14 พ.ค. 2020 เวลา 14:32 • ครอบครัว & เด็ก
คำถามของแม่มือใหม่ หลังคลอด “เพิ่มน้ำนมแม่ยังไงดีคะ?”
น้ำนมแม่มีอยู่ในเต้า เอาออกมา เดี๋ยวก็สร้างใหม่
เอาน้ำนมออกเยอะๆ ให้ลูกดูดบ่อยๆ น้ำนมก็จะเพิ่มเอง
คำตอบง่ายๆ แต่วิธีทำอาจจะไม่ง่ายสำหรับแม่ยุคนี้นะคะ จะมีสารพัดปัญหาถาโถมเข้ามา จนไม่รู้จะแก้อย่างไร
“ลูกอายุ 14 วัน ดูดเต้าจนหัวนมแตก ดูดแล้วเจ็บ
จึงต้องปั๊มนมแม่ใส่ขวดให้ลูกดูด อยากให้ลูกกลับมาดูดเต้าอีกค่ะ”
“เพิ่งคลอดได้ 5วัน ปั๊มนมกระตุ้นบ่อยๆแล้วยังได้น้ำนมแค่ 10 ซีซี หาวิธีเพิ่มน้ำนมให้หน่อยค่ะ”
ทั้งหมดนี้ แก้ได้โดย “การเริ่มต้นที่ดี”ค่ะ
หน้าปกหนังสือ คู่มือแม่ทำงานเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ช่วงหลังคลอดใหม่ๆเป็นช่วงเวลาที่แม่มือใหม่ ต้องการความช่วยเหลือ และกำลังใจมากที่สุด เพื่อให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ของทั้งแม่ลูกเป็นไปอย่างราบรื่นค่ะ
ลูกก็ใหม่ แม่ก็ใหม่ พบกันครั้งแรกจะเป็นอย่างไร
แนะนำให้แม่ลูกได้สัมผัสผิวกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังคลอดเลยค่ะ โดยวางลูกบนหน้าอกแม่
ให้เวลาผ่อนคลายสบายๆ ไม่รีบเร่ง
ทารกแรกเกิดที่อยู่หน้าอกของแม่ จะเริ่มสงบ เพราะได้ยินเสียงหัวใจแม่ที่เขาคุ้นเคย ทิ้งลูกไว้ให้เขาได้ขยับแขนขาเองอย่างอิสระ
ลูกขยับขาขึ้นลง ไต่ไปบนหน้าอกแม่ คลานจนไปพบเต้านมของแม่ได้!
นี่คือสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด ค่ะ เรียกว่า Stepping reflex เมื่อเท้าข้างหนึ่งแตะกับพื้นผิว เท้าอีกข้างก็จะยกขึ้นมาทันที เหมือนการก้าวเดิน
มนุษย์ตัวเล็กๆแรกเกิดมี reflex นี้ เพื่อควานหาเต้านมแม่ค่ะ เขารู้ว่านั่นคือแหล่งอาหาร
จมูกเขาจะตามกลิ่นที่คุ้นเคย ตาก็จะหมายที่วงดำๆรอบหัวนม ขาก็ขยับไปจนถึงเส้นชัยค่ะ
ผู้เขียนได้แปลคำอธิบายการเดินทาง “ก้าวย่าง เก้าขั้น แห่งความมหัศจรรย์ ชั่วโมงแรก “ ไว้ดังนี้ค่ะ
1. ร้องจ้าเสียงหาย. Birth cry
2. ผ่อนคลายบนอกแม่. Relaxation
3. แลเหลียวรอบตัว. Awakening
4. ยกหัวแขนขา. Activity
5. คลานหาอกอุ่น. Crawling
6. นอนลุ้นเก็บแรง. Rest
7. แสดงความคุ้นเคย. Familiarization
8. ใช่เลย ! ดูดเต้า. Sucking
9. พริ้มเพราหลับสบาย. Sleeping
การจะเริ่มต้นดูดนมแม่ตั้วแต่ชั่วโมงแรก ต้องให้เวลาลูกค่ะ หลังคลอดจะร้องดังก่อน พอมานอนบนท้องแม่ก็จะพักสักครู่ แล้วถึงจะขยุกขยิก ขยับไปทีละน้อยเหนื่อยนักก็พักอีก จนถึงจุดหมาย คือเต้านม ใช้เวลาอย่างน้อย 60 นาที
การได้พบกันครั้งแรก หลังจากคุยกันผ่านผนังหน้าท้องมา 9 เดือน เป็นความรู้สึกปิติยินดีทีสุดช่วงหนึ่งทีเดียวค่ะ แม่ๆบางคนถึงกับน้ำตาไหล
แต่แม่ลูกส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้มีโอกาสอย่างนี้ในชั่วโมงแรก ไม่เป็นไรค่ะ เมื่อไรที่พร้อม ขอให้แม่ลูกได้มาพบกันให้เร็วที่สุด เพื่อเริ่มต้นการเดินทาง “เส้นทางนมแม่” ไปด้วยกันค่ะ
อย่าแยกแม่ลูกแรกคลอด
คืนลูกสู่ “อ้อมกอดอกอุ่น กินน้ำนมอิ่ม “ เถอะค่ะ
ลูกที่คลอดครบกำหนดปกติ ร้องดังแข็งแรงดี แหล่งที่อยู่ของเขาคือ “หน้าอก” ของแม่ค่ะ
ณ ที่นั้น มีดนตรีกล่อม จังหวะจากใจแม่
ณ ที่นั้น มีไออุ่น จากอ้อมกอด
ณ ที่นั้น มีน้ำนมแม่ กลั่นรักจากอก
ให้เวลาแม่ลูกได้ทำความรู้จักกันอย่างเงียบๆ สงบๆ
ปากน้อยๆจะไซ้หาหัวนม งับเข้าปาก และดูดนม
ทารกแรกเกิดจะมีสัญชาตญาณ ในการอ้าปากเมื่อมีอะไรมาเขี่ยข้างๆปาก (Rooting reflex) และ จะใช้ลิ้นแลบออกมาเพื่อดูดเต้านมแม่ ตามสัญชาตญาณการดูด (Suckling reflex)
ทั้งหมดนี้ธรรมชาติมอบมาให้อยู่ในตัวทารกแรกเกิดทุกคนไม่มีเว้น เพราะ คือสัญชาตญาณในการอยู่รอดของมนุษยชาติ
เราเพียงแต่จัดฉากให้แม่ลูกได้อยู่ใกล้กันเรียนรู้ไปด้วยกัน
เราเพียงแต่ไม่ขัดขวางวิถีธรรมชาติอันงดงามนี้
ครอบครัวช่วยกันส่งเสริม ให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจกับแม่คนใหม่
ช่วงแรกคลอด ที่แม่ลูกจะเรียนรู้การอุ้มดูดนมจากเต้านี้ คือช่วงที่สำคัญที่สุดในการ เริ่มเดินทางสายนมแม่ค่ะ
แม่ลูกแต่ละคู่จะใช้เวลามากน้อยต่างกัน
ขอให้อยู่ด้วยกัน เคล้าเคลียเต้านม และดูดนมแม่
 
“กว่าจะดูดเต้าแม่ได้ ต้องใช้เวลา “ค่ะ
ช่วงนี้ไม่มีที่สำหรับเครื่องปั๊มนมเลยค่ะ
เพราะแม่ลูกไม่แยกกัน ลูกดูดเต้าตลอด ลูกคือผู้ที่กระตุ้นการสร้างน้ำนมได้ดีที่สุด ดีกว่า เครื่องปั๊มนมไม่ว่ายี่ห้อไหนๆทั้งสิ้น !
คุณแม่ที่ถามมาว่า อายุ 5 วันปั๊มนมได้ 10 ซีซี จะเพิ่มน้ำนมอย่างไร
เก็บเครื่องปั๊มนมไว้ก่อนเลยค่ะ อย่างที่บอก ลูกที่คลอดครบกำหนดปกติ แข็งแรงดี ที่อยู่ของเขา คือ”หน้าอก” ของแม่ค่ะ ขอให้ลูกได้อยู่ห้องเดียวกับแม่ตั้งแต่แรกคลอด เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับการดูดเต้านมแม่ค่ะ
สำหรับแม่ที่บอกว่า ลูกดูดนมแล้วเจ็บหัวนม
ต้องรีบหาที่ปรึกษาเพื่อแก้ไขโดยด่วน ตั้งแต่เริ่มแรกมีอาการเลยค่ะ
การแก้ไขหัวนมเจ็บ คือ ต้องดูท่าอุ้มให้นมของแม่ ว่า อุ้มแล้วลูกสบายไหม แนวคอและหลังเป็นเส้นตรงเดียวกันไหม ถ้าไม่ตรง คอของลูกบิด จะดูดกลืนไม่ถนัด ค่ะ และการอ้าปากของลูก เพื่องับเต้านม ว่างับได้ลึกพอไหม ดูที่ลิ้นของลูกว่ามีพังผืดใต้ลิ้นหรือไม่
หัวนมเจ็บ รีบหาที่ปรึกษา เพื่อแก้ไขค่ะ อย่าปล่อยไว้นาน
อย่าใช้เครื่องปั๊มนมมาแก้ไขปัญหาหัวนมเจ็บ เพราะเป็นการแก้ไม่ถูกจุด และจะเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมา คือลูกติดการดูดนมจากจุกขวด ต้องตามมาแก้กันพัลวัน
แรกคลอด แม่เอาลูกสู่ “อ้อมกอด อกอุ่น น้ำนมแม่อิ่ม”
หลังคลอด ฝึกหัดดูดเต้าบ่อยๆ “กว่าจะดูดนมแม่ได้ ต้องใช้เวลา”
เมื่อเจอปัญหา หัวนมเจ็บ “รีบหาที่ปรึกษา” เพื่อแก้ไข
🌺น้ำนมแม่เพิ่มได้ ถ้าให้ลูกดูดบ่อย 🌺
❣️เริ่มดูดนมแม่ได้ดี ไม่แยกแม่ลูก ค่ะ❣️
/พญ ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารแพทย์
โฆษณา