13 พ.ค. 2020 เวลา 12:04 • ครอบครัว & เด็ก
ตอนที่2 " กิจกรรม : ละเลงสี สร้างงานศิลปะด้วยมือน้อย "
🌟เตรียมลูกก่อน เข้าเรียนเตรียมอนุบาล โดยการ Home School ช่วงวิกฤติ Covid19 (ให้มีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจก่อนไปโรงเรียนวันแรก) ได้อย่างไร?
การวาดรูปเป็นความทรงจำที่หอมหวานและสวยงามมากๆสำหรับผมในวัยเด็ก และสุขใจทุกครั้งที่ได้นึกถึง
ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัด กับการที่เป็นลูกชายคนโตซึ่งต้องเล่นคนเดียวจนถึง 5ขวบ ก่อนที่น้องสาวจะคลานต้วมเตี้ยมตามออกมาเล่นด้วย
ซึ่งในความคิดของเด็กน้อยแล้วนั้น เวลานั้นช่างสุดแสนจะยาวนานและเคลื่อนที่ไปอย่างเชื่องช้ากับการที่เค้าต้องเล่นอยู่คนเดียว 🧒
ด้วยความที่คุณพ่อและคุณแม่เป็นคุณครูด้วยแล้ว
ของเล่นที่ดีที่สุดของผมในตอนนั้นที่อาชีพคุณครูพอจะหาได้ง่าย รวดเร็ว และประหยัดที่สุด
นั่นก็คือ....
"กระดาษ ปากกา และ ดินสอสี" 🗒🖊🖍
ตั้งแต่ได้รับของขวัญเหล่านั้นมา
สายตาของเด็กชายคนนั้นก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป....
โลกแห่งจินตนาการ ได้ร้อยเรียงผ่าน รูปวาด รูปแล้วรูปเล่า ผ่านเพื่อนเล่นในกระดาษที่พร้อมจะทำให้สนุกสนานอยู่เสมอ
เด็กชายคนนั้นมักจะยิ้มมีความสุขทุกครั้ง เมื่อมีผู้ใหญ่ใจดีเดินมาทักว่า รูปวาดของเค้านั้นสวยและเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์
(ตอนนั้นอยู่ในช่วง 2-5ขวบ ตอนนี้อย่าถามนะว่าวาดรูปเป็นยังไง สวยมั้ย? ก็ยังวาดได้เท่าตอน 2ขวบน่ะครับ 555 🤣)
โลกของของเด็กชายคนนั้น แสนเรียบง่าย และเต็มไปด้วยความสุข 😀
เค้าไม่ต้องการรถบังคับวิทยุ วีดีโอเกม จักรยานคันใหม่ หรือของเล่นใดๆทั้งนั้น....
" แม่ครับ... วันเกิดของอาร์ตปีนี้ ขอแม่ซื้อสีน้ำกับสีโปสเตอร์ให้ อาร์ตด้วยนะครับ ขอบคุณครับแม่ ❤ "
เวลาผ่านไป.... เด็กชายคนนั้นได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่
เป็นคุณพ่อที่มีภรรยาที่แสนดีและลูกชายสุดแสนจะน่ารัก 1คน
ซึ่งตอนนี้คุณพ่อคนนี้ ต้องมาปวดหัวกับการหาข้อมูล Home School กับกิจกรรมที่ลูกรักควรต้องทำอะไรดี? ในช่วงที่โรงเรียนเปิดตามปกติไม่ได้ เพราะพิษโรคระบาด Covid19
แต่กลับค้นพบว่า.... กิจกรรมที่ดีสำหรับเด็กเล็ก เพื่อให้พัฒนาสมองซีกขวาและกล้ามเนื้อมัดเล็ก ก็คือ กิจกรรมที่เราได้ทำมาตลอดในวัยเด็กนั่นเอง
" วาดรูป " แบบที่ใจสั่งให้วาด อิสระไร้ซึ่งกรอบและกฎเกณฑ์ แล้วแต่จินตนาการจะนำพาไป (อธิบายง่ายๆ ก็คือวาดมั่วๆ ตามอารมณ์ของเด็กน้อยนั่นเอง 555) 🎨👨🎨
โดยความบังเอิญ ผมได้ไปอ่านเจอบทความจาก
"วารสารงานวิจัยของบัณฑิตวิทยาลัยสวนดุสิต" ฉบับที่2 (ปีพ.ศ.2557) ซึ่งมีเนื้อหาคร่าวๆโดยสรุปดังนี้คือ...
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองที่มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบพัฒนาการเขียนของเด็กปฐมวัยก่อนและระหว่างได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะการปั้นและการละเลงสีด้วยนิ้วมือ และศึกษาการเขียนของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการปั้นและการละเลงสีด้วยนิ้วมือ
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นเด็กนักเรียนชาย-หญิง อายุระหว่าง 4-5 ปี ชั้นอนุบาลปีที่ 1
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ แบบวัดพัฒนาการเขียนของเด็กปฐมวัย
แผนการจัดกิจกรรมการปั้นและการละเลงด้วยนิ้วมือ
👩🏫ผลการศึกษาพบว่า ก่อนการทดลองเด็กปฐมวัยทุกคนมีพัฒนาการเขียนอยู่ในขั้นที่ 1 โดยขีดเขียนเป็นเส้นต่าง ๆ ได้เท่านั้น และแต่ละคนเริ่มมีพัฒนาการเขียนเปลี่ยนแปลงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 1 กับ 2 เป็นต้นไป
และในสัปดาห์สุดท้ายของการทดลอง เด็กทุกคนมีพัฒนาการเขียนสูงสุด อยู่ในขั้นที่ 4
และในช่วงการกิจกรรมปั้นและการละเลงสีด้วยนิ้วมือตลอด 8 สัปดาห์ ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีคะแนน ขั้นพัฒนาการเขียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01
การละเลงสีด้วยนิ้วมือ เป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้มีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เด็กมีโอกาสได้ใช้ฝ่ามือ นิ้วมือ ในการวาดภาพตามความคิดของตนเอง ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนากล้ามเนื้อมือที่ดีขึ้น
ซึ่งสอดคล้องกับ วิรัตน์ พิชญไพบูลย์ (2531) กล่าวว่า การละเลงสีด้วยนิ้วมือไม่จำเป็นต้องใช้สีมากเกินไป แต่ควรให้เด็กได้ทดลองใช้ส่วนต่าง ๆ ของมือ
นอกจากนี้การละเลงสีด้วยนิ้วมือยังเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการในการใช้มือ ตา และความคิด ให้มีความสัมพันธ์ได้อย่างดีและยังเป็นการเรียนรู้เทคนิคของการเขียนภาพโดยเฉพาะ
เรื่องของความอ่อน แก่ ของสีในการละเลงสีด้วยนิ้วมือนั้นเด็กสามารถค้นคว้าทดลองการเขียนภาพด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ เนื่องจากสามารถเขียนแล้วลบทิ้งแก้ไขได้จนกว่าจะพอใจ
แมคอิลเวน (Mcllvain, 1961) กล่าวว่า การละเลงสีด้วยนิ้วมือประกอบดนตรีโดยเริ่มจากให้เด็กเคลื่อนไหวมือในอากาศตามจินตนาการ เช่น
นกกำลังบิน ใบไม้กำลังพัดไหวเมื่อโดนลมแรง คลื่นของทะเลที่ซัดบนชายหาด เป็นต้น
หลังจากนั้น เปิดดนตรี เพื่อส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและจังหวะโดยเริ่มจากให้เด็กได้ลองเคลื่อนไหวมือและแขนในอากาศประกอบดนตรี และหลังจากนั้นจึงลองเคลื่อนไหวมือในท่าทางต่าง ๆ บนโต๊ะ ควรใช้ทั้งดนตรีทั้งจังหวะ
ช้าและเร็วเพื่อให้เด็กได้ฝึกการตีความจากจังหวะเพลงและเคลื่อนไหวตามจังหวะที่ได้ยิน
👩🏫ดังนั้น การพัฒนาการเขียนของเด็กปฐมวัยกับกิจกรรมการปั้นและการละเลงสีด้วยนิ้วมือ ทำให้เด็กมี
พัฒนาการเขียนการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมการการปั้นและการละเลงสีด้วยนิ้วมือ
กระบวนการจัดกิจกรรมมีการใช้กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมือที่มีส่งเสริมพัฒนาการเขียน ก่อให้เกิดประสิทธิภาพการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ให้มีความเหมาะสมกับการนำไปใช้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านการเขียนเด็กอีกวิธีหนึ่ง โดย
มีครูเป็นผู้สร้างสรรค์สภาพแวดล้อมและเป็นแบบอย่างของการเขียนที่ดี จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาการด้านการเขียนของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
👪คุณพ่อคิด : ภาษางานวิจัยนี้ซับซ้อนใช้ได้ ยิ่งอ่าน อาจจะยิ่งงง
ผมพอสรุปใจความสั้นๆเพื่อให้เข้าใจง่ายคือ
" การละเลงสี ด้วยนิ้วมือในวัยเด็ก จะช่วยให้เด็กๆโตขึ้นมีพัฒนาการในด้านการเขียนเร็วขึ้นนั่นเองครับ "
ส่วนจะเขียนเป็นรูปวาด หรือตัวหนังสือ ก็จะพัฒนาไปพร้อมๆกัน หลักการเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของสมองและกล้ามเนื้อนิ้วมือตอนวาดรูปมีส่วนส่งเสริมกันและกันอยู่ตลอดเวลา
พอรู้อย่างนี้แล้ว.... ของเล่นที่แสนจะเรียบง่าย
ที่คุณพ่อกับคุณแม่มีให้ผมในวัยเด็กนั้น
กลายเป็นของขวัญที่แสนพิเศษที่สุด ที่แสนอบอุ่นใจ และ ขอบคุณท่านทุกครั้งที่ได้นึกถึง ❤
ของเล่นแสนแพงไม่อาจเทียบได้กับของเล่นที่มีประโยชน์ต่อลูกรัก 😁
จากนี้ไป ช่วงปิดโรงเรียนอยู่บ้าน เรามาละเลงสีไปด้วยกันนะ ด.ช.ฟีนิกซ์
ของเล่นหุ่น Super Hero ที่ฟีนิกซ์อยากได้เพิ่ม ก็เอาไว้ซื้อให้ทีหลังละกันนะครับ 555 🤣👪❤❤❤
ช่องทางติดตามดูคลิปวีดีโอเพิ่มเติมทางเพจ FB. " Daddy Survivor "
ขอกำลังใจ ฝากติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณมากครับ 😀👪❤

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา