10 พ.ค. 2020 เวลา 09:38
8 ประเภทผู้ที่สามารถรับซากาตได้ มีดังนี้
ผู้มีสิทธิรับซะกาต
1. คนยากไร้ (ฟากีร) ได้แก่ คนที่ไม่มีทรัพย์ ไม่มีค่าเลี้ยงชีพ หรือมีแต่ไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ คนประเภทนี้สามารถรับซะกาตได้ตลอดปี
1
2. คนขัดสน (มิสกีน) ได้แก่ คนที่มีค่าเลี้ยงชีพในแต่ละวันครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่า แต่ไม่เพียงพอ คนประเภทนี้จะฐานะดีกว่าคนยากไร้ และสามารถรับซะกาตได้ตลอดปีเช่นกัน
3.เจ้าหน้าที่ซะกาต ได้แก่ เจ้าหน้าที่ พนักงาน ที่ทำหน้าที่ เก็บรวบรวมซะกาต และแจกจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิรับซะกาต บุคคลประเภทนี้รับซะกาตได้ เพียงอัตราค่าจ้างของเขาเท่านั้น
4.ผู้ถูกดลใจให้เข้ารับอิสลาม – บุคคลประเภทนี้มี 2 จำพวก
4
จำพวกแรก : ผู้ที่ยังไม่ใช่มุสลิม คนจำพวกนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาได้ในกรณีที่เพื่อให้เขาเข้ารับอิสลาม หรือให้เพื่อยับยั้งป้องกันภัยในสังคมมุสลิมอันเกิดจากน้ำมือของเขา
จำพวกที่สอง : ผู้ที่เข้าอิสลามแล้ว คนจำพวกนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาเพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวเขาให้ยืนหยัดในอิสลามได้อย่างมั่นคง หรือหวังในการเข้ารับอิสลามของคนใกล้ชิด และพวกพ้องของเขาเป็นต้น.
5. ผู้ไร้อิสรภาพ ได้แก่ ทาสที่นายอนุมัติให้ไถ่ตัวเองได้ ทาสประเภทนี้ สามารถมอบซะกาตให้เขาได้ เพื่อให้เขาเป็นอิสรภาพ ซึ่งเขาสามารถรับซะกาตได้เพียงจำนวนทรัพย์ที่ขาดในการไถ่ตัวเองเท่านั้น และได้มีนักวิชาการบางกลุ่มให้ทัศนะว่า สามารถใช้ทรัพย์ซะกาตซื้อตัวทาสผู้นั้นเพื่อการปลดปล่อยได้เช่นกัน.
6. คนมีหนี้สิน มี 2 ลักษณะด้วยกันคือ
–ลักษณะแรก : ผู้เป็นหนี้สินของตัวเอง : ได้แก่ ผู้ที่หยิบยืมทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อกิจการส่วนตัวของเขา และไม่มีลู่ทางที่จะใช้หนี้สินนั้นได้ คนลักษณะนี้ สามารถรับซะกาตได้เพื่อใช้ชำระหนี้ดังกล่าวเท่านั้น
–ลักษณะที่สอง : ผู้เป็นหนี้สินให้ผู้อื่นได้แก่: บุคคลที่กู้ยืมเพื่อขจัดปัญหาในสังคม คนลักษณะนี้ สามารถรับซะกาตได้ เพื่อใช้ชำระหนี้ดังกล่าวเท่านั้น ถึงแม้ว่าเขาจะมีฐานะร่ำรวยก็ตาม.
7. ในวิถีทางของอัลลอฮฺ หมายถึง การรบในหนทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ดังนั้นแต่นักปราชญ์รุ่นหลังได้ขยายความว่าสามารถจ่ายซะกาตแก่ผู้ที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อเป้าประสงค์ในแนวทางของอิสลาม ซึ่งพวกเขาไม่ได้รับค่าเลี้ยงดูจากคลังของอิสลาม (บัยตุลมาล)
1
8. คนเดินทาง ได้แก่ ผู้ที่เดินทางออกจากถิ่นเดิมของเขา และขาดปัจจัยในการเดินทาง จนไม่สามารถกลับภูมิลำเนาเดิมได้ ดังนั้น คนประเภทนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาได้เพียงจำนวนที่ใช้เป็นปัจจัยเดินทางกลับภูมิลำเนาเท่านั้น
บุคคลทั้งแปดจำพวกนี้ ได้ถูกกล่าวเอาไว้ในอัลกุรอาน
ความว่า : แท้จริงทานทั้งหลายนั้น สำหรับผู้ที่ยากจน และบรรดาผู้ที่ขัดสน และบรรดาเจ้าหน้าที่ในการรวบรวมมัน และบรรดาผู้ที่หัวใจของพวกเขาสนิทสนม และในการไถ่ทาสและบรรดาผู้ที่หนี้สินล้นตัว และในทางของอัลลอฮฺ และผู้ที่อยู่ในระหว่างเดินทาง ทั้งนี้เป็นบัญญัติอันจำเป็นซึ่งมาจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ อัต เตาบะฮฺ :60
โดยสรุปแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับซะกาตข้างต้น ประกอบไปด้วยเหตุผลหลักดังนี้
1. เพราะความยากจน (ประเภทที่ 1 และ 2)
2. เพราะฐานะภาพเฉพาะ (ประเภทที่ 4, 5, 6 และ 8)
3. เพราะการบริการ (ประเภทที่ 3)
4. เพราะการทำงานเพื่อสถาปนาอิสลาม (ประเภทที่ 7)
ซึ่งเมื่อพิจารณาตามเหตุผลหลัก จะเห็นได้ว่าอิสลามให้การช่วยเหลือเกื้อกูลโดย
มองรอบด้านครอบคลุมกลุ่มบุคคลต่างๆ ทั้งในแง่ของรายได้ สถานภาพทางสังคม ความแตกต่างด้านชนชั้นรวมทั้งผู้ที่ทำงานเพื่อศาสนา และยังรวมถึงผู้ที่ต้องบริหารจัดการเพื่อให้กองทุนซะกาตมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นค่าจ้างในการปฏิบัติงาน เหล่านี้ คือ กลุ่มที่อิสลามมีความปรารถนาให้เขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับซะกาตจากผู้ที่มีความสามารถ ทั้งนี้เพื่อลดช่องว่างความแตกต่างของคนในสังคม
โฆษณา