10 พ.ค. 2020 เวลา 12:02 • ข่าว
Insight : อย่ามองไปที่ตลาดหุ้นเพื่อหาคำตอบว่า "เมื่อไหร่วิกฤตจะจบลง"
Don’t Look to Stock Market to Tell You When Virus Crisis Is Over.
เมื่อคุณมองไปที่กราฟของดัชนี S&P 500 และดูเหมือนมันกำลังบอกคุณอย่างชัดเจนแล้วว่า "นักลงทุนกำลังคาดหวังให้วิกฤต Coronavirus จบลงอย่างรวดเร็ว และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวภายในเวลาอันสั้น"
หลายคนอาจกำลังคิดแบบนั้น และคิดว่าสิ่งเดียวที่พวกเขาต้องรอก็คือ "สัญญาณที่บอกว่าทุกอย่างได้คลี่คลายลงแล้ว" และจะกลายเป็นหนทางแห่งบทสรุปของภัยพิบัติ COVID-19 รวมถึงเป็นการกลับมาของ "ช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรือง"
แต่หากหันมามองเศรษฐกิจในภาค Real Sectors เราก็จะพบว่า "มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น" โดยขออ้างอิงจากความคิดเห็นของบริษัทเอกชนต่าง ๆ ในการประชุมบอร์ดผู้บริหารระดับสูงร่วมกับนักลงทุนและสื่อต่าง ๆ
เหล่าผู้บริหารกล้าให้คำแนะนำอย่างชัดเจนกับลูกค้าว่า "เศรษฐกิจจะใช้เวลาในการฟื้นตัวอย่างยาวนาน ไม่ใช่การฟื้นตัวแบบ V-Shaped อย่างที่หลายคนกำลังคาดหวัง"
คำแนะนำดังกล่าวได้ระบุชัดเจนให้นักลงทุน (รวมถึงประชาชน) เตรียมตัวรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยาวนาน และฟื้นตัวได้ช้า"
Lori Calvasina หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การเทรดหุ้นสหรัฐฯ ที่บริษัท RBC ได้เขียนลงรายงานของเขาในสัปดาห์นี้ว่า "นั่นไม่ใช่ราคาในปัจจุบันของตลาดหุ้น"
Comment : จริง ๆ แล้วราคาหุ้นในตลาดหุ้นตอนนี้ ก็คือราคาที่ซื้อขายกันจริง ๆ นั่นแหละครับ แต่ในบริบทของ Lori Calvasina เขาหมายถึงว่า "ตลาดหุ้นในตอนนี้ไม่ได้สะท้อนราคาที่แท้จริง อย่างที่มันควรจะเป็น"
"เหตุผลของการมองโลกในแง่ร้ายควรถูกส่งต่อสู่สายตาของประชาชน ขณะที่ไวรัสได้ทำให้ชาวอเมริกันกว่า 1.3 ล้านคนติดเชื้อ และเสียชีวิตแล้วกว่า 80,000 คน"
Comment : ตรงนี้ จริง ๆ แล้วเขาหมายถึงความต้องการที่จะให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงความรุนแรงของวิกฤตครั้งนี้
ทำไมบอร์ดผู้บริหารถึงกล่าวเช่นนั้น ?
เรื่องนี้ World Maker อยากให้ผู้อ่านลองมาดูตัวเลขของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในภาค Real Sectors กันครับ รับรองว่าจะเห็นภาพได้อย่างชัดเจน ดังนี้
(1.) ตัวเลขผู้ตกงานนอกภาคการเกษตรสูงถึง 20.5 ล้านคน และอัตราการว่างงานคิดเป็น 14.7% ซึ่งสูงกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก
(2.) อุตสาหกรรมทุกประเภททรุดตัวลงอย่างหนัก โดยเฉพาะการโรงแรมและการท่องเที่ยว ซึ่งมีการสูญเสียงานไปแล้วกว่า 7.7 ล้านตำแหน่ง รองลงมาก็คือภาคการศึกษาและบริการสุขภาพ ซึ่งสูญเสียงานไปกว่า 2.5 ล้านตำแหน่ง
(3.) อัตราการจ้างงานแบบไม่เต็มวัน (Underemployment Rate) พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 22.8% ซึ่งข้อมูลในภาพจะแสดงย้อนหลังไปถึงเพียงปี 1994
(4.) อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีอย่างหนึ่งคือ "ค่าเฉลี่ยของค่าจ้างรายชั่วโมงเพิ่มถึง 4.7% ซึ่งคิดเป็นเกือบ 8 เท่าของการเพิ่มขึ้นสูงสุดตลอดกาลในครั้งก่อนที่ 0.6%"
แต่ข่าวร้ายก็คือ "ค่าเฉลี่ยดังกล่าวเป็นเพียงค่าปลอม" เพราะคิดจากการจ่ายเงินเดือนทั้งหมด (Total Payroll) หารด้วยจำนวนชั่วโมงการทำงานทั้งหมด (Total Hours Worked)
พูดง่าย ๆ ก็คือคนทำงานลดลง แต่ยังได้เงินเดือนเต็ม (หรือเผลอ ๆ เยอะกว่าเดิม) จากมาตรการช่วยพยุงเศรษฐกิจของรัฐบาล
(5.) อัตราการว่างงานในแรงงานชาวสเปน และละตินอเมริกา เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกันที่ระดับ 18.9% ขณะที่อัตราการการว่างงานของแรงงานผิวขาวอยู่ที่ 14.2%
(6.) สำหรับผู้หญิงที่บรรลุนิติภาวะแล้ว อัตราการว่างงานกำลังอยู่ในระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 15.5% ส่วนทางฝั่งผู้ชายอยู่ที่ 13% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1948
(7.) อัตราการมีส่วนร่วมของคนวัยทำงาน (ช่วงอายุ 25-54 ปี) ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 86.4% จาก 89% ขณะที่ทางฝั่งผู้หญิงก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเช่นกัน ซึ่งโดยรวมแล้วมีการสูญเสียงานของผู้คนในวัยทำงานถึง 3.36 ล้านตำแหน่ง
(8.) สัดส่วนการจ้างงานต่อประชากรลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 51.3% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวรุนแรงกว่าวิกฤต Great Depression เสียอีก
(9.) สัดส่วนการเลิกจ้างชั่วคราว เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 78.3% จาก 26.5% ในเดือนมีนาคม ซึ่งมันหมายความว่าประมาณ 4 ใน 5 คนของชาวอเมริกันที่ตกงาน ยังไม่ใช่การตกงานถาวร (แต่กำลังเปลี่ยนเป็นถาวรมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ วันที่ผ่านไป)
(10.) ตัวเลขเปรียบเทียบการจ้างงานในภาคอตสาหกรรมอื่น ๆ แสดงให้เห็นดังรูปด้านล่างนี้ โดยผู้อ่านจะสังเกตได้ว่ามีทั้งอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ แต่ประเด็นสำคัญก็คือ "อุตสาหกรรมที่เสียประโยชน์นั้นได้รับผลกระทบรุนแรงกว่ามาก"
(11.) การขนส่งทางบกลดลงถึง 62% ซึ่งรุนแรงกว่าวิกฤตซัพไพรม์เมื่อปี 2008 อย่างมาก
จากข้อมูลทั้งหมดในภาค Real Sectors ที่ World Maker ได้รวบรวมมาเสนอให้ได้รับชมกัน อยากให้ท่านผู้อ่านได้คิดวิเคราะห์ดูว่าทำไมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถึงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา? ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว เศรษฐกิจโลกยังไม่สามารถกลับมาเดินหน้าได้อย่างนั้น
โดยข้อทิ้งท้ายบทความนี้ด้วยภาพที่แสดงให้เห็นถึงจำนวนเงินที่ FED เข้าไปซื้อพันธบัตรและหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนนับตั้งแต่มีการประกาศ Q.E. แบบ Unlimited ออกมา
ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2020 จนถึงปัจจุบัน (9 พ.ค. 2020) FED ได้ซื้อทรัพย์สินของสหรัฐฯ ไปแล้วทั้งสิ้น 1.767 ล้านล้านดอลลาร์ !!
(1.) ตัวเลข 1.767 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยได้เท่ากับ 56,579,340,000,000 บาท (56.58 ล้านล้านบาท)
(2.) ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นมากกว่า 3 เท่า (300%) ของ GDP ประเทศไทย !! โดยขนาด GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 5.2 แสนล้านดอลลาร์
(3.) นี่แค่เฉพาะ FED นะครับ ยังไม่รวมงบแยกอื่น ๆ จากกระทรวงการคลัง ฯลฯ อีก ก็ลองคิดดูว่าอุ้มตลาดกันหนักแค่ไหน แล้วเมื่อเป็นเช่นนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มันจะมาแดงให้คุณเห็นได้อย่างไร
(4.) การที่ FED เข้าซื้อพันธบัตร และหุ้นกู้โดยตรงเช่นนี้ ส่งผลกระทบกับทุกบริษัทที่ถือสินทรัพย์ประเภทเดียวกันอยู่
1
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา