10 พ.ค. 2020 เวลา 04:44 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โบราณสถาน อำเภอเชียงแสน: การคงอยู่ของเจดีย์โบราณ และ ความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนแม่จัน
เมืองเชียงแสนเป็นเมืองโบราณ อดีตเคยเป็นเมืองหลวงของอณาจักรล้านนา ตามประวัติศาสตร์คาดว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่ สมัยพญาแสนภู ประมาณ พ.ศ.1871 โดยพญาแสนภูไม่ทรงโปรดประทับอยู่ในเวียงเชียงใหม่ จึงทรงย้ายเมืองหลวงไปไว้ที่เชียงแสน
และเนื่องจากพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในยุคดังกล่าว พญาแสนภูจึงได้สร้างเจดีย์หลายองค์ในเมืองเชียงแสน โดยเจดีย์ที่สำคัญ เช่น เจดีย์หลวง (สร้างเมื่อปี พ.ศ. 1871) และ เจดีย์ป่าสัก (สร้างเมื่อปีพ.ศ. 1875)
โดยในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 6.0 ทั้งใน ประเทศลาว พม่า และ ไทย โดยแผ่นดินไหวเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่อย่างไม่เคยปรากฎขึ้นมาก่อน แต่ทว่าโบราณสถานต่างๆในเมืองเชียงแสนแม้จะได้รับความเสียหายก็เพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น
ยอดเจดีย์หลวง อ. เชียงแสน หักโค่นลงมาเนื่องจากแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ในประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2554
โดยตามประวัติศาสตร์แล้ว ก่อนที่จะสร้างเมืองเชียงแสนเมื่อปี พ.ศ. 1871 เคยมีเมืองโบราณตั้ง ณ บริเวณนี้ คือเมืองโยนกนครซึ่งมีความเชื่อว่าเมืองแห่งนี้ได้ล่มสลายไปเนื่องจากแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 973 โดยมีตำนานเล่าว่าชาวเมืองจับได้ปลาไหลเผือกยักษ์ แล้วนำมาแบ่งกันกินยกเว้นแม่หม้าย ในคืนนั้นเมืองโยนกก็ล่มสลายลงกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ ยกเว้นแม่หม้ายเฒ่าเพียงคนเดียวที่รอดตาย (สันนิฐานว่าเกิดแผ่นดินไหวจนเมืองถล่ม)
ตำแหน่งของเมืองเชียงแสน (ห้าเหลี่ยมสีเขียว) และ รอยเลือ่นมีพลังในบริเวณดังกล่าว และ แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ในประเทศลาว เมื่อปี พ.ศ. 2550 และ แผ่นดินไหวขนาด 6.8 ในประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2554 และ แผ่นดินไหวขนาด 6.1 ในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2557 เมืองโยนกนครที่ถูกแผ่นดินไหวพังทลายคือสามเหลี่ยมสีฟ้า<gwmw style="display:none;"></gwmw>
ดังนั้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์จึงอาจจะบอกได้ว่าเมืองเชียงแสนนั้นสร้างภายหลังเมืองโยนกนครได้ล่มสลายไปหลังจากนั้นประมาณ 900 ปี
โดยเจดีย์หลวงตามบันทึกเชื่อว่าเมื่อแรกสร้างมีความสูงประมาณ 58 เมตร (แต่ปัจจุบันเหลือความสูงประมาณ 35 เมตร) ส่วนเจดีย์ป่าสักนั้นมีความสูงประมาณ 21 เมตร ซึ่งหากพิจารณาแล้วโครงสร้างเจดีย์เหล่านี้เป็นเพียงเจดีย์อิฐก่อซึ่งไม่น่าที่จะต้านทานแรงเนื่องมาจากแผ่นดินไหวได้
และจากรูปแบบการก่อสร้างเจดีย์ป่าสักนั้นเป็นเจดีย์ลักษณะโบราณแตกต่างไปจากเจดีย์ทั่วไปเนื่องจากได้อิทธิพลการก่อสร้างมาจากอณาจักรพุกาม (พม่า) (ช่วงรุ่งเรืองสูงสุดของอาณาจักรพุกามระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 ถึง 18) เนื่องจากรูปทรงเจดีย์ช่วงบนจะเป็นลักษณะสี่เหลี่ยม และมียอดกลางใหญ่เป็นประธาน และมียอดเล็กประกอบอีก ๔ ยอด จึงอาจเรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอด
เจดีย์ป่าสัก และ สภาพความเสียหายเนื่องจากแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ในพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2554
ซึ่งสภาพที่สมบูรณ์ของเจดีย์ป่าสักและเจดีย์อื่นๆที่ยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบันแม้จะเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณใกล้เคียงจึงอาจจะอนุมานได้ว่าเจดีย์โบราณต่างๆในเมืองเชียงแสนนั้นไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เคยทำให้เมืองโยนกนครล่มสลาย (ประมาณ 600 ปีมาแล้วตั้งแต่สร้างเมืองเชียงแสน)
โดยรอยเลื่อนมีพลังที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณเมืองโยนกนคร และ เมืองเชียงแสนที่น่าจะสามารถทำให้เมืองล่มไปได้คือรอยเลื่อนแม่จันซึ่งพาดผ่านทั้ง 2 เมืองนี้โดยมีระยะห่างไม่เกิน 5 กิโลเมตร
จึงมีความเป็นไปได้อย่างสูงว่ารอยเลื่อนแม่จันไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาอย่างน้อย 600 ปี แต่ทว่ารอยเลื่อนแม่จันนี้เคยทำให้เมืองโยนคนครล่มสลายลงเมื่อประมาณ 1600 ปีมาแล้ว
เราคงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวในประเทศไทย (ซึ่งไม่ค่อยมี) ว่าเราจะรับมือภัยแผ่นดินไหวเหล่านี้อย่างไรในอนาคต
เกร็ดความคิด: ภัยแผ่นดินไหวก็เหมือนโควิด19 การ์ดเราตกเมื่อไหร่เราก็แพ้เมื่อนั้น
อ้างอิง ขอบคุณรูปภาพเจดีย์ป่าสักจาก ฐานข้อมูลศิลปกรรมในประเทศไทย http://sac.or.th/databases/thaiarts/artwork/49
โฆษณา