจใช้แผนการที่กล้าบ้าบิ่น
กลางดึกวันที่ 8 พ.ค. 1992 ฝ่ายอาร์มีเนียแบ่งทัพเป็นหกสาย และทำการ "ปีน" หน้าผาในรูปขึ้นไปยังเมืองชูชิ
ท่านจะเห็นว่าหน้าผานี้ชันมาก เกือบ 90 องศา แต่เป็นทางเข้าเมืองทางเดียวที่ฝ่ายอาเซอร์ไบจานไม่ระวังป้องกัน เพราะไม่นึกว่าข้าศึกจะเข้ามาด้านนี้ได้...
อาร์มีเนียตั้งชื่อปฏิบัติการนี้ว่า "งานแต่งงานบนภูเขา" เพราะทหารคนหนึ่งสัญญากับแฟนสาวว่าจะกลับไปแต่งงานหากกู้ชาติสำเร็จ
พวกเขา "ปีน" ด้วยความอดทน จนในที่สุดก็บรรลุถึงยอดเขาในคืนเดียว โดยที่ศัตรูไม่รู้ตัวเลย แสดงถึงระเบียบวินัย และความแข็งแรงอันยอดเยี่ยม
ครั้นถึงรุ่งเช้าวันที่ 9 พ.ค. พวกอาร์เมเนียบุกขึ้นหักเมืองโดยฉับพลัน! พวกเขาสู้อย่างนองเลือด และอาศัยความแตกตื่นข้าศึก เอาชนะได้สำเร็จ บาซาเยฟแค้นนักเป็นคนท้ายๆ ที่หนีออกจากเมือง...
น่าเสียดายที่ทหารคนที่สัญญาว่าจะแต่งงานนั้นพลีชีพในที่รบ มีการสร้างอนุสาวรีย์ให้เขาเป็นรถถังในภาพด้านล่าง และมีงานระลึกถึงผู้พลีชีพในสงครามนี้ในวันที่ 9 พ.ค. ของทุกปี
การบุกยึดเมืองชูชิทำให้ฝ่ายอาร์มีเนียสามารถแก้ไขเมืองสเตฟานาเกิร์ตสำเร็จ นำสู่การเอาชนะอาเซอไบจาน ตั้งประเทศอาร์ตซัคขึ้นจนปัจจุบัน...
...เรื่องนี้เข้ากับที่ผมเคยเขียนว่าในสงครามนั้นนอกจากปัจจัยด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว "ขวัญทหาร" ยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
...การที่กองทัพหนึ่งจะชนะได้ ทหารในกองทัพจำเป็นต้องเชื่อในเหตุผลที่เขาต่อสู้ รักชาติ รักเพื่อนทหาร รักแม่ทัพ ยินยอมพลีชีพเพื่อสิ่งที่ตัวเองอยากปกป้องมิได้กลัวความตาย กองทัพก็จะมีอานุภาพขึ้นเป็นอันมาก
ในกรณีนี้ฝ่ายอาร์มีเนียซึ่งเต็มไปด้วยความคับแค้นจากการถูกกดขี่เข่นฆ่านับพันปี ต้องต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิด จึงสามารถเอาชนะอาเซอร์ไบจานสำเร็จ... (ภาพแนบคือ มัสยิดเมืองชูชิ ทัพอาร์มีเนียยึดได้แล้วไม่ทำลาย แต่ปล่อยร้างไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาวอาร์มีเนียมิได้ป่าเถื่อนทำลายศาสนสถานผู้อื่น)
1
แต่ก่อนที่ผมจะจบบทความนี้ ผมอยากกล่าวถึงเรื่องอาร์ตซัคในทางที่ซับซ้อนขึ้น โดยพาท่านสู่คำถามที่ว่า "ท่านรู้จักเมืองอักดัมหรือเปล่า?"
อักดัมเป็นเมืองในเขตอาเซอร์ไบจาน เคยมีประชากรถึง 60,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเติร์ก ปี 1993 ทัพอาร์มีเนียบุกตีเมืองนี้ เข่นฆ่าคนบริสุทธิ์ ขับไล่ให้ชาวเมืองต้องอพยพลี้ภัยออกไปจนหมดสิ้น จากนั้นจึงทำลายสิ่งก่อสร้างในเมือง เพื่อให้ชาวเติร์กขาดแรงจูงใจในการหวนกลับ
เหตุผลที่อาร์มีเนียใช้ให้ความชอบธรรมกับการกระทำดังกล่าว คือ "เพื่อสร้างเขตกันชนให้กับอาร์ตซัค" แต่การกระทำนี้ได้ทำให้ชาวอักดัมมากมายต้องบ้านแตกสาแหรกขาด พลัดถิ่นไปยังเมืองต่างๆ พวกเขายังโหยหาที่จะกลับบ้านอยู่เสมอ
...นี่แตกต่างจากเคราะห์กรรมของชาวอาร์มีเนียอย่างไรบ้าง?...
ปัจจุบันแม้อาเซอร์ไบจานเจริญขึ้น มีกำลังทหารพร้อมพรั่งกว่าเดิม แต่ไม่อาจหวนมาตีอาร์ตซัค
นี่เป็นเพราะอาร์มีเนียเข้าสวามิภักดิ์ต่อรัสเซียและอิหร่าน ดึงกำลังมหาอำนาจป้องกันตัว รัสเซียเลี้ยงอาร์ตซัคไว้ ก็เพื่อให้ภูมิภาคนี้มีปัญหาต้องพึ่งพาการแทรกแซงจากภายนอกอยู่เสมอ และหากไม่ทำเช่นนี้อาเซอร์ไบจานซึ่งเป็นชาติน้ำมันก็จะมีกำลังแข็งกล้าเกินไป... (ภาพแนบคือการเดินสวนสนามของอาร์ตซัค)
การที่รัสเซียชุบเลี้ยงอาร์ตซัค จึงเป็นกระจกสะท้อนการที่อเมริกาชุบเลี้ยงอิสราเอลเพื่อให้ภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งมีน้ำมันนั้นขาดเสถียรภาพ เป็นช่องให้อเมริกาสามารถเข้าแทรกแซงได้...
...เช่นนี้ถ้าท่านเป็นชาวอาเซอร์ไบจาน ...ท่านคับแค้นหรือไม่?
ปัจจุบันอาร์มีเนีย อาเซอร์ไบจาน ตั้งประจันหน้า กระทบกระทั่งกันอยู่เสมอ มีทหารหนุ่มถูกฆ่า ชาวบ้านถูกลูกหลง ทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บล้มตายมิได้ขาด เฉพาะตั้งแต่ปี 2012 ถึงปัจจุบันตายไปกว่า 400 คน (ข้อมูลไม่อัพเดท คงมากกว่านี้อีก)
...คำถามคือแล้วบุญคุณความแค้นนี้จะจบลงตรงไหน?
...หนทางออกจากสิ่งนี้คืออะไร?
...เรื่องนี้คงเป็นปัญหาที่เราท่านต้องขบคิด...
บทความนี้เขียนจากการเดินทางไปยังประเทศซึ่งยังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เพื่อเปิดหูเปิดตาตนเอง และนำเรื่องราวมาแบ่งปันแก่ท่านทั้งหลาย
ประเทศอาร์ตซัคแม้ไม่มีจริง ...แต่ก็มีจริงเป็นอย่างยิ่ง
1
เรื่องที่เกิดขึ้นในอาร์ตซัคนั้น ...แม้ห่างไกลจากตัวเราเหลือเกิน ...แต่ก็ใกล้ตัวเราเหลือเกิน
::: ::: :::
สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตามเพจ The Wild Chronicles - เชษฐา https://www.facebook.com/pongsorn.bhumiwat ได้เลยจ้า
โฆษณา