9 พ.ค. 2020 เวลา 22:14 • สุขภาพ
เข่าโก่งผิดรูป รักษาได้ ไม่ทรมานอีกต่อไป
เข่าโก่งเข่าฉิ่ง นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งในสังคมไทย สาเหตุหลักส่วนใหญ่เกิดเนื่องมาจากการเสื่อมของกระดูกและข้อของร่างกายโดยเฉพาะที่ตำแหน่งบริเวณข้อเข่า
ขาโก่งจากข้อเข่าเสื่อม
สาเหตุที่ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่ปล่อยให้เกิดอาการจนเกิดการผิดรูปของข้อเข่าเพราะความกลัวต่อการผ่าตัดรักษา กลัวว่าหลังการผ่าตัดแล้วจะเดินไม่ได้ บางครั้งได้ยินมาจากเพื่อนบ้านว่าอย่าไปผ่าตัดแก้ไขเลยเดี๋ยวผ่าเสร็จกลับมาก็เดินไม่ได้
ภาพเแกซเรย์แสดงเข่าโก่ง
ส่วนใหญ่โรคข้อเข่าเสื่อม ถ้านั่งอยู่ไม่ได้เดินลงน้ำหนักผู้ป่วยมักจะไม่มีความเจ็บปวด อาการปวดส่วนใหญ่มักจะเกิดในช่วงขณะที่เดิน ถ้าขาโก่งมากๆจะทำให้ผู้ป่วยเดินลำบาก เดินเซมีโอกาสหกล้มได้บ่อยขึ้นเพราะสมดุลการทรงตัวของร่างกายเสียไป ทำให้มีโอกาสเกิดกระดูกสะโพกหักจากการล้มเพิ่มมากขึ้น
สำหรับโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะเบื้องต้นนั้นสามารถให้การรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการนั่งคุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ การลดน้ำหนักของร่างกายอย่างน้อยประมาณร้อยละ 5 ของน้ำหนักปัจจุบัน การหลีกเลี่ยงการยกของหนัก รวมทั้งการใช้ยาลดปวด ยาลดอักเสบ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อเข่าเพื่อลดการอักเสบ และอาการปวด ซึ่งได้ผลดีในโรคข้อเข่าเสื่อมระยะเบื้องต้น
1
ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมานานจนทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดตลอดเวลาในขณะที่เดินลงน้ำหนัก หรือเดินขึ้นบันได ร่วมกับอาการของข้อเข่าที่ผิดรูป มีข้อเข่าโก่ง หรือข้อเข่าฉิ่งมาก จนมีผลต่อการเดิน และสมดุลของร่างกาย และเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของอาการปวดหลัง ร่วมกับอาการปวดร้าวลงสะโพก หรือต้นขา เพราะการที่ผู้ป่วยมีขาโก่งมากๆ ทำให้เวลาเดินผู้ป่วยจะเดินตัวอียง ยิ่งทำให้กระดูกสันหลังมีการเสื่อมมากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดการอักเสบของข้อต่อบริเวณกระดูกสันหลัง
ข้อเข่าเสื่อมมาก
ในบางครั้งทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทร่วมด้วยจึงมีอาการปวดร้าวลงสะโพก และขา เมื่อมีอาการปวดเข่า และขาโก่งผิดรูปมากแล้ว การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนับว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพื่อแก้ไขความผิดปกติ
ในปัจจุบันการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือการผ่าตัดเอาส่วนของผิวกระดูกบริเวณข้อเข่าที่ไม่ดีออก รวมทั้งกระดูกงอกส่วนเกินที่เกิดจากกระบวนการเสื่อม มีการตัดแต่งกระดูกเพื่อแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้น แล้วใช้วัสดุโลหะข้อเข่าเทียมครอบกระดูกในส่วนที่ตัดแต่งแล้ว
วัตถุประสงค์ในการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมเพื่อให้ผู้ป่วยมีข้อเข่าที่สามารถกลับมาใช้งานได้เหมือนปกติ แก้ไขการผิดรูปของข้อเข่า และที่สำคัญคือแก้ปัญหาเรื่องอาการปวดข้อเข่าเรื้อรัง ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น สามารถเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นสุข นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ป่วยเดินได้เป็นปกติ ไม่เซ ลดความเสี่ยงต่อการล้มที่จะเป็นสาเหตุของกระดูกสะโพกหัก และข้อเข่าเทียมที่ใช้ในผู้ป่วยให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานตลอดไป
โมเดลข้อเข่าเทียม
เนื่องจากการพัฒนาทั้งในเรื่องของ การดูแลเรื่องอาการปวดหลังผ่าตัดโดยแพทย์วิสัญญีที่จะช่วยควบคุมอาการปวดหลังผ่าตัดโดยการวางสายเพื่อให้ยาชาและยาแก้ปวดไว้ที่ตำแหน่งช่องว่างในโพรงกระดูกสันหลัง หรือในตำแหน่งของเส้นประสาทที่บริเวณต้นขา เพื่อให้มีการปลดปล่อยยาชาและยาแก้ปวดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมอาการปวดหลังผ่าตัด
ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่มีอาการปวด และสามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าข้างที่ผ่าตัดได้เร็วยิ่งขึ้น และสามารถเดินลงน้ำหนักได้ภายใน 2 วันหลังการผ่าตัด ทำให้ผลการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีการผ่าตัดได้ผลเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก และลดความทุกข์ทรมานจากอาการปวดให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างดี นอกจากนี้วิธีการนี้ยังช่วยลดผลข้างเคียงจากการให้ยาแก้ปวดมอร์ฟีนเข้าทางเส้นเลือดที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะได้มาก
สำหรับเทคนิคการผ่าตัดนั้นขนาดของแผลผ่าตัดไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการลดอาการปวดของผู้ป่วยหลังผ่าตัด ในบางครั้งการผ่าตัดด้วยขนาดแผลที่เล็กมาก จะทำให้มีการดึงรั้งของแผลมากยิ่งขึ้น ทำให้เนื้อเยื่ออ่อนรอบๆบริเวณที่ผ่าตัดมีการบาดเจ็บมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากหลังการผ่าตัด
การผ่าตัดด้วยแผลปกติจะช่วยให้แพทย์ผู้ผ่าตัดสามารถแก้ไขการผิดรูปของข้อเข่า และวางตำแหน่งของข้อเทียมได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
การพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ของข้อเข่าเทียมที่เหมาะสมกับบุคคลและความคงทนของอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมที่ใช้ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น มีการพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดแทนกระดูกส่วนที่เสื่อม ในการทดลองในห้องทดลองพบว่าถ้าลดแรงเสียดทานระหว่างผิวสัมผัสของข้อเข่าเทียมได้มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยทำให้การใช้งานของข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้นกว่าปกติ อย่างไรก็ตามอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมนั้นยังขึ้นกับเทคนิคของการผ่าตัด และประสบการณ์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การตัดแต่งกระดูในการวางตำแหน่งของข้อเข่าเทียมได้ถูกต้องเหมาะสมด้วย ท่านสามารถดู animation การผ่าตัดได้ตาม Link นี้
1
ในวันนี้ผมขอยกตัวอย่างผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมทั้ง 2 ข้างที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อเข่า เดินลำบาก ข้อเข้าผิดรูป เดินเซและหกล้มได้ง่ายซึ่งทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอย่างลำบากเป็นระยะเวลานานถึง 2 ปี ผู้ป่วยทนทุกข์ทรมานจากอาการปวดเข่ามานาน ผู้ป่วยให้ประวัติว่า “เคยเจ็บเข่าจากอุบัติเหตุเล่นฟุตบอล จากนั้นก็เจ็บเข่าเป็นๆหายๆเรื่อยมา ในระยะสองปีมานี้อาการปวดเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ คนรอบข้างเริ่มทักโดยเฉพาะคุณแม่บอกว่าเดินไม่สวย เดินแปลกๆ เดินขาไม่ตรง เราก็ไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ จนมีอาการเจ็บมากจนทนไม่ไหว มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
