13 พ.ค. 2020 เวลา 05:09
เครื่องบินฝึก/โจมตี ที-๓๓ ชู้ตติ้ง สตาร์ ของ ทอ.โบลิเวีย
นักบิน เอที-๓๓ ชู้ตติ้ง สตาร์ ของ ทอ.โบลิเวีย
ในวันที่ ๓๑ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ กองทัพอากาศโบลิเวีย ได้ทำพิธีปลดประจำการเครื่องโจมตี/ฝึก แบบ เอที-๓๓ ชูตติ้ง สตาร์ ๔ เครื่องสุดท้าย ของฝูงบินขับไล่ที่ ๓๑ แห่งกองทัพอากาศโบลิเวีย ที่ยังใช้งาน ที-๓๓ ชู้ตติ้ง สตาร์ ในภารกิจทางทหาร นับว่าเป็นการสิ้นสุดการปฏิบัติการของเครื่องบินรบในตระกูล ล็อคฮีด เอฟ-๘๐ / ที-๓๓ ชูตติ้ง สตาร์ ซึ่งเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่สอง ในรูปแบบของเครื่องบินขับไล่ เอฟ-๘๐ ซึ่งมีบทบาทมากในสงครามเกาหลี ต่อมาได้พัฒนาเป็น ที-๓๓ เครื่องบินฝึกไอพ่นสองที่นั่ง ที่ใช้งานอย่างแพร่หลายในกองทัพอากาศของฝ่ายโลกเสรี
กองทัพอากาศโบลิเวีย เริ่มจัดหา ที-๓๓ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยลงนามในข้อตกลงจัดหา ซีที-๑๓๓ ซิลเวอร์ สตาร์ มาร์ค ๓ เอที (CT-133 Silver Star Mk. III AT) หรือ ที-๓๓เอเอ็น (T-33AN) ซึ่งเป็น ที-๓๓ รุ่นติดอาวุธ ที่สร้างขึ้นในแคนาดา จำนวน ๑๒ เครื่อง จากนอร์ธเวสต์ อินดัสตรี้ ประเทศแคนาดา ในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๖ ณ กรุงลาปาซ เมืองหลวงของประเทศโบลิเวีย มูลค่าสัญญาในครั้งนั้น ๔,๖๒๐,๐๐๐ ดอลล่าร์สหรัฐฯ หกสัปดาห์ต่อมานักบิน ๖ นายและเจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศโบลิเวียชุดแรกได้เดินทางถึงฐานบินเอ็ดมอนตัน รัฐอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา เพื่อเตรียมตัวปฏิบัติงานกับเครื่องบินไอพ่นแบบ ที-๓๓ ซึ่งจะเป็นเครื่องบินไอพ่นแบบแรกของกองทัพอากาศโบลิเวีย
ที-๓๓-๒๐๐๐ พร้อมระบบอาวุธประจำเครื่อง
ข้อมูลจำเพาะของ ซีที-๑๓๓ ซิลเวอร์ สตาร์ มาร์ค ๓ เอที หรือ ที-๓๓เอเอ็น
ประเภท เครื่องบินฝึกขั้นปลายและโจมตีสนับสนุนกำลังภาคพื้นดิน ๒ ที่นั่งเรียงตามกัน
เครื่องยนต์ เทอร์โบเจ็ต โรลส์-รอยซ์ นีน ๑๐ ให้แรงขับสถิต ๕,๐๐๐ ปอนด์
มิติ กางปีก ๑๒.๙๓ เมตร ยาว ๑๑.๔๘ เมตร สูง ๓.๕๕ เมตร
น้ำหนัก น้ำหนักเปล่า ๓,๘๓๐ กิโลกรัม น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด ๗,๖๓๐ กิโลกรัม
สมรรถนะ ความเร็วสูงสุด ๙๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ระดับน้ำทะเล เพดานบินสูงสุด ๑๔,๐๐๐ เมตร
อาวุธ ปืนกลอากาศแบบ เอ็ม-๓ ขนาด ๑๒.๗ มม. จำนวน ๒ กระบอก ที่ใต้ลำต้วส่วนหัวข้างละ ๑ กระบอกพร้อมกระสุนกระบอกละ ๓๐๐ นัด ตำบลติดอาวุธที่ใต้ปีกข้างละ ๓ ตำบล
ที-๓๓เอเอ็น ๓ เครื่องแรก หมายเลข FAB 600, 601 และ 602 ได้เดินทางมาถึงโบลิเวียในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ อีกสองลำ หมายเลข FAB 603 และ 604 ต่อมาเดินทางมาถึงในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ตามลำดับ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๗ เดินทางมาถึง ๖ เครื่อง (หมายเลข FAB 605 – 610) และอีก ๒ เครื่องสุดท้าย (หมายเลข FAB 611 และ 612) เครื่องหมายเลข FAB 612 เป็นเครื่องที่ทางแคนาดาส่งให้ทดแทนหมายเลข FAB 603 ที่สูญเสียจากอุบัติเหตุในปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๖
ที-๓๓ ชุดแรกทั้งหมด ๑๒ เครื่อง เข้าประจำการในฝูงบินขับไล่ที่ ๓๑ ฐานบินเอลอัลโต กรุงลาปาซ โดยโอนย้ายเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๕๑ มัสแตง ที่ใช้งานอยู่เดิม ไปให้ฝูงบินผสม ณ ฐานบินในเมืองโกชามันบา ซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศโบลิเวีย บริเวณในเทือกเขาแอนดิส
ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๙ - ๒๕๒๐ กองทัพอากาศโบลิเวียได้จัดหา ที-๓๓ เพิ่มเติมเป็นชุดที่สอง จำนวน ๘ เครื่อง (หมายเลข FAB 613 - 620) ด้วยการแลกกับเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๕๑ มัสแตง จำนวน ๕ เครื่อง ที่เพิ่งปลดประจำการ ผ่านทางบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที-๓๓ ชุดที่สองนี้ ทั้งหมดเป็นรุ่น ที-๓๓ เอเอ็น และถูกนำเข้าประจำการในฝูงบินผสม ณ ฐานบินในเมืองโกชามันบา แต่ประจำการอยู่กับฝูงบินผสมนี้ ๕ ปี ต้องสูญเสีย ที-๓๓ จากอุบัติเหตุไป ๒ เครื่อง ก่อนจะย้าย ที-๓๓ ที่เหลืออีก ๖ เครื่อง ไปรวมกับฝูงบินขับไล่ที่ ๓๑ ที่ฐานบินเอลอัลโต กรุงลาปาซ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ กองทัพอากาศโบลิเวีย ได้รับมอบ ที-๓๓ เอสเอฟ/เอสซี จำนวน ๑๙ เครื่อง เข้าประจำการ (หมายเลข FAB 621 - 639) จากฝรั่งเศส ซึ่งทั้งหมดเป็น ที-๓๓ รุ่นไม่ติดอาวุธ เครื่องบินเหล่านี้จึงถูกนำไปใช้ในภารกิจฝึกขั้นสูง
ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๘ - ๒๕๔๒ ที-๓๓ เป็นเครื่องบินไอพ่นแบบเดียวของกองทัพอากาศโบลิเวีย ซึ่งถูกใช้งานในภารกิจบินรักษาเขตแดน สนับสนุนการปฏิบัติการต่อต้านขบวนการค้ายาเสพติด และขบวนการก่อการร้าย เนื่องจาก ที-๓๓ ของกองทัพอากาศโบลิเวีย เป็นเครื่องบินเก่ามีอายุการใช้งานมานาน แต่โบลิเวียจัดว่าเป็นประเทศยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ ทำให้ไม่มีงบประมาณในจัดหาอากาศยานแบบใหม่มาทดแทน ที-๓๓ และเพื่อแก้ปัญหานี้ รัฐบาลโบลิเวียได้อนุมัติให้กองทัพอากาศฯ ปรับปรุง ที-๓๓ จำนวน ๑๘ เครื่อง ให้มีความทันสมัยและปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้น
การปรับปรุง ที-๓๓ จำนวน ๑๘ เครื่อง นี้ดำเนินการโดยบริษัทในประเทศแคนาดา ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๒ - ๒๕๔๕ การดำเนินการครอบคลุมในการปรับปรุงระบบเอวิโอนิกส์ ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ในการประมวลผลข้อมูลในการบิน ติดตั้งหน้าจอมัลติฟังก์ชั่นขนาด ๖ x ๘ นิ้วในห้องนักบินทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อบอกข้อมูลการบิน ทำให้มีความปลอดภัยในการบินมากขึ้น มีการปรับปรุงเครื่องยนต์ ระบบเก้าอี้ดีดตัว ระบบเชื้อเพลิง รวมทั้งระบบควบคุมการใช้อาวุธให้มีความปลอดภัยมายิ่งขึ้น ภายหลังการปรับปรุงแล้ว ที-๓๓ ของโบลิเวียได้รับสัญลักษณ์ใหม่ว่า ที-๓๓-๒๐๐๐
ห้องนักบินของ ที-๓๓-๒๐๐๐
แม้ว่า ที-๓๓ จะได้รับการปรับปรุงให้มีความปลอดภัยในการบินเพิ่มขึ้น และยืดอายุการใช้งานออกไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่ ที-๓๓ ก็ไม่ใช่เครื่องบินรบโดยตรง ไม่สามารถใช้งานในภารกิจทางยุทธวิธีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับอะไหล่ของเครื่องบินก็หายากมากขึ้นเรื่อย เนื่องจากสายการผลิตยุติลงไปนานมากแล้ว ทำให้โบลิเวียต้องมองหาเครื่องบินรบแบบใหม่มาทดแทน จนในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ กองทัพอากาศโบลิเวียก็ได้จัดหาเครื่องบินฝึกไอพ่นแบบ เค-๘ คาราโกรัม จากประเทศจีนมาใช้งานจำนวน ๖ เครื่อง เพื่อทดแทน ที-๓๓-๒๐๐๐ ที่ทยอยปลดประจำการไป
ที-๓๓-๒๐๐๐ ๑ ใน ๔ เครื่องสุดท้ายของ ทอ.โบลิเวีย
จนในกลางปี พ.ศ. ๒๕๖๐ กองทัพอากาศโบลิเวีย ได้ตัดสินใจปลดประจำการ ที-๓๓-๒๐๐๐ จำนวน ๔ เครื่องสุดท้ายลง นับว่าเป็นการสิ้นสุดการใช้งานเครื่องบินแบบ ที-๓๓ ในภารกิจทางการทหาร โดยต้องบันทึกไว้ ณ ที่นี้ว่า “กองทัพอากาศโบลิเวีย เป็นผู้ใช้งานเครื่องบินฝึกแบบ ที-๓๓ ชู้ตติ้ง สตาร์ ฝูงสุดท้ายของโลก.........”
โฆษณา