11 พ.ค. 2020 เวลา 09:32 • การศึกษา
Gold Update : ข้อมูลสำคัญล่าสุดในตลาดทองคำ
Session 1 : ข้อมูลภาคสรุป
กองทุน ETF ยังคงเข้าซื้อทองคำจำนวนมากอย่างต่อเนื่องมาตลอด 6 เดือน โดยยอดรวมในเดือนเมษายนอยู่ที่ 170 ตัน คิดเป็นมูลค่า 9.3 พันล้านดอลลาร์ และทำให้ราคาทองคำใน Term ของ Dollar สูงขึ้น 5.8%
ขณะเดียวกัน สถิติการถือครองทองคำของกองทุน ETF ก็ยังคงเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่องที่ 3,355 ตัน และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ์ของกองทุนอยู่ที่ 1.84 แสนล้านดอลลาร์
กองทุนจาก North America ได้มีการเข้าซื้อทองคำมากขึ้นในเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะกองทุน SPDR® Gold Shares และ iShares Gold Trust ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็น Inflow ถึง 71% ของการเข้าซื้อทั้งหมด
สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ "กองทุน ETF ทองคำพวกนี้มีการเติบโตถึง 80% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา"
โดยรวมแล้ว Inflow หรือกระแสเงินไหลเข้าตลาดยังคงแข็งแกร่งและสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่ได้สูงเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ โดยใน 12 เดือนล่าสุดมียอด Inflow อยู่ที่ 879 ตัน ซึ่งสูงกว่าระดับเมื่อปี 2009 และ 2016
อย่างไรก็ตาม Inflow ใน 6 เดือนที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ 457 ตัน ซึ่งน้อยกว่า 2 ใน 3 ของยอด Inflow เฉลี่ย 6 เดือนของปี 2009 และ 2016
สิ่งที่ควรติดตามในตลาด
(1.) จนถึงปัจจุบันนี้ มูลค่าของทองคำที่สูงขึ้นมักจะสะท้อนให้เห็นถึงช่วงเวลาของวิกฤต และผลกระทบจากมาตรการ Q.E.
(2.) ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ยังคงมุ่งมั่นที่จะออกมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจ แม้ว่าการระบาดของ COVID-19 จะลดลง และจะมีพัฒนาการทางด้านการแพทย์ที่อาจช่วยให้เราสามารถกลับไปสู่สภาวะปกติได้
(3.) ตัวเลข GDP ล่าสุดของสหรัฐฯ และอังกฤษ ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบเชิงลบอย่างรุนแรงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
(4.) ขณะที่ความต้องการทองคำในภาคเครื่องประดับและเทคโนโลยี ได้รับผลกระทบเชิงลบจาก COVID-19 แต่ Demand ทองคำในด้านการลงทุนยังคงแข็งแกร่ง (เช่นการเข้าซื้อของกองทุน ETF) ซึ่งอาจชดเชยกับความอ่อนแอในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ทั้งหมด
Session 2 : ข้อมูลเชิงลึก
Regional Overview : มุมมองในระดับภูมิภาค
ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและผลกระทบจาก COVID-19 รวมถึงการแทรกแซงของธนาคารกลาง ได้ส่งผลให้เกิดกระแสเงินไหลเข้าสู่ตลาดทองคำ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมาจากการเข้าซื้อของกองทุน ETF ในทุกภูมิภาค
(1.) กองทุนจาก North American เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดถึง 144 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7.8 พันล้านดอลลาร์ และคิดเป็น 8.3% AUM *
(2.) กองทุนจาก European ซื้อทองคำเพิ่ม 20 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ (1.4% AUM)
(3.) กองทุนจากเอเชีย (หลัก ๆ คือจีน) ซื้อทองคำเพิ่ม 2.9 ตัน คิดเป็นมูลค่า 206 ล้านดอลลาร์ (3.9% AUM)
(4.) กองทุนจากภูมิภาคอื่น ๆ มีการเติบโตขึ้น 5.8% โดยมีการซื้อทองคำเพิ่ม 3.3 ตัน คิดเป็นมูลค่า 172 ล้านดอลลาร์
ข้อสังเกต : มูลค่าสุทธิของการเข้าซื้อดูเหมือนจะน้อยกว่าฝั่งเอเชีย แต่ปริมาณที่เข้าซื้อกลับเยอะกว่า โดยสาเหตุคาดว่าจะมาจากราคาซื้อขายที่ไม่เท่ากันในแต่ละภูมิภาค
* AUM ย่อมาจาก Asset under Management หรือก็คือ สินทรัพย์ทั้งหมดที่ถือครองนั่นเอง
Price Performance : ประสิทธิภาพของราคา
มูลค่าทองคำใน Term ของ US Dollar ปิดในรอบเดือนเมษายนด้วยระดับเหนือ 1,700 $/Oz โดยระดับราคาดังกล่าวนี้ เราไม่ได้เห็นมาตั้งแต่ปี 2012 แล้ว
ราคาในปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดตลอดกาลเพียง 10% ใน Term ของ US Dollar และยิ่งไปกว่านั้นคือราคาทองคำกำลังทำระดับสูงสุดตลอดกาลเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ดอลลาร์ออสเตรเลียดอลลาร์แคนาดา เงินยูโร เงินปอนด์อังกฤษ เงินเยนญี่ปุ่น หรือแม้แต่เงินหยวนของจีน
นอกจากนี้ ยังระดับสูงสุดในระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินฟรังก์ ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ปริมาณการซื้อขายทองคำทั่วโลก (Gold Global Trading Volumes) มีแนวแน้มไปในทางเดียวกับทรัพย์สินหลักอื่น ๆ โดยมีการทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วในเดือนเมษายน โดยมี Volumes เฉลี่ยอยู่ที่ 1.4 แสนล้านดอลลาร์/วัน ซึ่งลดลงประมาณ 40% จากระดับ 2.36 แสนล้านดอลลาร์/วันในเดือนมีนาคม
อย่างไรก็ตามตัวเลข 1.4 แสนล้านดอลลาร์/วัน ยังถือว่าอยู่ในระดับเดียวกันกับค่าเฉลี่ยการซื้อขายต่อวันของปี 2019 ที่ 1.45 แสนล้านดอลลาร์/วัน
ภาพด้านล่างนี้แสดงให้เห็นถึงมูลค่าการซื้อขาย Gold Spot ในตลาด LBMA (London Bullion Market Association) ซึ่งทรุดตัวลงในเดือนเมษายน
ทางฝั่งตลาด COMEX มีปริมาณ Position Long สุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนเมษายน หลังจากร่วงลงอย่างรุนแรงในเดือนมีนาคม จากระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 1,209 ตัน (6.3 หมื่นล้านดอลลาร์) ในเดือนกุมภาพันธ์
ขณะเดียวกัน ความผันผวนของตลาดทองคำในเดือนเมษายนลดลงจากระดับที่สูงมาก (Extreme Levels) ในเดือนมีนาคม แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูง และกำลังบอกเราอย่างเป็นนัย ๆ ว่าตลาดยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ หรือในอีกแง่หนึ่งมันอาจกำลังบอกเราว่านักลงทุนคาดหวังให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ในปีนี้ ราคาทองคำแสดงประสิทธิภาพได้ดีกว่าทรัพย์สินอื่น ๆ เกือบทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นกว่า 11% ในเทอมของ US Dollar ในขณะที่พันธบัตรและราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ทั้งหมดเหล่านี้ได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายทางการเงินและการคลังของธนาคารกลางรวมถึงรัฐบาลทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต้องเผชิญกับความผันผวนที่รุนแรงขึ้นอย่างมากของตลาด โดยเฉพาะดัชนี S&P 500 ซึ่งแสดงประสิทธิภาพได้ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 1987 เลยทีเดียว
ปัจจุบัน สถานการณ์ความผันผวนของตลาด และพฤติกรรมของราคาสินทรัพย์ทั่วโลก ได้เปิดโอกาสให้ทองคำเป็นทรัพย์สินที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดอย่างหนึ่งในการรักษาความมั่งคั่งของคุณเอาไว้
รายงานการลงทุนล่าสุดของ World Gold Countil ในหัวข้อ "ทองคำและการป้องกันความเสี่ยง" ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า
"เมื่อเราเปรียบเทียบระหว่างพอร์ตการลงทุนที่มีการจัดสรรทองคำไว้ กับพอร์ตอื่น ๆ ที่มีการบริหารความเสี่ยงแบบกระจายตัว* พบว่าพอร์ตที่มีการกระจายความเสี่ยงนั้น มีประสิทธิภาพด้อยกว่าพอร์ตที่จัดสรรทองคำเอาไว้"
* กล่าวคือถือสินทรัพย์อื่น ๆ นอกจากทองคำไว้หลายอย่าง
"และเมื่อเราเปรียบเทียบตัวชี้วัดที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ผลตอบแทน, ความผันผวน, ค่าผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง, และการป้องกันขาดทุน จึงพบว่าทองคำเป็นทรัพย์สินที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาทรัพย์สินทั้งหมด"
Comment : ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่ได้แปลว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นโปรดยับยั้งชั่งใจ และคิดวิเคราะห์ รวมถึงบริหารความเสี่ยงก่อนลงทุนเสมอ
Looking Forward : เมื่อมองไปยังอนาคต
จากบันทึกล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม ความแข็งแกร่งของราคาทองคำได้สะท้อนให้เห็นว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์เดียวกับวิกฤตซัพไพรม์เมื่อปี 2008
ผลของการ Q.E. โดยรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายทางการเงินที่คล้ายคลึงกันทั่วโลก ได้ส่งผลให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้นถึง 130% จนขึ้นไปทำระดับสูงสุดตลอดกาลในเดือนกันยายนปี 2011
สหรัฐฯ ได้แสดงตัวเลข GDP ซึ่งลดลง 4.8% ในไตรมาสแรกของปี 2020 โดยเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2008
ทางฝั่งยุโรป ดูเหมือนจะร้ายแรงที่สุด ซึ่งโดยรวมแล้ว GDP ในไตรมาสแรกของทั้งภูมิภาคหดตัวลงประมาณ 14.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ถือเป็นตัวเลขรายไตรมาสที่เลวร้ายที่สุดตลอดกาลเลยทีเดียว
โดยสรุปแล้ว สถานการณ์ความไม่แน่นอนในปัจจุบัน ตลอดทั้งความกังวลว่าธนาคารกลางจะสามารถพยุงตลาดได้มากแค่ไหน จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีความต้องการลงทุนในทองคำอย่างต่อเนื่อง (โดยเฉพาะกองทุน ETF)
Individual Flows : รายละเอียดปลีกย่อยของกองทุน ETF ทองคำ
SPDR® Gold Shares และ iShares Gold Trust เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของกองทุน ETF ทั่วโลก โดยมีสัดส่วนการซื้อกว่า 71% จากกระแสหลักไหลเข้าตลาดทั้งหมด
North America
(1.) SPDR® Gold Shares ได้ซื้อทองคำเพิ่ม 89.5 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4.9 พันล้านดอลลาร์ (9.7% AUM)
(2.) iShares Gold Trust ได้ซื้อทองคำเพิ่ม 31.2 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ (8.5% AUM)
(3.) SPDR® Gold MiniShares led low-cost ซื้อทองคำเพิ่มขึ้น 21% คิดเป็นมูลค่า 334 ล้านดอลลาร์
(4.) Aberdeen Standard Physical Gold Shares ซื้อทองคำเพิ่มขึ้น 17% คิดเป็นมูลค่า 245 ล้านดอลลาร์
Europe
(1.) Invesco Physical Gold ซื้อทองคำเพิ่ม 13.9 ตัน คิดเป็นมูลค่า 749 ล้านดอลลาร์ (7.8% AUM)
(2.) iShares Physical ซื้อทองคำเพิ่มขึ้น 7.2 ตัน คิดเป็นมูลค่า 420 ล้านดอลลาร์ (4.2% AUM)
(3.) Switzerland เป็นประเทศเดียวที่มีการไหลออกของทองคำมากกว่าการซื้อเข้า โดยกองทุน UBS ETF Gold ขายทองคำไปถึง 15.9 ตัน คิดเป็นมูลค่า 855 ล้านดอลลาร์ (37% AUM) และ Pictet CH Physical ขายทองคำไป 4.2 ตัน คิดเป็นมูลค่า 235 ล้านดอลลาร์ (81% AUM)
Asia
(1.) ประเทศจีน กองทุน Huaan Yifu ซื้อทองคำเพิ่มขึ้น 3.2 ตัน คิดเป็นมูลค่า 186 ล้านดอลลาร์ (15% AUM) ขณะที่ Bosera ขายทองคำไป 1.8 ตัน คิดเป็นมูลค่า 89 ล้านดอลลาร์ (11% AUM)
Long-term trends : แนวโน้มในระยะยาว
(1.) กองทุน ETF ทองคำเติบโตถึง 80% ในปีที่ผ่านมา
(2.) ทรัพย์สินในกองทุน ETF ทองคำทั่วโลกเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดย Total AUM เพิ่มขึ้นถึง 80%
(3.) ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้งยอดการถือครองทองคำ และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ETF ทองคำ ได้ทำระดับสูงสุดตลอดกาลอย่างต่อเนื่อง
(4.) กองทุนทองคำของอังกฤษยังคงครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดในยุโรปที่ 47% และ 21% ของทั้งโลก
(5.) กองทุนขนาดเล็กในสหรัฐฯ ได้มีกระแสไหลเข้าอย่างต่อเนื่องในช่วง 23 เดือนที่ผ่านมา และได้เพิ่มการถือครองทองคำทั้งหมด 91 ตัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ประมาณอย่างคร่าว ๆ แล้วเท่ากับปริมาณกระแสไหลเข้าจากกองทุนทั้งหมดในทวีปเอเชีย
ภาพด้านล่างนี้แสดงให้เห็นถึงข้อมูลอัพเดทล่าสุด ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนกับข้อมูลที่ผู้เขียนได้เรียบเรียงมาก่อนหน้านี้เล็กน้อย
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา