14 พ.ค. 2020 เวลา 07:22 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เหตุการณ์ทุกๆอย่างในจักรวาลถูกกำหนดไว้แล้วหรือไม่ ?
ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคำถามว่า การตัดสินใจของมนุษย์เป็นไปอย่างอิสระหรือเปล่า ?
เพราะถ้าทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว การตัดสินใจต่างๆของเราก็ต้องถูกกำหนดไว้แล้วด้วย
ช่วงเวลาไม่นานมานี้ สิ่งมีชีวิตสปีชีส์ Homo sapiens มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในด้านวิทยาศาสตร์จนถึงปัจจุบัน เราคงเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวบนโลกที่สามารถเข้าใจโลก หรือจักรวาลนี้ได้ดีที่สุด
การที่สมองของมนุษย์ถูกวิวัฒนาการมาถึงขั้นที่มีความฉลาดอย่างมากจนทำให้มนุษย์ได้ครุ่นคิดเกี่ยวกับความจริง และค้นหาตัวตนที่แท้จริงในจักรวาลนี้ ในสมัยก่อนที่มนุษย์เราเริ่มรู้ว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นมีแบบแผน และเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ เช่น การเคลื่อนที่ของวัตถุที่เป็นไปตามกฏของนิวตันในสภาวะทั่วไป
ทำให้มนุษย์รู้ว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ ที่ควบคุมมันอยู่ แต่นักปรัชญาในสมัยนั้นก็ได้เกิดคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจของมนุษย์กับกฏของธรรมชาติ และก็เชื่อมาตลอดว่า การตัดสินใจของเราจะแยกกับกฏของธรรมชาติ คือเราสามารถตัดสินใจสิ่งต่างๆได้อย่างอิสระ โดยที่ไม่เป็นไปตามกฏต่างๆที่ธรรมชาติเป็นไปตามนั้น
ในช่วงปีค.ศ. 1596-1650 เรเน เดสคาร์ท (René Descartes) เขาเชื่ออย่างมากว่าในคนๆนึงจะประกอบไปด้วยร่างกายกับจิตใจ โดยที่ร่างกายของคนเราเป็นเพียงเครื่องจักรชีวภาพ แต่จิตใจของเราจะแตกต่างออกไปและไม่เป็นไปตามกฏของธรรมชาติ เขาไม่เพียงแค่เชื่อ แต่เขายังพยายามที่จะศึกษาเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ และเขาก็เชื่อว่าอวัยวะเล็กๆที่อยู่ในสมองที่ชื่อว่า Pineal gland (ต่อมไพเนียล) ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างซีรีบลัมซ้ายและขวา เป็นอวัยวะที่เก็บจิตใจหรือจิตวิญญาณของเราเอาไว้
ที่มารูปภาพ : http://www.bknowledge.org/link/page/health/files/12.html
แต่การที่เราเชื่อว่ามนุษย์มีจิตใจที่สามารถตัดสินใจสิ่งต่างๆได้อย่างอิสระก็นำมาสู่คำถามมากมายว่าแล้วสิ่งมีชีวิตอื่นๆจะมีจิตใจเหมือนเราไหม แบคทีเรียสามารถตัดสินใจเองได้หรือ ในขณะเดียวกันถ้ามองมาถึงในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะเชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์ และการตัดสินใจของเรา ล้วนเกิดจากปฏิกิริยาต่างๆในร่างกายซึ่งเป็นไปตามกฏของฟิสิกส์ทั้งหมด ถ้าหากเราสามารถคำนวณพฤติกรรมของอะตอมทุกอะตอมในร่างกายได้ เราก็จะทำนายการตัดสินใจของคนๆหนึ่งได้
แต่การที่จะทำเช่นนั้นก็คงใช้เวลาเป็นพันล้านปีกว่าจะคำนวณออกมาได้ เราจึงมีวิชาชีววิทยา และจิตวิทยา เพื่อมาศึกษา เช่นเดียวกับการศึกษาพฤติกรรมของอะตอม หรือสสารต่างๆ เราก็ไม่สามารถที่จะใช้ฟิสิกส์ในการคำนวณทุกๆกระบวนการที่เกิดขึ้นได้ จึงเกิดวิชาเคมีขึ้นมาเพื่อศึกษามัน
นอกจากนี้ยังมีการทดลองที่เกี่ยวกับสมองของมนุษย์ และแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์เกี่ยวข้องกับสารเคมีต่างๆในสมอง และมีกระแสไฟฟ้าเป็นตัวส่งสัญญาณไปมาระหว่างสมองกับร่างกาย
1
แล้วถ้าเราลองกลับมาคิดว่าถ้าทุกๆอย่างเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ รวมทั้งการตัดสินใจของเราด้วย ดังนั้นการที่จักรวาลนี้เกิดมา ทุกๆอย่างก็ดำเนินไปอย่างมีแบบแผน เหมือนทุกๆอย่างกำหนดไว้แล้ว ถ้าเราสามารถคำนวณทุกๆอะตอมในโลก หรือในจักรวาลได้ เราก็จะรู้เหตุการณ์ทุกอย่างในจักรวาลว่าจะเป็นไปอย่างไร แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?
ถ้าเราจะคำนวณจริงๆ เราก็คงต้องลงลึกไประดับอะตอม ในระยะแรกการศึกษาพฤติกรรมของสสารต่างๆ ไม่สามารถคำนวณได้ด้วยฟิสิกส์ตรงๆ แต่ความเข้าใจทางเคมีที่สะสมมาเรื่อยๆ ทำให้เราสามารถที่จะใช้ฟิสิกส์ในการคำนวณพฤติกรรมของอนุภาคระดับอะตอมและเล็กกว่านั้น ซึ่งก็หนีไม่พ้น กลศาสตร์ควอนตัม
การพยายามศึกษาอะตอมในระยะแรกนักฟิสิกส์ก็หวังว่าเราจะสามารถคำนวณพฤติกรรมทุกๆอย่างในอะตอมได้แบบแม่นยำเหมือนกฏฟิสิกส์ทั่วไป แต่โชคร้าย (หรืออาจจะโชคดี?) ที่เราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะการศึกษากลศาสตร์ควอนตัมมีหัวใจหลักอยู่บนหลักความไม่แน่นอนของไฮเซนเบิร์ก นั่นก็คือในการศึกษาสิ่งที่มีขนาดเล็กระดับควอนตัม เช่น อนุภาคที่เป็นหัวใจหลักของการเกิดปฏิกิริยาเคมีอย่างอิเล็กตรอน เราจะไม่สามารถที่จะระบุตำแหน่งที่แน่นอนของมันได้
ที่มารูปภาพ : https://www.deviantart.com/darksilverflame/art/The-Shapes-Of-Hydrogen-Poster-327297786
ด้วยเหตุนี้กลศาสตร์ควอนตัมที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของอิเล็กตรอนจึงต้องอาศัยความน่าจะเป็นเพื่อมาอธิบายพฤติกรรมของมัน การที่เราใช้ความน่าจะเป็นมาอธิบายสิ่งๆหนึ่งนั่นหมายความว่าเราไม่สามารถคำนวณพฤติกรรมของมันได้อย่างแม่นยำ ซึ่งโดยทั่วไปเรามักจะนำมาใช้กับเหตุการณ์ที่ขาดตัวแปรอะไรสักอย่าง ตัวอย่างง่ายที่สุด เช่น การโยนเหรียญแล้วทายว่าจะออกหัวหรือก้อย ถ้าหากเรารู้ตัวแปรต่างๆ คือ แรงและมุมที่กระทำ การหมุนของเหรียญ เราก็จะสามารถคำนวณได้อย่างแม่นยำว่ามันจะออกหัวหรือก้อย
สำหรับการโยนเหรียญเราอาจจะยังมีโอกาสที่จะคำนวณได้ แต่สำหรับกลศาสตร์ควอนตัมนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นมันจึงเกิดคำถามย้อนไปสู่การที่เราจะคำนวณเหตุการณ์ทุกๆอย่างในจักรวาล เมื่อเราคำนวณในสเกลกว้างเราก็ย่อมรู้ตัวแปรทุกอย่าง และสามารถคำนวณได้ แต่เมื่อเราพยายามคำนวณลึกลงไปเรื่อยๆสุดท้ายแล้วเราก็จะต้องใช้ความน่าจะเป็นอยู่ดี
ที่มารูปภาพ : https://statisticsblog.com/
ดังนั้น การที่เราจะคำนวณเหตุการณ์ทุกๆอย่างในจักรวาล ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ในที่สุด ซึ่งนั่นหมายความว่าพื้นฐานของสสารต่างๆอยู่บนความน่าจะเป็นหรือเปล่า สำหรับผู้เขียนเองไม่สามารถการันตีได้ว่าเป็นเช่นนั้น แต่มันก็ทำให้เราเกิดคำถามย้อนไปได้อีกว่าแล้วจริงๆการตัดสินใจของเราก็มีโอกาสที่จะเป็นอิสระได้หรือเปล่า?
สำหรับคำถามนี้ ก็อาจจะตอบได้ว่าการตัดสินใจของเราเป็นไปตามกฏพื้นฐาน ซึ่งลึกๆแล้วเป็นความน่าจะเป็น ดังนั้นพฤติกรรมของเราก็จะขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ด้วย ซึ่งเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ก็เกิดการสุ่มมา และทำให้เรามีโอกาสที่จะตัดสินใจอย่างหนึ่ง โดยที่แนวทางของการตัดสินใจของเราจะอยู่บนพื้นฐานความน่าจะเป็น ไม่ใช่มีทางเดียวที่เราจะตัดสินใจที่ถูกกำหนดไว้แล้ว หมายความว่าต่อให้เราคำนวณจริงๆ เราก็สามารถบอกได้แค่ว่าเรามีโอกาสตัดสินใจแบบไหนบ้าง แต่บอกไม่ได้แน่ชัดว่าเราจะตัดสินใจอะไร
เหตุการณ์ของจักรวาลก็คงเป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือมันไม่ได้ถูกกำหนดไว้ว่าทุกๆอย่างจะต้องดำเนินไปตามนี้แบบเดียว แต่ทุกๆเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบไม่แน่นอน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วก็ย่อมส่งผลต่อเหตุการณ์ต่อไปที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถ้าเราลองคิดถึงช่วงเวลาตั้งแต่จักรวาลเกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ก็คงมีเหตุการณ์หลายแบบมากๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นแตกแขนงออกไป แต่เหตุการณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ดังนั้นในทำนองเดียวกันเราก็ไม่สามารถคำนวณได้อย่างแน่นอนว่าเหตุการณ์ของจักรวาลจะเป็นไปอย่างไร
แต่ยังไม่จบแค่นั้นครับ มันยังมีคำถามที่ลึกซึ้งไปอีกว่าที่มนุษย์เราศึกษามาทั้งหมด เราเรียกสิ่งที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของสิ่งต่างๆรอบตัวว่ากฏ ซึ่งกฏเหล่านั้นจะต้องไม่ขัดกับสิ่งที่เราสังเกตเห็น แต่สิ่งที่เราสังเกตเห็น หรือสัมผัสได้นั้นเป็นความจริงหรือเปล่า แล้วความจริงคืออะไร เดี๋ยวเราจะมาต่อกันในคราวหน้าครับ
โฆษณา