13 พ.ค. 2020 เวลา 04:40 • ประวัติศาสตร์
#ความเชื่อพื้นบ้านล้านนา
ความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ และเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน เป็นเรื่องของความรู้สึกและจิตใจ อาจมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลก็ได้ คนล้านนามีความเชื่อในเรื่องต่างๆ และยึดถือนำมาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตาย โดยเชื่อว่าจะช่วยให้มีความร่มเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งแก่ตน ครอบครัว และสังคมส่วนรวม ความเชื่อของคนล้านนานั้น นอกจากความเชื่อทางศาสนาโดยเฉพาะศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาหลักแล้ว ยังมีความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ ผีสาง เทวดา เรื่องโชคลาง สังหรณ์ เรื่องเหนือธรรมชาติ ที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ ความเชื่อเหล่านี้ คน ล้านนาได้นำมาผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัว จนทำให้เกิดเป็นประเพณี พิธีกรรมและ วัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ล้านนาไปในที่สุด
สำหรับข้อมูลความเชื่อที่นำมาเสนอครั้งนี้ พรรณเพ็ญ เครือไทย คัดมาจากหนังสือเรื่องความเชื่อพื้นบ้านล้านนา ซึ่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวบรวมจากเอกสารโบราณล้านนา ประเภทใบลานและพับสา แล้วพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ โดยคัดเลือกเฉพาะเรื่องที่เห็นว่าเกี่ยวกับเด็ก
๑. ความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์
• หอยเบี้ย เชื่อว่าเมื่อผูกตัวหอยเบี้ยไว้กับแขนของเด็ก ๆ จะสามารถป้องกันภูตผีปีศาจได้และยังทำให้เด็กคนนั้นเป็นคนเลี้ยงง่าย
• หิ่งห้อย เชื่อว่า ถ้าเด็กหรือผู้ใหญ่คนใดจับหิ่งห้อยมาเล่น ต่อไปภาคหน้าหรือเมื่อแก่ตัวจะทำให้เป็นโรคมือสั่น
๒. ความเชื่อเกี่ยวกับคนและกิริยาอาการ
• กวาดเรือน ตามปรกติคนล้านนาจะกวาดเรือนตอนเช้าหรือตอนกลางวัน ถ้าไม่จำเป็นจะไม่กวาดเรือนเวลากลางคืน เพราะถือว่า การกวาดเรือนในตอนกลางคืนเป็นการกวาดเอาข้าวของเงินทองออกจากเรือนไป ความจริงคงเป็นเพราะว่าในเวลากลางคืนมีแสงสว่างไม่เพียงพอ มองไม่เห็นข้าวของเครื่องใช้ที่มีขนาดเล็ก อาทิ เข็มเย็บผ้า เป็นต้น อาจทำให้ข้าวของเครื่องใช้เหล่านั้นสูญหายได้
• กินบกจกลง คนล้านนาจะกินข้าวเหนียวเป็นหลัก โดยจะบรรจุข้าวเหนียวไว้ในไหข้าวที่ใช้นึ่งข้าว เวลากินข้าว ผู้เฒ่าผู้แก่จะสอนลูกหลานให้คดข้าวจากด้านบนก่อน ห้ามคดลงไปข้างล่างเจาะเอาเฉพาะข้าวที่อยู่ตรงกลางไห ในลักษณะที่เรียกว่า “กินบกจกลง” เชื่อว่า ถ้าบ้านใดกระทำเช่นนั้น จะทำให้ข้าวในยุ้งบกบางหรือลดลงอย่างรวดเร็ว หรือมิฉะนั้นก็ทำให้ข้าวของเงินทองพร่องลงไปมากจนหมดสิ้นไปในที่สุด
• เมื่อมีคนที่เจ้าของเรือนไม่ชอบมานั่งพูดคุยด้วย ถ้าไม่อยากให้แขกรายนั้นมาอีก เมื่อเขากลับไปแล้วให้รีบเอาไม้กวาดๆ ไล่ พร้อมพูดเบาๆ ว่า “ไป ไป” เชื่อว่าบุคคลนั้นจะไม่มาเรือนนั้นอีก
o กุ้มกะลุมหรือคลุมโปง ชาวล้านนาสมัยก่อนจะห้ามเด็กหรือผู้ใหญ่นอนคลุมโปง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว เชื่อว่าจะทำให้ริมฝีปากแตกง่าย
๓. ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมและไสยศาสตร์
• แกว่งข้าว ถ้าเรือนใดมีเด็กทารกที่เลี้ยงยาก มักร้องไห้งอแงอยู่เสมอ ไม่ค่อยกินนม ในสมัยก่อนพ่อแม่จะเอาผ้าอ้อมของเด็กไปให้คนทำพิธีแกว่งข้าวให้ ใช้หม้อนึ่งและไหข้าว ช่วยในการทำนายโดยผู้ทำพิธีจะเอาข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลมแล้วผูกด้วยด้าย เอาปลายข้างหนึ่งไปผูกกับไม้ด้ามข้าว ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งผูกกับผ้าอ้อมเด็ก พร้อมกับกล่าวลำดับเครือญาติของเด็กที่ได้ตายไปแล้ว ถ้าเรียกขานชื่อถึงญาติคนใดแล้วก้อนข้าวนั้นแกว่งไปมา แสดงว่าคน ๆ นั้นกลับชาติมาเกิด ชาวล้านนาเชื่อว่าถ้าได้ทำพิธีนี้แล้ว เด็กทารกนั้นจะกลายเป็นคนเลี้ยงง่ายและโตวันโตคืน
• จกคอละอ่อน คือการที่แม่ช่าง (หมอตำแย) หรือหมอทำคลอดใช้นิ้วมือล้วงเข้าไปในลำคอของทารกแรกคลอด เพื่อล้วงเอาเสลดหรือเลือดที่ติดค้างในลำคอออกมา เชื่อว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ เมื่อโตขึ้นเด็กคนนั้นจะป่วยเป็นโรคหืดหอบได้
• น้ำนม เชื่อว่า ถ้าเอาน้ำนมของคนทาที่ศีรษะของเด็กทารกที่มีผมบาง จะทำให้ผมขึ้นดกหนา ถ้าเอาน้ำนมหยอดตาคนที่เป็นโรคตาแดง ก็จะหาย และถ้าเอาน้ำนมมนุษย์ผสมกับดินปืนที่ใช้ทำบอกไฟดอก เชื่อว่าเมื่อจุดบอกไฟจะไม่ค่อยมีควันและมีดอกสวยงามสว่างไสว
• เม่า เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับเด็กทารกในช่วงที่ยังกินนม อาการคือ บริเวณรอบริมฝีปากและลิ้นของเด็กจะมีลักษณะคล้ายกับถูกน้ำร้อนลวกจนสุก ทำให้เด็กรู้สึกแสบแล้วร้องไห้ การรักษาโรคเม่าของคนสมัยก่อนนั้น พ่อแม่เด็กจะทำกรวยดอกไม้ จากนั้นจะนำกรวยไปเสียบไว้ข้างฝาหรือหลังคาเรือน ทิ้งไว้ประมาณครึ่งวันจึงนำกรวยดอกไม้นั้นมาทำพิธีเสกเป่าอีกครั้งหนึ่ง และทำอย่างนี้ทุก ๆ วัน จนกว่าเด็กจะหาย
• รก ชาวล้านนาเชื่อว่าหลังจากคลอดแล้วแต่รกไม่ออกตามมา ให้ระวังว่ารกจะขึ้นปิดลิ้นปี่จนทำให้เด็กหายใจไม่ออก และอาจถึงตายได้ ในสมัยก่อนต้องให้หมอเวทมนตร์มาเสกคาถาสะเดาะเคราะห์ใส่น้ำให้แม่เด็กดื่มเพื่อบังคับรกให้ออก
• เมื่อนำรกไปฝัง ให้ใช้เข็มแทงลงไปที่ห่อรกแล้วจึงนำไปฝัง เชื่อว่าจะทำให้เด็กเจ้าของรกเป็นคนที่มีปัญญาฉลาดเฉียบแหลมเหมือนเข็ม
• หลังจากที่เด็กคลอดแล้ว ให้ตัดสายรกเก็บไว้สัก ๑ ข้อมือ นำไปตากให้แห้ง เมื่อมีลูกหลายคนและลูก ๆ เติบโตแล้ว ให้ฝนสายรกที่เก็บไว้โดยรกของพี่ฝนให้น้องกินและรกของน้องฝนให้พี่กิน เชื่อว่าลูกๆ จะรักกัน ไม่ทะเลาะหรือเป็นศัตรูกัน
• ลูก ถ้าลูกคนแรกเกิดมาเป็นผู้หญิงและมีหน้าตาเหมือนแม่ เชื่อว่าจะเป็นคนอาภัพถ้าเหมือนพ่อ จะมีวาสนาดี แต่ถ้าเป็นลูกชายและมีหน้าตาเหมือนพ่อ จะเป็นคนอาภัพ ถ้าเหมือนแม่จะมีวาสนาดี
• สายดือหรือสายสะดือ หลังคลอด แม่ช่างหรือหมอตำแยจะตัดสายสะดือของทารกเชื่อว่าถ้าตัดสายสะดือเด็กจนเหลือสั้นเกินไป โตขึ้น เขาจะเป็นคนใจร้อน วู่วาม โมโหง่าย และถ้าเอาสายสะดือที่หลุดแล้วของลูกทุกคนมาตากแดดให้แห้งแล้วเก็บไว้ ภายหลังเอาสายสะดือเหล่านั้นมาแช่น้ำให้ลูก ๆ ดื่ม เชื่อว่าลูกทุกคนจะรักกันมาก
• สายแห่ หรือสายรก เถ้าเด็กที่คลอดออกมาเป็นชาย มีสายแห่พันรอบคอได้ ๒ รอบเชื่อว่าโตขึ้นเขาจะได้บวชเป็นสามเณรหรือพระภิกษุ
• หลอนเดือน การที่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดไปเยี่ยมทักทายแม่ของเด็กทารกที่เพิ่งคลอดและอยู่ไฟครบกำหนด ๑ เดือนในวันนั้น และเป็นคนแรกที่ไปเยี่ยม เรียกว่าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้ไปหลอนเดือน เชื่อว่าถ้าอุปนิสัยใจคอของคนนั้นเป็นเช่นใด ต่อไปเด็กก็จะมีนิสัยเหมือนคนๆ นั้นด้วย
• อุ๊ก เป็นการเอาเด็กทารกแรกคลอดนอนในกระด้ง แล้วเอาผ้าห่มวงรอบตัวเด็กหลายรอบในลักษณะเป็นเกลียวขึ้นด้านบน เปิดบริเวณใบหน้าไว้โดยคลุมด้วยผ้าบางเพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก ทารกถูกลม ให้กระทำเช่นนี้ ประมาณ ๗ – ๑๕ วัน แต่หากไม่ “อุ๊ก” ตัวอย่างนี้ เชื่อว่า ผิวหนังเด็กทารกจะไม่สวย มีลักษณะลายพร้อย กระดำกระด่างไปทั่วตัว
• อุจจาระ คนล้านนาเชื่อว่าถ้าเด็กไม่รู้เดียงสา ชอบเล่นอุจจาระของตัวเอง โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จะปรุงอาหารเก่ง รสอร่อย
• วันเนาหรือวันเน่า คือ วันถัดจากวันสังขารล่อง หรือวันก่อนหน้าวันขึ้นปีใหม่ ปัจจุบันตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน ชาวล้านนามีความเชื่อว่าถ้าได้ตัดไม้ในวันนี้ โดยเฉพาะไม้ไผ่แล้ว จะไม่มีแมลง เช่น มอด มากัดกินไม้ เพราะเนื้อไม้จะมีกลิ่นเน่าเหม็นเชื่อว่า ถ้าผู้ใดไม่ระวังปากไม่ระวังคำพูด มีการด่าแช่งกัน หรือทะเลาะกันในวันนี้ จะทำให้ปากของคนเหล่านั้นเน่าเหม็นตลอดไป
๔. ความเชื่อเกี่ยวกับผี
• ผีกะ ผีชนิดหนึ่งที่สืบต่อกันมาทางสายตระกูล คนสมัยก่อนมักเลี้ยงผีกะไว้เพื่อคุ้มครองคนในครัวเรือน ผีกะชอบกินของคาวโดยเจ้าของผีกะจะเอาผีใส่ไว้ในหม้อดินเผา จากนั้นจึงใส่ปลาร้า พริก ข่า ตะไคร้ ลงไปในหม้อดินนั้นแล้วปิดปากหม้อด้วยผ้าแล้วผูกด้วยเชือก เชื่อกันว่า ถ้าเจ้าของเลี้ยงดูเอาใจใส่อย่างดี ผีกะจะให้คุณนำความเจริญมาให้เจ้าของ แต่ถ้าเจ้าของปล่อยปละละเลยให้ผีกะอดอยาก ผีกะจะเที่ยวออกหากินและเข้าสิงร่างคนอื่น เมื่อถูกจับได้ก็จะบอกชื่อผู้เป็นเจ้าของ ทำให้เจ้าของอับอายขายหน้า ด้วยเหตุนี้เจ้าของผีกะจึงต้องทำพิธีเลี้ยงผีกะเป็นประจำทุก ๆ ปี หรืออย่างน้อยก็ ๓ ปีต่อครั้ง หากผีกะกล้าแข็งมากขึ้นก็จะกลายเป็นผีม้าบ้อง
• ผีปู่ย่า เป็นผีบรรพบุรุษของคนล้านนา มีหน้าที่คอยดูแลปกปักษ์รักษาลูกหลาน ผีปู่ย่าจะอาศัยอยู่ที่บ้านต้นตระกูลของฝ่ายหญิง เรียกว่า “บ้านเก๊าผี” ทั้งนี้เพราะผีปู่ย่าสืบสายตระกูลมาจากทางแม่ แต่ละปีที่บ้านเก๊าจะจัดพิธีเลี้ยงผีปู่ย่า ลูกหลานในตระกูลจะช่วยกันเตรียมข้าวปลาอาหาร โดยทั่วไปนิยมเลี้ยงด้วยไก่ และสุรา เมื่อทำพิธีเซ่นไหว้เสร็จแล้วก็จะนำไก่มาทำอาหารรับประทานกันภายในหมู่ญาติมิตร
ชาวล้านนาเชื่อว่า ผีปู่ย่าจะคุ้มครองลูกหลานให้อยู่ดีมีสุข แต่ถ้าลูกหลานคนใดทำผิดผี เช่น มีการแตะเนื้อต้องตัวกันก่อนที่จะทำพิธีแต่งงาน หรือหลังแต่งงาน ไม่ทำพิธีเลี้ยงผีปู่ย่าเป็นการบอกกล่าว ผีปู่ย่าจะโกรธและทำให้ลูกหลานเจ็บป่วยได้ ลูกหลานก็จะต้องทำพิธีขอขมา เซ่นไหว้ผีปู่ย่า จึงจะหายจากอาการเจ็บป่วย
• ผีลูกกรอก เรียกเด็กที่เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในท้องมีอวัยวะครบถ้วนทุกประการ แต่มีตัวเล็กบ้านใดถ้ามีลูกกรอกให้เอาผ้าขาวม้าห่อ แล้วนำไปตากให้แห้งเก็บไว้ดูแลอย่างดี เชื่อว่าลูกกรอก มีชีวิตจิตใจ มีวิญญาณ ดังนั้น เวลากินข้าวให้เรียกลูกกรอกมากินด้วยทุกมื้อ และคอยซื้อเสื้อผ้าให้ใส่ โดยเปลี่ยนไปตามอายุ เช่นเดียวกับการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งเชื่อว่า ถ้ากระทำดังนี้แล้วลูกกรอกจะช่วยพ่อแม่หาเงินหาทอง และคอยเฝ้าบ้าน ช่วยดูแลเป็ดไก่สัตว์เลี้ยง นอกจากนั้นถ้าจะเดินทางไปที่ใด ถ้าให้ลูกกรอกไปด้วย ลูกกรอกจะช่วยป้องกันภัยให้ บ้านใดที่เลี้ยงลูกกรอกไว้ คนข้างบ้านจะรู้ได้จากการที่ได้ยินเสียงคล้ายกับมีเด็กเล่นซุกซนในบ้าน
• ผีหม้อหนึ้ง (ผีหม้อนึ่ง) บางแห่งเรียกผีปู่ย่าหม้อหนึ้ง ผีย่าหม้อหนึ้ง หรือผีปู่ดำย่าดำหมายถึงผีที่เข้าสิงชุดนึ่งข้าว ซึ่งประกอบด้วย หม้อนึ่ง ไหข้าว ฝาหม้อ ในสมัยก่อนชาวล้านนาเชื่อกันว่า ถ้าเด็กทารกร้องไห้ตลอดวันตลอดคืนโดยที่ไม่ได้เจ็บป่วย เป็นเพราะเด็กถูกรบกวนจากพ่อเกิดแม่เกิด เนื่องจาก “เด็กหนีมาเกิด” จึงต้องมีการลงผีหม้อนึ่งโดยนำอุปกรณ์ที่ใช้ในการนึ่งข้าว มาประกอบเป็นรูปคนเครื่องประกอบพิธีลงผีหม้อนึ่งจะมีเมล็ดข้าวสาร พริกหนุ่ม พลู ๔ ใบ กล้วย ๒ ลูก ข้าวเหนียว ๒ ปั้น เสื้อผ้าสำหรับใช้สวมใส่หม้อนึ่ง ไหข้าว และค่าขันตั้ง
วิธีลงผีหม้อนึ่ง ผู้ประกอบพิธีจะเอาเสื้อผ้ามาสวมใส่หม้อนึ่งกับไหข้าว แล้วนำไม้มาพาด ไว้ที่ปากไหในลักษณะเป็นแขนขา หลังจากนั้นผู้ประกอบพิธีจะเชิญผีมาลงและก่อนที่จะ มีการถามผีจะยกหม้อนึ่งลงก่อน คำถามที่ถามกันส่วนใหญ่ก็คือ เด็กที่เพิ่งมาเกิดในบ้าน เป็นใครมาเกิด เป็นคนนั้นคนนี้ใช่ไหม ถ้าใช่ หม้อนึ่งก็จะโขกลงกับพื้น แต่ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ โขก แล้วถามต่อไปว่า ต้องการให้เด็กที่เกิดใหม่มีชื่ออย่างนี้หรือไม่ ต้องการจะให้ เปลี่ยนเป็นชื่ออะไร เชื่อว่าการเปลี่ยนให้เด็กเสียใหม่จะทำให้เด็กทารกนั้นหยุดร้องไห้
• ผีเอาเด็กซ่อน ในสมัยก่อน คนโบราณจะห้ามเด็กเล่นซ่อนหา หรือแอบลี้กันในเวลาพลบค่ำและเวลากลางคืน โดยเฉพาะในที่ลับตาคน ถ้าลูกไม่เชื่อฟังก็จะถูกดุและทำโทษ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเชื่อว่า ผีชอบอำเอาเด็กไปซ่อน ทำให้ผู้ใหญ่มองไม่เห็นตัวเด็กคนนั้น แม้จะส่องไฟตามหา และเดินผ่านเด็กไปมาหลายรอบก็มองไม่เห็น หรือกว่าจะพบต้องใช้เวลานานในการค้นหา บางครั้งอาจทำให้เด็กถึงแก่ชีวิตไปเลยก็มี ซึ่งเรื่องนี้เด็กที่เคยถูกผีอำเล่าให้ฟังว่า เห็นผู้ใหญ่ส่องไฟเดินผ่านไปผ่านมา จะเรียกหรือแสดงตัวก็ไม่ได้ เนื่องจากพูดไม่ออกและขยับเขยื้อนตัวไม่ได้
๕. ความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องใช้เครื่องเรือน
• ครกหิน, ครกดิน การตำน้ำพริกด้วยครกหินหรือครกดิน ต้องค่อย ๆ ตำ อย่าตำแรงจนเกินไป ในภาคเหนือวิธีการตำน้ำพริกที่ถูก คือให้ตำข้าง ๆ ครก คนล้านนาเชื่อว่า ถ้าตำแรงจนครกแตก ถือว่า ขึดหรืออัปมงคล ไม่ดี ยิ่งเป็นผู้หญิงด้วยแล้ว หากตำน้ำพริกจนครกแตก ต้องแก้ด้วยการบวชชี จึงจะพ้นจากขึด ตรงข้ามกับทางภาคกลางที่ผู้หญิงต้องตำน้ำพริกให้แรง เร็วและมีเสียงดัง ถ้าสาวบ้านใดตำน้ำพริกได้เช่นนั้น ถือว่าสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ แต่หากตำน้ำพริกแล้วเสียงขาดเป็นช่วง ๆ เชื่อว่าหญิงนั้นเป็นคนทำอะไรเชื่องช้า ไม่ทันกิน ดังนั้นสมัยก่อน การจะเลือกลูกสะใภ้จึงมักไปแอบฟังเสียงตำน้ำพริก
• ไม้ยูหรือยู (ไม้กวาด) ในสมัยโบราณเชื่อกันว่า ถ้าใช้ไม้กวาดวางพาดบนปากอู่หรือเปลเด็กทารก จะช่วยป้องกันภูตผีปีศาจมารบกวนเด็ก หรือมาหยอกล้อเด็ก ทำให้เด็กตกใจหรือร้องไห้ และหากมีคนถูกคุณไสย หรือถูกตู้ ถูกของที่ร้าย เวลาคนนั้น ๆ นอนหลับให้ใช้ไม้กวาดโบกพัดเหนือตัวเขา จะทำให้คุณไสยเสื่อมลงและหายไปในที่สุด
• สตางค์แดง เป็นเหรียญทองแดงมีรูตรงกลาง มีราคา ๑ สตางค์ หากคนที่กินมะเขือลำโพงหรือมะเขือบ้าเข้าไปแล้วเกิดอาการเมา ให้ฝนสตางค์แดงกับน้ำสะอาดแล้วเอาให้ดื่ม เชื่อว่าอาการเมาจะทุเลาลง
• สุดหรือมุ้ง คนสมัยโบราณจะสอนไม่ให้เอามุ้งที่กางกันยุงมาห่มนอน เชื่อว่าถ้ากระทำดังนั้นจะกลายเป็นคนที่จะสุดคำคึดหรือสิ้นคิด เป็นสำนวนว่า สิ้นสุดเหียที่หั้น
• อู่หรือเปล การสานอู่ด้วยไม้ไผ่สมัยก่อนจะมีวิธีนับตาของไม้ที่สานไขว้กัน โดยนับจาก ก้นอู่ขึ้นไปจนถึงปากอู่ ให้มีจำนวนตาตกตรงกับคำโศลกที่ดี โดยเริ่มต้นด้วย “ตาหลับ”ตามด้วย “ตาลืม” สลับกันไป ถ้าถึงปากอู่ด้านบนสุด ให้นับตรงกับคำว่า ”ตาหลับ” เชื่อว่าเด็กที่นอนในอู่นี้ จะเป็นคนที่นอนหลับง่ายและหลับสนิท หลับนาน แต่ถ้าตกตรงกับคำว่า “ตาลืม” เด็กจะนอนหลับไม่สนิท หลับยาก
๖. ความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่
• น้ำบ่อหรือบ่อน้ำ คนล้านนานับถือน้ำบ่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะขุดบ่อน้ำจะให้หมอประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้รู้ของท้องถิ่นในด้านโหราศาสตร์ไสยศาสตร์มาช่วยดูชัยภูมิและกำหนดทิศทางว่าควรจะขุดตรงจุดไหนของบ้านจึงจะ บริเวณไหนขุดแล้วจะมีน้ำ มากสามารถใช้ได้ตลอดปี น้ำไม่แห้งขอด บริเวณไหนที่ขุดแล้วจะมีน้ำใส และไม่เป็นน้ำราก (น้ำสนิม มีสีแดง)
วิธีตรวจหาทำเลในการขุดสร้างน้ำบ่อนั้น หมอหรือท่านผู้รู้บางคนจะตีเส้นเป็นช่อง ๆ คล้ายตาราง ร่างบนกระดาษก่อน จากนั้นจึงคำนวณหาทิศทางที่เป็นมงคล เมื่อทราบแล้วก็จะไปชี้สถานที่เหมาะสมที่ตรงตามตำราในการขุดหาน้ำบ่อ หรือมิฉะนั้นหมอบางคนอาจจะไปตรวจหาสถานที่ในการขุดหาน้ำบ่อในเวลากลางคืน โดยการเดินไปเดินมาในสวน เมื่อเลือกได้สถานที่เหมาะสมแล้ว ก็จะปักไม้ไว้เป็นเครื่องหมาย ซึ่งเรื่องนี้ได้เคยตั้งคำถามกับหมอซึ่งเป็นผู้รู้ในท้องถิ่นว่า ทราบได้อย่างไรว่าพื้นที่บริเวณไหนจะมีน้ำมาก น้ำน้อย ท่านหมอบอกว่าถ้าหากเมื่อเดินผ่านสถานที่บริเวณใดแล้วเกิดความรู้สึกว่ามีกระแสความอุ่นไหลผ่าน แสดงว่าตรงบริเวณนั้นมีน้ำมาก
โดยเหตุที่บ่อน้ำเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีคุณแก่คน ดังนั้นคนล้านนาจะห้ามนั่งบนปาบ่อ โดยเฉพาะผู้หญิง หากไปนั่ง เชื่อว่าจะทำให้น้ำในบ่อเน่าเสียได้ และห้ามถมน้ำบ่อ ถือว่าเป็นขึดใหญ่ ไม่ดี ผู้กระทำต้องได้รับความวิบัติ ฉิบหาย และอาจถึงแก่ชีวิตgลยก็ได้ นอกจากนี้ทุก ๆ ปี ในวันพญาวันหรือวันขึ้นปีใหม่ คนล้านนาจะจุดประทีปบูชาตรงบริเวณบ่อน้ำ
• อุโบสถ เป็นสถานที่สำหรับทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามผู้หญิงขึ้น หรือเข้าไปในเขตดังกล่าว ยกเว้นผู้หญิงที่มีลูกชายผ่านการบวชเรียนมาแล้วจำนวน ๙ คน จึงจะสามารถเข้าไปในเขตอุโบสถได้
ขอบคุณ
คมเนตร เชษฐพัฒนวนิช (บรรณาธิการ). ๒๕๔๐. ความเชื่อพื้นบ้านล้านนา. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โฆษณา