15 พ.ค. 2020 เวลา 06:00 • การเมือง
หมดโศก เพราะหมดอาลัย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้ไม่มีที่สุดและเบื้องต้น อันใครๆ ก็รู้ไม่ได้ เบื้องต้นและที่สุดของเหล่าสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น ผูกพันด้วยตัณหาแล่นไป ท่องเที่ยวไปย่อมไม่ปรากฏ …
ชาวโลกต่างมีความปรารถนาอันสูงสุด คือ ต้องการพบความสุขที่แท้จริง โดยไม่รู้เลยว่า มีอยู่ในตัวของทุกคน ไม่ว่าเขาจะมีเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ใด เพียงปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นกายที่สวยงาม เป็นกายของลักษณะมหาบุรุษ จะปรากฏเหมือนกันทั้งรูปร่าง หน้าตา อานุภาพ ถ้าทุกคนในโลกปฏิบัติจนเข้าถึงพระธรรมกายในตัว จะทำให้มีดวงใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ ซึ่งจะมีความบริสุทธิ์เหมือนกันหมด ทั้งมีความรัก ความปรารถนาดีต่อกันอย่างแท้จริง ไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์ เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ติณกัฏฐสูตร ว่า
 
“อนมตคฺโคยํ ภิกฺขเว สํสาโร ปุพฺพา โกฏิ น ปญฺญายติ
อวิชฺชานีวรณานํ สตฺตานํ ตณฺหาสญฺโญชนานํ สนฺธาวตํ สํสรตํ
 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้ไม่มีที่สุดและเบื้องต้น อันใครๆ ก็รู้ไม่ได้ เบื้องต้นและที่สุดของเหล่าสัตว์
ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น ผูกพันด้วยตัณหาแล่นไป ท่องเที่ยวไปย่อมไม่ปรากฏ”
ผู้รู้ได้อุปมาไว้ว่า หากมีบุรุษปั้นมหาปฐพีนี้ให้เป็นก้อน ก้อนละเท่าเม็ดผลกระเบา แล้วนำมาวางเรียงกัน สมมติว่า ก้อนนี้เป็นบิดาของเรา ก้อนนี้เป็นปู่ของเรา ก้อนนี้เป็นทวดของเรา ไล่เรื่อยไปตามลำดับ บิดาของบิดาของบุคคลนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนมหาปฐพีนี้พึงถึงการหมดสิ้นไป ที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่า สังสารวัฏนี้กำหนดเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย ไม่ได้ การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้ มีความซับซ้อนสับสนยิ่งกว่าเกลียวเชือกที่นำมาขมวดเป็นปมเสียอีก เชือกยังสามารถที่จะจับต้นชนปลายได้ กำหนดเงื่อนต้น เงื่อนปลายก็ไม่ยาก จะคลายเกลียวก็ไม่ยากเกินกว่าวิสัยที่จะทำได้
แต่การเดินทางไกลในสังสารวัฏนี้ มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนยากจะสาวได้ เพราะหมู่สัตว์ถูกอวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง ปกปิดดวงปัญญาบริสุทธิ์ไว้ อีกทั้งเป็นความสับสนกลับไปกลับมาของภพชาติ วนอยู่ด้วยอำนาจของตัณหาที่ผูกไว้ ทำให้ไม่สามารถสลัดออกจากกองทุกข์ได้ ท่านจึงเรียกการเดินทางวนเวียนนี้ว่า สังสารวัฏ คือ เวียนเกิดเวียนตาย วกไปวนมาอยู่อย่างนี้ ซึ่งเส้นทางของชีวิตไม่ราบเรียบเสมอไป มีสุขมีทุกข์ แล้วแต่บุญและบาปที่ได้ทำไว้ แล้วไปเกิดมาเกิด วนเวียนอยู่ระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์
เมื่อตายแล้ว เกิดมาใหม่ก็เป็นคนใหม่ จำอะไรก็ไม่ได้ ต้องเริ่มต้นกันใหม่หมด ท่านจึงอุปมาไว้ว่า ท่อนไม้ที่บุคคลโยนขึ้นบนอากาศ บางคราวก็ตกลงทางโคน บางคราวก็ตกลงทางขวาง บางคราวก็ตกลงทางปลาย สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาปิดบังดวงปัญญา มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมา หาความแน่นอนไม่ได้ ก็จากโลกนี้ไปสู่ปรโลก เมื่อสิ้นชีวิตก็ต้องจากปรโลกอื่นมาสู่โลกนี้
*ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถี มีสามีของอุบาสิกาท่านหนึ่งเสียชีวิตลง เธอได้แต่ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในป่าช้า ถึงสามีสุดที่รัก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของเธอ จึงได้เสด็จไปโปรดถึงบ้าน ตรัสสอนให้เข้าใจความเป็นจริงของโลกและชีวิตว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นมาในโลกนี้ ย่อมมีการพลัดพรากเป็นธรรมดา แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาเล่าเป็นอุทาหรณ์ให้ฟังว่า...
ในอดีตกาล ในกปิลนครแคว้นปัญจาละ ได้มีพระราชาพระนามว่า พรหมทัต ทรงปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม และเป็นที่รักของมหาชน พระองค์มีอัครมเหสีพระนามว่า อุพพรี ได้ช่วยราชการแทนพระองค์หลายอย่าง ทำให้แว่นแคว้นเจริญรุ่งเรือง ชาวประชาอยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง เวลาไปที่ใดก็ไม่ต้องปิดประตูบ้าน เพราะไม่มีโจรขโมย เมื่อพระราชาสวรรคตด้วยโรคาพาธบางอย่าง พระมเหสีมีความทุกข์โทมนัสเศร้าโศกเสียพระทัยถึงพระราชาเป็นอย่างยิ่ง
สมัยนั้น พระบรมโพธิสัตว์ทรงผนวชเป็นฤๅษี ได้บรรลุฌานและอภิญญาสมาบัติ พำนักอยู่ที่ราวป่าแห่งหนึ่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นพระนางอุพพรีผู้กำลังเศร้าโศก ก็ปรารถนาจะถอน ลูกศร คือ ความโศกของพระนาง จึงเหาะมาปรากฏเฉพาะพระพักตร์ ประทับยืนอยู่ในอากาศ ตรัสถามพวกมนุษย์ที่อยู่ในป่าช้าว่า "หญิงท่านนี้คร่ำครวญว่าพรหมทัต พรหมทัต นางคร่ำครวญถึงพระเจ้าพรหมทัตองค์ไหนล่ะ"
 
    มหาชนที่มาประชุมกัน ก็กล่าวตอบว่า "ท่านผู้เจริญ ที่ตรงนี้เคยเป็นพระเมรุมาศของพระเจ้าพรหมทัต หญิงนี้เป็นพระมเหสีของท้าวเธอ"
พระดาบสได้กล่าวกับพระนางอุพพรีว่า "ดูก่อนน้องหญิง พระเจ้าพรหมทัต ถูกเผาในป่าช้านี้ ๘๖,๐๐๐ พระองค์แล้ว บรรดาพระเจ้าพรหมทัตเหล่านั้น พระนางทรงกันแสงถึงพระเจ้าพรหมทัตพระองค์ไหน"
 
    พอพระนางถูกถามเช่นนั้น ก็ตอบว่า "พระราชาพระองค์ใด เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจูฬนี ทรงเป็นใหญ่อยู่ในแคว้นปัญจาละ หม่อมฉันเศร้าโศกถึงพระราชาพระองค์นั้น ผู้เป็นพระสวามีของหม่อมฉัน"
พระดาบสได้กล่าวสอนว่า "พระราชาทุกพระองค์ ทรงพระนามว่าพรหมทัตเหมือนกันหมด ล้วนเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจูฬนี ผู้เป็นใหญ่อยู่ในแคว้นปัญจาละ พระนางเป็นพระมเหสีของพระราชาเหล่านั้นทั้งหมด โดยลำดับสืบต่อกันมา ถ้าหากจะร้องไห้ แล้วทำไมพระนางจึงเว้นพระราชาพระองค์ก่อนๆ ทำไมทรงกันแสงถึงเฉพาะพระราชาพระองค์หลังล่ะ"
 
