12 พ.ค. 2020 เวลา 06:32 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Digital Technology กับคุณภาพชีวิตเกษตรไทยที่ดีขึ้น (ตอน 2)
ในบทความก่อนหน้า เราได้รับทราบถึงประโยชน์ของ Digital Technology ในภาคการเกษตรกันมาพอสมควร ในบทความนี้เก้าไร่จะพาให้ผู้อ่านทุกคนรับทราบถึงความพร้อมของภาคเกษตรไทยกับการที่จะใช้งาน Digital Technology ว่าตอนนี้เราพร้อมมากน้อยแค่ไหน และจากนี้เราต้องเตรียมตัวอะไรอีกบ้าง เพื่อที่จะได้ดื่มด่ำกับ Digital Technology ในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างเต็มที่และเกิดประโยชน์สูงสุด
ตอนนี้สถานการณ์การเตรียมความพร้อมการใช้ Digital Technology เป็นอย่างไรกันบ้างนะ?
1. ภาครัฐและภาคเอกชนตื่นตัวในการพัฒนา Digital Technology เพื่อภาคเกษตรไทย โดยพบว่ามีแอปพลิเคชันด้วยคำว่า “เกษตร” ใน Play Store (ปี 2562) มากถึง 61 แอปพลิเคชัน ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการให้บริการเฉพาะด้านการส่งเสริมการทำเกษตรกรรม การให้ความรู้ และการให้ข้อมูลข่าวสาร ในขณะที่แอปพลิเคชันด้านการตลาด การแบ่งปันทรัพยากร และการเงินยังมีน้อยมาก อีกทั้งยังไม่มีแอปพลิเคชันที่ให้บริการครบวงจรตลอดห่วงโซ่อุปทาน
2. แอปพลิเคชันที่ครบฟังก์ชันส่วนใหญ่เป็นของเอกชน โดยเราพิจารณาจากเกณฑ์ 5 ด้าน คือ แอปพลิเคชันเปิดใช้งานได้หรือไม่ (usability) คุณภาพการทำงานและความรวดเร็ว (software) การออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย (user interface: UI และ user experience: UX) ประโยชน์ต่อเกษตรกร (usefulness) และการบำรุงรักษาและปรับปรุงข้อมูล (maintenance)
3. มีผู้ดาวน์โหลดใช้แอปพลิเคชันไปใช้จริงน้อยมาก ยกเว้นแอปพลิเคชันจากภาครัฐหรือองค์กรขนาดใหญ่ ได้แก่ BAAC A-Mobile ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) Farmbook ของกรมส่งเสริมการเกษตร และ Farmer Info ของ DTAC
BAAC A Mobile App ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
Farmbook App ของกรมส่งเสริมการเกษตร
Farmer Info App ของ DTAC
4. เกษตรกรค่อนข้างมีความพร้อมในการใช้ Digital Technology ซึ่งสะท้อนจากการใช้ smartphone และแอปพลิเคชันยอดฮิต ได้แก่ LINE, Facebook และ YouTube แต่ไม่ค่อยรู้จักแอปพลิเคชันเพื่อการเกษตรเท่าที่ควร
5. ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สัญญาณและความเร็วอินเทอร์เน็ต อาจเป็นข้อจำกัดหนึ่งในการใช้ digital technology ของเกษตรกร
6. เกษตรกรต้องการ Digital Technology ที่ตอบโจทย์กับพื้นที่และการเพาะปลูกของเกษตรกรเอง เช่น พยากรณ์อากาศที่ละเอียดในระดับหมู่บ้าน ข้อมูลผลผลิตของเกษตรกรรายอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้มูลค่าเพิ่มเหนือไปกว่าข้อมูลที่สามารถหาได้ทั่วไป เช่น การเปรียบเทียบราคาระหว่างแต่ละตลาด การคาดการณ์ราคาในอนาคต และเครื่องคำนวณส่วนผสมปุ๋ยที่เหมาะสมต่อพืชที่ปลูก เป็นต้น
แล้วศักยภาพของ Digital Technology ในการช่วยภาคเกษตรไทยมีอะไรบ้างหละ?
ด้านการผลิต
1. การพยากรณ์ผลผลิตด้วยแบบจำลอง
2. การทำเกษตรอัจฉริยะและเกษตรแม่นยำสูงด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลพยากรณ์อากาศ พันธุ์พืช สภาพดิน รวมถึงภาพถ่ายดาวเทียมด้วย machine learning และ AI เพื่อให้ได้คำแนะนำทางการเกษตรที่แม่นยำและเหมาะสมกับเกษตรกรรายบุคคลและรายแปลง
3. การแบ่งปันเครื่องจักรกลสมัยใหม่ผ่านแพลตฟอร์ม
4. การดูแลบริหารจัดการฟาร์มด้วย IoT และโดรน
5. การส่งเสริมการเกษตรออนไลน์ (e-extension services) โดยมีฟังก์ชันค้นหาข้อมูล และเจ้าหน้าที่การเกษตรสามารถเผยแพร่ความรู้ที่เจาะจงรายบุคคลได้ง่ายและรวดเร็วผ่านสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต
ภาพจาก pixabay.com
ด้านการตลาด
1. ระบบการเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลตลาดที่สามารถนำมาใช้สร้างและแลกเปลี่ยนข้อมูลราคาตลาดและแหล่งรับซื้อผลผลิตจากคนในพื้นที่จริงได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองราคา และลดต้นทุนการค้นหาตลาดและค้นหาราค
2. แพลตฟอร์มการเก็บข้อมูลในแต่ละขั้นตอนการเพาะปลูก ซึ่งทำหน้าที่คล้ายเป็นผู้ช่วยตรวจสอบและยืนยันว่าการเพาะปลูกของเกษตรกรนั้นผ่านตามเกณฑ์ของมาตรฐานได้อีกด้วย โดยข้อมูลสามารถนำไปเป็นหลักฐานประกอบการขอมาตรฐานหรือใบรับรองการทำเกษตร เช่น มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ จะช่วยให้ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและเกษตรกรขายได้ราคาดีกว่าเดิม
3. แพลตฟอร์ม e-commerce ที่จะช่วยเชื่อมต่อให้เกษตรกรสามารถซื้อขายโดยตรงกับผู้ซื้อผลผลิตและผู้ขายปัจจัยการผลิตโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรซื้อปัจจัยการผลิตในราคาที่ถูกลง ขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น และยังสามารถทำข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้ากันได้ผ่านแพลตฟอร์ม เป็นการรับประกันว่าจะมีผู้รับซื้อเมื่อได้ผลผลิตแล้ว
ภาพจาก pixabay.com
ด้านการเงิน
1. การเพิ่มการเข้าถึงระบบการประกันภัยพืชผลที่ย่นระยะเวลาตรวจสอบ และการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่รวดเร็วและโปร่งใสมากขึ้น โดยข้อมูลนำมาจากภาพถ่ายดาวเทียม โดรน และการใช้ภาพถ่ายจากสมาร์ทโฟนมาประมวลผล
2. การใช้ข้อมูลความเสี่ยงข้างต้น และ digital footprint (การทิ้งร่องรอยในโลกดิจิตอล) ในการทำเกษตรที่เก็บได้ ในการประเมินความเสี่ยงเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบัน ก็อาจสามารถเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการเกษตรให้กับเกษตรกรคุณภาพดีได้
ภาพจาก britishlearningenglish.com
3. การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากการระดมทุนจากคนจำนวนมากผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ และการกู้ยืมโดยตรงแบบ peer-to-peer (P2P) lending เพื่อการขยายธุรกิจ ซื้อที่ดินเพิ่ม หรือลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหนี้สินของเกษตรกร
แล้วจากนี้เราควรเตรียมความพร้อมอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรได้ประโยชน์จาก Digital Technology อย่างเต็มที่?
1. สร้างความตระหนักรู้ถึงเทคโนโลยีสำหรับการเกษตรให้เกษตรกรอย่างแพร่หลาย
2. ให้ความสำคัญกับความเข้าใจถึงปัญหาพฤติกรรมลำเอียงของเกษตรกร และแนวทางในการนำหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเข้ามาแก้ไข
3. ออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วของภาคเกษตรไทย
4. รัฐควรผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การสร้างฐานข้อมูลภาคเกษตรที่ละเอียดขึ้นและมีคุณภาพ การเปิดให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงฐานข้อมูล การพัฒนาสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต การปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัย การสนับสนุนด้านเงินทุนให้แก่ทั้งบริษัทเอกชน ธุรกิจเพื่อสังคม การสนับสนุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้เกิดการแข่งขัน และการสร้างสรรค์งานนวัตกรรมใหม่ ๆ และงานวิจัยที่จะส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ รวมถึงการสนับสนุนในด้านอุปสงค์ ได้แก่ การพัฒนาทักษะและความรู้ทางดิจิทัลของเกษตรกรรายย่อย และการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องให้เกษตรกรหันมาใช้ digital technology ในการยกระดับผลิตภาพการผลิตและชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง
5. ภาคเอกชนเข้ามาผลักดัน agritech startup ให้มากขึ้น
6. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ จนถึงตัวเกษตรกรเอง
ภาพจาก modernhealthcare.com
“กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” หากคนในประเทศไม่อิ่ม ไม่ได้รับประทานของคุณภาพดีๆ ประเทศก็คงจะพัฒนาไปได้ลำบาก ดังนั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น และลุ้นเป็นอย่างมากที่ฟันเฟืองสำคัญที่เลี้ยงปากท้องของพวกเรา หรือ “ภาคการเกษตร” จะได้รับการผลักดันอย่างเต็มความสามารถในไม่ช้า นอกจากนี้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งนักที่เราจะได้เห็นพี่น้องเกษตรกรไทยจะมีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้นจากการมีรายได้ที่มากขึ้น และประเทศไทยในภาพใหญ่คงจะพัฒนาเชิงเศรษฐกิจไปได้อีกมากเลยทีเดียว
เก้าไร่ เป็นสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ให้บริการแพลทฟอร์มที่ช่วยบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรไทย เรามีเว็ปแอปแล้วคือ www.gaorai.io และฟังก์ชั่นแรกที่ปล่อยให้เกษตรกรได้ใช้งานแล้วคือ "บริการฉีดพ่นพืชด้วยโดรน"
ติดตามเก้าไร่เพิ่มเติมได้ที่
website: www.gaorai.io
โฆษณา