14 พ.ค. 2020 เวลา 18:22 • ไลฟ์สไตล์
The Platform: คุกแห่งความเหลื่อมล้ำ
หลายคนหากเป็นสมาชิก Netflix
หรือติดตามหนังที่เป็นกระแสอยู่แล้ว
คงจะเคยเห็นชื่อของหนังเรื่องนี้มาบ้าง
ขอบคุณภาพจาก www.whatsnewonnetflix.com
หลายคนคงดูหนังเรื่องนี้จบไปแล้ว
แต่ก็อาจมีอีกหลายคนยังไม่เคยรู้จักมาก่อน
ผู้เขียนเห็นชื่อของหนังเรื่องนี้มานาน
อ่านรีวิวคร่าวๆ มาพอสมควร
แต่ยังไม่มีโอกาสได้ดู และคงเพราะ
สถานการณ์ของ"ตู้ปันสุข" ทำให้ชื่อ
ของหนังเรื่องนี้วนกลับมาผ่านตา
ผู้เขียนจนต้องขอดูกันจริงจังสักครั้ง
หนังเรื่องนี้เป็นหนังสัญชาติสเปน
ที่ได้รับรางวัลขวัญใจผู้ชม
Midnight Madness จากเทศกาล
Toronto International Film Festival
ประเทศแคนาดา และรางวัลภาพยนตร์
ยอดเยี่ยมจากเทศกาล Sitges – Catalonian International Film Festival ประเทศสเปน
หนังถูกนำมาฉายใน Netflix ช่วง
ปลายเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
เรท 18+ นะคะ เพราะหนังมีภาพและ
เนื้อหาแบบผู้ใหญ่ มีความรุนแรง และ
ความน่าสะอิดสะเอียนพอสมควร
แต่เมื่อดูจนจบแล้วถือเป็นหนังที่ให้ข้อคิด
ที่ดีมากอีกเรื่องนึงเลยทีเดียว
บทความนี้คงไม่พูดถึงเนื้อหาหลักทั้งหมด
และสัญลักษณ์ทุกส่วนของหนัง เพราะหนัง
แฝงนัยต่างๆในเชิงสัญลักษณ์เต็มไปหมด
แถมถ้าใครยังไม่ได้ดู ก็จะได้ไม่เสีย
อรรถรสในการรับชมมากนักนะคะ
แต่จะขอเขียนถึงแง่มุมบางอย่างที่ผู้เขียน
ได้รับจากการดูหนังเรื่องนี้ รวมถึงการตีความสัญลักษณ์หลักของหนัง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า
เป็นการทิ้ง "ข้อความ" หรือ "การสื่อสาร"
จากผู้สร้างให้กับคนดู ในแง่มุมส่วนตัว
ของผู้เขียนในฐานะผู้ดูหนังคนหนึ่งเท่านั้น
เกริ่นสักนิดว่า หนังเป็นเรื่องของ "หลุม"
หรือ "คุกแนวตั้ง" ที่แต่ละวันจะมีอาหาร
จำนวนหนึ่งวางไว้บน "แท่น" (Platform)
และถูกส่งลงมาให้กับคนแต่ละชั้น ชั้นหนึ่งๆ
จะมีคนอยู่ร่วมกันชั้นละ 2 คน โดยแท่นอาหาร
จะอยู่แต่ละชั้นในเวลาจำกัด และถูกเลื่อนลงไปตามลำดับชั้นตั้งแต่ชั้นที่ 1 ถึงชั้นสุดท้าย
ซึ่งในหนังมีถึง 333 ชั้น นั่นหมายความว่า
คนชั้นบนคือคนที่มีสิทธิเลือกทานอาหาร
ได้ก่อนคนที่อยู่ลำดับถัดไป และแน่นอนว่า
อาหารในจำนวนที่จำกัดนั้นไม่มีทาง
หลงเหลือไปถึงชั้นล่างๆให้ทานกัน
ได้อย่างพอเพียง ความหิว และความบีบคั้น
ทำให้คนในชั้นล่างๆต้องหาวิธีการเอาตัวรอด
ที่แตกต่างกัน บางคนต้องฆ่ากันเอง
หรือบางคนก็เลือกด้วยการยอมจบชีวิต
ก่อนจะถูกส่งเข้าไปในคุก ทุกคนมีสิทธิ
เลือกสิ่งของ 1 อย่างติดตัวเข้าไปได้
หลายคนเลือกเอาดาบ มีด อาวุธต่างๆ
ตัวเอกของเราเลือก"หนังสือ 1 เล่ม"
ในมุมมองของผู้เขียน "คุกแนวตั้ง"นั้น
ก็คือ"โลกหรือประเทศ"ที่เราอยู่อาศัย "อาหาร"บนแท่น สื่อถึง"ทรัพยากร"ที่มีอยู่อย่าง
จำกัด และเปรียบคนที่อยู่ในชั้นสูงๆของคุกนี้
ก็คือชนชั้นสูง หรือคนรวยที่มีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรในโลกที่มีอยู่อย่างจำกัด
นี้ได้ก่อนคนอื่น โดยเฉพาะในสังคมทุนนิยมนั่นเอง
ดูหนังแล้ว หนังทำให้ผู้เขียนนึกถึงสถานภาพ
ของตัวเองตอนนี้ คงกำลังเหมือนตัวเอก ที่เลือกเอาหนังสือเล่มหนึ่ง กับน้ำใจเต็มเปี่ยมติดตัวเข้าไปในคุกแห่งนี้ เพราะก็เป็นชนชั้นกลาง
ที่พอจะมีความรู้ติดตัวอยู่บ้าง และเชื่อว่าด้วยความรู้นั้นก็เพียงพอที่จะทำให้อยู่รอดในโลก
ใบนี้ แถมยังไม่เคยเจอความลำบากลำบน
ถึงขั้นต้องแก่งแย่ง หรือใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้มีชีวิตรอดในสังคม หรือในการหาเลี้ยงชีพนัก จึงยังเชื่อมั่นว่า การแบ่งปัน
คือสิ่งที่จะทำให้โลกนี้ยังหมุนต่อไปได้
และทำให้โลกนี้ยังคงสวยงามน่าอยู่
แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง
สถานการณ์ในหนังเปลี่ยนไป ตัวเอก
เริ่มถูกแรงกดดันบีบคั้นจากความหิว
และการถูกคุกคามต่างๆ ทำให้หลายครั้ง
ต้องทำหลายๆอย่างที่ไม่เคยทำเพื่อเอาตัวรอด
สิ่งนี้สะท้อนมุมมองให้ผู้เขียนนึกออกเลยว่า
เราไม่มีวันเข้าใจว่า คนที่เขาลำบากถึงขั้น
ต้องทำทุกวิถีทางให้มีชีวิตรอด โดยเฉพาะ
แค่ขอให้มีข้าวกินในมื้อนี้ ในวันนี้ให้อิ่มท้อง
เขารู้สึกแบบไหน จนกว่าเราจะไปอยู่ในจุดเดียวกันกับเขา
ผู้เขียนตอบตัวเองไม่ได้ด้วยซ้ำว่า
หากผู้เขียนต้องเผชิญสถานการณ์
ที่ยากลำบากแบบนั้นบ้าง อดมื้อกินมื้อ
ไม่มีแม้แต่บ้านที่ปลอดภัยให้พักอาศัย
ผู้เขียนจะยังเชื่อมั่นในการเอื้อเฟื้อ
แบ่งปันอยู่แบบนี้ไหม
ทำให้ตอนนี้ผู้เขียนต้องขอบคุณใน
ความโชคดีของตัวเอง ถึงมีไม่มากมาย
ขนาดรำ่รวยล้นฟ้า มหาศาล แต่ก็ไม่ถึงขั้น
ลำบากจนกลายเป็นความบีบคั้น ให้ตะเกียกตะกายเอาตัวรอดในการใช้ชีวิต
Quote ของหนังที่น่าประทับใจ
(ซึ่งเป็น version ภาษาอังกฤษ
ที่เป็นบทคัดลอกมาจากหนังสือ
"Don Quixote"
ของ Miguel de Cervantes
นักเขียนชาวสเปน ที่ตัวเอก
เลือกเอาติดตัวเข้าไปในคุก)
.
.
.
คือ
"A great man who is vicious
will be a great example of vice
and a rich man who is not generous
will be merely a miserly beggar,
for the possessor of wealth
is not made happy by possessing it
but by spending it, and not by
spending it as he pleases but by
knowing how to spend it well."
ผู้เขียนขอแปลในทำนองว่า
.
.
.
"ผู้ยิ่งใหญ่ที่ร้ายกาจ จะเป็นได้แค่ตัวอย่าง
ชั้นยอดของความชั่วร้าย คนรวยที่ไม่มีน้ำใจ
จะเป็นได้เพียงขอทานที่ตระหนี่ถี่เหนียว
สำหรับผู้รำ่รวยแล้ว ความสุขไม่ได้ถูกสร้าง
จากการครอบครองความมั่งคั่งร่ำรวยนั้น
แต่ด้วยการใช้มัน ไม่ใช่ตามความพึงพอใจ
หากแต่ต้องใช้อย่างรู้ด้วยว่าจะใช้มันให้ดีได้อย่างไรต่างหาก"
(แปลผิดพลาดประการใดขออภัย
มา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ)
เมื่อดูหนังจบแล้ว บทคัดลอกด้านบน
ที่ถูกนำมาใช้กล่าวอ้างถึงในหนังนี้
ทำให้ผู้เขียนนึกขึ้นได้ว่า ในโลกหรือ
แม้แต่ในประเทศนี้ ยังมีผู้คนอีกมากมาย
ที่เปรียบได้กับคนที่อยู่ในคุกในชั้นล่างๆ
ลงไป ที่แทบไม่มีอาหารซึ่งเปรียบได้
กับโอกาสหรือทรัพยากรต่างๆที่เหลือ
ไปถึงพวกเขาเหล่านั้น และน่าจะเป็น
สัดส่วนไม่น้อยในสังคมรวยกระจุก
จนกระจาย ที่เป็นโลกแห่งความเหลื่อมล้ำ
ที่เรากำลังอาศัยร่วมกันอยู่นี้
และยังทำให้ผู้เขียนคิดได้ในที่สุดว่า
วันนี้ที่ยังสามารถเป็นผู้ที่ให้ได้ ผู้เขียนก็
ขอให้ตัวเองยังมีกำลังใจอย่างเต็มเปี่ยม
ที่จะให้ และถึงการให้ออกไปแม้มากมาย
เพียงใด จะไม่อาจแก้ไขความเหลื่อมล้ำ
ในสังคมอันกว้างใหญ่นี้ได้เลย แต่ก็ขอ
เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่นิ่งเฉย
ดูดายกับความเดือดร้อนที่พบเห็น
แค่นั้นก็น่าจะเพียงพอสำหรับผู้เขียน
ให้พึงพอใจและมีความสุขขึ้นมาได้บ้างแล้ว
ถ้าได้ดูหนังแล้ว คุณๆคิดเหมือนผู้เขียน
อยู่เหมือนกันใช่ไหมคะ😊
แหล่งข้อมูล:
โฆษณา