13 พ.ค. 2020 เวลา 17:19 • การศึกษา
เมื่อรักออกแบบ (ไม่) ได้?
Cover of Love
"เฝ้าถามตัวเอง เรื่องเดิมๆ เรื่อยมา ถ้าฉันมีรัก รักของฉันจะเป็นเช่นไร" เนื้อเพลงนี้ หนุ่มสาวที่เติบใหญ่ในยุค 90 คงจะคุ้นหูกันดี เพราะเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อดัง ที่กระแทกใจวัยรุ่นยุคนั้นอย่างจัง เรื่อง "O-Negative: รักออกแบบไม่ได้" ที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2541 นั่นเอง ซึ่งก็ได้นำกลับมาทำเป็นละครอีกครั้งในปี พ.ศ. 2559 ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ย้อนกลับมาคิดดู ก็อดขำนิดๆ ไม่ได้ ว่า เฮ้ย! จริงๆ แล้ว “ความรัก” มันออกแบบไม่ได้จริง ๆ เหรอ มันเป็นนามธรรมที่ไม่สามารถขึ้นรูป เล่นแร่แปรธาตุ ได้เลยกระนั้นหรือ ส่วนตัวก็เชื่อเช่นนั้นมาตลอด ฮ่า ๆ ๆ จนวันหนึ่งที่ตนเองได้ลงเรียนรายวิชาหนึ่งของสาขาจิตวิทยา ก็ได้พบว่า ที่แท้จริงนั้น เจ้าความรักที่เราว่ามันเป็นนามธรรม มหัศจรรย์พันลึกนี้ มีนักจิตวิทยาท่านหนึ่ง นามว่า โรเบิร์ต เสติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) เขาได้สร้างความรักให้มันเป็นรูปธรรม จับต้องได้ โดยเรียกทฤษฎีความรักของตัวเองว่า "ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งรัก" หรือ "Triangle Theory of Love"
ทฤษฎีความรัก ของ โรเบิร์ต เสติร์นเบิร์ก
"ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งรัก" หรือ "Triangular Theory of Love" ไม่ใช่ทฤษฎีใหม่อะไร ในวงการจิตวิทยาค่อนข้างจะคุ้นชินกับทฤษฎีนี้ดี เพราะมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 เลยทีเดียว ซึ่งทฤษฎีแห่งรักนี้ก็บอกด้วยชื่ออยู่แล้วว่า ต้องเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความรักอยู่ 3 ตัวด้วยกัน คือ Intimacy / Passion / Commitment
Intimacy คือ ความรู้สึกใกล้ชิด สนิทสนม สัมผัสได้ถึงความห้อมล้อม อบอุ่น
Passion คือ แรงขับที่จะนำไปสู่ความโรแมนติก ซึ่งเมื่อทำงานร่วมกับองค์ประกอบอื่นจะนำไปสู่ความต้องการทางร่างกาย จนเลยเถิดถึงขั้นเสพสมอารมณ์หมาย และนำไปสู่การครอบครอง เป็นเจ้าของเกี่ยวพัน ส่วนความหมายของ Passion ในอีกความหมาย คือ แรงผลักหรือขับเคลื่อนเพื่อกระทำในสิ่งที่ตั้งใจและปรารถนาให้เป็นจริง โดยไม่ได้สื่อถึงเรื่องความสัมพันธ์เชิงเพศหรือความโรแมนติกแบบทฤษฎีความรักนี้นะครับ
Commitment คือ การตัดสินใจหรือมีพันธะสัญญาใจร่วมกันว่าจะซื่อสัตย์ จริงใจต่อกันแค่เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือตกร่องปล่องชิ้นกันไปตลอดชีวิต
เมื่อเอาองค์ประกอบ 3 ตัวนี้มาชนกันเป็นสามเหลี่ยมจะทำให้สามารถจับคู่องค์ประกอบได้เป็นความรักทั้งหมด 7 แบบ กับ 1 สภาวะด้วยกัน มีอะไรบ้างนะ มาดูกัน
1. รักแบบเพื่อน (Linking Love) คือ รักที่มีเพียง Intimacy เป็นองค์ประกอบ ว่ากันว่าเป็นความรักในแบบมิตรภาพที่จริงแท้แน่นอน เพื่อนแท้อะไรทำนองนี้ เพราะไม่มีความปรารถนาในกายหรือกามร่วมกัน และไม่มีพันธะผูกพันให้ปวดหัว ขอเพียงแค่ได้คิดถึงก็เป็นสุขใจ หรือ เพียงแค่อยากเห็นสายน้ำในครั้งก่อนที่ฉันได้เคยว่ายเวียน เคยยิ้มและมีน้ำตา ยังสวย งดงามดังเดิม หรือเปล่า ฮ่า ๆ ๆ
2. รักใสๆ (Infatuation Love) คือ รักที่มีเพียงแต่ Passion คือ รักบริสุทธิ์ แอบชอบ หรือ Puppy Love รักใส ๆ วัย 14 อารมณ์แอบรักรุ่นพี่ ม. ปลาย หรือ ออปป้าเกาหลีอะไรทำน้องนี้
3. รักว่างเปล่า (Empty Love) ฟังดูแย่นะ เพราะเป็นรักที่มีเพียง Commitment เป็นเพียงรักที่ยึดมั่นในคำสัญญา แต่ยังไม่ปรารถนา หรือไม่อาจพัฒนาในความใกล้ชิดหรือสนิทเสน่หาได้ กลายเป็นสัญญาเมื่อสายัณห์ตะวันแดงเสียอย่างนั้น
4. รักโรแมนติก (Romantic Love) คือ รักที่มีทั้ง Passion กับ Intimacy หมายถึงไม่เพียงแค่แอบรัก แต่ถึงขั้นประกาศขอเป็นแฟนกันล่ะ หากตกลงปลงใจก็มีความใกล้ชิด สนิทสนม เกิดความโรแมนติก นัดเดท ดูหนัง ทานข้าวใต้แสงจันทร์ และหากเคลิบเคลิ้มกันไปมากกว่านั้น อาจจะจบลงที่เตียงนอนและแยกทาง (One night stand) พูดง่าย ๆ คือ เป็นรักที่มีแต่ใคร่ ไม่ได้ผูกมัด ล่าแต้ม ก็เรียก เป็นไงล่ะ ความหมายที่แท้จริงของรักโรแมนติก
5. รักแอบเห็นอกเห็นใจ เข้าใจกัน (Companionate Love) คือ รักที่มีทั้ง Intimacy กับ Commitment เป็นรูปแบบความรักดี ๆ ที่ไม่มีความใคร่ในตัวตนแอบแฝง มีแต่ความรู้สึก ปรารถนาดี ห่วงใยเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน อาจจะหมายถึงคนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทที่คิดซื่อ
6. รักแบบถูกใจใช่เลย (Fatuous Love) ใช่เลย โดนใจฉันเลย คือ รักที่มี Passion กับ Commitment เป็นรักแรกพบก็ว่าได้ หรือที่เรียกว่า "Love at First Sight" คู่แท้ปาฏิหาริย์ทำนองนี้ การจับจองด้วยแหวนหมั้น แต่ยังไม่ได้สนิทเสน่หา ก็เป็นรักแบบนี้ล่ะ
7. รักสมบูรณ์แบบ (Consummate Love) คือ รักที่มีครบทั้ง 3 องค์ประกอบ คือ Intimacy Passion และCommitment เป็นรักที่นำไปสู่การสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง ต่อให้มีพันมือ ก็ไม่อาจพรากรักนี้ไปจากกัน "เมื่อแรกพบก็รักประจักษ์จิต ชวนให้สนิทสเน่ห์ใคร่ใหลหลง ถึงตกร่องปล่องชิ้นให้มั่นคง จะดำรงรักเราด้วยคำมั่นจนวันตาย"
การผิดหวัง ไม่ได้ดั่งใจในรักทุกรูปแบบจะนำมาซึ่งภาวะที่เรียกว่า "สภาวะไร้รัก" "Non Love" ได้ สภาวะเช่นนี้ ในทัศนะของผู้เขียนเอง แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ 1) ไร้รักเพราะมุ่งนิพพาน สภาวะนี้เป็นผลดีกับตัวคนนั้นเอง และไม่ส่งร้ายกับคนรอบข้าง และ 2) ไร้รักเพราะผิดหวังกับความสัมพันธ์ที่มุ่งหวัง สภาวะนี้อาจจะนำมาซึ่งอารมณ์ด้านลบเพียงชั่วขณะ หรืออาจจะถาวร หากผิดหวังอย่างร้ายแรงเกลียด อิจฉา ริษยา อาฆาต เห็นแก่ตัว กลัว จนถึงฆ่าตัวตาย
เป็นอย่างไรกันบ้าง พอจะเข้าใจความรักมากขึ้นกันหรือเปล่า ไม่ว่าความสัมพันธ์แบบไหน เราเรียกว่า ความรัก ได้ทั้งหมด อย่ายึดติด หรือ มองเพียง ความใกล้ชิด สนิทเสน่ห์ (Intimacy) ว่าเป็นเพียงรัก เพราะมีรักอีกหลากหลายให้คุณได้เลือกออกแบบ ทำความเข้าใจในความหมายของคำว่ารักให้ลึกซึ้ง แล้ววันวาเลนไทน์ก็จะเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วัน
โฆษณา