15 พ.ค. 2020 เวลา 08:56 • บันเทิง
บทวิจารณ์ Mister Lonely ชีวิตแปลกแยกของนักเลียนแบบคนดัง
Mister Lonely (2007 / ฮาร์โมนี่ โคริน)
โดย ยัติภังค์
ฮาร์โมนี่ โคริน น่าจะเป็นที่รู้จักแบบวงกว้างในบ้านเราจากหนังเรื่อง Spring Breakers(2012) หนังสะท้อนชีวิตวัยรุ่นช่วงหยุดเรียนที่ออกไปปาร์ตี้เมายาอย่างสุดเหวี่ยง โดยมีดารามากมายแสดงรวมถึง เซเลน่า โกเมซ และ เจมส์ ฟรังโก
แต่หนังที่แจ้งเกิดให้เขา(รวมถึงฉายบ้านเราด้วย)จริงๆ คือ Gummo(1997) หนังที่เล่าชีวิตผู้คนในเมืองซีเนีย โอไฮโอ หลังพายุทอร์นาโดถล่ม แบบไม่ปะติดปะต่อข้ามไปบ้านนั้นบ้าง บ้านนี้บ้าง เผยให้เห็นชีวิตอันแผกเพี้ยน บ้าคลั่ง ทั้งเด็ก วัยรุ่น คนแก่และอยู่กันอย่างสิ้นหวังของคนผิวขาวชั้นล่างในอเมริกาได้อย่างดิบ เหวอ แต่กลับน่าจดจำในเอกลักษณ์ของมันแม้จะไม่ใช่หนังทำเงิน
Mister Lonely เป็นหนังเรื่องที่สาม เป็นงานในรอบ 8 ปีของโคริน ไปอ่านรายละเอียดแบบคร่าวๆ แล้วพบว่าเป็นงานที่เขาพยายามสร้างเป็นหนังมานานและใช้เวลาหลายปี เพราะเขาดังในแวดวงอินดี้ตั้งแต่ยังหนุ่มๆ จนเกิดอาการตั้งตัวไม่ทัน เสียวิสัยทัศน์ของตน และถลำตัวเองไปกับการใช้ยาอยู่นาน
แต่ส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดในงานชิ้นนี้ก็คือมันเป็นงานที่ใหญ่กว่าหนังทุนต่ำก่อนหน้า(แม้จะทุนสร้างเทียบไม่ติดกับหนังบล็อคบัสเตอร์เลยก็ตาม) มีเรื่องราวที่แฟนตาซีกว่า นักแสดงมีชื่อจำนวนไม่น้อย มีฉากใหญ่หลายฉาก ซึ่งใช้ทุนและน่าจะต้องใช้การจัดการมากกว่าหนังใหม่อย่าง Spring Breakers เสียอีก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ลงตัวนัก แต่ก็มีส่วนที่ลืมไม่ลงอยู่จนอดกล่าวถึงไม่ได้เหมือนกัน
ใน Gummo ชุมชนที่สภาพถูกทำลายลงหลังพายุทอร์นาโดพัดเข้ามาไม่ใช่แค่ทางกายภาพ และภายในก็แหลกเหลวไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการสื่อสารกับคนภายนอก และคนในเมืองด้วยกันเอง ชีวิตเพี้ยนๆ ที่ราวกับไม่ใช่ชีวิตจริงๆ ซึ่งแสนขำขื่นจนขำไม่ลง
ใน Mister Lonely เล่าสิ่งที่โครินบอกว่าเขารักและเห็นอกเห็นใจชีวิตนักแสดงเลียนแบบมาตั้งแต่เด็ก ก็ยังเป็นชีวิตคนนอก นักแสดงเลียนแบบเหล่านี้ไม่ได้โด่งดังแบบไมเคิล ตั๋ง เหมือนบ้านเรา แต่เป็นชีวิตที่ต้องทนอยู่กับสายตาดูแคลนเมินเฉยของคน อยู่กับความเปลี่ยวเหงา มีรายได้จำกัดจำเขี่ยจากการรอคนมาจ้าง หรือให้เงิน
ในหนังนักแสดงแต่ละคนจะได้รับบทไม่มีชื่อ เพราะพวกเขาเป็นนักแสดงเลียนแบบคนต่างๆ เช่น ไมเคิล แจ๊คสัน, มาริลีน มอนโร, ควีนอลิซาเบธ, ชาร์ลี แชปลิน, หนูน้อยหมวกแดง ฯลฯ ซึ่งหนังโฟกัสไปที่ไมเคิล แจ๊คสัน ซึ่งได้รับการชักชวนให้ไปร่วมชุมชนของนักแสดงเลียนแบบที่มาอยู่ร่วมกันเพื่อจัดงานแสดงที่ใหญ่กว่างานเล็กๆ ที่พวกเขาทำ แต่สภาพของชุมชนก็ค่อยๆ แย่ลงเรื่อยๆ
ตรงจุดเริ่มต้นถึงช่วงที่หนังพาเราไปที่ชุมชนนั้นค่อนข้างน่าเบื่อ ถึงแม้โครินจะให้นักแสดงทุกคนแต่งตัวเลียนแบบและใช้ชีวิตแบบนั้นตลอดก่อนการถ่ายทำหลายเดือน แต่ภาพที่เห็นคือนักแสดงแต่ละคนทำให้เราเชื่อว่าเป็นคนๆ นั้นไม่ได้เลย แน่ล่ะว่าโครินไม่ได้มีเจตนาจะให้เราดูก๊อปปี้โชว์ทั้งเรื่อง แต่การที่ทำให้เราเชื่อว่าคนเหล่านี้เลียนแบบคนที่พวกเขาชื่นชอบไม่ได้เลยก็ทำให้เราไม่สามารถผูกพันกับนักแสดงส่วนใหญ่ในเรื่องได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามเขายังเป็นเลิศอย่างยิ่งในการทำฉากชวนช็อคกับคนดูเสมอๆ พอถึงฉากเหล่านี้เมื่อไหร่ หนังก็กลับเข้าช่วงที่ชวนตั้งคำถามทุกครั้ง ครึ่งหลังของหนังเลยเด่นกว่าครึ่งแรกโดยปริยาย ฉากเด่นมากจนหนังใช้บ่อยคือฉากแม่ชีดิ่งพสุธา ซึ่งเป็นซับพล็อตของเรื่องที่แยกเป็นเอกเทศจากเรื่องโดยสิ้นเชิง แต่แทรกเข้ามาเพื่อให้เป็นการเทียบกับชีวิตนักแสดงเลียนแบบ ซึ่งได้รับโอกาสในชีวิตจากการเป็นเสมือนตัวแทนของคนดัง ไม่ต่างจากการได้รับปาฏิหารย์จากพระเจ้าของแม่ชีเหล่านี้เป็นความหวังชะโลมใจ ก่อนที่ทุกคนจะถูกบดขยี้บีฑาอย่างไร้ปราณีในท้ายที่สุด
พวกเขาเหมือนใกล้เข้าถึงคนที่เขาศรัทธาอย่างที่สุดแต่ก็ไปไม่ถึง ครั้นจะให้พวกเขาเป็นเหมือนคนธรรมดาพวกเขาก็เป็นไม่ได้เสียแล้ว
โฆษณา