8 พ.ค. 2020 เวลา 17:20 • ประวัติศาสตร์
ทหารเอกคู่พระทัยผู้กล้าก่อการกบฏกับสมเด็จพระนเรศวร
พระศรีถมอรัตน์ (เดิม)หรือ พระยาศรีไสยณรงค์
Cr.ภาพจากภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวมหาราช
นอกเหนือจากพระราชมนูทหารเอกคู่พระทัยของสมเด็จพระนเรศวรแล้ว ทุกท่านคงเคยได้ยินได้ผ่านตามาจากภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 2 ที่มีนายทหารสองท่านเข้ามาถวายตัวกับสมเด็จพระนเรศวร คือ พระชัยบุรี และพระศรีถมอรัตน์ ต่อมานายทหารทั้งสองท่านก็ได้กลายเป็นขุนศึกคู่พระทัยของพระองค์ รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระองค์มาตลอด แล้วเหตุใดหนึ่งในสองขุนศึกคู่พระทัยของพระองค์จึงกล้าที่จะคิดก่อการกบฏต่อเจ้านายอันเป็นที่รัก ยอมพลีกายร่วมรบศึกน้อยใหญ่อย่างไม่อาลัยชีวิต เรามาร่วมย้อนอดีตหาสาเหตุนี้ไปพร้อมๆกัน
หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยเหนืออุปราชมังสามเกียด พระองค์ทรงพิโรธแม่ทัพนายกองอย่างมาก ที่ไม่สามารถติดตามพระองค์ได้ทัน อันเป็นเหตุให้พระองค์ติดอยู่ในวงล้อมของทหารพม่า พระองค์จึงสั่งให้ประหารชีวิตเหล่าแม่ทัพนายกองเหล่านั้น แต่พระพนรัตน์ วัดป่าแก้วได้ทูลขอชีวิตไว้ สมเด็จพระนเรศวรจึงมีบัญชาให้แม่ทัพเหล่านั้นไปตีเมืองตะนาวศรีและทวายเพื่อทำคุณไถ่โทษเอามาถวายแก่พระองค์ให้จงได้
จากนั้นแม่ทัพนายกองทั้งหลาย ก็สามารถแก้ตัวเอาเมืองทั้งสองมาถวายสมเด็จพระนเรศวรตามพระบัญชาได้ พระองค์จึงทรงแต่งตั้งให้ "พระศรีถมอรัตน์" เป็นพระยาศรีไสยณรงค์ รั้งเมืองตะนาวศรี
หลังจากสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปปราบเขมรได้แล้วใน พ.ศ. 2136 พระยาศรีไสยณรงค์ก็น้อยใจว่าไม่ได้ร่วมทัพไปศึกปราบเขมรจึงคิดก่อการกบฏ มีการคาดกันว่าเหตุที่พระยาศรีไสยณรงค์คิดก่อการกบฏเพราะ"น้อยใจ" ที่ไม่ได้ไปร่วมรบในศึกปราบเขมรครั้งนั้น และหลุดคำพูดในทำนองว่า "หากไม่ทรงชุบเลี้ยงแล้วก็จะไปอยู่กับพม่า" ทำให้คนที่คิดอิจฉานำความไปทูลสมเด็จพระนเรศ
สมเด็จพระนเรศวรได้ฟังครั้งแรกก็ไม่เชื่อว่าจะจริง จึงออกหมายเรียกตัวพระยาศรีไสยณรงค์เข้ากรุงศรีอยุธยา แต่พระยาศรีไสยณรงค์ไม่ได้เข้ามารายงานตัว ก็ยิ่งทำให้พระองค์พิโรธหนัก จึงโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถพระอนุชา ไปเจรจาและเกลี้ยกล่อม พระยาศรีไสยณรงค์ หวังให้พระยามีชื่อนี้กลับเข้ามารับราชการดังเดิมและจะไม่เอาความ
ครั้นเมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถถึงเมืองตะนาวศรีแล้ว ก็ทรงเกลี่ยกล่อมพระยาศรีไสยณรงค์ให้กลับมารับราชการตามเดิม แต่พระยาศรีไสยณรงค์ไม่ยอม เพราะกลัวว่าจะเป็นอุบาย แต่ทว่าทหารและชาวเมืองตะนาวศรี ไม่อยากทำสงครามกับกองทัพอยุธยา จึงได้จับตัวพระยาศรีไสยณรงค์ไปมอบให้พระเอกาทศรถ สมเด็จพระเอกาทศรถไม่ทรงประหารชีวิต แต่สั่งให้ลงอาญาเฆี่ยน ๓๐ ครั้ง ความทราบถึงสมเด็จพระนเรศวร จึงทรงให้ลงอาญา "ประหารชีวิต" ตัดหัวเสียบประจานเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง และแต่งตั้งพระยาราชฤทธานนท์ครองเมืองตะนาวศรีต่อไป
โฆษณา