12 พ.ค. 2020 เวลา 08:17
บทความตามใจฉัน “ESRB เมื่อเกมเริ่มรุนแรง” Part 2
ในปี 1992 เกมแนว VS Fighting เกมหนึ่งได้ติดตั้งให้บริการตามร้านเกมอาเขตต่าง ๆ มันเป็นที่ฮือฮาในหมู่ผู้เล่นมากถึงความโดดเด่นและเอกลักษณ์ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อนในวงการเกม
ต่อมาเกมนี้ได้ถูก Port ลงทุกเครื่องเกมคอนโซลที่กำลังนิยมในสมัยนั้น ทั้ง Super Famicom (ในอเมริกาเรียกว่า Super Nintendo หรือในชื่อย่อว่า SNES), SEGA Genesis, Game Boy และ Game Gear รวมทั้งหมด 4 Version โดยผู้จัดจำหน่ายนั้นได้ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบเหวี่ยงแหโดยให้เกมทั้ง 4 Version ออกวางจำหน่ายในวันเดียวกันพร้อม ๆ กัน
วันนั้นคือวันที่ 13 พฤศจิกายน 1993 ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อว่า "Mortal Monday"
ชื่อของเกมคือ "Mortal Kombat"
ความโดดเด่นและเอกลักษณ์ของ Mortal Kombat ในสมัยนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ข้อหลัก ๆ
1. ตัวละครในเกมนั้นสร้างโดยถ่ายทำเอานักแสดงที่เป็นคนจริง ๆ มาแปลงเป็นข้อมูลดิจิตอลให้ปรากฎในเกม ซึ่งเป็นที่ฮือฮาของเหล่าผู้เล่นในอเมริกามากว่าเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าถึงขั้นนั้นได้แล้ว
ผู้อ่านสามารถดูเบื้องหลังการถ่ายทำได้ใน Link ข้างล่าง
2. เป็นปัจจัยสำคัญและโดดเด่นที่สุด นั้นคือความรุนแรง
สิ่งที่ Mortal Kombat มีไม่เหมือนใครในยุคนั้นคือการนำเสนอความรุนแรงแบบสุดขั้ว ไม่ว่าจะฉากหลังที่บางฉากที่เห็นแล้วชวนให้สยดสยองหรือการที่ตัวละครต่อสู้กันรุนแรงจนเลือดสาดกระเด็น
แต่นั้นไม่เท่ากับฟีเจอร์สำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของเกมที่ผู้พัฒนาได้นำเสนอแก่ผู้เล่น
Fatality End
Fatality End คือฟีเจอร์ที่ผู้เล่นสามารถโจมตีสั่งลาคู่ต่อสู้ที่พ่ายแพ้เพื่อปิด Match ได้
แต่ถ้าผู้เล่นกดคำสั่งพิเศษได้ถูกต้อง ตัวละครในเกมจะใช้ “ท่าปิดพิเศษ” กับคู่ต่อสู้และ “สังหาร” อีกฝ่ายแทน
ซึ่งท่าสังหารนี้มีความรุนแรงอย่างสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นการอัพเปอร์คัทอีกฝ่ายจนหัวหลุด, เผาจนเหลือแต่กระดูก, ควักหัวใจ, กระชากหัวออกมาพร้อมกับกระดูกสันหลัง เป็นต้น
ผู้อ่านสามารถดู Fatality End เวอร์ชั่นไม่เซ็นเซอร์ของ SEGA Genesis ได้ใน Link ข้างล่าง
(คำเตือน ภาพสยดสยอง ไม่เหมาะกับเด็ก)
การรับมือต่อเกมนี้ระหว่าง Nintendo และ SEGA ต่างกันอย่างมาก
Nintendo นั้นมีนโยบายควบคุมความรุนแรงที่เข้มงวดมากอยู่แล้ว ทำให้ Mortal Kombat ที่ลงให้กับเครื่องเกมของ Nintendo (SNES และ Game Boy) ต้อง “ตัด” ความรุนแรงออกไป เช่น เปลี่ยน effect เลือดเป็นเหงื่อ หรือ ท่าควักหัวใจก็ตัด effect เลือดและลบหัวใจออก จึงจะวางจำหน่ายเกมได้ แต่ถึงกระนั้น “ท่าปิดพิเศษ” บางท่าก็ยังคงดูรุนแรงอยู่ เช่น ท่าเผาจนเหลือแต่กระดูกและผู้เล่นเองก็สามารถเรียก effect เลือดกลับมาได้โดยใช้อุปกรณ์โกงเกม
ผู้อ่านสามารถดู Fatality End เวอร์ชั่นที่เซ็นเซอร์แล้วของ SNES ได้ใน Link ข้างล่าง
สำหรับ SEGA เองก็เห็นไม่ต่างจาก Nintendo จึงที่เลือกจะ “เซ็นเซอร์” เลือดและท่าปิดพิเศษที่โหดร้าย
อีกทั้งยังให้ Rate ของเกมนี้ตามมาตรฐานของ SEGA ในตอนนั้นไว้ที่ MA13 เหมาะสำหรับผู้มีอายุ 13 ปีขึ้นไป
ผู้อ่านสามารถดู Gameplay เวอร์ชั่นเซ็นเซอร์ของ SEGA Genesis ได้ใน Link ข้างล่าง
แต่ปัญหาคือ SEGA แค่ “เซ็นเซอร์” ไว้เท่านั้น เลือดและท่าโหด ๆ เหล่านั้นยังคงอยู่ในเกม สาเหตุที่ SEGA เก็บกราฟฟิกเหล่านั้นไว้ก็เพื่อตอบความต้องการของผู้เล่นที่เป็นผู้ใหญ่และต้องการตัวเกมที่คล้ายกับฉบับอาเขตมากที่สุด
วิธีการ uncen ตัวเกมคือการกดปุ่ม A-B-A-C-A-B-B ตามลำดับที่จอยในหน้าจอตอนที่เริ่มขึ้นตัวหนังสือว่า "The word 'code' has many different definitions."
Vdo ตอนใส่ code อยู่ใน Link ข้างล่าง
และไม่รู้ว่าอย่างไรแต่ code uncen นี้ถูกแพร่กระจายออกไปและเป็นที่รับรู้กันทั่วรวมถึงเหล่าผู้เล่นที่ยังเป็นเด็กอยู่ด้วย
ความรุนแรงของ Mortal Kombat ทำให้เหล่าผู้ปกครองหัวเสียมาก โดยเฉพาะบางคนที่ซื้อเกมนี้ให้ลูกเพราะเห็นว่าเกมถูกเซ็นเซอร์มาดีก็ต้องมาระแวงว่าลูกจะแอบใส่รหัส uncen เล่นลับหลังหรือเปล่า เรื่องนี้เริ่มเป็นที่รับรู้และพูดถึงในหมู่พ่อแม่ผู้ปกครองแต่สมัยนั้นยังไม่มี Social Network ทำให้การรับรู้นี้จำกัดอยู่ในกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น แม้จะบทความเกี่ยวกับความรุนแรงและผลกระทบต่อเด็กลงในหนังสือพิมพ์อยู่บ่อย ๆ แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากสังคมมากนัก
คนที่ทำให้เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากสังคมในวงกว้างคือผู้ชายที่ชื่อว่า บิล แอนเดอร์สัน
เรื่องมีอยู่ว่าลูกของ บิล แอนเดอร์สัน อายุ 9 ขวบขอให้พ่อแม่ซื้อเกม Mortal Kombat ให้
ก่อนที่บิลจะซื้อเกมนี้ให้ลูกเค้าตัดสินใจไปหาข้อมูลเกี่ยวกับเกมดังกล่าวก่อน ผลคือเค้าหัวเสียมากที่มีเกมแบบนี้วางขายและลูกเค้าเกือบจะได้ซึมซับความรุนแรงที่ไม่เหมาะสมกับวัย
เค้าได้ปรึกษาถึงเรื่องที่เกิดขึ้นนี้กับ วุฒิสมาชิก โจ ลีเบอร์แมน ซึ่งเป็นหัวหน้าของเค้า
วุฒิสมาชิก โจ รู้สึกว่านี่เป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชนของชาติในอนาคต
เค้าจึงตัดสินใจเชิญนักวิชาการต่าง ๆ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นบริษัท Game software และ เกมคอนโซล แน่นอนว่ารวมถึง Nintendo และ SEGA ให้มาตอบข้อสักถามเกี่ยวกับความรุนแรงในวิดีโอเกมที่วุฒิสภา
to be continued in Part 3
โฆษณา