16 พ.ค. 2020 เวลา 02:00 • ข่าว
มหาวิทยาลัยไทยคว้ารางวัลด้าน Cultural Change for Sustainability ประจำปี 2020 เป็นครั้งแรก
International Sustainable Campus Network หรือเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ มีชื่อย่อว่า ISCN เป็นเครือข่ายที่คอยทำการคัดเลือกมหาวิทยาลัยชั้นนำจากทั่วโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ เพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนทางด้านเทคโนโลยีและการวิจัยในแบบบูรณาการ
ซึ่งเครือข่ายนี้ไม่ได้มีเพียงแต่การแลกเปลี่ยนข้อมูล การศึกษา เพื่อพัฒนามหาลัยสู่ความยั่งยืนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีการคัดเลือกมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก เพื่อมอบรางวัลใน 4 สาขา โดยมีมหาวิทยาลัยที่ได้รางวัลจาก ISCN ประจำปี 2020 ดังนี้
- รางวัลด้าน Whole Systems Approach ผู้ชนะเลิศคือ Chalmers University of Technology และ KTH Royal Institute of Technology จากประเทศสวีเดน โดยมีผลงานคือ "The Climate Framework"
- รางวัลด้าน Partnerships for Progress ผู้ชนะเลิศคือ LUT University จากประเทศฟินแลนด์ โดยมีผลงานคือ “Lappeenranta Junior University”
- รางวัลด้าน Honorary Member Award ผู้ชนะเลิศคือ McGill University จากประเทศแคนาดา โดยมีผลงานคือ " Vision 2020: Climate & Sustainability Action Plan"
- รางวัลด้าน Cultural Change for Sustainability ผู้ชนะเลิศคือ Thammasat University จากประเทศไทย โดยมีผลงานคือ" Thammasat Campus Life: No more single-use plastics"
และนี่ถือเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยไทย ที่ได้รางวัลจากเครือข่ายการศึกษาและความยั่งยืนในระดับโลก โดยผลงานจากนโยบาย "No more single-use plastics" หรือการไม่ใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แต่การจะเป็นมหาลัยวิทยาลัยยั่งยืนในระดับโลกนั้น ไม่ได้ดูจากนโยบายดังกล่าวเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูลึกไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในทุกๆ ด้านที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ศูนย์รังสิต บนพื้นที่กว่า 1,757 ไร่ ได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาและบุคคลภายนอกด้วยบริการห้องสมุดทั้ง 11 แห่ง มีหนังสือมากกว่า 200,000 เล่ม มีฐานงานวิจัยจากทั่วโลก และสถานที่อำนวยความสะดวกทั้งการทำกิจกรรมและการเรียนรู้กว่า 700 แห่ง ทั่วมหาวิทยาลัย ได้แก่
ห้องบรรยายพร้อมอุปกรณ์การเรียนการสอนกว่า 1,000 ห้อง มีที่นั่งรวม 3,000 ที่นั่ง สโมสรกิจกรรมสำหรับสนับสนุนการทำกิจกรรมของนักศึกษาและบุคคลภายนอกกว่า 150 แห่ง
ศูนย์กีฬาประจำมหาวิทยาลัย เช่น สนามกีฬามาตรฐาน ASEAN Games 25,000 ที่นั่ง สระว่ายน้ำ ยิมเนเซียม 3 แห่งบรรจุผู้เข้าชมได้ 9,000 คน หน้าผาจำลอง ฟิตเนส ศูนย์ประชุมนานาชาติ สวนสาธารณะขนาดใหญ่ โรงหนัง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ฯลฯ
รวมถึงสนับสนุนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว ด้วยการสร้างทางเดินเท้าและทางจักรยานเชื่อมต่อรอบมหาวิทยาลัยเพื่อลดการใช้ยานพาหนะที่สร้างมลภาวะ การจัดบริการรถรับส่งไฟฟ้านักศึกษาในทุกอาคารเรียน การเดินทางภายในมหาวิทยาลัยทางน้ำด้วยเรือแคนู การติดตั้งถังแยกขยะ การติดตั้งระบบแผงโซลาร์เซลล์ทั่วมหาวิทยาลัย การตั้งร้านคาเฟ่แบบไม่ใช้พลาสติก การนำเศษใบ้ไม้และเศษอาหารมาทำปุ๋ยและเชื้อเพลิง เป็นต้น
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้ดำเนินการลดช้อนพลาสติกตั้งแต่เริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคมปี 2561 จนถึงปัจจุบันได้กว่า 50,000 คัน ส้อมพลาสติกได้กว่า 30,000 ชิ้น และลดการใช้หลอดพลาสติกได้กว่า 250,000 หลอด
นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนจากแก้วพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งภายในร้านค้ามาเป็นการนำแก้วมาเอง ซึ่งทำให้ลดแก้วพลาสติกได้ถึงเดือนละ 120,000 ใบ โดยในอนาคตจะมีมหาวิทยาลัยอีก 30 แห่ง เข้าร่วมนโยบายลดพลาสติกดังกล่าว
ซึ่งนี่ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อมหาวิทยาลัยไทยในอีกหลายๆ แห่ง ที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเริ่มหันมาใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
โดยในอนาคตเราอาจจะได้เห็นมหาวิทยาลัยที่มีการจัดการสิ่งแวดอย่างยั่งยืนในรูปแบบครบวงจรและก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยสีเขียวทั่วภูมิภาค
โฆษณา