10 พ.ค. 2020 เวลา 11:40 • การศึกษา
จริงรึไม่ คนทัองห้ามเลี้ยงแมว
บ่อยครั้งที่แมว สุนัขและสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้าง บางตัวต้องกลายเป็นแพะรับบาป เพราะผู้เลี้ยงขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งความจริงแล้วโรคท็อกโซพลาสโมซิสนั้น ติดต่อสู่คนได้ยากมาก เว้นเสียแต่ว่า คน ๆ นั้นจะมีพฤติกรรมเสี่ยงตามที่กล่าวไป ผู้หญิงตั้งท้องจึงสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับน้องหมาและสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ได้
✅รับมืออย่างไรเมื่อผู้หญิง (กำลัง) เข้าสู่วัยตั้งท้อง
 
ความจริงแล้ว หญิงที่ตั้งท้องไม่ได้ต้องห้ามเลี้ยงสัตว์ เพียงแต่ต้องรับมือให้เป็นเท่านั้น ซึ่งควรต้องเริ่มทำตั้งแต่ก่อนที่จะตั้งท้อง เพราะโรคท็อกโซพลาสโมซิสสามารถติดต่อได้กับทุกคน หากติดในช่วงระหว่างตั้งท้องหรือก่อนตั้งท้องไม่นาน ก็อาจมีการส่งผ่านเชื้อไปสู่ลูกในท้องได้ โดยหากใครมีแผนจะมีน้อง แนะนำให้ไปตรวจเลือดก่อน ว่ามีแอนติบอดีต่อเชื้อ Toxoplama spp. หรือไม่
✅โรคท็อกโซพลาสโมซิส คืออะไร
โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโปรตัวซัวที่ชื่อ Toxoplama gondii ซึ่งติดต่อกันในสัตว์เลือดอุ่นทั่วไป (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ปีก รวมถึงคนและสุนัข) สามารถพบได้เกือบทั่วโลก น้องแมวและสัตว์ตระกูลแมวจัดเป็นโฮสต์สำคัญตามธรรมชาติ รับเชื้อผ่านการกินหนูและนกที่มีเชื้อ หรือรับเชื้อมาจากสิ่งแวดล้อม เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแมวแล้ว จะเข้าไปแบ่งตัวและอาศัยอยู่ตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ หลังจากนั้นก็จะพัฒนาเข้าสู่ระยะโอโอซีสต์ (Oocyst) แล้วขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ หลังจากที่แมวได้รับเชื้อไปแล้ว 3-5 วัน และจะแพร่เชื้อต่อไปอย่างนั้นอีกประมาณ 3 สัปดาห์ โดยแมวที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการป่วย ยกเว้นแมวตัวนั้นจะอ่อนแอ เป็นแมวเด็ก หรือเป็นแมวมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
 
✅เชื้อนี้ติดต่อสู่คนอย่างไร
 
ความจริงแล้วโรคท็อกโซพลาสโมซิสติดต่อสู่คนได้หลายช่องทาง คนส่วนใหญ่ติดต่อผ่านทางการสัมผัสและรับเอาโอโอซีสต์เข้าสู่ร่างกายทางปาก เช่น ไปสัมผัสอุจจาระของแมวหรือเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในดิน ในทราย หรือในน้ำแล้วไม่ได้ล้างมือ จากนั้นเอามือไปหยิบจับอาหารเข้าสู่ปาก หรือติดจากการกินเนื้อดิบ ๆ ที่มีระยะซีสต์อยู่ภายในเนื้อเยื่อ (tissue cyst) เช่น เนื้อนก เนื้อไก่ เนื้อหนู เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ ฯลฯ แต่ประเด็นที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับโรคนี้ก็คือ กลุ่มผู้หญิงที่กำลังตั้งท้อง เพราะหากเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายของคุณแม่แล้ว จะส่งต่อไปยังลูกน้อยในท้องผ่านทางรกได้ อาจเป็นสาเหตุทำให้แท้งลูก หรืออาจทำให้ลูกที่คลอดออกมาเกิดความผิดปกติทางร่างกายได้ เช่น หูหนวก ตาบอด มีอาการทางระบบประสาท ปัญญาอ่อน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีรายงานพบว่า สามารถติดต่อผ่านทางการถ่ายเลือด และการปลูกถ่ายอวัยวะได้ด้วย
✅น้องหมาสามารถนำโรคนี้มาสู่คนได้หรือไม่
 
สถานภาพของน้องหมาก็คล้าย ๆ กับคนเรา คือ ส่วนใหญ่จะรับเชื้อต่อมาจากสัตว์อื่น ๆ ถามว่าคนสามารถติดโรคนี้จากน้องหมาได้หรือไม่ ตอบสั้น ๆ ว่า “ได้” แต่ขออธิบายต่อว่า...คนที่ติดต่อโรคนี้มาจากน้องหมา มักเกิดจากการไปเล่นกับน้องหมาแล้วสัมผัสเอาเชื้อที่มีอยู่บนตัวหรือบนขนที่ปนเปื้อนอุจจาระของแมว สุนัขจึงจัดว่าเป็นเพียงแค่ Mechanical vector ของโรคนี้เท่านั้น ไม่ค่อยพบการแพร่เชื้อผ่านทางอุจจาระเหมือนกับในแมว และไม่สามารถแพร่โรคสู่คนจากการกัดได้
สำหรับการดูแลและป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยง ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน ดังนั้นเจ้าของที่เลี้ยงสัตว์ ถ้าเป็นไปได้ควรเลี้ยงแบบ indoor หรืออยู่แต่เพียงในบ้าน (โดยเฉพาะแมว) และควรควบคุมประชากรหนูควบคู่กันไปด้วย ผู้หญิงที่ตั้งท้องควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอุจจาระแมวหรือกระบะทรายโดยตรง ให้สวมถุงมือป้องกัน หรือให้คุณพ่อบ้านเป็นคนจัดการกับอุจจาระของแมวแทน และทุกครั้งหลังการสัมผัสตัวสัตว์เลี้ยง (รวมถึงน้องหมาด้วย) จะต้องล้างมือให้สะอาด ก่อนที่จะใช้มือจับอาหารเข้าปาก
✅ หลีกเลี่ยงการกินเนื้อดิบ ๆ ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ผักและผลไม้ต่าง ๆ
✅ไม่ดื่มน้ำสกปรก
✅ไม่ดื่มนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์
✅ไม่ให้สัตว์เลี้ยงกินหรือแอบไปกินอาหารดิบ ๆ เช่นกัน
อาหารทุกอย่างต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมารับประทานเพราะอาจปนเปื้อนเชื้อมาจากสิ่งแวดล้อมที่ปลูกได้เช่นกัน
 
แม่หมอ ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่และลูกน้อยทุกคน ขอให้มีสุขภาพที่แข็งแรงตลอดไปนะคะ
#วิภาวดีสัตวแพทย์
#คนท้องกับแมว
โฆษณา