Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SPACE Story
•
ติดตาม
14 พ.ค. 2020 เวลา 15:39 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อะพอลโล 11 : เรื่องราวที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อนของภารกิจเหยียบดวงจันทร์
นับเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาได้เป็นประเทศแรกที่ส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์สำเร็จในภารกิจอะพอลโล 11 เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นช่วงเวลาอันสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์สหรัฐฯและประวัติศาสตร์โลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ เมื่อปี 1969 นั้นเป็นอย่างไร และยังมีเรื่องไหนที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบกันอีกบ้าง ?
เหตุใดสหรัฐฯถึงต้องการไปดวงจันทร์
หลังสหภาพโซเวียตปล่อยดาวเทียมสปุตนิก 1 ขึ้นสู่วงโคจรโลกเมื่อปี 1957 การแข่งขันชิงดีชิงเด่นด้านกิจการอวกาศระหว่างสองมหาอำนาจของโลกก็เริ่มต้นขึ้นทันที
ความสำเร็จของสหภาพโซเวียตในการส่งมนุษย์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ซึ่งรวมถึงยูริ กาการิน และวาเลนตินา เทเรชโควา นักบินอวกาศหญิงคนแรกของโลก ทำให้สหรัฐฯ เริ่มวิตกกังวล
เมื่อประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในปี 1961 ชาวอเมริกันจำนวนมากเชื่อว่าประเทศของตนกำลังพ่ายแพ้ให้กับสหภาพโซเวียต ศัตรูตัวฉกาจในยุคสงครามเย็น ซึ่งขณะนั้นดูเหมือนว่าสหภาพโซเวียตจะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เหนือล้ำกว่ามาก เพราะสามารถส่งคนขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้เป็นครั้งแรกของโลกในปีเดียวกันนั้นเอง
ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯจึงมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้เป็นประเทศแรก โดยในปี 1962 ประธานาธิบดีเคนเนดีได้ประกาศให้ชาวอเมริกันทราบว่า "เราเลือกไปดวงจันทร์ " ผ่านการกล่าวสุนทรพจน์ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีมาจนถึงทุกวันนี้
การแข่งขันด้านอวกาศระหว่างมหาอำนาจทั้งสองยังคงดำเนินต่อไป จนในปี 1965 สหภาพโซเวียตก็สามารถส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ แต่ภารกิจครั้งนี้ยังไม่มีนักบินอวกาศโดยสารไปด้วย
จรวดขนส่งอวกาศ Saturn V กำลังพุ่งทะยานออกจากฐานปล่อย
สหรัฐฯวางแผนดำเนินโครงการอะพอลโลอย่างไร
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา ทุ่มเททรัพยากรให้กับโครงการอวกาศที่เรียกว่า "โครงการอะพอลโล" เป็นจำนวนมหาศาล โดยระดมกำลังบุคลากรเข้าทำงานในโครงการนี้ถึง 400,000 คน คิดเป็นงบประมาณที่ใช้ไปถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 772,500 ล้านบาท ตามมูลค่าของเงินตราในสมัยนั้น
นาซาได้คัดเลือกนักบินอวกาศสำหรับภารกิจอะพอลโล 11 ซึ่งจะส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ไว้ 3 คน ได้แก่นีล อาร์มสตรอง บัซซ์ อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์
จรวด Saturn V อันทรงพลัง จะนำส่งยานอวกาศซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนย่อยขึ้นสู่วงโคจรของโลก ก่อนที่ส่วนต่าง ๆ ของยานจะแยกตัวออกจากจรวดนำส่งและพุ่งทะยานไปยังดวงจันทร์ต่อไป
ส่วนประกอบย่อยของยานอวกาศนี้ได้แก่ ส่วนบัญชาการ (Command module) ส่วนเชื่อมต่อและขับเคลื่อน (Service module) และส่วนของยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์หรือลูนาร์โมดูล (Lunar module) ที่เราได้เห็นกันบ่อยครั้งตามบันทึกภาพประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ครั้งนี้
คลิ๊กไปที่ภาพจะขยายขนาดเต็มให้นะ
ตามแผนการที่วางไว้ จะมีการนำส่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อภารกิจครั้งนี้ขึ้นสู่วงโคจรของโลกเสียก่อน แล้วจึงออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังดวงจันทร์ต่อไป โดยนีล อาร์มสตรองและบัซซ์ อัลดรินจะอยู่ในยานลูนาร์โมดูล เพื่อเตรียมลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ส่วนนักบินอวกาศอีกคนคือไมเคิล คอลลินส์ จะอยู่ในยานบัญชาการซึ่งโคจรวนรอบดวงจันทร์ระหว่างปฏิบัติภารกิจ
คลิ๊กไปที่ภาพจะขยายขนาดเต็มให้นะ
เกิดเหตุขัดข้องผิดพลาดขึ้นบ้างหรือเปล่า?
ในระหว่างการทดสอบภารกิจอะพอลโล 1 เมื่อปี 1967 ซึ่งสหรัฐฯหวังจะนำมนุษย์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศให้ได้เป็นครั้งแรกของประเทศ การฝึกซ้อมที่มีขึ้นเป็นประจำตามปกติได้กลับกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ในยานส่วนบัญชาการ ทำให้นักบินอวกาศที่อยู่ภายใน 3 คน เสียชีวิตทั้งหมด และเป็นเหตุให้โครงการต่าง ๆ ที่ใช้นักบินอวกาศ ต้องถูกสั่งระงับอยู่เป็นเวลานานหลายเดือน
ภาพของยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์หรือลูนาร์โมดูล เมื่อมองจากยานส่วนบัญชาการที่โคจรอยู่รอบดวงจันทร์
สำหรับภารกิจอะพอลโล 11 เองนั้น ได้เกิดปัญหาการสื่อสารกับศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินบนโลกหลายครั้ง ทั้งยังมีข้อความและเสียงเตือนดังขึ้นจากคอมพิวเตอร์ในยาน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่ทีมนักบินอวกาศไม่เคยได้ยินกันมาก่อน
แต่ในท้ายที่สุด ยานส่วนลูนาร์โมดูลที่ได้รับฉายาว่า "นกอินทรี" ก็ได้ร่อนลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ แม้ว่าตำแหน่งที่ลงสัมผัสพื้นผิวดวงจันทร์จะคลาดเคลื่อนไปจากตำแหน่งเป้าหมายที่กำหนดไว้แต่แรกอยู่ก็ตาม
ก้าวแรกบนดวงจันทร์
ในวันที่ 20 กรกฎาคม 1969 หลังออกเดินทางจากโลกไปได้เกือบ 110 ชั่วโมง นักบินอวกาศ นีล อาร์มสตรอง ก็ได้เป็นมนุษย์คนแรกที่ก้าวลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ ตามมาด้วยเพื่อนร่วมทีมของเขาคือ บัซซ์ อัลดริน ในอีก 20 นาทีต่อมา
มีการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไปทั่วโลก ทำให้ผู้คนที่ได้ชมราว 650 ล้านคนสามารถจดจำถึงถ้อยคำของอาร์มสตรองที่กล่าวในขณะนั้นว่า "นั่นคือก้าวเล็ก ๆ ของคนคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ"
อาร์มสตรองและอัลดรินใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงหลังจากนั้น ออกเดินไปในบริเวณโดยรอบจุดลงจอดของยานลูนาร์โมดูล เก็บตัวอย่างหินบนพื้น ถ่ายภาพ และจัดเตรียมการทดลองทางวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่ง
นักบินอวกาศทั้งสามของภารกิจอะพอลโล 11 (จากซ้าย) นีล อาร์มสตรอง, ไมเคิล คอลลินส์ และบัซซ์ อัลดริน
หลังการสำรวจสิ้นสุดลง นักบินอวกาศทั้งสองกลับเข้าไปในยานลูนาร์โมดูล ก่อนจะจุดระเบิดเครื่องยนต์ให้บินขึ้นและกลับไปเชื่อมต่อกับยานส่วนบัญชาการได้สำเร็จ จากนั้นทั้งหมดเดินทางกลับสู่โลก โดยยานได้กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและพุ่งตัวลงในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม
สำหรับรัฐบาลสหรัฐฯแล้ว ความสำเร็จในครั้งนี้ช่วยแสดงถึงพลังอำนาจและแสนยานุภาพที่ตนมีอยู่ให้ออกสู่สายตาชาวโลก ทั้งยังมีความสำคัญต่อการฟื้นฟูความภาคภูมิใจในประเทศชาติของชาวอเมริกัน หลังผ่านช่วงทศวรรษแห่งความสับสนปั่นป่วนที่มีทั้งเหตุลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี เหตุปะทะจลาจลเนื่องจากการเหยียดผิวตามเมืองใหญ่หลายแห่ง และความขัดแย้งภายในที่มาจากสงครามเวียดนาม
จะรู้ได้อย่างไรว่าไปเหยียบดวงจันทร์มาแล้วจริง ๆ ?
ก่อนจะสิ้นปี 1972 มีภารกิจอะพอลโลรวมทั้งสิ้น 6 ครั้งที่นำมนุษย์ไปลงยังดวงจันทร์ได้สำเร็จ แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีบางคนเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดที่บอกว่า การไปเหยียบดวงจันทร์ของสหรัฐฯนั้นเป็นเรื่องจัดฉากหลอกลวง
ความสำเร็จในภารกิจเหยียบดวงจันทร์ทำให้ชาวอเมริกันทั้งชาติพากันเฉลิมฉลองครั้งใหญ่
อย่างไรก็ตาม ยานโคจรสำรวจดวงจันทร์ (LRO) ซึ่งองค์การนาซาปล่อยเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ตั้งแต่ปี 2009 ได้ถ่ายภาพความคมชัดสูงที่เป็นหลักฐานของการไปเหยียบดวงจันทร์ในโครงการอะพอลโลไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งภาพรอยเท้าของนักบินอวกาศ รอยล้อรถตระเวนสำรวจ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทิ้งไว้บนดวงจันทร์
นอกจากนี้ หลักฐานทางธรณีวิทยาเช่นตัวอย่างหินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่นักบินอวกาศนำกลับมาจากดวงจันทร์ ก็เป็นสิ่งยืนยันว่าการเดินทางไปลงดวงจันทร์ของมนุษย์นั้นมีขึ้นจริงอย่างแน่นอน
แคเทอรีน จอห์นสัน ในปี 1962 เธอเป็นนักคณิตศาสตร์ขององค์การนาซานานถึง 33 ปี
4 เรื่องที่คุณอาจยังไม่เคยรู้เกี่ยวกับภารกิจอะพอลโล 11
1.จรวด Saturn V ที่ใช้ในโครงการอะพอลโล ยังคงเป็นจรวดขนส่งอวกาศที่ใหญ่ที่สุดและทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยมีมาของโลก โดยมีความสูงกว่า 100 เมตร หนัก 2,800 ตัน และเผาไหม้เชื้อเพลิงถึง 20 ตันต่อวินาทีขณะถูกยิงปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศ มันถูกปลดระวางในปี 1973 ทำให้จรวดฟอลคอนเฮฟวีของบริษัทสเปซเอกซ์กลายเป็นจรวดขนส่งอวกาศทรงพลังที่สุดที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
2.นักบินอวกาศ 3 คนต้องนั่งอยู่ในยานขนาดเท่ากับรถยนต์คันใหญ่ พวกเขาต้องทนเบียดอยู่ในที่แคบด้วยกันเป็นเวลาถึง 8 วัน ระหว่างเดินทางไปและกลับจากดวงจันทร์ โดยส่วนที่กว้างที่สุดของยานวัดได้เท่ากับ 3.9 เมตรเท่านั้น
3.นักคณิตศาสตร์หญิงเชื้อสายแอฟริกันช่วยคำนวณหาเส้นทางสู่ดวงจันทร์ ก่อนจะถึงยุคดิจิทัล นาซาได้ว่าจ้าง "มนุษย์คอมพิวเตอร์" ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์หญิงเอาไว้เป็นจำนวนมากดังที่ปรากฏในภาพยนตร์ Hidden Figures ในจำนวนนี้หลายคนยังเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันอีกด้วย เช่นแคเทอรีน จอห์นสัน ผู้คำนวณหาเส้นทางไปกลับจากดวงจันทร์ให้กับภารกิจอะพอลโล 11 จนได้เป็น "วิถีวนกลับอิสระ" (free-return trajectory) เส้นทางรูปเลข 8 ที่ใช้แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ส่งยานกลับสู่โลกโดยไม่ต้องเสียเชื้อเพลิง
4.ไม่มีใครรู้ว่าทุกวันนี้ยานลูนาร์โมดูลของภารกิจอะพอลโล 11 ไปอยู่ที่ไหน เพราะหลังจากนำส่งนักบินอวกาศที่อยู่บนดวงจันทร์กลับขึ้นสู่ยานส่วนบัญชาการเพื่อมุ่งหน้ากลับโลกแล้ว ยานลูนาร์โมดูลจะถูกสลัดทิ้ง
ในบรรดาภารกิจของโครงการอะพอลโล 10 ครั้ง บางครั้งยานนี้จะตกกลับไปชนปะทะกับพื้นผิวดวงจันทร์ บางครั้งจะถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก แต่ยาน Snoopy ของภารกิจอะพอลโล 10 กลับได้เปลี่ยนวิถีไปโคจรรอบดวงอาทิตย์แทน ส่วนจุดตกของยาน Eagle "นกอินทรี" ของภารกิจอะพอลโล 11 นั้น ไม่มีใครทราบถึงจุดตกกลับบนดวงจันทร์ของมันจนกระทั่งทุกวันนี้
ขอบคุณข้อมูล :
bbcthai.com
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย