Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มีเรื่อมาเล่า by: OnRin
•
ติดตาม
13 พ.ค. 2020 เวลา 14:14 • สุขภาพ
การบริจาคโลหิต ทำให้เราหันมาใส่ใจสุขภาพ
การบริจาคโลหิต ทำให้เราฉุกคิดที่จะดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ เพื่อจะได้ช่วยเหลือชีวิตผู้อื่นได้อีกหลายชีวิต เป็นความสุขที่เกิดจากการให้ และมีผลพวงทำให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วยค่ะ
การบริจาคโลหิต จำเป็นที่จะต้องเว้นระยะห่าง 3 เดือน จึงจะสามารถบริจาคได้อีกครั้ง ดังนั้น จึงเท่ากับว่า 1 ปี เราสามารถบริจาคโลหิตได้เพียง 4 ครั้งเท่านั้นค่ะ
คุณสมบัติของผู้ที่จะบริจาคโลหิต
จริง ๆ แล้วการเข้าบริจาคโลหิต ใช่ว่าเราเข้าไปแล้วจะสามารถบริจาคได้เลยทุกคน ทั้งนี้ต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติคร่าว ๆ ดังนี้ค่ะ
1. เป็นผู้มีอายุระหว่าง 17 - 70 ปี บริบูรณ์
2. น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป
3. ต้องไม่เจ็บป่วย หรือมีประวัติเจ็บป่วยด้วย โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคตับ โรคมะเร็ง วัณโรค โรคเลือดต่าง ๆ
4. ผู้หญิงต้องไม่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และไม่คลอดบุตรหรือแท้งบุตรในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา
5. ไม่มีน้ำหนักลดผิดปกติในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา
6. ต้องไม่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ภายในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา
7. ต้องไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ ทั้งตัวเราและคู่ของเราค่ะ
ข้อควรปฏิบัติก่อนมาบริจาคโลหิต
นอกจากคุณสมบัติที่กล่าวถึงข้างต้น ก็มีข้อควรปฏิติก่อนมาบริจาคดังนี้
1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อเนื่อง
2. สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี และไม่อยู่ระหว่างรับประทานยารักษาโรคหรือยาปฏิชีวนะ
3. ควรรับประทานอาหารก่อนการบริจาคโลหิต โดยยกเว้นอาหารที่มีไขมันสูง
4. งดสูบบุหรี่ก่อนการบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี
5. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนบริจาคโลหิต 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการแพ้โลหิตในผู้ป่วย
ขั้นตอนการบริจาคโลหิต
1. ชั่งน้ำหนัก เพื่อจะได้ทราบว่าน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์หรือไม่
2. กรอกรายละเอียดและประเมินตัวเอง ลงในแบบฟอร์มผู้บริจาคโลหิต
3. เจ้าหน้าที่ศูนย์บริจาคซักประวัติ วัดความดัน (หากมีความดันสูงการบริจาคจะถูกยกเลิกทันที)
4. ตรวจความเข้มข้นของเลือด ด้วยการเจาะที่ปลายนิ้วเพื่อนำเลือดเพียงเล็กน้อยมาเข้าเครื่องตรวจสอบความเข้มข้น ผู้หญิงค่า Hb 12.5 g/dl ขึ้นไป ผู้ชายค่า Hb 13 g/dl ขึ้นไป (หากค่าต่ำกว่าเกณฑ์ดังกล่าวการบริจาคโลหิตจะถูกยกเลิกทันที และทางศูนย์ฯ จะให้ยาเสริมธาตุเหล็กกลับมารับประทานแทนค่ะ)
5. ดื่มน้ำ 2 - 3 แก้ว ก่อนบริจาค เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและทำให้รู้สึกสดชื่น
6. บริจาคโลหิตค่ะ เจ้าหน้าที่จะใช้เข็มเจาะเข้าที่เส้นเลือดบริเวณข้อพับแขนและปล่อยให้เลือดไหลลงมาสู่ถุงเก็บเลือด ส่วนใหญ่ 1 คน สามารถบริจาค 350 - 450 ml. ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวค่ะ
7. หลังบริจาคควรนั่งอยู่กับที่สักครู่ เพื่อประเมินตัวเองว่ามีอาการแทรกซ้อนหรือวิงเวียนศรีษะ หน้ามืดใด ๆ หรือไม่ หากมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งทางศูนย์ฯ ทันที แต่ถ้าไม่มีอาการใด ๆ ให้ลุกจากเตียงบริจาคได้เลย
8. ทานอาหารเพื่อเพิ่มกำลังหลังบริจาคโลหิต ซึ่งทางศูนย์ฯ จะจัดเตรียม ขนม นม และน้ำดื่มไว้ให้สำหรับทานหลังการบริจาค
9. เดินทางกลับบ้านได้ โดยก่อนกลับควรนำยาเสริมธาตุเหล็กกลับไปทานด้วยนะคะ ซึ่งทางศูนย์ฯ จะจัดเตรียมไว้ให้คนละ 1 ถุงอยู่แล้วค่ะ และมีพลาสเตอร์สำหรับปิดแผลเจาะเลือดให้ด้วย 1 แผ่นค่ะ
การปฏิบัติตัวหลังบริจาคโลหิต
1. ดื่มน้ำมากกว่าปกติเป็นเวลา 1 -2 วัน เพื่อให้ร่างกายสดชื่น
2. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมาก ๆ งดใช้กำลังแขนข้างที่เจาะเลือด เป็นเวลา 24 ชม. ไม่อย่างนั้นบริเวณที่เจาะเลือดอาจมีรอยช้ำ บวม และบางรายอาจมีเลือดไหลออกมาด้วยค่ะ
3. ถ้ารู้สึกมีอาการผิดปกติ ควรรีบนั่งลงหรือนอนราบกับพื้นทันที เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ จากนั้น ยกเท้าสูง ดมยาดม เช็ดผ้าเย็น หรือดื่มน้ำหวาน เพื่อให้รู้สึกดีขึ้น
4. ถ้ามีเลือดซึมให้ใช้นิ้วกดบนผ้าก๊อสและยกแขนสูงประมาณ 3 -5 นาที ถ้าไม่ดีขึ้นให้กลับมายังศูนย์รับบริจาค พบแพทย์ หรือพยาบาล
5. ทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และยาเสริมธาตุเหล็กสันละ 1 เม็ด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับเราแล้ว โดยส่วนตัวชอบทำบุญด้วยการบริจาคโลหิตค่ะ เพราะการบริจาคแต่ละครั้งเราสามารถช่วยให้คนรอดชีวิตได้อย่างน้อย 2 คนจากการเสียชีวิต และจากสถิติที่ทราบมา คือธนาคารเลือดของประเทศไทยยังขาดแคลนเลือดทุกกรุ๊ปอยู่มากพอสมควร ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้หันมาออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อมาบริจาคโลหิต เพื่อช่วยเหลือชีวิตหลาย ๆ ชีวิตให้รอดพ้นจากการเสียชีวิต ช่วยเหลือญาติผู้ป่วยจากความโศกเศร้า ให้กลายเป็นความดีใจและมีความหวังต่อไปค่ะ
วันนี้อาจเป็นทีของคนอื่น ไม่แน่สักวันอาจเป็นทีของเรา มาปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกด้วยกันค่ะ🙏💗
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย