8 พ.ค. 2020 เวลา 11:39 • ประวัติศาสตร์
วันนี้ในอดีต
ครบรอบ 25 ปีแห่งการจากไปของ เติ้ง ลี่จวิน
Teresa Teng (鄧麗君 : テレサ・テン)
เติ้งลี่จวิน หลังผันตัวมาเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว
เทเรซ่า เติ้ง หรืออีกชื่อหนึ่งของ “เติ้งลี่จวิน” (邓丽君) ศิลปินไต้หวันผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็น “ราชินีแห่งเพลงจีน”
ประวัติคร่าวๆ มีดังนี้ เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2496 ณ เมืองเป่าจง มณฑลหยุนหลิน ในครอบครัวทหารไต้หวัน
เธอแสดงอัจฉริยภาพด้านการร้องเพลงมาตั้งแต่วัยเด็ก ครอบครัวจึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ มีผลงานครั้งแรกในชีวิตจากเพลงประกอบภาพยนตร์งิ้วหวงเหมยของชอว์บราเดอร์ เรื่อง "ม่านประเพณี" (梁山伯與祝英台) ในการประกวดที่จัดขึ้นโดยองค์การกระจายเสียงแห่งจีน (中國廣播公司) เมื่อ พ.ศ. 2507
หลังจากผันมาเป็นนักร้องอย่างเต็มตัว ชีวิตศิลปินก็เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2511 เติ้ง ลี่จวิน เริ่มมีชื่อเสียงจากประกวดร้องเพลงรายการหนึ่ง จนได้เซ็นสัญญากับ “บริษัทไลฟ์เรคคอร์ด” แล้วมีการออกอัลบั้มของตัวเองครั้งแรก
5 ปีต่อมาเป็นที่รู้จักในวงการเพลงญี่ปุ่น ออกอัลบั้มเพลงญี่ปุ่นกับ “โพลิดอร์เรคคอร์ด” ทั้งยังได้ประกวดร้องกับสถานีโทรทัศน์ NHK ทำให้นางได้เป็นดาวรุ่งประจำปี พ.ศ. 2517 จากเพลง “คูโค” (空港) หลังจากนั้นก็ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลเหรียญทองจากเพลง 時の流れに身をまかせ หรือในภาษาจีนก็คือ 我只在乎你 แปลว่า I Only Care About You เมื่อปี พ.ศ. 2526
ในปี พ.ศ. 2532 เกิดเหตุการณ์ชุลมุนประท้วง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม เติ้ง ลี่จวิน เปิดคอนเสิร์ตในนามของกลุ่มนักศึกษา เพื่อประกาศจุดยืนสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มนักศึกษาในกรุงปักกิ่งของจีน คอนเสิร์ตดังกล่าวมีชื่อว่า "บทเพลงประชาธิปไตยเพื่อเมืองจีน" (民主歌聲獻中華)
ยังมีคำกล่าวหนึ่งอีกด้วยว่า “เติ้ง เสี่ยวผิงครองเมืองจีนยามกลางวัน เติ้ง ลี่จวินครองเมืองจีนยามราตรี” หรือ "กลางวันฟังเติ้งเฒ่า กลางคืนฟังเติ้งน้อย” ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งฉายาให้เธอว่า “เติ้งน้อย” เพราะนางมีแซ่เดียวกันกับ “เติ้งเสี่ยวผิง” (邓小平) ด้วยประการนี้เอง
วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 เติ้ง ลี่จวิน เสียชีวิตอย่างกระทันหันขณะมาพักผ่อนที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย โดยข่าวในขณะนั้นได้ระบุเอาไว้ว่า เธอมีอาการโรคหอบหืดกำเริบขั้นรุนแรง บ้างก็สันนิษฐานไปต่างๆ นานา ว่าเป็นเพราะใช้ยาเกินขนาดทำให้หัวใจล้มเหลว สิริอายุได้ 42 ปี 3 เดือน กับอีก 9 วัน
พิธีศพของเธอก็ถูกจัดขึ้นแบบรัฐพิธี หีบศพถูกคลุมด้วยธงชาติไต้หวัน โดยอดีตประธานาธิบดี หลี่ เติงฮุย (李登輝) และประชาชนจำนวนหลายพันคนเข้าร่วมพิธีด้วยความอาลัยรัก
ปัจจุบัน ศพของเติ้ง ลี่จวิน ถูกฝังที่สุสานจินเป่าซาน (Chin Pao San : 金寶山) อันเป็นสุสานติดภูเขาในเมืองจินซาน (Jinbao Mountain) มณฑลไทเป ทางตอนเหนือของไต้หวัน ป้ายหลุมศพมีรูปปั้นของเติ้ง ลี่จวิน และคีย์บอร์ดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ที่พื้น เมื่อมีคนเหยียบในแต่ละแป้นจะมีเสียงออกมาแตกต่างกัน สุสานของเธอมักมีแฟนเพลงจากทั่วโลกเข้ามาเคารพและรำลึกถึงเธออยู่เสมอ และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของไต้หวัน ชื่อว่า Teresa Teng Memorial Park (Yun Garden)
สุดท้ายนี้ ผลงานอมตะตลอดกาลที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็คงเป็น เถียนมี่มี่ (甜蜜蜜) เพลงที่ได้รับความนิยมจนเปรียบเสมือนเป็นเพลงประจำตัวของเธอ ถูกนำมาใช้เป็นเพลงประกอบเบื้องหลังและเป็นชื่อในฉบับภาษาจีนของภาพยนตร์เรื่อง "เถียน มีมี่ 3650 วัน รักเธอคนเดียว" (Comrades: Almost a Love Story, 1996) ภาพยนตร์รักของฮ่องกงเมื่อปี พ.ศ. 2539 หลังการจากไปของ เติ้ง ลี่จวิน เพียงแค่ปีเดียว โดยเป็นผลงานกำกับของปีเตอร์ ชาน (Peter Chan : 陈可辛)
นอกจากนี้ก็มีเพลงรักที่กลายเป็นตำนานของตัวเธอ นั่นก็คือ เพลง 月亮代表我的心 หรือคำแปลก็คือ “The Moon Represents My Heart : พระจันทร์แทนใจฉัน” ที่เป็นที่โด่งดังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 จวบจนปัจจุบัน.
โฆษณา