    พระนางอุพพรีได้ฟังดังนั้น ก็เกิดสลดพระทัย ไม่คิดว่าเรื่องอย่างนี้ จะเคยเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จึงถามพระดาบสว่า "ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ หม่อมฉันเกิดเป็นหญิงตลอดกาลนานเท่านั้นหรือ หม่อมฉันเคยเกิดเป็นชายบ้างหรือไม่"
พระดาบสได้กล่าวสอนนางว่า "การกำหนดแน่นอนของหญิงและชาย ไม่มีในสงสารว่า หญิงก็ต้องเป็นหญิง ชายก็ต้องเป็นชายอยู่ร่ำไป บางคราวพระนางก็เคยเกิดเป็นชาย บางคราวก็เกิดเป็นหญิง บางคราวก็เกิดในกำเนิดของสัตว์ ที่สุดแห่งอัตภาพทั้งหลาย อันเป็นอดีตของพระนางไม่ปรากฏ และไม่อาจกำหนดได้ด้วยญาณทัสสนะของเรา เพราะสังสารวัฏนี้ยาวไกลเหลือเกิน สังสารวัฏนี้ไม่มีที่สุด จะหาเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของสรรพสัตว์ได้ยาก เพราะมีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น ผูกพันไว้ด้วยตัณหา ท่องเที่ยวไปย่อมไม่ปรากฏ"
 
    พระมเหสีได้ฟังธรรมที่พระดาบสแสดง ก็มีใจเลื่อมใส จึงคลายจากความเศร้าโศกที่มีในพระราชา พระนางได้ประกาศความเลื่อมใสต่อพระดาบสว่า "ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านดับความกระวนกระวายทั้งปวงของหม่อมฉัน ผู้เร่าร้อนอยู่ให้หายได้ เหมือนบุคคลเอาน้ำดับไฟได้สนิท ท่านบรรเทาความเศร้าโศกถึงพระสวามีของหม่อมฉัน ผู้ถูกความเศร้าโศกครอบงำแล้ว ท่านถอนลูกศร คือ ความเศร้าโศก อันเสียดแทงที่หทัยของหม่อมฉันได้แล้ว ต่อแต่นี้ไป หม่อมฉันจะไม่เศร้าโศกไม่ร้องไห้อีก จะอยู่ในโอวาทของท่าน"
อุบาสิกาเมื่อได้ฟังชาดก ซึ่งเป็นธรรมโอสถจากพระบรมศาสดา มาช่วยรักษาแผลใจที่เกิดจากการพลัดพรากแล้ว เธอมีดวงตาเห็นธรรม รู้เห็นไปตามความเป็นจริง ถึงการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ จึงตัดใจตัดอาลัยในสามี แล้วปล่อยใจไปตามกระแสธรรม ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ได้เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ มีนิพพานเป็นอารมณ์
ชีวิตในสังสารวัฏนี้ เต็มไปด้วยทุกข์ จับต้นชนปลายไม่ถูก สังสารวัฏนี้กำหนดเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายไม่ได้ หมู่สัตว์ผู้ท่องเที่ยวไปมาในสังสารวัฏนี้ ได้เสวยความทุกข์โทมนัสมายาวนาน ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าสูงขึ้น ใหญ่โตกว่าภูเขาที่ตั้งตระหง่านเทียมฟ้า
เพราะฉะนั้น เมื่อพบกับเหตุการณ์ที่ต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก ให้มีใจหนักแน่น รักษาใจให้เป็นปกติสุข อย่าได้ร้องไห้คร่ำครวญจนเกินไป ฝึกหัดตัดใจห้ามใจให้ได้ ให้สมกับที่เป็นนักสร้างบารมี ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร แล้วเราจะมีความสุขกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. อุพพรีเปติวัตถุ เล่ม ๔๙ หน้า ๓๓๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา