11 พ.ค. 2020 เวลา 06:34 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ก่อนหน้าสึนามิปี 2547 เคยมีเหตุการณ์สึนามิเกิดมาก่อนหน้านั้นบ้างไหม? และ เคยทำให้เมืองใดหายไปจากประวัติศาสตร์?
สีนามิภาคใต้เมื่อปี พ.ศ. 2547 นั้นยังอาจจำฝังอยู่ในใจของใครหลายๆคน โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก แต่ทว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไปผู้คนก็ต่างหลงลืมเหตุการณ์เหล่านี้ไปเรื่อยๆ ทำให้เราประมาทและไม่คิดว่าเหตุการณ์ประเภทนี้จะเกิดขึ้นได้จริง
สีนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 จังหวัดกระบี่
แต่ทว่าหากเราพยายามค้นหาหลักฐานทางธรณีวิทยา และ หลักฐานอื่นๆทางประวัติศาสตร์ เราอาจจะพบสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าเคยเกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกันกับสึนามิที่เคยเกิดขึ้นบริเวณภาคใต้เมืองไทยเช่นเดียวกัน
โดยปกติแล้วในเวลาคลื่นสึนามิซัดเข้าฝั่งจะพาซากตะกอนต่างๆมาด้วยซึ่งซากตะกอนเหล่านี้ไม่ได้ไหลลงทะเลไปแต่จะถูกฝังกลบในบริเวณที่ชายฝั่งที่โดนคลื่นสึนามิซัดเข้าฝั่งและทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว
ตัวอย่างหลุมเพื่อทำการศึกษาซากตะกอนสึนามิ ที่จังหวัด พังงา Jankaew et al. (2008)
แต่ทว่าการแยกแยะตะกอนเนื่องมาจากสึนามิหรือพายุนั้นจำเป็นที่จะต้องมีความชำนาญในการแยกแยะเนื่องมาจากซากตะกอนทั้งสองแบบนั้นมีลักษณะการเกิดที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปแล้วตะกอนจากคลื่นสึนามินั้นจะพบได้ในบริเวณที่ลึกเข้าไปในชายฝั่งมากกว่าตะกอนที่เกิดเนื่องจากพายุ (สึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 นั้นลึกเข้าไปในชายฝั่งเขาหลักถึง 2 กิโลเมตร)
โดยการแยกแยะซากตะกอนสึนามิจากซากตะกอนเนื่องจากพายุในอีกรูปแบบคือซากตะกอนสึนามินั้นจะปรากฎซากสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลมากกว่าเนื่องมาจากว่าพลังงานของคลื่นสึนามินั้นค่อนข้างสูงกว่ามากหากเทียบกับคลื่นที่เกิดจากพายุ
ซากหอยที่พบจากการขุดค้นตะกอนสึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่จังหวัดพังงา Yawasangratt et al. (2011)
ในบางพื้นที่เราอาจจะเห็นตะกอนสึนามิได้หลายๆชั้นซึ่งเเสดงถึงเหตุการณ์สึนามิในหลายช่วงเวลา แต่ทว่าตะกอนจากพายุนั้นจะพบได้ถึ่กว่าตะกอนเนื่องจากสึนามิ
ตะกอนสึนามิปี พ.ศ. 2547 (สีเหลือง) ที่พบบนเกาะคอเขา จ. พังงา Yawasangratt et al. (2011)
ตำแหน่งการขุดสำรวจซากตะกอนสึนามิ เกาะพระทอง จ. พังงา โดยสามารถพบตะกอนสึนามิได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากสึนามิปี พ.ศ. 2547 แต่ก็ปรากฎหลักฐานสึนามิที่เกิดมาก่อนปี พ.ศ. 2547 ด้วยเช่นกัน Jankaew et al. (2008)
โดยงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ไทยบนเกาะพระทอง และ เกาะ คอเขา จ. พังงา Jankaew et al. (2008) และ Yawasangratt et al. (2011) ในช่วง 4-5 ปีภายหลังสึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 นั้นพบหลักฐานอยู่เป็นจำนวนมากแต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือเรายังพบหลักฐานตะกอนสึนามิเมื่อก่อนปีพ.ศ. 2547 ด้วยเช่นกัน โดยได้มีการประมาณการอายุของชั้นตะกอนดังกล่าวว่าน่าจะเกิดขึ้นมาก่อนหน้าสึนามิปี พ.ศ. 2547 ประมาณ 550 - 700 ปี
แต่ปัญหาก็คือนักวิทยาศาสตร์ต้องการจะทราบด้วยว่าแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว ณ จุดไหนที่่ทำให้เกิดสีนามิเมื่อ 550 - 700 ปีมาแล้วเนื่องมาจากว่า สึนามินี้อาจจะเกิดได้จากแหล่่งอื่นไม่ใช่จากตอนเหนือของเกาะสุมาตรา
จนกระทั่งการศึกษาล่าสุดโดยทีมวิจัยจากสิงคโปร์ได้สำรวจพบซากเครื่องใช้โบราณซึ่งมีอายุในประมาณ พุทธศตวรรษที่ 20 ทางตอนเหนือของหมู่เกาะสุมาตราที่บริเวณเมือง Aceh ซึ่งเมืองโบราณนี้ในอดีตชื่อว่า Lamri และมีหลักฐานขื่อเมืองนี้ในหลักฐานการค้าขายกันในบริเวณดังกล่าวจากเอกสารของพ่อค้าชาวจีนและอินเดีย แต่ทว่าเอกสารการค้าขายเหล่านี้ไม่ปรากฎชื่อเมืองนี้อีกเลยในช่วง พุทธศตวรรษที่ 21 แต่ทว่าหลักฐานการค้าขายจากบริเวณเมืองนี้ปรากฎขึ้นอีกครั่งในช่วงต้น พุทธศตวรรษที่ 22
โดยการศึกษาผลกระทบของสึนามิบริเวณเมืองโบราณ Lamri พบว่าความเสียหายเนื่องมาจากสึนามิจากเศษซากเครื่องใช้โบราณมีโซนความเสียหายใกล้เคียงกันกับที่เกิดสึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547
ตำแหน่งการขุดพบเครื่องเซรามิกในพุทธศตวรรษที่ 20 - 22 ในเมือง Aceh ตอนเหนือของหมู่เกาะสุมาตรา โดยสังเกตุได้ว่าในช่วง พุทณศตวรรษที่ 21 หลักฐานทางโบราณคดีบริเวณชายฝั่งได้หายไปและปรากฎพบอีกครั้งใน พุทธศตวรรษที่ 22 Daly et al. (2019)
ซึ่งการสูญหายไปของเมืองโบราณในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 นั้นใกล้เคียงกันกับหลักฐานการสำรวจสึนามิในไทยว่าเคยเกิดสีนามิในช่วงเวลาดังกล่าว
เราคงต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมในบริเวณอื่นๆในบริเวณประเทศใกล้เคียงเพื่อทำความเข้าใจว่าสึนามิที่เกิดและทำให้เมืองหายไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 นั้นเกิดจากแผ่นดินไหวที่คล้ายกับแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ. 2547 หรือไม่ แต่อย่างน้อยเราก็พอจะทราบแล้วว่าประวัติศาสตร์นั้นจะย้อนกลับมาหาเราได้ทุกเมื่อเช่นกันหากเราลืมมันไป
ขอบคุณรูปภาพจากวารสารทางวิชาการเหล่านี้
Daly et al. (2019) Archaeological evidence that a late 14th-century tsunami devastated the coast of northern Sumatra and redirected history https://doi.org/10.1073/pnas.1902241116
K Jankaew, BF Atwater, Y Sawai, M Choowong, T Charoentitirat, Medieval forewarning of the 2004 Indian Ocean tsunami in Thailand
Nature 455 (7217), 1228-1231
Yawasangratt et al. (2011) Evidence of probable paleotsunami deposits on Kho Khao Island, Phang Nga Province, Thailand Natural Hazards volume 63, pages151–163
โฆษณา