12 พ.ค. 2020 เวลา 05:05 • ความคิดเห็น
ทหารเด็ก นักฆ่ารุ่นเยาว์ (Child soldiers)
"น้อยคนนักที่จะทราบว่า นักรบที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีความเหี้ยมโหดที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่งกลับกลายเป็น “ทหารเด็ก” ซึ่งเป็นเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 7 -18 ปี หรืออาจจะน้อยกว่านั้น ที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกนับแสนคน"
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อใดก็ตามที่โลกเกิดความขัดแย้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ลัทธิ ความเชื่อ ชาติพันธ์ ไปจนถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ในหลายภูมิภาคของพื้นพิภพนี้ประชาชนได้หันมาใช้สงครามเป็นหนทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าการทำลายล้างแนวความคิดที่ขัดแย้งกับฝ่ายตนให้หมดสิ้นไปนั้น จะเป็นหนทางแห่งชัยชนะที่สามารถยุติปัญหาต่างๆ ลงได้
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะยิ่งมีการประหัตประหาร ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเท่าใด แทนที่ความขัดแย้งที่มีอยู่จะจางหายไป มันกลับกลายเป็นการบ่มเพาะความโหดร้ายอำมหิต ที่เหี้ยมเกรียม ดุดัน ลงในพื้นที่แห่งความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น นับเป็นบาดแผลแห่งสงครามที่ยากจะเยียวยาแก้ไขได้ในห้วงระยะเวลาอันสั้น และหนึ่งในเชื้อร้ายที่สงครามได้บ่มเพาะลงในจิตใจของมวลมนุษยชาติก็คือ การใช้เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นนักรบติดอาวุธ ซึ่งโลกได้ขนานนามเยาวชนนักรบเหล่านี้ว่า “นักรบรุ่นเยาว์” หรือ “ทหารเด็ก” (Child soldier) นั่นเอง
มีเอกสารหลายฉบับในโลกตะวันตกที่ได้ระบุว่า หากจะกล่าวถึงหน่วยรบที่มีประสิทธิภาพ และมีขีดความสามารถสูงจนเป็นที่น่าเกรงขามไปทั่วโลก เราก็มักจะนึกถึงหน่วยรบชั้นยอดของกองทัพสหรัฐฯ เช่น หน่วยเนวี ซีล (US Navy Seal) หน่วยเดลต้า ฟอร์ซ (Delta Force) หรือหน่วย เอส เอ เอส ( S A S ) ของกองทัพอังกฤษ ตลอดจนหน่วยรบพิเศษของกองทัพไทย เป็นต้น แต่หากจะกล่าวว่าหน่วยรบของประเทศใดที่มีความโหดเหี้ยมติดอันดับโลก หลายคนที่อาจจะพูดถึงหน่วยรบพิเศษ “สเปท์สนาซ” (Spetsnaz) ของกองทัพรัสเซีย หน่วยโคปาสซุส (Kapasus) ของกองทัพอินโดนีเซีย หรือหน่วยรบต่างๆ ที่มีประวัติการรบมาอย่างโชกโชน
แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า นักรบที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีความเหี้ยมโหดที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่งกลับกลายเป็น “ทหารเด็ก” ซึ่งเป็นเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 7 -18 ปี หรืออาจจะน้อยกว่านั้น ที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกนับแสนคน
ทั้งนี้เพราะ “ทหารเด็ก” หรือ “นักฆ่ารุ่นเยาว์” เหล่านี้ ได้รับการวิเคราะห์จากโลกตะวันตกแล้วว่า เป็นนักฆ่าที่สามารถสังหารผู้คนได้เพียงเพราะต้องการฆ่า หรือเพียงเพราะได้รับคำสั่งให้ฆ่า เป็นการฆ่าด้วยจิตใต้สำนึก ไม่ใช่การฆ่าด้วยอุดมการณ์ เป็นการฆ่าที่ปราศจากความยั้งคิดใดๆ ทั้งสิ้น อันเนื่องมาจากความด้อยประสบการณ์ ความไร้เดียงสา และการขาดความรู้ที่เพียงพอ “ทหารเด็ก” บางคนเริ่มสังหารผู้คนตั้งแต่ยังไม่สามารถจำอายุของตนได้เลย
ไมค์ เวสเซลส์ (Mike Wessells) แห่งนิตยสาร The Atomic Scientists ของสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์ถึงการใช้ “ทหารเด็ก” เป็นเครื่องมือ “จักรกลสงคราม” ในการทำสงครามกลางเมืองของประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา เช่น ประเทศเซียร่า ลีโอน, ชาด, บุรุนดี, โซมาเลีย, เอธิโอเปีย ในทวีปเอเชีย เช่น พม่า, จีน ในอเมริกากลาง เช่น ชิลี, เอล ซัลวาดอร์, ปารากวัย หรือแม้กระทั่งในยุโรป เช่น เซอร์เบียและบอสเนีย เป็นต้น
โดยเวสเซลส์ระบุว่า เหล่านักรบรุ่นเยาว์เหล่านี้บางคนก้าวเข้าสู่สงครามตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ทั้งๆ ที่ในช่วงอายุดังกล่าวควรเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาควรได้รับโอกาสทางการ “ศึกษา” มากกว่าได้รับโอกาสในการ “เข่นฆ่าประหัตประหาร”
สงครามที่เหล่านักรบรุ่นเยาว์เข้าไปมีส่วนด้วย มักเป็นสงครามที่มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และเป็นสงครามกลางเมืองที่มีรูปแบบของการรบแบบกองโจรเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่สงครามตามแบบแผนที่มีแนวรบแน่นอน ตายตัวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
เด็กๆ เหล่านี้เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ช่วยในครัวสนาม เป็นยามรักษาการณ์ เป็นหน่วยสอดแนม เป็นสายลับในการรวบรวมข่าวสาร แล้วได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นกลุ่มที่คอยก่อการจลาจล ด้วยการขว้างปาก้อนหิน เผาอาคารสถานที่ ลักลอบส่งอาวุธให้กับกลุ่มทหารของตน จนถึงขั้นสุดท้ายของการพัฒนาคือ เข้าสวมเครื่องแบบ จับอาวุธสงคราม มีการฝึกฝนการใช้อาวุธประจำกายและยุทโธปกรณ์ต่างๆ
บันทึกหน้าหนึ่งของเวสเซลส์เขียนไว้ตอนที่เขาเดินทางเข้าไปในเอธิโอเปีย และได้มีโอกาสสัมภาษณ์เด็กชายคนหนึ่งที่อดีตเคยเป็นทหารของกลุ่มกบฎ เด็กคนนั้นเล่าให้ฟังว่า
“ ... ตอนที่ผมอายุ 7 ขวบ พวกกบฏบุกเข้ามาที่บ้านแล้วจ่อยิงพ่อของผมที่ศีรษะ ก่อนที่จะฆ่าข่มขืนแม่ ผมจำภาพพ่อที่นอนจมกองเลือดอยู่กับพื้นได้อย่างติดตา พวกกบฎทำลายทุกอย่างภายในบ้าน ก่อนที่จะลากตัวผมไปแล้วบังคับให้ผมเป็นนักรบเหมือนพวกเขา พร้อมกับขู่ว่า ถ้าไม่ฆ่าคน ผมจะถูกฆ่าเหมือนพ่อกับแม่ของผม ... ผมกลัวมาก ... ความกลัวทำให้ผมฆ่าคนจำนวนนับไม่ถ้วน ... ไม่ใช่เพราะความเกลียด ... แต่เพราะความกลัว ...”
มีกรณีศึกษาหลายกรณีที่พบว่า “ทหารเด็ก” เหล่านี้เมื่อเผชิญหน้ากับศัตรูหรือเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย พวกเขาจะถูกขับเคลื่อนด้วยอำนาจมืดบางอย่าง เช่น ความเกลียดที่มีอยู่อย่างไร้เหตุผล ความกลัวที่มีอยู่อย่างไร้ขีดจำกัด ความคึกคะนองที่มีอยู่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะอำนาจมืดที่ถูกผสมผสานกับความไร้เดียงสาของเด็ก จนกลายเป็นความโหดเหี้ยมที่ผิดมนุษย์นี้เอง ที่ทำให้นักรบรุ่นเยาว์บางคนพร้อมที่จะทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
นักรบรุ่นเยาว์คนหนึ่งซึ่งปัจจุบันได้รับการดูแลโดยมูลนิธิหมู่บ้านอุปถัมภ์เด็กกำพร้า (เป็นมูลนิธิเอกชนที่ดำเนินงานโดยกลุ่มเอ็น จี โอ ในประเทศอังกฤษ) ได้เปิดเผยถึงความทรงจำอันเจ็บปวดของเขาในการมีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองของประเทศรวันดา ระหว่างชนเผ่าฮูตูและชนเผ่าทุตซี่ว่า
“... การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในประเทศรวันดาเริ่มต้นขึ้นในปี 1994 ขณะนั้นผมยังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมปลาย มีการกวาดต้อนเด็กๆ เข้าร่วมกับกลุ่มต่างๆ พวกกบฎบุกมาที่หมู่บ้านของผมในกรุงคิกาลี (Kigali) เมืองหลวงของรวันดา พวกเราไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่โบสถ์ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร แต่ก็ถูกพวกกบฏกวาดต้อนไปโดยพวกเขาบอกเราว่า จะฝึกให้เป็นทหารเพื่อปลดปล่อยเมืองหลวงจากฝ่ายรัฐบาล ... จากนั้นผมก็ถูกนำไปฝึกทำการรบ และฝึกการใช้อาวุธอยู่ประมาณสามสัปดาห์ ก่อนที่จะออกสู่แนวหน้าเพื่อทำการรบกับฝ่ายรัฐบาล ... ผมไม่เคยคิดเลยว่า ผมจะต้องจับอาวุธเข่นฆ่าผู้คน ผมไม่ต้องการจะทำเช่นนั้นเลย ... จนกระทั่งวันที่ 25 มิถุนายน 1994 ผมถูกส่งออกไปลาดตระเวณเพื่อเตรียมการเข้าตีฝ่ายรัฐบาล โชคร้ายที่เหยียบกับระเบิดที่ถูกฝังเอาไว้ ... ขาซ้ายของผมขาดกระเด็น ... จำได้ว่าทั่วร่างกายเต็มไปด้วยเลือด ผมถูกนำส่งโรงพยาบาลสนามที่เมือง “บยุมบา” เพื่อรับการรักษาเป็นเวลา 2 เดือน แม้ว่าบาดแผลยังไม่หายดี แต่ผมก็ถูกส่งไปยังค่ายทหารที่เมือง “บูตารา” ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 100 กิโลเมตรเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการรบอีกครั้ง ... ”
ส่วนอดีตทหารเด็กอีกคนหนึ่งที่กลับมาใช้ชีวิตตามปกติในโรงเรียนมัธยม เล่าถึงประสบการณ์ของเขาให้ฟังว่า
“... พวกเราถูกฝึกเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก่อนที่จะถูกส่งออกทำการรบ ผมได้รับคำสั่งให้ตัดมือผู้ใหญ่ทุกคนที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน เพราะหัวหน้าของเราไม่ต้องการให้ผู้ใหญ่เหล่านั้นใช้มือจับปากกาลงคะแนนให้ฝ่ายตรงข้าม ... เราจึงตัดมือพวกผู้ใหญ่ทุกคนที่ผ่านมาด้วยดาบ มีด หรือของมีคมทุกชนิด บางคนตัดขาดบ้าง ไม่ขาดบ้าง ... บางคนเลือดออกจนเสียชีวิตต่อหน้าพวกเรา บางคนอ้อนวอนอย่างน่าสงสาร แต่เราก็ยังคงตัดมือผู้คนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ผมจำไม่ได้ว่าเราตัดมือคนไปเป็นจำนวนเท่าใด แต่ก็เป็นจำนวนมากพอสมควรเพราะมันเป็นปฏิบัติการที่ใช้เวลานานนับเดือน ... อย่าถามว่ามันโหดเหี้ยมเพียงใด ... เวลานั้นมันไม่ใช่ตัวผม ... แต่เป็นปีศาจร้ายที่สิงอยู่ในร่างของผม มันบอกผมว่า จงทำลายล้างศัตรูให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่มีเหตุผลอื่นใดมากกว่านี้ มันเป็นประสบการณ์ที่ผมจะไม่มีวันลืมเลย ...”
ในอูกานดา ที่ซึ่งสงครามกลายเป็นสิ่งปกติที่คงอยู่คู่กับการดำเนินวิถีชีวิตของประชาชน ทหารเด็กถูกกลุ่มกบฏที่ขนานนามตัวเองว่า “กองทัพต่อต้านของพระผู้เป็นเจ้า” (The Lord’s resistance Army) ใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ดังคำบอกเล่าของนักรบรุ่นเยาว์นายหนึ่งที่บรรยายให้ฟังว่า
“... พวกเขาสั่งให้พวกเราที่เป็นทหารเด็กใช้ดาบพื้นเมืองที่เรียกว่า พันกาส (Pangas) ตัดริมฝีปากและใบหูของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นการทำลายขวัญประชาชนที่ต่อต้านกลุ่มของเขา พวกเราวุ่นวายอยู่หลายวันในการปฏิบัติการดังกล่าว ... เราก้มหน้าก้มตาตัดริมฝีปากและหูของใครก็ได้ที่หัวหน้าของเราสั่งให้ทำ จนลืมไปว่า หลายคนที่ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดเหล่านี้ เป็นญาติที่อยู่ข้างบ้านของเรานั่นเอง ...”
จากการบอกเล่าของเหล่านักฆ่ารุ่นเยาว์เหล่านี้ คงทำให้สังคมโลกได้ตระหนักถึงความเหี้ยมโหดที่ผสมผสานกับความไร้เดียงสาในวัยเด็กของพวกเขา นอกเหนือไปจากการที่โลกได้มองว่า เป็นการกระทำทารุณต่อเด็กๆ ที่ควรจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนเพื่อศึกษาหาความรู้ หรือสนุกสนามอยู่ในสนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นหลากสีสัน ไม่ใช่ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางสนามรบที่เต็มไปด้วยอาวุธแห่งการทำลายล้างนานาชนิด
อย่างไรก็ตามการควบคุมอัตราการขยายตัวของนักรบรุ่นเยาว์ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาก็ทำได้อย่างยากลำบาก ทั้งนี้เพราะทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏในประเทศเหล่านี้พยายามที่จะปกปิดจำนวนตัวเลขที่แท้จริงของจำนวนทหารเด็กที่ประจำการอยู่ในกองทัพของตน ตลอดจนพยายามปิดบังอายุที่แท้จริงของเยาวชนเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการประณามจากสังคมโลก
นอกจากการใช้เด็กผู้ชายเป็นนักฆ่ารุ่นเยาว์ในกองทัพแล้ว เด็กผู้หญิงจำนวนมากก็ถูกกวาดต้อนหรือเกณฑ์เข้าเป็นนักรบรุ่นเยาว์ด้วยเช่นกัน แต่ที่ทารุณยิ่งกว่าเด็กผู้ชายก็คือ นักรบหญิงรุ่นเยาว์เหล่านี้นอกจากจะต้องทำการรบ และทำงานหนักเหมือนผู้ชายทั่วไปแล้ว พวกเธอยังถูกบังคับให้ทำหน้าที่ให้บริการทางเพศแก่เหล่าทหารชายอีกด้วย
ตัวอย่างเช่นในเอธิโอเปีย มีเด็กผู้หญิงอยู่ในกองกำลังติดอาวุธเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 25 พวกเธอต้องกลายเป็นภรรยาของเหล่าทหารชาย ซึ่งกลายเป็นตราบาปไปตลอดจนชีวิต ซ้ำร้ายเมื่อสงครามสงบลง เด็กผู้หญิงเหล่านี้ไม่สามารถกลับไปยังภูมิลำเนาของเธอได้ เนื่องจากครอบครัวไม่ให้การยอมรับกับอดีตอันเจ็บปวดที่ผ่านมาได้ สุดท้ายนักรบหญิงรุ่นเยาว์จำนวนมากต้องหันไปใช้ชีวิตในการเป็นโสเภณีในที่สุด
ในขณะที่นักรบหญิงรุ่นเยาว์ต้องถูกสงครามประทับตราบาปไปตลอดชีวิตของพวกเธอ เหล่านักรบชายรุ่นเยาว์ก็มีอนาคตที่ไม่แตกต่างกันนัก เมื่อสงครามหรือความขัดแย้งยุติลง เด็กผู้ชายจำนวนมากต้องกลายเป็นโจร เนื่องจากไม่ได้รับการศึกษา มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว รุนแรง ตลอดจนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้
ในทางตรงกันข้ามสังคมเองก็ดูเหมือนจะอึดอัดใจในการยอมรับการกลับมาสู่สังคมของเหล่าทหารเด็กที่มีพฤติกรรมอันอำมหิต โหดเหี้ยม ทำให้ปัญหาทหารเด็กกลายเป็นปัญหาที่อยู่ในสภาพ “งูกินหาง” หรือเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกไปโดยปริยาย
กราซ่า มาเชล (Graza Machel) อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศโมซัมบิค ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของเด็กและเยาวชน ได้ทำการค้นคว้าถึงการใช้เด็กเป็นกองกำลังทหารในทั่วทุกภูมิภาคของโลกว่า อัตราการเติบโตของการใช้ทหารเด็กในสงครามกลางเมืองเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังเช่นการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มกบฎในไลบีเรีย ซึ่งเปิดฉากมาตั้งแต่ปี 1989 มีเยาวชนอายุระหว่าง 8 - 16 ปีเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามถึงกว่า 6,000 คน
ขณะเดียวกันในกองทัพของประเทศเอล ซัลวาดอร์ ก็มีเยาวชนเป็นกำลังพลอยู่ถึงกว่าร้อยละ 20 ส่วนกลุ่มมูจาฮิดีนที่ทำการรบในอัฟกานิสถานก็มีการใช้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีถึงกว่าร้อยละ 10 เข้าเป็นกำลังรบหลักออกต่อสู้ในแนวหน้าเคียงข้างกับนักรบมูจาฮิดีนทั่วไป
มาเชลระบุในเอกสารของเธอว่า การเกณฑ์เยาวชนเข้าเป็นกำลังพลของกองกำลังติดอาวุธในประเทศต่างๆ มักจะเป็นไปในรูปแบบของการกวาดต้อนหรือลักพาตัว โดยกองทัพจะปิดล้อมสถานที่สาธารณะ เช่น ตลาด หรือ โรงเรียน แล้วกวาดต้อนเด็กๆ ไปคราวละจำนวนมากๆ เพื่อนำไปฝึกฝนในค่ายทหาร และจะไม่มีใครทราบชะตากรรมของเด็กๆ เหล่านี้อีกเลย
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจนเป็นปกติในบางประเทศ เช่น สหภาพพม่า โซมาเลีย และโมซัมบิคโดยเฉพาะเมื่อกองทัพขาดแคลนทหารหลัก และจำเป็นต้องใช้กำลังเสริมในการรบ ขณะที่ในเอธิโอเปียกลุ่มกบฏมักจะออกลักพาตัวเด็กๆ ที่ขายสิ่งของอยู่ตามท้องถนนแล้วกวาดต้อนขึ้นไปบนรถบรรทุกที่จัดเตรียมไว้ และขับหายไปอย่างไร้ร่องรอยจากนั้นอีกไม่นานก็มีผู้พบเห็นเด็กเหล่านั้นออกทำการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารกบฏ
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ทหารเด็กไม่เพียงแต่จะถูกฝึกและล้างสมองให้กลายเป็นฆาตกรเลือดเย็นที่ไร้เหตุผลแล้ว นักรบเหล่านี้ยังถูกมอมเมาด้วยยาเสพติดนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเสพติดประเภทแอมเฟทตามีน ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กๆ อยู่ในอาการประสาทหลอน ขาดความยับยั้งชั่งใจ และปราศจากความหวาดกลัวต่ออันตรายใดๆ ทั้งสิ้น
ซึ่งผลกระทบข้อนี้ทำให้เยาวชนส่วนใหญ่ตกเป็นทาสยาเสพติดจนยากที่จะเยียวยารักษาได้ แม้สงครามจะยุติลงแล้วก็ตาม และกลายเป็นปัญหาของสังคมต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
อันที่จริงแล้วกฎบัตรของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของเด็กและเยาวชน ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 1986 และมีประเทศต่างๆ ลงนามรับรองกว่า 160 ประเทศ ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การเกณฑ์ทหารนั้นให้กำหนดอายุขั้นต่ำที่ 15 ปี และที่น่าสนใจก็คือกลุ่มประเทศสมาชิกได้พร้อมใจกันกำหนดอายุขั้นต่ำให้สูงขึ้นเป็น 18 ปีเสียด้วยซ้ำ
แต่ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นเพียงตัวอักษรบนแผ่นกระดาษ ที่ไม่มีใครใส่ใจหรือปฏิบัติตาม ทั้งๆ ที่ปัญหาการใช้เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์เป็นทหารหลักเข้าสู่สนามรบนั้น นับเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ปัญหาหนึ่งของโลก แต่หนทางในการแก้ไขกลับดูมืดมน ไร้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างสิ้นเชิง ตราบใดที่โลกยังคงคุกรุ่นไปด้วยไฟแห่งสงคราม และตราบใดที่นานาชาติขาดความจริงใจในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังดังเช่นในปัจจุบัน
บทความฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะอุทิศให้กับ “นักฆ่ารุ่นเยาว์” หรือ “ทหารเด็ก” ที่ถูกผู้ใหญ่นำไปฝึกฝน ปลูกฝังความคิดจนความ “ไร้เดียงสา” กลายเป็นความ “อำมหิต” ความ “สนุกสนาน” กลายเป็นความ “โหดเหี้ยม” และ “อนาคตอันสดใส” กลายเป็น “ตราบาป” ไปชั่วชีวิต พร้อมทั้งขอจบบทความนี้ลงด้วยบทสัมภาษณ์ของทหารเด็กวัย 14 ปี แห่งเอธิโอเปียที่ตอกย้ำถึงความร้ายกาจของสงครามที่มีต่อ “ทหารเด็ก” เหล่านี้ว่า
“ ..ผมถูกกองกำลังรีนาโม (RENAMO) จับตัวไป และต้องฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า พวกเขาสอนผมให้ถอดประกอบปืน ครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกวันได้ยินแต่คำว่า ฆ่า ... ฆ่า แล้วก็ ฆ่า เป็นเวลานานกว่า 4 เดือน... ผมยิงเป้านิ่งซ้ำแล้วซ้ำอีก จนยิงได้อย่างแม่นยำราวกับจับวาง ... แล้ววันแห่งการทดสอบก็มาถึง ... มีชายคนหนึ่งถูกจับมายืนอยู่ที่สนามยิงปืนแทนเป้ากระดาษ ... พวกเขาบอกให้ผมฆ่า ... ผมเพียงเหนี่ยวไกปืนและสังหารชายคนนั้นโดยไม่รู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น ... มีเสียงตะโกนว่า ผมเป็นนักรบที่สมบูรณ์แล้ว ... ผมจำได้ว่า มันเป็นความภาคภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผม ผมคือ “นักฆ่ารุ่นเยาว์”
Cr.. พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ
โฆษณา