Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิพากษ์ประวัติศาสตร์ CRITICAL HISTORY
•
ติดตาม
14 พ.ค. 2020 เวลา 07:31 • ประวัติศาสตร์
บ้านระจัน ทำอะไรในสงครามเสียกรุง
ผู้เีขียนเคยเขียนเกี่ยวกับหลักฐานลายลักษณ์อักษรว่าที่เกี่ยวกับ “บ้านระจัน” ว่ามีหลักฐานเก่าสุดในพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ ๑ และมีการขยายความเพิ่มในพงศาวดารฉบับที่ชำระสมัยหลังๆ ตั้งแต่พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนที่บานแพนกระบุว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงชำระ
อนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
ซึ่งเรื่องรายละเอียดการรบ ๘ ครั้งรวมถึงชื่อระดับหัวหน้าของบ้านระจันเช่น นายแท่น นายทองเหม็น ฯลฯ ก็ปรากฏขึ้นมาในพงศาวดารฉบับนี้นั่นเอง แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าแต่งสมัยหลังโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพบ้าง แต่งสมัยชาตินิยมบ้าง ซึ่งจริงๆ สันนิษฐานว่าในพงศาวดารมีการอ้างอิงจากตำนานท้องถิ่น หรือเรื่องเล่ามุขปาฐะอยู่ก่อนแล้ว
แต่ความรับรู้ของคนปัจจุบันเกี่ยวกับวีรกรรมของชาวบ้านระจันนั้นไม่ค่อยตรงกับหลักฐานเท่าไหร่ เช่นบางแห่งกล่าวว่าบ้านระจันหมู่บ้านเดียวสามารถยันทัพใหญ่จำนวนมหาศาลของพม่าได้บ้าง บ้านระจันเสียสละตนเองถ่วงเวลาไม่ให้ทัพของพม่ามาถึงกรุงศรีอยุทธยาได้บ้าง ซึ่งดูจะเป็นการนำวิธีคิดเกี่ยวกับ “รัฐชาติ” หรือ “เชื้อชาติไทย” ของคนในปัจจุบันไปพิจารณาอดีต
ซึ่งถ้าลองพิจารณาเกี่ยวกับหลักฐานลายหลักอักษรเกี่ยวกับบ้านระจันซึ่งมีเพียงแต่พระราชพงศาวดารอย่างละเอียดนั้น อาจจะให้มุมมองที่ต่างออกไปจากความรับรู้ในปัจจุบัน
ส่วนเรื่องรายละเอียดในพระราชพงศาวดารน่าเชื่อถือแค่ไหนก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไป ทั้งนี้เนื้อหารายละเอียดส่วนใหญ่จะอ้างอิงตามพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนครับ
แผนที่เส้นทางเดินทัพของกองทัพพม่าในสงครามเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐
สงครามเสียกรุงศรีอยุทธยาครั้งที่สองเริ่มต้นจากพม่าที่ยกทัพลงมาตีกรุงศรีอยุทธยาเป็นสองทาง โดยมีเนมโยสีหปเต๊ะ (พงศาวดารไทยเรียกเนเมียวมหาเสนาบดี หรือ โปสุพลา) ยกทัพมาจากทางเหนือ ไล่ตีหัวเมืองล้านนาและล้านช้างเพื่อใช้เป็นฐานกำลังก่อนบุกลงใต้มาอยุทธยา ส่วนมังมหานรธาได้รับคำสั่งให้ยกทัพมาทางใต้ ตีเมืองทวายที่เป็นกบฏก่อนมาตีหัวเมืองของกรุงศรีอยุทธยา
ทั้งสองทัพจะมีการไล่ตีหัวเมืองรายทาง กะเกณฑ์ไพร่พลและเสบียงอาหารไว้ในกองทัพเพื่อใช้เป็นกำลัง จนในเดือนยี่ปลาย พ.ศ.๒๓๐๘ ทัพใหญ่ของเนมโยสีหปเต๊ะซึ่งตีหัวเมืองรายทางจากทางเหนือหมดแล้วได้ยกทัพจากเมืองกำแพงเพชรลงมาตั้งค่ายที่วัดป่าฝ้ายปากน้ำประสบชานกรุงศรีอยุทธยา
นอกจากที่พงศาวดารยังระบุว่าพระเจ้ามังระโปรดให้ส่งทัพพม่ามาหนุนเพิ่มเติมโดยได้ยกเข้ามาทางเมืองทวาย กาญจนบุรี และทัพจากเมืองเมาะตะมะราว ๑,๐๐๐ เศษเดินทัพเข้ามาทางด่านเมืองอุทัยธานี มาตั้งที่แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ และมีทัพมอญจากเมาะตะมะ ๒,๐๐๐ เศษนำโดยพระยาเจ่งยกมาทางเมืองกาญจนบุรี
ซึ่งจุดเริ่มต้นของบ้านระจันนั้นเริ่มมาจากชาวบ้านในแขวงเมืองวิเศษไชยชาญที่ทำการต่อต้านทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางอุทัยธานีและกาญจนบุรี
ตามพงศาวดารระบุว่าจุดเริ้มต้นของบ้านระจันเริ่มมาจากกลุ่มชาวบ้านหลายเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำน้อย เช่น วิเศษไชยชาญ สิงห์บุรี สรรค์บุรี หลายกลุ่มได้ “เกลี้ยกล่อมพม่า” ที่ตั้งอยู่ที่เมืองอุทัยธานี
คำว่า “เกลี้ยกล่อม” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการโน้มน้าวใจ แต่เป็นคำโบราณหมายถึงการยอมรับคำเกลี้ยกล่อมเข้าเป็นพวก ตัวอย่างที่พบการใช้คำนี้เช่น พงศาวดารระบุถึงสุกี้พระนายกองว่าเป็นชาวมอญในไทยที่เข้าเกลี้ยกล่อมพม่า หรือกล่าวถึงชาวลาวในสมัยธนบุรีที่ยอมเข้ากับไทยตามคำเกลี้ยกล่อมว่า
.
“ในวันนั้นพระเสมียนตราในเจ้าพระยาสวรรคโลก บอกข้อราชการลงมากราบทูลว่า ได้เกลี้ยกล่อมชาวเมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่ ซึ่งแตกหนีออกอยู่ป่า มาเข้าเป็นอันมาก ทั้งครอบครัวถึงห้าพันเศษ
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัสสรรเสริญสติปัญญาพระเสมียนตราแล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นพระยาอักษรวงศ์ ให้คุมพวกลาวซึ่งมา ‘เข้าเกลี้ยกล่อม’ นั้น จัดเอาแต่ที่ฉกรรจ์ไปเข้ากองทัพเจ้าพระยาจักรีตีพะม่าณเมืองเชียงใหม่”
เรื่องคนไทยโดยเฉพาะชาวบ้านระจันยอมเข้ากับพม่านี้อาจดูประหลาดและขัดกับความรู้สึกของคนสมัยหลัง แต่ปรากฏในพงศาวดารฝั่งพม่าว่า เวลาที่พม่ายกทัพมาตีไทยนั้น ถ้าเข้าตีหัวเมืองใดแล้วชาวบ้านชาวเมืองยอมอ่อนน้อมและให้ความร่วมมือแต่โดยดี พม่าจะไม่ทำร้าย ถ้าเจ้าเมืองสวามิภักดิ์แม่ทัพพม่าก็จะให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเพื่อแสดงความภักดีและให้ครองเมืองตามเดิม พม่าก็อาจจะกะเกณฑ์คนไทยมาช่วยในการรบหรือการจัดหายุทธปัจจัยต่างๆ
จึงปรากฏว่าในกองทัพพม่าที่มาตีอยุทธยาก็มีคนไทยอยู่จำนวนมาก และพม่ามีการจัดแม่ทัพนายกองให้ดูแลกำกับคนไทยเหล่านี้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งกำลังเหล่านี้เองก็ได้ยกมาตีกรุงศรีอยุทธยาเช่นเดียวกัน
สำหรับชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีกำลังจะต่อต้านพม่าได้ การยอมอ่อนน้อมต่อพม่าแต่โดยดีเพื่อรักษาชีวิตไว้ก็ย่อมเป็นเรื่องปกติ
แต่กลุ่มชาวบ้านที่กลายเป็นบางระจันในเวลาต่อมานั้น เมื่อ “เกลี้ยกล่อม” เข้ากับพม่าแล้วพบว่าพม่าเร่งเอาทรัพย์สินเงินทองกับผู้หญิงมาก จึงเกิดความไม่พอใจแล้วต่อต้านพม่า จากนั้นก็ไปตั้งมั่นร่วมกันอยู่ที่บ้านระจัน ตามที่พงศาวดารระบุว่าถึงกลุ่มที่ต้านพม่าทางเมืองอุทัยธานีว่า
“ครั้นเดือนสาม ปีระกา สัพศก พวกชาวเมืองวิเศศไชยชาญ แลเมืองสิงฆบูรี สรรคบูรีเข้าเกลี้ยกล่อมพม่าๆ เร่งเอาทรัพยทองเงินแลลูกสาว จึ่งชวนกันลวงพม่า ว่าจะให้ลูกสาวแลเงินทอง แล้วคิดจะสู้รบพม่า บอกกล่าวชักชวนกันทุกๆ บ้าน แลนายแท่นหนึ่ง นายโชหนึ่ง นายอินหนึ่ง นายเมืองหนึ่ง ชาวบ้านศรีบัวทอง แขวงเมืองสิงฆบูรี นายดอกชาวบ้านตรับ นายทองแก้วชาวบ้านโพทะเล คนเหล่านี้มีสมัครพักพวกไปเฃ้าเกลี้ยกล่อมพม่า ซึ่งยกทับมาทางเมืองอุไทยธาณี ครั้นพม่าตักเตือนเร่งรัด จะให้ส่งลูกสาว จึ่งนายโชคุมพักพวกเข้าฆ่าพม่าตายยี่สิบเศศแล้วภากันหนี มาหาพระอาจาริย์ธรรมโชต วัดเขานางบวด มีความรู้วิชาดี มาอยู่ ณะ วัดโพเก้าต้น บ้านระจัน”
และได้บรรยายถึงกลุ่มที่ต้านพม่าทางเมืองกาญจนบุรีว่า
“แลนายทองเขมน นายทองชาวบ้านลูกแก นายทองแสชาวบ้านพราน พันเรืองอยู่ในบ้านระจัน แขวงเมืองวิเศศไชยชาญ คนเหล่านี้เข้าเกลี้ยกล่อมพม่า ซึ่งยกมาทางเมืองกาญจนะบูรี คิดกันจะรบพม่าจึ่งภาครอบครัวหนีมาอยู่ที่บ้านระจัน...”
1
รูปหล่อพระอาจารย์ธรรมโชติ ปั้นหล่อโดยกรมศิลปากร ภายในวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดโพธิ์เก้าต้น อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี (ที่มาภาพ https://www.silpa-mag.com/history/article_21045)
ด้วยเหตุนี้ บ้านระจันจึงกลายเป็นศูนย์กลางของชาวบ้านชาวเมืองในบริเวณแม่น้ำน้อยที่รวมตัวกันต่อต้านพม่า โดยมีพระอาจารย์ธรรมโชติเป็นศูนย์กลางของชุมชน ดังที่ในพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมที่ชำระสมัยรัชกาลที่ ๑ ระบุว่า
“ขะนะนั้นพระอาจารย์วัดเขานางบวดมาอยู่ณะวัดบ้านระจัน ช้าวบ้านแฃวงเมืองวิเศศไชยชาญ เมืองสุพรรณบูรีย์ เมืองสิงฆ์บูรีย์ เมืองสรรคบูรีย์ อพยบเข้าไปพึ่งพระอาจารย์อยู่เปนอันมาก ฝ่ายพม่าไปเกลี้ยกล้อมช้าวค่ายบ้านระจันแต่งกันลงมาฆ่าพม่าเสียกลางทางเปนอันมาก พม่าจึงแบงกันทุกค่ายยกขึ้นไปจรบ ฝ่ายช้าวค่ายบ้านระจันยกออกตั้งอยู่นอกไล่ตะลุมบอนฟันแทงพม่าล้มตายเป็นอันมาก”
.
หลักฐานประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าบ้านระจันเป็นรูปแบบหนึ่งของชุมนุมป้องกันตนเองจากพม่าที่เข้ามารุกรานในท้องถิ่นของตน โดยมีผู้คนในหัวเมืองแถบแม่น้ำน้อยเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก มีขุนนางหรือกรมการท้องถิ่นเป็นระดับผู้นำของชุมนุม เช่น ขุนสรรค์ (มีการอ้างว่าเป็นกรมการเมืองสรรคบุรี) และพันเรือง (มีการอ้างว่าเป็นกำนันบ้านระจัน) และมีการสร้างค่ายขึ้นป้องกันตนเอง เพื่อเป็นที่พึ่งพิงสำหรับชาวบ้านที่มาอาศัย มากกว่าจะเป็นการรวมตัวกันเพื่อปกป้องกรุงศรีอยุทธยา
1
หลักฐานที่ยกมายังบ่งชี้ว่าบ้านระจันไม่ได้ทำหน้าที่ต้านทัพใหญ่ของพม่าจากทางเหนือไม่ให้มาถึงกรุงศรีอยุทธยาอย่างที่เข้าใจกัน เพราะทัพใหญ่ของเนมโยสีหปเต๊ะยกมาถึงชานพระนครตั้งแต่เดือนยี่ แต่เหตุการณ์บ้านระจันเพิ่งเริ่มต้นในเดือน ๓ บ้านระจันจึงไม่ได้ทำการรบต่อต้านทัพใหญ่ของพม่าแต่ประการใด ปรากฏแต่การสู้รบกับกองกำลังย่อยของพม่าในแถบวิเศษไชยชาญเป็นหลัก
กองทัพพม่าในระยะแรกเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากมายกับบ้านระจันนัก ด้วยเห็นว่าเพียงชุมนุมเล็กๆ จึงส่งทหารในแถบวิเศษไชยชาญไปเพียงไม่กี่ร้อยคน แต่เมื่อไม่สามารถปราบปรามลงได้จึงต้องมีการแบ่งกำลังจากค่ายต่างๆ ที่ล้อมกรุงศรีอยุทธยาอยู่ ขึ้นไปปราบปรามมากขึ้น เมื่อบ้านระจันรบชนะบ่อยๆ จึงทำให้มีชาวบ้านอื่นที่ได้ยินขาวเข้ามาอาศัยมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะทำให้บ้านระจันพัฒนาเป็นชุมนุมขนาดใหญ่มากกว่าเดิม
ในรายละเอียดการรบระหว่างพม่ากับบ้านระจันทั้ง ๘ ครั้งนี้ หนังสือสมัยแต่งหลังอย่าง “พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า” พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะกล่าวว่าการรบกับบ้านระจันเป็นความรับผิดชอบของเนเมียวสีหบดีเป็นหลัก แต่เมื่อพิจารณาตามพงศาวดารแล้ว พบว่ามีกองกำลังจากหลายทัพที่เข้าไปตีบ้านระจัน
ครั้งแรกเป็นกองกำลังพม่าในแถบวิเศษไชยชาญ แต่เยกินหวุ่นที่ยกมาตีครั้งที่ ๒ เป็นแม่ทัพใต้บังคับบัญชาของเนเมียวสีหบดี ส่วนติงจาโบ่ที่ยกไปตีครั้งที่ ๓ แยจออากาครั้งที่ ๕ จิกแกปลัดเมืองทวายครั้งที่ ๖ ล้วนเป็นแม่ทัพในสังกัดมังมหานรธา สุรินทจอข่องครั้งที่ ๔ กับอากาปันคยีครั้งที่ ๗ ก็เป็นแม่ทัพที่พระเจ้ามังระให้ส่งทัพมาเสริมที่ประจำอยู่ที่เมืองอุทัยธานี
แสดงให้เห็นว่าการจัดการกับบ้านระจันนั้นเป็นสิ่งที่กองทัพพม่าโดยรวมให้ความสำคัญ ไม่ใช่การจัดการของกองทัพเนเมียวสีหบดีเท่านั้น
ภาพจากภาพยนตร์เรื่องบางระจัน (พ.ศ. ๒๕๔๓)
การรบกับพม่าของบ้านระจันนั้นอาจไม่ได้เป็นการช่วยป้องกันกรุงศรีอยุทธยาโดยตรง (เพราะทัพใหญ่พม่าผ่านบ้านระจันมาถึงชานเมืองอยุทธยาแล้ว) แต่ก็ส่งผลประโยชน์ต่อกรุงศรีอยุทธยาในทางอ้อมอยู่คือช่วยรบกับกองทัพพม่าอยู่ในแนวหลังเป็นการช่วยตัดกำลังทางหนึ่ง
ทั้งนี้ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่ากรุงศรีอยุทธยาเองใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่พม่ารบกับบ้านระจันเป็นจังหวะออกไปตีทัพพม่า และมักปรากฏว่ามีการนำเหตุการณ์รบของบ้านระจันสลับกับการตีค่ายพม่าของฝ่ายอยุทธยาอยู่เสมอ คล้ายกับเป็นปฏิบัติทางการทหารที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกัน
สันนิษฐานว่าเป็นไปได้ที่ราชสำนักอยุทธยามีส่วนเข้าไปสอดส่องควบคุมดูแลชุมนุมบ้านระจัน โดยอาจมีการสนับสนุนทางการทหารบางส่วน เนื่องจากเห็นประโยชน์ที่ชาวบ้านระจันสามารถเป็นกำลังรบต่อต้านพม่าได้
เมื่อการพิจารณาหลักฐานอย่างเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่าที่เรียบเรียงจากปากคำเชลยไทยสมัยเสียกรุงครั้งที่สองเป็นภาษาพม่าได้ระบุว่ามีค่าย ‘บ้านยายจัน’ (สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจาก ‘บ้านระจัน’ เพราะพม่าออกเสียง ร เป็น ย) ถูกนับเป็นหนึ่งในค่ายของไทยที่ป้องกันพระนคร ซึ่งถ้าค่ายนี้เป็นค่ายบ้านระจันจริงก็แสดงให้เห็นถึงเครือข่ายที่ราชสำนักอยุทธยามีต่อบ้านระจัน
นอกจากนี้ปรากฏในพงศาวดารว่า บ้านระจันมีการขอปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุทธยาขึ้นไปป้องกันค่าย ซึ่งถ้าบ้านระจันเป็นเพียงชุมนุมอิสระป้องกันตนเองธรรมดา และไม่มีความสัมพันธ์กับราชสำนักอยุทธยา ก็คงยากที่จะมาขอปืนใหญ่ถึงในพระนคร และแม้เสนาบดีส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าไม่ควรให้ปืนใหญ่ แต่ก็มีพระยารัตนาธิเบศร์ เสนาบดีกรมวังอาสาขึ้นไปช่วยไรทองเพื่อหล่อปืนใหญ่ให้ ซึ่งพิจารณาแล้วไม่ใช่กรณีปกติเลยที่จะมีเสนาบดีผู้ใหญ่ระดับจตุสดมภ์นาหมื่นอาสาขึ้นไปช่วยชุมนุมเล็กๆ จึงแสดงให้เห็นการเกื้อหนุนกันระหว่างราชสำนักส่วนกลางและท้องถิ่นอย่างบ้านระจัน
.
ความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งซึ่ง รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ได้สันนิษฐานไว้อย่างน่าสนใจคือ ราชสำนักอยุทธยาต้องการป้องกันไม่ให้ชุมนุมบ้านระจันซึ่งเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้คนจำนวนมากแยกตัวไปเป็นชุมนุมอิสระที่ไม่สามารถควบคุมได้และอาจเป็นภัยกับอยุทธยาในภายหลัง จึงจำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจรัฐจากส่วนกลางเข้าไปแทรกแซง โดยเข้าไปมีส่วนในการจัดตั้งในเครือข่ายการป้องกัน
นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่พระราชพงศาวดารให้ความสำคัญกับบ้านระจัน จนมีรายละเอียดมากผิดกับชุมนุมอื่นๆ
อย่างไรก็ตามเมื่อกองทัพพม่าเห็นว่าบ้านระจันเป็นภัยคุกคามจึงต้องทุ่มกำลังเข้าปราบปราม ค่ายบ้านระจันก็ไม่สามารถรบต่อต้านพม่าได้อีกต่อไป แล้วก็แตกไปในที่สุด
เอกสารอ้างอิง
- พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม จากฐานข้อมูลดิจิตอลของ British Libary (
bl.uk/manuscripts
)
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ, คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด
- พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน
- พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า นายต่อแปล
- วงเสวนาถก "บางระจัน" จริงเท็จแค่ไหน หรือแม้แต่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็ถูกแต่งเติม ? (
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1421925261
)
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
บันทึก
5
7
2
5
7
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย