หากชีวิตเปรียบเสมือนการเดินทาง ตั๋วสองใบแรกในชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยสิ่งใด ๆ คงมีเพียงแค่ร่างกายและจิตวิญญาณ เพราะนั่นคือสิ่งที่พ่อแม่ได้มอบให้กับเราแล้ว ร่างกายและจิตวิญญาณที่ทำให้ลมหายใจแรกส่งไปถึงลมหายใจต่อไป เมื่อเวลายังคงเคลื่อนที่ ร่างกายที่เริ่มเจริญเติบโต จิตใจที่เริ่มตอบสนองต่อหลากหลายความรู้สึกมากขึ้นย่อมต้องการตั๋วใบต่อไปที่จะนำทางจนถึงจุดหมายปลายทางที่เจ้าของตั๋วปรารถนา แน่นอนว่าตั๋วแค่เพียงสองใบคงไม่สามารถพาไปยังจุดนั้นได้ ตั๋วใบต่อ ๆไปจึงเป็นสิ่งสำคัญที่อาจต้องแลกมาด้วยอะไรหลายอย่างและอาจต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการไขว่คว้า แต่เงื่อนไขคือตั๋วแต่ละใบสามารถใช้ได้เฉพาะในระยะเวลาและระยะทางที่จำกัด ฉะนั้น การเดินทางคงต้องใช้ตั๋วหลายใบกว่าจะถึงจุดหมาย
เช่นเดียวกับบทวิจารณ์บทนี้ ที่ได้ตั๋วหนึ่งใบจากนวนิยายเรื่อง ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก ซึ่งเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปีพุทธศักราช 2553 รวมทั้งวรรณกรรมดีเด่นจากสมาคมนักเขียนเวียดนาม ปีพุทธศักราช 2552 และตั๋วอีกหนึ่งใบจาก เหงวียน เหญิต อั๋นต์ นักประพันธ์ชาวเวียดนาม เจ้าของนวนิยายเรื่องนี้ ผู้ซึ่งมีผลงานนวนิยายขนาดสั้นถึง 24 เรื่อง นวนิยายชุด 2 เรื่อง อีกทั้งยังได้รับยกย่องให้เป็นนักประพันธ์เพื่อเยาวชนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศเวียดนาม
ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก เล่าย้อนเรื่องราวชีวิตของ หมุ่ย ผู้ใหญ่ที่ย้อนกลับไปเล่าเรื่องราวชีวิตในวัยเด็กของตัวเองตั้งแต่ตอนประมาณแปดขวบ เหตุเพราะรู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิตผู้ใหญ่ในปัจจุบันที่ตนต้องปฏิบัติหน้าที่การงาน ปฏิบัติตามกฎระเบียบและวัฒนธรรมต่าง ๆ แบบผู้ใหญ่ หมุ่ยเล่าเรื่องราววีรกรรมที่น่าสนุกสนานและแปลกใหม่กับเพื่อนๆ ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักคิดและหลักปฏิบัติของผู้ใหญ่ทั้งสิ้น
ในระหว่างทางแห่งการเข้าไปในโลกของนวนิยายเรื่องนี้ เราจึงได้เรียนรู้ความต่าง ที่เกิดจากการปะทะกันทางความคิดความเชื่อระหว่างเด็กและผู้ใหญ่อย่างชัดเจน ความไร้เดียงสาของเด็กมักนำมาซึ่งจินตนาการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดที่สามารถทำให้เกิดผลงานจากความคิดสร้างสรรค์อันโดดเด่นได้ แต่ความคิดเหล่านี้กลับถูกจำกัดจากความคิดความเชื่อของผู้ใหญ่ว่าไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ดังที่ผู้เขียนเปรียบเปรยไว้ว่า “ถ้าเราเปรียบสัญชาตญาณในวัยเด็กกับปากกาสีน้ำเงินแล้ว เหตุผลและการวิเคราะห์ของผู้ใหญ่คงไม่ต่างจากปากกาสีแดงของคุณครู”
การปะทะกันทางความคิดนี้ ทำให้เราตั้งคำถามต่อหลักปฏิบัติของผู้ใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นกรอบบรรทัดฐานให้เด็ก ว่าเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร หรือ กรอบบรรทัดฐานเหล่านั้นถูกต้องจริงหรือไม่ หรือ เด็กผู้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงมีสิทธิ์ที่จะทักทวงหรือไม่ หรือแม้กระทั้ง ผู้ใหญ่ผู้เป็นคนพร่ำสอนกรอบบรรทัดฐานที่ดีงามเหมาะสมเหล่านี้ สามารถปฏิบัติตามกรอบที่ตนเองสอนได้หรือไม่ อาทิเช่น เมื่อเด็กๆรวมตัวกันก่อตั้งฟาร์มสุนัขจรจัดด้วยความสงสาร ผู้ใหญ่มีสิทธิ์ขโมยสุนัขในฟาร์มของเด็กๆไปรับประทานโดยไม่ขออนุญาตหรือไม่
คำถามที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ย่อมโน้มนำให้ผู้อ่านแต่ละคนหวนคิดกลับไปสู่วัยเด็กของตนเองว่าเคยได้รับการปฏิบัติจากผู้ใหญ่อย่างไร และอาจเกิดคำถามที่ไม่อาจหาคำตอบได้อีกมากมาย อาทิ เมื่อกระทรวงศึกษาธิการในบางประเทศเกิดข้อผิดพลาดในการตรวจคะแนนข้อสอบการสอบเข้าระดับมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่มีผู้ใหญ่ออกมาแสดงความรับผิดชอบแต่อย่างได เด็กๆที่สูญเสียโอกาสสามารถทำอะไรได้บ้าง เป็นต้น หากแต่คิดในอีกด้านหนึ่ง นี้อาจถือบทเรียนที่ช่วยให้เด็กๆ เตรียมตัวและเตรียมใจและเรียนรู้ที่จะยอบรับและใช้ชีวิตอยู่กับโลกที่ผู้ใหญ่เป็นผู้มีอำนาจในสั่งการได้
เมื่อหมุ่ยได้ตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็กของตน แต่เลือกที่จะเล่าแต่เรื่องราวอันล้วนเกี่ยวเนื่องกับการปะทะกันระหว่างความคิดของเด็กและผู้ใหญ่เช่นนี้ แน่นอนว่า “เด็ก” อาจไม่ได้หมายถึงเด็ก และ “ผู้ใหญ่” อาจไม่ได้หมายถึงผู้ใหญ่อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะระบอบการเมืองการปกครองในบริบทของเรื่อง อันได้แก่ ประเทศเวียดนาม การเดินทางย้อนกลับไปเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “เด็ก” และ “ผู้ใหญ่” แท้จริงจึงอาจเป็นเพียงการนั่งอยู่กับที่ในปัจจุบันที่ผุ้แต่งต้องการสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นผู้ปกครองและประชาชน ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนเลือกใช้วัยเด็กเป็นแกนหลักในการพูดถึงสังคมแทนที่จะใช้วัยผู้ใหญ่ เพราะความเป็นเด็กยังคงถูกมองว่าไร้เดียงสา ซึ่งต่างจากวัยผู้ใหญ่ที่มีความกดดันที่ซับซ้อนกว่าคอยจำกัดการแสดงความคิดเห็นอยู่ หากผู้ประพันธ์ใช้วัยผู้ใหญ่ในการนำเสนอเรื่องราว หนังสือเล่มนี้อาจไม่ได้รับการตีพิมพ์เลยก็เป็นไปได้ ความแตกต่างทางอำนาจที่ไม่ใช่ของ “เด็ก” หรือ ประชาชนอย่างแท้จริงอาจเป็นคำตอบที่สำคัญ จากบทที่ 10 ที่กล่าวว่า “ผู้ใหญ่มักให้ความสำคัญกับความเรียบร้อยของเสื้อผ้ามากกว่าความเรียบร้อยของบุคลิกภาพ เพราะหากใส่เสื้อผ้าเปรอะเปื้อน ผู้อื่นมักพบเห็นได้ทันที แต่ความด่างพร้อยของบุคลิกภาพนั้นยากที่จะเห็นได้ หรือหากถูกค้นพบเข้าแล้ว ก็อาจมีวิธีร้อยแปดพันมาอธิบายพฤติกรรมเหล่านั้น” บ่อยครั้งเมื่อผู้ใหญ่หลายคนกระทำความผิด มักไม่มีใครสามารถเอาผิดได้ เหตุเพราะพวกเขามักซ่อนความผิดและร่องรอยหลักฐานของตัวเองเอาไว้ได้อย่างแนบเนียน ดังนั้นแล้ว ความเท่าเทียมและความยุติธรรมในแทบจะทุกระบอบการปกครองคงไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้
ยิ่งระยะทางออกไปไกลมากขึ้น เรื่องราวและประสบการณ์ที่พบเจอระหว่างทางก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อทัศนคติมากขึ้นตามไปด้วย เด็กที่มีตั๋วเพิ่มขึ้นทีละใบ ๆ จนเริ่มเดินทางมาถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความคิดของพวกเขาจึงอาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อการปรับตัวไปตามสิ่งแวดล้อมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตัวละครสี่คนที่เคยเป็นเด็กและกำลังเป็นผู้ใหญ่จึงมีทัศนคติในการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม จากบทที่ 6 ที่ได้กล่าวไว้ว่า “สรรพสิ่งล้วนแต่มีเหตุและผลของมัน คนเราต้องการสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ เพื่อจะได้สัมผัสถึงความรู้สึกแปลกใหม่ และหลังจากนั้นก็ค่อยๆ คิดปรับเปลี่ยนสิ่งอื่น ๆ ต่อไป” และเมื่อสภาพแวดล้อมในโลกที่ระบบทุนนิยมกำลังหอมหวานไปทั่ว อำนาจ ชื่อเสียง และเงินทอง ที่คนส่วนใหญ่ปรารถนา ยิ่งได้สัมผัส ยิ่งลึกซึ้ง ยิ่งหลงใหล การให้ค่าความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นค่านิยมในสังคมไปอย่างรวดเร็ว เงินกลายเป็นบทบาทที่สำคัญในชีวิตไปโดยไม่รู้ตัว คำถามต่างๆในวัยเด็กถึงความไม่เท่าเทียมกัน ระหว่าง “เด็ก” และ “ผู้ใหญ่” จึงอาจสึกกร่อนและถูกกลืนกินไปด้วยค่านิยมใหม่ๆของสังคมเหล่านี้ การสูญหายไปของการตั้งคำถามบน ความต่างทางความคิด จึงนำมาซึ่งความต่างทางชีวิต ที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้คนยกย่องและสนใจผู้ที่มีอำนาจ เงินทองเป็นพิเศษ จนมองข้ามกลุ่มคนที่ไม่ได้มีตั๋วที่นำไปสู่สิ่งเหล่านี้ ตั๋วจากนวนิยายเรื่องนี้ ทำให้เราหวนกลับไปคิดถึงคำถามต่างๆในวัยเด็กเหล่านั้น ที่ว่า หากคนกลุ่มหนึ่งกำลังครอบงำคนอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ จะทำอย่างไรถึงจะทำให้ความคิดที่แตกต่างนั้นอยู่ร่วมกันได้ ทำอย่างไรถึงจะเกิดความเท่าเทียมกันบนสังคมอย่างมากที่สุด และที่สำคัญที่สุด จะทำอย่างไรที่เจ้าหมุ่ยถึงจะมีความสุขกับวัยผู้ใหญ่ โดยไม่ต้องหลีกหนีโดยการหวนคิดกลับไปสู่วัยเด็กของตนเอง
แล้วตั๋วสองใบก็ได้นำเราถึงจุดสุดท้ายของการวิจารณ์นวนิยายเรื่อง ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก เช่นเดียวกับที่ตั๋วกำลังนำผู้เดินทางไปถึงจุดหมายที่ไหนสักแห่ง ถ้าเป็นไปได้ ไม่ว่าใครก็ตามคงอยากจะได้ตั๋วอย่างง่ายดายโดยไม่ต้องดิ้นรนอะไรมาก ไม่ว่าใครก็คงอยากออกแบบทางเดินชีวิตด้วยตัวเองกันทั้งนั้น รวมถึงคาดหวังให้คนรู้จักเป็นไปในแบบที่เราต้องการด้วย เช่นเดียวกับที่ผู้ประพันธ์ได้กล่าวไว้ในบทที่ 2 ว่า “ถ้าชีวิตคนเราสามารถวางโปรแกรมและกำหนดได้ตายตัวอย่างนั้น ทุกอย่างก็คงถูกจัดเข้ากรอบหรือกลายเป็นโมเดลสำเร็จรูป อย่างนี้แล้ว คุณจะยังรู้สึกเต็มอิ่มกับความรู้สึกได้อีกหรือเปล่า” ชีวิตที่ได้ตั๋วเพื่อไปสู่จุดหมายต่อไปอย่างง่ายดาย ชีวิตที่รู้หมดทุกอย่างแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะมีความตื่นเต้นและน่าค้นหาอยู่สักเพียงใดกัน ฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าชีวิตจะต้องเดินทางมาถึงจุดหมายไหน เรื่องราวระหว่างทางที่พบเจอจะเป็นอย่างไร ทัศนคติต่อการมองสิ่งแวดล้อมในขณะนั้นอาจเป็นสิ่งที่สำคัญมากและทำได้ง่ายที่สุด หากเรามองเพียงว่าชีวิตวัยเด็กนั้นแสนน่าเบื่อกับการต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ผู้ใหญ่สอน และชีวิตวัยผู้ใหญ่นั้นแสนเหนื่อยหน่ายกับการต้องเผชิญกับการปกครองและค่านิยมที่ตนเองไม่ต้องการ การได้รับตั๋วหนึ่งใบเพื่อกลับไปสู่วัยเด็กก็คงจะไม่มีความหมายใด ๆ แต่ใช่ว่าเราควรจะยอมรับและใช้เพียงทัศนคติบวกกับการใช้ชีวิต เพราะบางครั้งในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยลมพายุก็เป็นเรื่องยากที่จะบังคับจิตใจให้รู้สึกดีไปกับสิ่งแย่ ๆได้ ฉะนั้น การตระหนักถึงปัญหาจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่งในสังคม เริ่มต้นด้วยการเปิดใจยอมรับในความแตกต่างและปิดท้ายด้วยการเห็นใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก หรือรัฐบาลและประชาชน โลกนี้จะน่าอยู่สักเพียงไหนหากสิ่งที่แสนจะยากยิ่งนี้ปรากฏขึ้นบนโลกอย่างอัศจรรย์ เพราะทุกคนต่างวาดฝันให้การเดินทางดำเนินไปด้วยความสวยงามแม้จะใช้ตั๋วหลายใบ โดยที่ไม่จำเป็นต้องกลับไปสู่วัยเด็ก เด็กเองคงไม่อยากเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่คิดถึงเพียงช่วงเวลาวัยเด็กเช่นกัน