แพทย์ได้ส่งตรวจทำการเอกซเรย์ เห็นได้ชัดเจนว่ากระดูกเข่าของเราชิดเข้าด้านในท่ายืนตรง แพทย์ได้แนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด ตอนแรกรู้สึกกังวล แต่เห็นกระดูกเข่าของตนเองจากภาพถ่ายรังสีแล้วก็คิดว่า ถ้าปล่อยทิ้งไว้เข่าก็จะต้องชิดเข้ามากเรื่อยๆ ยังไงก็ต้องผ่าอยู่ดี และคิดว่าการเข้ารับการผ่าครั้งนี้ต้องเจ็บ ต้องปวดและใช้เวลาพักฟื้นนานแน่ๆ มีความกังวลว่ากระบวนการรักษา การผ่าตัดมันเป็นอย่างไร แพทย์จะทำอะไรกับเรามั่ง
ข้อเข่าเสื่อมมาก
แต่หลังจากการได้คุยและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่จะทำการผ่าตัด พร้อมกับเข้าไปศึกษาถึงวิธีการรักษา การปฏิบัติตัวและตัวอย่างประวัติการรักษาจากผู้ป่วยที่เคยรับการผ่าตัดรักษาเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้ว ได้คลายความกังวลลงมาบ้าง
หลังจากรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้วไม่ได้เจ็บปวดอย่างที่คิดไว้ สองวันแรกหลังผ่าไม่ปวดเลย และเริ่มไปทำกายภาพ หัดเดินด้วยไม้สี่ขา หัดเหยียดเข่างอเข่า ประมาณวันที่สี่เริ่มมีอาการระบม ปวดแพทย์ได้ให้ยาแก้ปวด อาการปวดทุเลาลง ไปทำกายภาพต่อได้สบาย มาตอนนี้หลังผ่าประมาณยี่สิบวัน รู้สึกดีมาก แผลแห้งดี งอเหยียดเข่าได้เต็มที่ ยืนขาตรง เดินตรง เหมือนกับได้ชีวิตใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง” สำหรับผู้ป่วยรายนี้ เนื่องจากเข่าของผู้ป่วยมีอาการผิดรูปทั้ง 2 ข้าง ทำให้ไม่สามารถเดินได้เป็นปกติ
หลังจากที่แพทย์ได้พูดคุยและอธิบายถึงข้อดีและความเสี่ยงจากการผ่าตัดเช่น โอกาสของการติดเชื้อ การเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นในเส้นเลือดดำ การควบคุมอาการปวดหลังการผ่าตัด ก็ได้พิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมพร้อมกันทั้ง 2 ข้างให้กับผู้ป่วย
หลังการผ่าตัดได้มีการให้ยาระงับปวดด้วยการวางสายเพื่อให้ยาลดอาการปวดที่โพรงประสาทในส่วนกระดูกสันหลัง ซึ่งผลการผ่าตัดทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้คือ ลดอาการปวดข้อเข่าให้กับผู้ป่วย แก้ไขความผิดรูปของข้อเข่าทั้ง 2 ข้าง ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้อย่างปกติ ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นอย่างมาก
 
สำหรับการปฏิบัติตนหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้แก่ การทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ข้อเข่าสามารถเหยียดได้ตรง และงอข้อเข่าได้เพิ่มมากขึ้น การฝึกเดิน และการควบคุมอาการปวดหลังผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่ยังอาจมีความจำเป็นที่ต้องได้รับยาแก้ปวดหลังการผ่าตัดประมาณ 1 – 3 เดือนแรกหลังการผ่าตัด
หลังจากนั้นก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาแก้ปวด สามารถขับรถได้หลังการผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยสามารถควบคุมการทำงานของข้อเข่าได้ดี และไม่มีอาการปวดข้อเข่าแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็ประมาณ 3 เดือนหลังการผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องไปทำหัตถการเกี่ยวกับทันตกรรม ผู้ป่วยจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดเพื่อที่จะรับยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการทำหัตถการที่ฟันมายังที่บริเวณข้อเข่าข้างที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
เข่าของผู้ป่วยหลังการผ่าตัด
ภาพเอกซเรย์ข้อเข่าเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ชีวิตมีความสุขอีกครั้งหลังการผ่าตัดครับ
ตัวอย่างผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
โฆษณา