12 พ.ค. 2020 เวลา 08:30 • ธุรกิจ
มหากาพย์ระบบการเงิน และการปฏิวัติครั้งใหญ่ของ 'สกุลเงินดิจิตอล' [Cryptocurrency]
วันนี้แบงก์พันในมือเราทำไมมีค่า 1 พันบาท? ทำไมเงินกระดาษเหล่านี้ถึงนำไปแลกเป็นข้าวของเครื่องใช้ได้ การจะทำความเข้าใจกับระบบการเงิน เราคงต้องย้อนเวลากันสักหน่อยครับ
Photo by Aleksi Räisä on Unsplash
-ความเป็นมาของทองคำ-
'ทองคำ' คือแร่มีค่าที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มายาวนานกว่า 6,000 ปี ในสมัยโบราณทองคำถูกนำมาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งในพิธีกรรมทางศาสนา และแสดงถึงความมั่งคั่งของผู้สวมใส่
เวลาต่อมา ทองคำได้รับการยอมรับจากผู้คนมากขึ้นจนถูกใช้เป็นเงินที่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ โดยมีการผลิตเหรียญทองขึ้นและคิดมูลค่าตามปริมาณของแร่ทองคำในเหรียญนั่นเอง
ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผู้คนยอมรับในทองคำ เป็นเพราะคุณสมบัติพิเศษ 4 ข้อที่ไม่สามารถหาได้ในแร่อื่นบนโลก คือ
(1) มีความงดงามมันวาว ดูมีมูลค่า
(2) มีความคงทน ไม่ขึ้นสนิม ไม่ผุกร่อน
(3) เป็นแร่หายาก มีต้นทุนสูงในการขุด
(4) สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วยการหลอม
ถึงทองคำจะเป็นตัวเลือกในการแลกเปลี่ยนที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็มีช่องโหว่เกิดขึ้นเพราะเหล่าผู้ผลิตเหรียญทองทั้งหลายเริ่ม 'โกง' โดยการลดปริมาณทองคำที่ใช้ผลิตลงซึ่งเหตุการณ์เล็กๆ นี้เองที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อและคนในยุคสมัยนั้นก็ไม่เชื่อมั่นในเหรียญทองอีกต่อไป
1
-ทองคำสู่ธนบัตร-
ในช่วง ค.ศ. 1870 ระบบมาตรฐานทองคำ [Gold Standard] ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยมีพัฒนาการมาจากการใช้เหรียญทองในการแลกเปลี่ยนและประเทศแรกที่ใช้ระบบนี้ก็คือ 'สหราชอาณาจักร'
ระบบมาตรฐานทองคำ คือการผูกสกุลเงินไว้กับทองคำ เช่น ทองคำ 1 ออนซ์ มีค่าเท่ากับ 4.25 ปอนด์ และเท่ากับ 20.64 ดอลลาร์ เป็นต้น การให้ค่าเช่นนี้จะทำให้สกุลเงินแต่ละประเทศสามารถแลกเปลี่ยนกันด้วยอัตราคงที่ รวมถึงสามารถนำเงินไปแลกเป็นทองคำคืนได้ด้วย
Photo by NeONBRAND on Unsplash
ประกอบกับช่วงนั้น ได้มีการค้นพบทองคำปริมาณมากในหลายประเทศทั้ง อเมริกา ออสเตรเลีย และ แอฟริกาใต้ ทำให้ระบบมาตรฐานทองคำกลายเป็นระบบที่ใช้แพร่หลายไปทั่วโลก
แต่ระบบมาตรฐานทองคำก็ถึงคราวสิ้นสุดเพราะในช่วง ค.ศ.1914 - 1945 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มหาสงครามทั้งสองทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำครั้งใหญ่ หลายประเทศพิมพ์เงินเข้าระบบโดยไม่สนใจประมาณทองคำเพื่อใช้ทำสงคราม เมื่อทุกประเทศไม่เคารพในกติกา ระบบนี้จึงถูกเลิกใช้ไปในที่สุด
-ข้อตกลง 'Bretton Woods' ผู้ชนะคือผู้ตั้งกฏ-
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาที่กลายเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก ได้สร้างระบบดอลลาร์ขึ้นในข้อตกลง 'Bretton Woods' โดยมีหลักการคือเงินดอลลาร์จะอ้างอิงกับทองคำในปริมาณ 1 ออนซ์ เท่ากับ 35 ดอลลาร์ และให้ประเทศอื่นสำรองเงินดอลลาร์อีกทอดหนึ่ง
ซึ่งทุกคนก็ยอมรับได้เพราะปริมาณทองคำที่อเมริกาเก็บไว้มีมากกว่า 2 ใน 3 ของโลก แต่ในช่วงสงครามเวียดนาม รัฐบาลอเมริกาก็ออกอาการมีพิรุธเพราะตัวเองเล่นอัดฉีดงบประมาณเพื่อทำสงครามในปริมาณมหาศาล รวมถึงมีหลายประเทศที่ไปขอทองคำคืนซึ่งก็ได้คืนบ้างไม่ได้บ้าง จนทั่วโลกสงสัยว่าอเมริกากำลังพิมพ์เงินเกินกว่าปริมาณทองคำที่มีหรือไม่
Photo by David Everett Strickler on Unsplash
กระทั่งในปี ค.ศ. 1971 ปธน.ริชาร์ด นิกสัน แห่งอเมริกาได้ประกาศให้ไม่ต้องใช้ทองคำในการค้ำเงินดอลลาร์อีกต่อไป ทำให้หลายประเทศเป็นงง เพราะตั้งใจจะถือดอลลาร์ไว้แทนทองคำแต่กลับต้องเสียทองคำไปแทน
ตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบันโลกเราจึงเข้าสู่ระบบการเงินแบบดอลลาร์ซึ่งไม่ต้องอิงกับทองคำ แต่อาศัยความเชื่อมั่นในรัฐ และความต้องการในตลาดเป็นตัวควบคุมค่าเงิน
-การปฏิวัติครั้งใหญ่ของ 'สกุลเงินดิจิตอล'-
สกุลเงินดิจิตอลหรือ 'Cryptocurrency' คือสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ไม่ได้มีลักษณะทางกายภาพเหมือนสกุลเงินทั่วไป ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 2008 หลังวิกฤตซับไพรม์ เพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนแบบไม่ยึดติดหน่วยงานด้านการเงิน หรือธนาคารใดๆ แต่ใช้ระบบที่ user ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการยืนยันธุรกรรมการเงินดิจิตอลที่เกิดขึ้น
สกุลเงินดิจิตอลตัวแรกของโลกคือ 'Bitcoin' ที่เราคุ้นหูกันดี ถึงแม้จะจับต้องไม่ได้แต่ 'Bitcoin' กลับมีลักษณะพิเศษที่คล้ายคลึงกับทองคำเช่น ปริมาณ Supply ของ 'Bitcoin' นั้นมีจำกัด และมีกระบวนการได้มาที่ซับซ้อน
Photo by Dmitry Demidko on Unsplash
ด้วยลักษณะพิเศษของ 'Cryptocurrency' ที่ดูจะเป็นการกระจายอำนาจสู่ผู้ใช้งาน เหล่ารัฐบาลจึงออกมาต่อต้านเพราะขัดต่อผลประโยชน์ของระบบการเงินแบบรัฐ ซึ่งเป็นการดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางนั่นเอง
1
อย่างไรก็ตามช่วงแรก 'Bitcoin' ยังทำหน้าที่สกุลเงินได้ 'ไม่ดีพอ' ด้วยราคาที่ผันผวนมาก และรัฐไม่ออกกฏหมายเอื้อประโยชน์ ทำให้ยังไม่เหมาะจะเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสักเท่าไหร่
แต่ช่วงหลังมานี้ สกุลเงินดิจิทัลดูจะเป็นที่สนใจมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเปิดตัวของ 'Libra' สกุลเงินดิจิติลที่ออกโดยภาคเอกชน (Facebook) ได้นำเสนอต่อภาครัฐและตั้งเงื่อนไขอย่างที่เรียกว่า 'ได้ประโยชน์ร่วมกัน' คือภาครัฐสามารถมีเอี่ยวกับระบบการเงินดิจิตอลได้
1
นอกจากนี้ ล่าสุดทางจีนก็ได้เผยภาพการใช้สกุลเงินดิจิตอลที่พัฒนาขึ้นในประเทศชื่อว่า 'Digital Yuan' และเริ่มทดลองใช้ไปเรียบร้อยแล้ว นับว่าเป็นประเทศผู้นำของโลกในเรื่องสกุลเงินดิจิตอลเลยทีเดียว
1
พอมอง Timeline ของระบบการเงินแบบนี้ ส่วนตัวผมก็เริ่มรู้สึกว่าในอนาคต 'Cryptocurrency' อาจจะเข้ามาปฏิวัติระบบการเงินของรัฐได้จริงๆ เพราะในปัจจุบันไม่ว่าจะมองมุมไหนระบบการเงินแบบดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง แล้วก็บอกให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐ มันช่างดูไม่หนักแน่น และโปร่งใสเอาซะเลย
แต่อนาคตยังคงเป็นเรื่องไม่แน่นอนครับ ที่เราพอจะทำได้ก็คงเป็นการศึกษาหาความรู้ และวางแผนการเงินเพื่อปกป้องความมั่งคั่งของเราไว้อย่างดีที่สุด ผมขอขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่านจนจบ หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อชี้แนะใดๆ ผมยินดีมากที่จะรับฟังด้วยใจเปิดกว้างครับ แล้วพบกันในบทความถัดไปนะครับ
#พ่อบ้านลงทุน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา