15 พ.ค. 2020 เวลา 10:31 • การศึกษา
Gratitude: สุขจากการให้ด้วยใจที่แบ่งปัน
Gratitude Cover
ท่ามกลางความเลวร้ายของการระบาดของโควิด-19 นั้น ได้ปรากฏภาพของวิถีชีวิตที่สะท้อนความเป็น “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” หรือ “ฐานชีวิตใหม่” อย่างหนึ่งที่ชัดเจนในสังคมไทย นั่นคือ “สังคมแห่งการเอื้ออาทร” การระลึกและนึกถึงห่วงใยในกันและกันโดยไม่ต้องมีการร้องขอ การร่วมแรงร่วมใจบริจาคทุนทรัพย์เพื่อช่วยเหลือทีมแพทย์และพยาบาล ตลอดจนผู้ที่ยากไร้ อยู่ในสภาวะว่างงาน ให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่เพียงพอต่อความอยู่รอดในยามวิกฤตินี้ และล่าสุดที่ปรากฏเป็น “ตู้ปันสุข” ที่ตั้งไว้ในจุดสาธารณะต่าง ๆ เพื่อแบ่งปันสิ่งของต่าง ๆ ให้กับเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมเผชิญภัยร้ายในครั้งนี้ ซึ่งในจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) เรียกรูปแบบของพฤติกรรมเหล่านี้ว่า “Gratitude”
คำว่า “Gratitude” หากแปลเป็นภาษาไทยอย่างตรงไปตรงมาก็คือ “ความกตัญญูกตเวที” อันหมายถึง การตอบสนองต่อบุคคลที่กระทำความดีหรืออุปถัมภ์ค้ำชูเราในยามที่เราต้องการความช่วยเหลือ แต่ในทางกลับกันนั้นในเชิงจิตวิทยาการแสดงออกถึง “ความกตัญญูกตเวที” นั้น นอกจากการหวนระลึกถึงคุณงามความดีที่ใครคนหนึ่งกระทำต่อเราแล้วนั้น การบอกต่อหรือส่งต่อความดีงามที่เรากระทำต่อสังคมไปยังบุคคลนั้น ๆ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึง “ความกตัญญูกตเวที” ได้เช่นกัน
ดังที่ บาทหลวง David Steindl-Rast ได้ระบุเอาไว้ว่า “ความกตัญญูกตเวที” คือ ความรู้สึกซาบซึ้งและ ตระหนักต่อ 1) การกระทำในสิ่งที่มีค่าที่ไม่สามารถประเมินค่าของการกระทำหรือสิ่งนั้นด้วยตัวเงินได้ และ 2) การให้ด้วยความเต็มใจ ไม่หวังผลตอบแทนจากจากสิ่งที่กระทำลงไป “เป็นความสุขที่เกิดจากการให้หรือแบ่งปันจากหัวใจที่แท้จริง”
ในทำนองเดียวกัน Robert Emmons ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสร้าง “Gratitude” ระบุว่าความกตัญญูกตเวทีมี 2 องค์ประกอบหลัก คือ 1) เป็นการยืนยันและมองโลกในแง่ดีว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เราได้รับล้วนแต่เป็นสิ่งดี ๆ เป็นของขวัญที่เราพร้อมจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้รับนั้น และ 2) มีแหล่งของความดีงามที่อยู่ภายนอกตัวเรามากมายที่จะช่วยให้เราบรรลุความดีงามในชีวิตของเรา
นอกจากนี้ Martin Seligman ได้มองว่าการสร้าง “Gratitude” ในตัวเราเป็นสิ่งที่จะนำพาให้เรารู้จักการให้และการแบ่งปันที่นำมาซึ่งความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี การจะส่งมอบ “Gratitude” ไปยังกลุ่มคนที่เราระลึกถึง ต้องเริ่มจากการที่เราสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ด้วยมือของเรากับผู้คนในสังคมเสียก่อน
การสะท้อน “Gratitude” ที่ดีที่สุด คือ การสร้างเสริมประสบการณ์ผ่านการให้และแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กับผู้คนในสังคม โดยมองสะท้อนกลับว่าทุกคนในสังคมคือคนที่มีบุญคุณกับเราเนื่องจากเขาเหล่านั้นอาจจะเป็นผู้ที่หยิบยื่นโอกาสดี ๆ ให้กับชีวิตเราทั้งในทางตรงหรือทางอ้อมได้เสมอ
กล่าวคือ “Gratitude” คือกลไกที่ทำให้เรารู้และตระหนักที่จะส่งมอบสิ่งดี ๆ ให้กับสังคม และพร้อมที่จะบอกเล่าส่งต่อสิ่งดี ๆ นั้นไปยังบุคคลอื่น ๆ ที่เราปรารถนาจะให้รับรู้ในสิ่งดีงามเหล่านี้ อันจะเป็นพลังบวกที่จะช่วยสร้างสรรค์แรงบันดาลใจให้คนในสังคมได้แบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กัน
ดังตัวอย่างยกมาในข้างต้นกรณีของ “ตู้แบ่งปัน” ที่นอกจากจะเป็นปรากฏการณ์ที่นอกจากสะท้อนถึงความเป็น “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” หรือ “ฐานชีวิตใหม่” แล้วนั้น ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างสังคมแห่ง “Gratitude” ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมีน้ำใจให้กันและร่วมกันแบ่งปันให้กับคนที่ยังขาดให้ได้มีเพียงพอและสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข เป็นการเติมสุขให้ผู้อื่นเพื่อสร้างสุขให้กับตนเอง ซึ่งในที่สุดจะนำมาซึ่งความสุขของสังคมได้อย่างยั่งยืน “เรามาร่วมสร้างสรรค์ปันสุขด้วยการ (ให้) และ (แบ่งปัน) กันนะ"
Giving and Sharing
โฆษณา